สงครามที่ซีเรีย เพื่อประชาชนหรือผลประโยชน์

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

เป็นที่ทราบกันดี ทางสื่อไทยและเทศว่า 14 เมษายน 2561 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา มีคำสั่งให้กองทัพสหรัฐอเมริกา ร่วมกับกองทัพพันธมิตรฝรั่งเศส และอังกฤษ เปิดปฏิบัติการทางทหารถล่มเป้าหมายรัฐบาลซีเรีย โดยยิงขีปนาวุธกว่า 50 ลูกจากเรือพิฆาตเข้าใส่ฐานทัพซีเรีย ที่สงสัยว่าเป็นสถานที่ปล่อยอาวุธเคมีเข้าใส่พลเรือน

การโจมตีครั้งนี้เป็นปฏิบัติการทางทหารครั้งแรกของสหรัฐอเมริกาตอบโต้ปฏิบัติการของกองทัพซีเรียที่โจมตีพลเรือนตนเองด้วยอาวุธเคมีประเภทสารทำลายระบบประสาท จนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2561

เป็นที่ทราบกันดีว่าเช่นกันว่า ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ของซีเรียมีรัสเซียสนับสนุนทางทหารและบัลลังก์ตลอดระยะเวลาเจ็ดปีอันเป็นผลให้ทั่วโลกกลัวจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3

เพราะรัฐบาลรัสเซียออกมาประณามและขู่คำรามการโจมตีดังกล่าวของสหรัฐอเมริกา ซึ่งนายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย แถลงตอบโต้ทันควันว่า “เป็นพฤติกรรมก้าวร้าวต่ออธิปไตยของประเทศ”

รวมทั้งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและรัสเซียเลวร้ายลง

สงครามแปลกประหลาดที่ตะลุมบอนหลายฝ่าย

ความเป็นจริงสงครามทั่วไปจะมีสองฝ่าย แต่สมรภูมิซีเรียนี้แปลก มีตัวละครสำคัญหลายฝ่ายมาก และอ้างความมั่นคงและช่วยเหลือประชาชนผู้บริสุทธิ์ รวมทั้งการโจมตีครั้งล่าสุดของสหรัฐอเมริกาครั้งนี้

ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางศึกษาและโลกมุสลิม อธิบายว่า “สงครามและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในซีเรีย เป็นผลพวงที่สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ “อาหรับสปริง” เมื่อปี 2554 นับเป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนลุกฮือขึ้นปฏิวัติและโค่นล้มระบบเผด็จการครั้งใหญ่ที่สุดในโลกอาหรับ

เริ่มต้นจากตูนิเซีย อียิปต์ ลิเบีย เยเมน ก่อนที่ไฟแห่งการปฏิวัติและกระแสต่อต้านรัฐบาลเผด็จการจะแพร่กระจายไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วทั้งภูมิภาค…

ซีเรียในขณะนั้นถูกปกครองด้วยรัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด (Bashar al-Assad) ที่รับช่วงต่อการบริหารประเทศจากพ่อของเขาที่ปกครองซีเรียมายาวนานเกือบ 30 ปี เกิดกระแสประท้วงขับไล่รัฐบาลซีเรียอย่างหนัก จนนำไปสู่การใช้กำลังทางทหารเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถโค่นล้มรัฐบาลซีเรียได้

ความล้มเหลวดังกล่าวนำไปสู่การจัดตั้งกองกำลังปลดปล่อยซีเรีย (Free Syrian Army) ของฝ่ายกบฏ เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลซีเรีย

ความขัดแย้งบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมือง (Civil War) ภายในประเทศ

ก่อนที่จะถูกซ้อนทับด้วยปัญหาการต่อสู้ด้วยอาวุธอันนำสู่คำว่าการก่อการร้าย

ปัญหาชาวเคิร์ดที่ต้องการจะแยกตัวออกจากซีเรียและปกครองตนเอง

ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและกลุ่มรัฐอ่าวอาหรับที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย

รวมถึงผลประโยชน์ของมหาอำนาจอื่นๆ ในตะวันออกกลางโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย

จนกลายเป็นสงครามตัวแทน (Proxy War) ในที่สุด

เกิดการปะทะกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลซีเรียกับฝ่ายต่อต้าน รวมถึงกลุ่มไอเอสเรื่อยมา

ตลอดระยะเวลากว่า 7 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากเหตุความรุนแรงในซีเรียมากกว่า 450,000 คน

และจากรายงานของสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุว่า ปี 2559 ที่ผ่านมา มีชาวซีเรียมากกว่า 12 ล้านคน (จากประชากรทั้งหมดราว 18.43 ล้านคน) ต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่น”

กล่าวโดยสรุป มีตัวละครสำคัญกลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

