การเมืองมาเลเซีย ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

นายมุฮัมมัด ฮาชิม อับดุลลอห์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติมาเลเซีย ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า จะจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 และเปิดลงทะเบียนผู้สมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 28 เมษายน 2561

นั่นหมายความว่าพรรคการเมืองต่างๆ มีเวลาหาเสียงเพียง 11 วัน สร้างความไม่พอใจจากพันธมิตรฝ่ายค้านว่ารัฐเอาเปรียบในการเลือกตั้งครั้งนี้

เพราะหลังรัฐบาลประกาศชิงยุบสภาอย่างกะทันหัน พันธมิตรฝ่ายค้านก็ออกมาบอกว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นจะไม่ยุติธรรม เนื่องจากก่อนหน้านี้ รัฐสภาได้อนุมัติแผนที่จะเปลี่ยนเขตการเลือกตั้งใหม่ และผ่านกฎหมายต่อต้านข่าวปลอมออกมา ทำให้รัฐใช้อำนาจนี้ควบคุมข่าวสารได้

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้น่าจะทำให้นาญิบ รอซัก และพันธมิตรได้เปรียบมากๆ

การเลือกตั้งมาเลเซียเป็นที่ทราบกันดีว่า มาเลเซีย แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 13 รัฐ กับ 1 เขตปกครองพิเศษ แต่ละรัฐจะมีสุลต่านเป็นเจ้าผู้ปกครองรัฐ และจะหมุนเวียนกันขึ้นเป็นพระราชาธิบดี หรือพระเจ้าแผ่นดินคราวละ 5 ปี หมุนเวียนกันไป

แต่ละรัฐจะมีรัฐบาลท้องถิ่นปกครองตนเอง ออกกฎหมายท้องถิ่น และบังคับใช้ภายในเขตแดนรัฐของตนเองได้

มาเลเซียมีพรรคการเมืองหลักๆ เกือบ 20 พรรค

แต่ 14 พรรคจับมือรวมกลุ่มกันเรียกชื่อว่า กลุ่ม BN ชื่อเต็มว่า Barisan Nasional ซึ่งสามารถเป็นฝ่ายรัฐบาลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากนายกรัฐมนตรีต่วนกูอับดุลรอมาน จนถึง นาญิบ รอซัก มีพรรค UMNO เป็นแกนนำ

กลุ่มนี้มีทั้งมลายูมุสลิม, สยาม จีนพุทธ, ฮินดู และคริสต์ แต่นโยบายส่วนใหญ่จะเอื้อต่อมลายูมุสลิม เช่น นโยบายภูมีบุตรา

ในขณะเดียวกัน ไม่ลืมส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขกับทุกเผ่าพันธุ์บนผืนแผ่นดิน ด้วยคำขวัญ SATU MALAYSIA อันหมายถึงรวมเป็นหนึ่งเพื่อเอกภาพชาติมาเลเซีย

ขณะที่ “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว เรียกว่า “กลุ่มพันธมิตรฝ่ายค้าน” หรือ Pakatan Rakyat (PKR) ประกอบด้วย พรรคปาส หรือ PAS (Pan-Islamic Malaysian Party หรือ Parti Islam Se-Malaysia) พรรคดีเอพี หรือ DAP (Democratic Action Party) ซึ่งเป็นพรรคตัวแทนของคนมาเลเซียเชื้อสายจีน

และพรรคพีเคอาร์ หรือ PKR (Parti Keadilan Rakyat หรือ People”s Justice Party) ซึ่งเป็นพรรคของนายอันวาร์ อิบรอฮีม

สำหรับพรรค PAS พรรคนี้เน้นแนวคิดการเมืองตามหลักการอิสลาม

โดยพรรค PAS นี้มีฐานที่มั่นปัจจุบันอยู่ที่รัฐกลันตันติดกับจังหวัดนราธิวาสชายแดนภาคใต้ของไทย แต่อดีตเคยบริหารและชนะการเลือกตั้งท้องถิ่นรัฐตรังกานูและเคดาห์ และพรรค PAS ได้ปกครองรัฐกลันตันติดต่อกันมาอย่างยาวนานถึง 20 ปี และใช้แนวคิดอิสลามมาบูรณาการอิสลามใช้กับรัฐกลันตันมาโดยตลอด ไม่ว่าสังคม การศึกษาและเศรษฐกิจ อีกทั้งพยายามนำกฎหมายอิสลามอื่นเข้าสภา

ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่พรรค PAS ปกครองรัฐกลันตัน ได้ส่งผลให้รัฐกลันตันคือไม่ได้รับการหนุนเสริมทางเศรษฐกิจและการเงินจากรัฐบาลกลางทำให้การพัฒนาด้านวัตถุและส่งผลให้เป็นรัฐที่ยากจนที่สุดของมาเลเซียหากวัดโดย GDP

แต่หากวัดความสุขด้านจิตวิญญาณของประชาชนก็ไม่แน่ เพราะคนรัฐนี้เป็นคนเรียบง่าย

สําหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในครั้งนี้ เป็นการประชันระหว่างนายกรัฐมนตรีนาญิบ รอซัก กับนายมหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรี (โปรดดู https://www.dailynews.co.th/foreign/620158)

