วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จีนกับคอคอดกระ

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24-30 มิ.ย. 59

แม้ไม่อาจทราบว่า อะไรคือแรงกระตุ้นให้บุคคลที่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีและองคมนตรี ธานินทร์ กรัยวิเชียร ต้องทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอให้ฟื้นโครงการขุดคอคอดกระขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งถึง 2 ครั้ง 2 ครา และโดยเฉพาะครั้งที่สองที่แนะนำด้วยว่าให้ปรึกษากับทางจีนได้

ทั้งยังทิ้งวาทะด้วยว่า หากคอคอดกระถูกขุดขึ้นจริงก็จะเป็นการ “พลิกแผ่นดินให้เป็นแผ่นทอง” ก็ตาม

แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวของบทความนี้ที่เกี่ยวกับคอคอดกระก็คือ ตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมาที่มีราชการไปจีนนั้น หลายครั้งหลายครามักได้รับการกระตุ้นจากเจ้าหน้าที่จีนในระดับต่างๆ ให้ช่วยเสนอรัฐบาลไทยฟื้นโครงการขุดคอคอดกระขึ้นมาให้ได้

การกระตุ้นนี้เกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระและต่างบุคคล เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่จีนทั้งในและนอกวงวิชาการ และเกิดขึ้นโดยชักแม่น้ำทั้งห้าว่า ประโยชน์จะมีมากมายเพียงใดหากคอคอดกระถูกขุดขึ้นจริง ประโยชน์นี้ใช่แต่เฉพาะไทยเท่านั้นที่จะได้รับ แม้นานาประเทศก็จักได้รับด้วยเช่นกัน

นอกจากประสบการณ์ตรงแล้ว ต่อมาก็ยังได้รับทราบจากบุคคลอื่นที่มีธุระหรือราชการที่จีนว่าตนก็ได้รับการกระตุ้นจากจีนเช่นกัน บางกรณีก็เป็นข่าวผ่านสื่อต่างๆ ก็มี

โดยสรุป ในสายตาของจีน หากคอคอดกระถูกขุดให้กลายเป็น “คลองกระ” แล้ว ย่อมเท่ากับไทยได้สร้างคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ให้แก่มวลมนุษยชาติ และใช่หรือไม่ว่า โครงการคลองกระจะไม่ถูก “ขุด”
ขึ้นมากล่าวถึงเลยหากมิใช่เพราะแรงกระตุ้นจากจีน ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เงียบหายไปตั้งแต่สงครามเย็นยังไม่สิ้นสุดเลยด้วยซ้ำ?

คำถามสำคัญจึงมีว่า หากคลองกระเกิดขึ้นจริงแล้วไซร้ คลองสายนี้จะก่อผลประโยชน์ได้อย่างมากมายมหาศาลจริงหรือ?

อันที่จริงแล้ว การที่โครงการคอคอดกระหายเงียบไปนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการศึกษาจนได้ข้อสรุปแล้วว่าเป็นโครงการที่ไม่คุ้มค่าดังที่คาดไว้ ความคุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่านี้คิดกันเฉพาะทางเศรษฐกิจเท่านั้น ยังมิได้รวมไปถึงมิติทางการเมือง การบริหาร ความมั่นคง สภาพทางสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ซึ่งหากรวมด้วยแล้ว ความไม่คุ้มค่าดังกล่าวก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นจนยากที่จะประเมินได้

การศึกษาโครงการนี้เริ่มมีมาตั้งแต่ ค.ศ.1973 (พ.ศ.2516) หลังจากนั้นต่อมาก็มีการศึกษาอีกโดยเริ่มเมื่อ ค.ศ.1998 (พ.ศ.2541) จนถึง ค.ศ.2005 (พ.ศ.2548)

ตลอดระยะเวลาดังกล่าวงานศึกษาได้ปรากฏผลว่า แนวคลองที่จะขุดนั้นมีมากกว่า 10 แนว แต่แนวที่เป็นไปได้มากที่สุดกลับมิใช่บริเวณคอคอดกระที่เป็นส่วนที่แคบที่สุดของประเทศไทย
หากแต่เป็นแนวที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “แนว 5A” กับ “แนว 9A”

กล่าวโดยสรุปคือ “แนว 5A” เป็นแนวที่อยู่ทางภาคใต้ของไทยบริเวณจังหวัดสตูลและใกล้กับเมืองอลอสตาร์และท่าเรือกลางของมาเลเซีย
ที่สำคัญ เป็นแนวที่อยู่ใกล้ช่องแคบมะละกาจนทำให้ไม่ได้ร่นระยะเวลาเดินเรือมากนัก ทั้งนี้ ยังมินับประโยชน์ที่มาเลเซียจะได้มากกว่าไทย ซ้ำยังเป็นแนวที่พาดผ่านทะเลสาบสงขลาที่อาจก่อให้เกิดปัญหาการต่อต้านขึ้นมาได้

