ไทยกับสังคมสูงวัย และโอกาสใหม่ทางธุรกิจ

ข้อมูลของรอยเตอร์ เมื่อ 11 เมษายนที่ผ่านมา บ่งบอกเอาไว้ว่า ในภูมิภาคเอเชีย สาธารณรัฐประชาชนจีน กับประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่เข้าสู่ภาวะ “สังคมสูงอายุ” เร็วกว่าเพื่อนบ้านชาติอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน

ตามข้อมูลของธนาคารโลกระบุเอาไว้ว่า ในปี 2040 คาดว่าสัดส่วนประชากรสูงอายุในไทยและจีนต่อจำนวนประชากรทั้งหมด จะอยู่ในระดับสูงที่สุดในบรรดาประเทศเอเชียตะวันออกด้วยกัน

รอยเตอร์ระบุว่า ในขณะนี้ ไทยมีประชากรที่มีอายุเกินกว่า 65 ปีขึ้นไปอยู่ 7.5 ล้านคน แต่พอถึงปี 2040 หรือในอีก 22 ปีข้างหน้า คาดว่าจำนวนประชากรกลุ่มอายุดังกล่าวนี้ จะเพิ่มขึ้นเป็น 17 ล้านคน

เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศที่คาดว่าจะมีในเวลานั้น

เหตุผลหนึ่งของการมีจำนวนประชากรสูงอายุเพิ่มมากขึ้นก็คือ การปรับปรุงระบบการแพทย์และสาธารณสุขได้ดีขึ้น สามารถยืดอายุขัยของประชากรได้มากขึ้นกว่าเดิม

แต่ในเวลาเดียวกัน สัดส่วนดังกล่าวต่อประชากรทั้งหมดเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราการเกิดโดยเฉลี่ยของไทย ซึ่งเดิมในปี 1960 เคยอยู่ในระดับ ผู้หญิง 1 คนจะมีลูกๆ 6 คนหรือกว่านั้น

ลดลงมาอย่างฮวบฮาบหลงเหลือเพียง ผู้หญิง 1 คนต่อลูกๆ 1.5 คนเท่านั้นในปี 2015

 

ในเวลาเดียวกัน สังคมสูงอายุในปัจจุบัน ก็ก่อให้เกิดปัญหาได้มากกว่าในอดีต ในทางหนึ่งนั้นเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงโดยรวมของสภาพสังคม

ตัวอย่างเช่น สังคมไทยในยุคก่อนอยู่ร่วมบ้านเดียวกันต่อเนื่อง จนได้ชื่อว่าเป็นครอบครัวขยาย ผู้เฒ่าผู้แก่ใช้ชีวิตอยู่ในชายค้าบ้านเดียวกันและได้รับการดูแลจากบรรดาลูกๆ หลานๆ รุ่นหลังที่ทยอยเกิดมาในครอบครัว

ในปัจจุบัน เมื่อสมดุลระหว่างวัยเปลี่ยนแปลงไป ทั้งยังเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากชนบทสู่เมือง สภาพเช่นนั้นยิ่งนานวันยิ่งมีแนวโน้มเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป

นั่นคือสิ่งที่รอยเตอร์เรียกว่าเป็น “โอกาสใหม่ทางธุรกิจ” ที่บรรดาผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลายเริ่มพยายามเข้าถึง “ตลาดสูงวัย” เหล่านี้มากขึ้นทุกที

ตัวอย่างที่รอยเตอร์ หยิบยกมาให้เห็นกันก็เช่น โครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ของ แม็กโนเลีย ควอลิตี้ มูลค่า 160 ล้านดอลลาร์ ที่กำหนดจะแล้วเสร็จในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า นอกจากจะเป็นบ้านพักแล้วจะยังมีศูนย์เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับผู้สูงวัย พร้อมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคเกี่ยวกับผู้สูงอายุ อย่างเช่น ความจำเสื่อม เป็นอาทิ ประจำการพร้อมให้บริการอยู่