ซึ่งหันมาเป็นตัวแทนฝ่ายค้านในการชิงตำแหน่งผู้นำประเทศเป็นการรวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการจากหลายๆ พรรคของมาเลเซียเพราะมหาธีร์เป็นเเกนนำหลักร่วมกับพันธมิตรฝ่ายค้านไล่นาญิบให้ลาออกจากข้อกล่าวหาฉ้อโกงกองทุนพัฒนามาเลเซียกว่าสองหมื่นล้าน (โปรดดู 1.https://www.posttoday.com/world/374420 2.https://www.youtube.com/watch?v=IlvhUnC8T_k)

พันธมิตรฝ่ายค้านครั้งนี้มาในนาม Pakatan Harapanหรือแปลว่าพันธมิตรแห่งความหวัง

ซึ่งประกอบด้วย – พรรค Malaysian United Indigenous Party หรือ PPBM พรรคอำนาจเก่าที่ยิ่งใหญ่ของอดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด

พรรค People”s Justice Party หรือ PKR ของอีก 1 อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นายอันวาร์ อิบรอฮีม กับนางวันอาซีซะห์

พรรค Democratic Action Party หรือ DAP ซึ่งเป็นพรรคที่มีสมาชิกชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนเป็นหลัก

รวมถึงอีก 1 พรรคย่อยอย่าง Parti Amanah Negara หรือ PAN

กล่าวโดยสรุป มหาธีร์ออกมาจับมือกับนายอันวาร์ อิบรอฮีม นางวันอาซีซะห์ ภรรยาอันวาร์ ทั้งๆ ที่เป็นศัตรูทางการเมืองอย่างหนัก (โปรดดู 1.http://www.astroawani.com/berita-politik/terima-kasih-anwar-ibrahim-kerana-terima-saya-tun-mahathir-165020 2.http://news.thaipbs.or.th/content/255510)

ในขณะที่พรรค PAS เดิมกลับไปเป็นพันธมิตรกับพรรค UMNO ด้วยเหตุผลสองประการคือ เพื่อมุสลิมกับมลายู โดยมองว่า หากพันมิตรฝ่ายค้านที่นำโดยมหาธีร์จะทำให้มลายูมุสลิมจะถูกลดบทบาท (โปรดดู http://www.sinarharian.com.my/mobile/politik/pas-dan-umno-kini-sama-1.811724)

อย่างไรก็ตาม เป็นที่รู้กันอยู่ว่า ความสามัคคีเป็นปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จ ในการนำพากลุ่มไปสู่เป้าหมายที่วางไว้

หากแต่สถานการณ์ตอนนี้ของพรรค Pakatan Harapan ยังดูห่างไกลจากคำว่า “สามัคคี” หลังเกิดความขัดแย้งระหว่างกันเอง จากความเห็นที่ไม่ตรงกันของสมาชิก ซึ่งมาจากพรรคที่มีอุดมการณ์แรกเริ่มแตกต่างกัน

โดยประเด็นความขัดแย้งหลักที่เป็นปัญหาอยู่ขณะนี้ ได้แก่

1. ใครจะเป็นหัวหน้าเบ็ดเสร็จทรงอิทธิพลและหน้าที่บทบาทของ ดร.มหาธีร์ กับอันวาร์ ควรอยู่ในระดับไหน

2. หากพรรค Pakatan Harapan ล้มอำนาจนายนาญิบ รอซัก ได้สำเร็จ ด้วยการเอาชนะการเลือกตั้งครั้งใหม่ ใครจะเป็นผู้มีอำนาจจริงๆ ระหว่างทั้งสอง โดยเป็นที่รู้กันอยู่ว่า พรรค PPBM ของ ดร.มหาธีร์มีฐานเสียงใหญ่มากๆ

3. ความขัดแย้งและไม่ไว้วางใจกันเองระหว่างสมาชิกพรรค PPBM ของ ดร.มหาธีร์และพรรค PKR ของนายอันวาร์ อิบรอฮีม หลังนายอันวาร์ถูกตัดสินจำคุกครั้งแรก ในปี 2542 ด้วยข้อหาทุจริต ซึ่งในเวลานั้น นายอันวาร์กล่าวพาดพิง ดร.มหาธีร์ ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการจำคุกของเขา จนเกิดกระแสคลางแคลงใจในกลุ่มผู้สนับสนุนนายอันวาร์อย่างรุนแรง ทำให้นายอันวาร์ถึงกับต้องออกมาขอร้องให้สมาชิกพรรคของตนเองลืมเรื่องในอดีต และมุ่งมั่นกับการเอาชนะนายนาญิบมากกว่า

(อ้างอิงจาก ทีมข่าวอาเซียน TNN ช่อง 16 รายงาน TNN24 ออกอากาศทางทีวีช่อง 16 ชมสดได้ที่ http://www.tnnthailand.com/player.php)

กล่าวโดยสรุป ฝั่งรัฐบาลก็หันจับมือกับ PAS ฝั่งพันธมิตรฝ่ายค้านก็เป็นการจับมือกันระหว่างมหาธีร์กันอันวาร์ อันเป็นบทสะท้อนว่าไม่มีมิตรแท้เเละศัตรูถาวรในวงการเมือง