ส่วน “แนว 9A” เป็นแนวที่ขุดผ่านจังหวัดกระบี่ ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลา หากว่าตามแนวนี้แล้วจะร่นระยะเวลาเดินเรือที่อ้อมผ่านช่องแคบมะละกาเพียง 1-2 วันเท่านั้น
ทั้งนี้ ยังมินับการต้องลดความเร็วจาก 15 นอต (27 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ลงเหลือ 12 นอต (21 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ที่จะทำให้เวลาที่ร่นได้จริงลดลงมาอีก

ที่สำคัญ การศึกษายังพบอีกว่า หากโครงการทั้งสองแนวดังกล่าวถูกดำเนินการจริงแล้ว จะต้องมีการเวนคืนที่ดินและอพยพราษฎรที่อาศัยอยู่ตลอดบริเวณทั้งสองแนวครั้งใหญ่ ซึ่งจะสร้างความโกลาหลหรือไม่ก็พบกับการต่อต้านคัดค้านอย่างรุนแรง

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมิอาจประมาณค่าได้อีกด้วย เช่น การแลกเปลี่ยนมวลน้ำด้านอ่าวไทยกับอันดามัน การรุกล้ำของน้ำเค็มเข้าไปในแผ่นดิน

ปัญหาการทำลายปะการัง สาหร่าย และหญ้าทะเล หรือการทำลายป่าชายเลน ฯลฯ
(ประมวลจากรายงานเรื่อง “ปัดฝุ่น “คอคอดกระ” ผลการศึกษา “บวก-ลบ”” มติชนรายวัน 12 มกราคม 2559)

สรุปแล้ว โครงการคอคอดกระจึงไม่เพียงไม่เกิดที่คอคอดกระจริงเท่านั้น หากแม้นเกิดในแนวอื่นก็เห็นได้ว่าจะมีผลเสียมากกว่าผลดี

และผลดีที่เกิดขึ้นนั้นก็มิได้ดีดังที่ควรจะเป็น คือดีในแบบที่ไม่คุ้มค่ามากนัก และผู้ที่ดูจะได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือ จีน ดังนั้น “แผ่นดิน” จึงมิได้กลายเป็น “แผ่นทอง” ดังที่ท่านองคมนตรีธานินทร์วาดหวังเอาไว้

จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า ยังมีอีกมิติหนึ่งที่บทความนี้ยังมิได้กล่าวถึง นั่นคือ มิติด้านความมั่นคง

มิตินี้แต่เดิมที่ยุคสงครามเย็นยังไม่ได้ยุติลงนั้น ปัญหาความมั่นคงที่ไทยคิดถึงจะมีที่มาจาก 2 เรื่องสำคัญ เรื่องแรก จากลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งในปัจจุบันปัญหานี้ได้ดับมอดลงแล้วโดยพื้นฐาน ยังคงเหลืออยู่แต่ความถวิลหาในอารมณ์แบบโรแมนติกของฝ่ายซ้ายบางกลุ่มบางคนเท่านั้น

เรื่องต่อมา มาจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ ปัญหานี้เมื่อครั้งยุคสงครามเย็นไม่สู้รุนแรงมากนัก แต่ปัจจุบันนี้กลับรุนแรงขึ้นและการแก้ปัญหากันยังไม่ได้ข้อยุติ ปัญหานี้อาจมีส่วนไม่มากก็น้อยที่ทำให้หน่วยงานความมั่นคงไทยพึงพิจารณา หากโครงการคอคอดกระคือ “แนว 5A” และ “แนว 9A” ดังได้กล่าวไปแล้ว

แต่สำหรับบทความนี้แล้ว ประเด็นปัญหาความมั่นคงมิได้อยู่ที่ปัญหาการก่อความไม่สงบที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ซึ่งถือเป็นปัญหาภายในของไทยโดยตรง) เท่านั้น หากยังอยู่ตรงประเด็นปัญหาที่ไทยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง

นั่นคือ ปัญหาทะเลจีนใต้

ปัญหาทะเลจีนใต้นี้เรื้อรังมานานหลายสิบปีแล้ว แต่เพิ่งปะทุเป็นประเด็นความมั่นคงขึ้นมาก็หลังสงครามเย็นยุติลง (ใครที่คิดว่าเมื่อสงครามเย็นยุติลงแล้ว สันติภาพก็จะมาเยือนคงต้องคิดใหม่) โดยประเทศที่เป็นคู่พิพาทคือ จีน เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ (ไม่นับไต้หวันที่ระยะหลังๆ มานี้กล่าวถึงข้อพิพาทนี้น้อยมาก ถึงแม้ไต้หวันจะมีทหารประจำการอยู่ในบางหมู่เกาะที่เป็นข้อพิพาทกันอยู่ก็ตาม)