รัฐบาลซีเรีย (ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย จีน และพันธมิตรชาติอื่นๆ) VS กลุ่มกบฏ กลุ่มไอเอส ชาวเคิร์ด

กลุ่มกบฏ ที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาลซีเรีย (สนับสนุนโดยสหรัฐอเมริกา ซาอุดีอาระเบีย และพันธมิตรชาติอื่นๆ) VS รัฐบาลซีเรีย กลุ่มไอเอส

กลุ่มไอเอส ที่ต้องการสถาปนารัฐอิสลามขึ้นในพื้นที่ของอิรักและซีเรีย แยกตัวออกมาจากกลุ่มอัลกออิดะห์ VS รัฐบาลซีเรีย กลุ่มกบฏ ชาวเคิร์ด

ชาวเคิร์ด ชนกลุ่มน้อยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ต้องการแยกตัวออกจากซีเรียและตุรกี พร้อมปกครองตนเอง (สนับสนุนโดยสหรัฐ) VS รัฐบาลซีเรีย กลุ่มไอเอส และตุรกี

สหรัฐอเมริกา มหาอำนาจที่เข้ามาพัวพันกับสงครามซีเรีย โดยเริ่มจากการสนับสนุนรัฐบาล ก่อนที่จะหันมาสนับสนุนกลุ่มกบฏ หลังเชื่อว่ารัฐบาลซีเรียอยู่เบื้องหลังการโจมตีประชาชนด้วยก๊าซพิษ

รัสเซีย ที่เข้ามาในสมรภูมิซีเรียจากความพยายามปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายและให้การสนับสนุนรัฐบาลซีเรีย

AFP PHOTO / Omar haj kadour

ทางออกสงครามสมรภูมิซีเรีย

จากตัวละครมากมายที่ตะลุมบอนครั้งนี้น่าจะยาก(ส์)ในการแก้ปัญหา

แต่ผู้เขียนมองว่าทุกปัญหามีทางออกและทางแก้ไขได้

การเจรจาเพื่อหาทางยุติความขัดแย้ง จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วน ไม่ใช่คิดจะเปิดฉาก “สงคราม” ที่มีแต่ความสูญเสียต่อทุกฝ่าย

ซึ่งในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทั่วโลกก็จบโดยการเจรจาและพูดคุย (ลองดูตัวอย่างของเกาหลีใต้กับเหนือซึ่งหวังว่าจะคืนดีด้วยการใช้กระบวนการเจรจาและสันติวิธีโดยไม่พูดเรื่องแนวคิดทางการเมือง)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกฝ่ายจะต้องถอยมิติศาสนารวมทั้งนิกาย (ซุนนี ชีอะห์) ชาติพันธุ์ แนวคิดทางการเมืองไม่ว่าค่ายเผด็จการ ประชาธิปไตย อิสลามนิยม

เลิกวาทกรรมรุนแรง ยั่วยุอันเป็นใบอนุญาตการฆ่าของคนเห็นต่างโดยคำนึงมนุษยธรรม มนุษยชาติความเป็นมนุษย์มาก่อน คิดถึงประชาชน ผู้บริสุทธิ์ เด็กสตรี และผู้สูงอายุที่ต้องพลัดพราก หนีภัยสงครามที่กระทบหลายประเทศรวมทั้งไทย และอารยธรรมในอดีตของซีเรียในหลายๆ เมืองที่เป็นมรดกโลก

ที่สำคัญผู้หนุนเสริมแต่ละกลุ่มแต่ละประเทศหยุดสนับสนุนอาวุธและการเงินในปฏิบัติการทหาร แต่หนุนเสริมกระบวนพูดคุยเจรจา ปล่อยให้คนซีเรียทุกภาคส่วนทั้งถืออาวุธและไม่ถืออาวุธนั่งพูดคุยกำหนดอนาคตเขาเองถึงแม้จะต้องใช้เวลา

องค์กรพัฒนาเอกชนทั่วโลก และอาหรับ ต้องกดดันให้มหาอำนาจ รวมทั้งทุกฝ่าย (กองเชียร์ด้วย) ของคู่ขัดแย้งนั่งโต๊ะเจรจา เพราะกระบวนการสันติวิธีเท่านั้นจะแก้ปัญหาความรุนแรงและความหายนะของมนุษยชาติได้ การใช้อาวุธและความรุนแรงไม่ได้แก้ไขปัญหาแต่กลับทำลายมนุษยชาติเสียเอง

ถ้าทุกฝ่ายไม่ถอย…สงครามที่ซีเรียก็จะไม่เพื่อประชาชน แต่เป็นผลประโยชน์แต่ละกลุ่มตามที่เราประจักษ์อยู่ทุกวี่วันซึ่งอ้างประชาชนในการทำสงคราม