หรือแม้แต่กระทั่งโครงการบ้านที่อยู่อาศัยใหม่ของเอสซี แอสเซท ที่คำนึงถึงผู้อยู่อาศัยสูงวัยโดยเฉพาะ อย่างเช่นเส้นทางสำหรับการใช้รถวีลแชร์ หรือพื้นบ้านนุ่ม ดูดซับแรงกระแทก เรื่อยไปจนถึงโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ

อย่าง จิน เวลล์บีอิ้ง เคาน์ตี้ ซึ่งขายบ้านพักพร้อมบริการทุกอย่างสำหรับผู้สูงอายุ ตั้งแต่บริการอาหาร, ฟิตเนสสำหรับออกกำลังกาย เรื่อยไปการเดินทางท่องเที่ยวระยะสั้น ที่คิดค่าบริการเป็นรายเดือน

ที่น่าสนใจในกรณีหลังนี้ก็คือ มีการทาบทามเอเย่นต์จากประเทศจีน เพื่อขายที่พักอาศัยและบริการดังกล่าวให้กับผู้สูงอายุในจีนอีกด้วย โดยคาดว่าจะได้สัดส่วนผู้อยู่อาศัยต่างชาติราว 20 เปอร์เซ็นต์ของยูนิตทั้งหมด

 

รอยเตอร์ระบุว่า ในการจัดทำดัชนีสถานที่เหมาะสมสำหรับการใช้ชีวิตประจำปี 2018 ของอินเตอร์เนชั่นแนล ลิฟวิ่ง นิตยสารอเมริกัน ที่มีการจัดทำดัชนีสถานที่ซึ่งดีที่สุดสำหรับคนวัยเกษียณจากสหรัฐอเมริกา ปรากฏว่า ไทยยังไม่ติดอันดับ 1 ใน 10

ในดัชนีดังกล่าวนั้น คอสตาริกา กลายเป็นสถานที่อันดับ 1 ในขณะที่มาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านทางใต้ของไทย ติดอยู่ในอันดับ 5 “อินเตอร์เนชั่นแนล ลิฟวิ่ง” ระบุไว้ว่า มาเลเซียเป็น “ประเทศเรียบง่าย, พูดภาษาอังกฤษและความเป็นอยู่เหมือนโลกที่พัฒนาแล้ว”

แต่ข้อสังเกตของรอยเตอร์ก็คือ ไทยเองเริ่มมีชื่อเสียงในแง่ของความเหมาะสมในการใช้ชีวิตของผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อายุเกิน 50 ปี ซึ่งยื่นขอวีซ่าเกษียณเพื่อใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นเกือบเท่าตัว จากปี 2013 ที่มีการยื่นขอไว้ไม่ถึง 40,000 คน แต่พอถึงปี 2017 กลับเพิ่มเป็น 73,000 คน จามข้อมูลของทางการ

ชาวอังกฤษ เป็นผู้ที่ยื่นขอวีซ่าประเภทนี้มามากที่สุด จนเป็นเหตุให้รัฐบาลรณรงค์เพื่อดึงดูดประชากรเกษียณจากอังกฤษเป็นกรณีพิเศษเมื่อปีที่ผ่านมา

 

ไบรอัน วอล์กเกอร์ วัย 78 ปี อดีตเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์เพื่อมนุษยธรรมที่ใช้ชีวิตอยู่ในหลายประเทศมาแล้ว ตัดสินใจเลือกใช้ชีวิตหลังเกษียณของตนที่เมืองไทย

แรงดึงดูดใจก็คือ ภูมิอากาศ ที่แม้ติดจะร้อนนิดหน่อยแต่ก็ถือว่ายอดเยี่ยม และยังมีอาหารรสชาติสุดยอดแบบที่เขาไม่เคยลิ้มรสที่ไหนเหมือนมาก่อนในชีวิตอีกต่างหาก

ปีเตอร์ บราวน์ เห็นบริการที่มารดาผู้ชราของตนได้รับจากบ้านพักคนชราในอังกฤษ แล้วตัดสินใจมาเปิดบริการเดียวกันขึ้นในประเทศไทย ที่มีพยาบาลดูแลได้ทั่วถึงกว่า แถมยังมีสิ่งดึงดูดที่มีไม่เหมือนที่อื่นอีกด้วย

เขาบอกว่า นั่นคือวัฒนธรรมบริการของคนไทยครับ!