จะเห็นได้ว่า ปัญหาดังกล่าวไม่มีไทยเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย หากจะเกี่ยวด้วยเหตุใดแล้วก็คงเกี่ยวในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกอาเซียน ที่อย่างไรเสียต้องพึงแสดงท่าทีหรือจุดยืนต่อปัญหานี้ดังชาติอื่นที่เป็นสมาชิกเช่นกัน ในขณะที่คู่พิพาทในปัญหานี้ต่างเป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกันกับไทย (หมายถึงเวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์)

ในเมื่อไทยไม่เกี่ยวเช่นนี้แล้ว ทำไมจึงต้องโยงปัญหามาเข้ากับโครงการคอคอดกระด้วยเล่า?

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า หลายปีมานี้ปัญหาทะเลจีนมีความตึงเครียดมากขึ้น บางปีก็ปะทะกันจนเกิดความสูญเสีย บางปีปัญหาก็ลุกลามไปถึงขั้นมีการประท้วงกันอย่างรุนแรงในบางประเทศ คือจนถึงขั้นที่มีการทำลายการลงทุนหรือธุรกิจของประเทศคู่กรณีที่อยู่ในประเทศของตน ความตึงเครียดนี้ไม่เพียงจะไม่ได้เท่านั้น หากแต่ยังมีการแสดงในเชิงพฤติกรรมที่ทำให้เห็นได้ว่ารังแต่จะเพิ่มความยุ่งยากให้มากขึ้นเท่านั้น

ที่สำคัญ หลายปีมานี้สหรัฐได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า เสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้คือผลประโยชน์ที่สหรัฐจักไม่ยอมให้ใครมาละเมิดโดยเด็ดขาด จากเหตุนี้ สหรัฐจึงได้ประกาศที่จะหวนคืนสู่เอเชีย (Pivot to Asia) อีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้น สหรัฐก็เพิ่มความแนบแน่นกับฟิลิปปินส์มากขึ้น และเข้าหาเวียดนามศัตรูเก่าของตนด้วยการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ มากขึ้น
นอกจากนี้ สหรัฐก็ยังส่งเรือรบของตนแล่นเข้าไปใกล้กับบางหมู่เกาะที่จีนอ้างสิทธิ์ และกำลังก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างทั้งทางทหารและพลเรือนอีกด้วย

ประเด็นความมั่นคงของบทความนี้จึงคือ ถ้าวันหนึ่งข้างหน้าที่ปัญหาทะเลจีนใต้ได้ปะทุขึ้นมาจนถึงขั้นมีการเผชิญหน้ากันทางการทหารแล้ว ยุทธศาสตร์ทางทะเลของแต่ละฝ่ายจะถูกหยิบยกออกมาแสดงให้เห็น โดยเฉพาะจีนกับสหรัฐที่ต่างเป็นมหาอำนาจด้วยกันทั้งคู่

ถึงตอนนั้น ความจำเป็นที่จะใช้เส้นทางยุทธศาสตร์ทางทะเลก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

และช่องแคบจากโครงการคอคอดกระก็จะกลายเป็นเส้นทางหนึ่งที่อาจถูกใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะจากมหาอำนาจ (หรือยังมีใครไว้ใจมหาอำนาจได้ว่าจะไม่ทำเช่นนั้นกับคอคอดกระ?)
และหากเป็นเช่นนั้นจริงไทยจะวางตัวลำบากและอึดอัดใจอย่างมาก

เรื่องเช่นนี้ย่อมมิอาจประมาทได้เท่าๆ กับที่ไม่ใช่เรื่องที่จินตนาการ (มโน) เอาเอง หากเราจะศึกษาอดีตในยุคอาณานิคมเป็นบทเรียน นั่นคือ ช่องแคบมะละกาที่ในยุคนั้นเคยเป็นทั้งเส้นทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ที่สำคัญ จนนักล่าอาณานิคมตะวันตกต่างแย่งกันยึดครองกันมาก่อน เหตุดังนั้น คอคอดกระก็ย่อมมิใช่ข้อยกเว้นต่อการพิจารณาเคียงคู่ไปกับปัญหาทะเลจีนใต้ด้วยเช่นกัน

และหากคอคอดกระได้กลายเป็นปัญหาความมั่นคงอันเนื่องมาจากเหตุดังกล่าวแล้ว ถึงตอนนั้น บางที “แผ่นทอง” ก็อาจลุกเป็น “แผ่นไฟ” ไปก็ได้?