อดีต สมช. มอง “ไฟใต้” ยุคทหาร “safety zone – safe house” แค่ซอยเท้า…ไม่หน้าเดิน

14 ปีแห่งความขัดแย้งรุนแรงยืดเยื้อในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังเดินทางมาถึง “จังหวะก้าว” ที่สำคัญ

เมื่อ “พล.อ.อักษรา เกิดผล” หัวหน้าคณะทีม “พูดคุยสันติสุข” ตัวแทนของรัฐไทย ในฐานะ “ปาร์ตี้เอ” เปิดเผยว่า ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับ “มาราปาตานี” ในฐานะ “ปาร์ตี้บี”

ถึงการกำหนด “safe house” สำหรับคณะทำงานชุดเล็ก และ “safety zone” หรือ “พื้นที่ปลอดภัย” เพื่อเป็น “อำเภอนำร่อง” 1 อำเภอ ได้แล้ว โดยรายละเอียดทุกอย่างจะ “ชัดเจน” ในเดือนเมษายนนี้

แต่แล้ว “ความไม่แน่นอน” ก็เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักงานข่าวบีบีซีไทยรายงานว่า “สุกรี ฮารี” หัวหน้าทีมฝั่ง “มาราปาตานี” ต้องออกมาตั้งโต๊ะแถลงถึง “ความเห็นต่าง”

ต่อบทบาทของ “พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช” แม่ทัพภาคที่ 4 ทั้งจาก “โครงการพาคนกลับบ้าน” และการประกาศพื้นที่ปลอดภัย 14 เขต ด้วยตนเอง โดยสุกรีมองว่า ทำให้เกิดความ “ระส่ำระสาย” ในพื้นที่

พร้อมตั้งคำถามถึงความ “ไร้เอกภาพ” ในยุครัฐบาล คสช.

คงเป็นใครอื่นไปไม่ได้ที่จะมา “ไขข้อสงสัย” เพื่อสร้าง “ความกระจ่าง” ต่อหนทาง “ดับไฟใต้” นอกเสียจาก “พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร” หรือ “เสธ.แมว” อดีตเลขาฯ สมช. ผู้ริเริ่มการพูดคุย ด้วยการเซ็นเอ็มโอยูกับ “ฮัสซัน ตอยิบ” ผู้นำจิตวิญญาณของกลุ่มบีอาร์เอ็น เมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา

แม้เกษียณอายุราชไปแล้ว แต่ เสธ.แมว ยังคง “มอนิเตอร์” ข่าวสารความเป็นไปของบ้านเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจาก “เท้าความ” ไปยังจุดเริ่มต้นการ “พูดคุยสันติภาพ” สมัย “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ให้ฟังว่า

“โอกาสความสัมฤทธิผลจากพัฒนาการ จะมีโอกาสเป็นบวกมาก เพราะว่านโยบายที่เกิดขึ้นมีความชอบธรรม เริ่มตั้งแต่ข้างล่าง จากการหารือกับคนในพื้นที่ ไล่ปรุงแต่งขึ้นมาเป็นยุทธศาสตร์ นโยบาย ผ่านสภาความมั่นคงแห่งชาติ เข้าสู่รัฐบาล ผ่านรัฐสภา”

แฟ้มภาพ

“ส่วนคู่กรณีผู้เห็นต่างที่มาคุย แม้จะถกเถียงกันเรื่องตัวจริงตัวปลอม แต่เมื่อทุกฝ่ายเห็นพ้องว่า นี่ใช่ อย่างน้อยจึงต้องมีจุดเริ่มต้น ผนวกกับการดำเนินการที่มีความชอบธรรมทั้งกระบวนการ จึงเดินมาได้”

ก่อนจะ “ปูพื้น” ให้เห็นถึงองค์ประกอบของการแก้ปัญหาให้บรรลุผลด้วยว่า ต้องขึ้นกับปัจจัยทั้งภายในและภายนอก 4 ประการคือ 1.นโยบาย 2.กระบวนการ ที่จะดำเนินการให้บรรลุตามนโยบาย

3.ขบวนการ ก็คือกลุ่มคนที่รับผิดชอบ ทั้งฝ่ายนโยบาย ฝ่ายปฏิบัติในพื้นที่ และ 4.ต่างประเทศ ทั้งประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่อยู่ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก ทั้งองค์กรระหว่างประเทศในระดับสากล อย่าง OIC หรือองค์กรมุสลิมโลก ทั้งหมดนี้ต้องมีความสัมพันธ์กัน

พอล่วงถึงการยึดอำนาจ รัฐบาลทหารเข้าแทนที่รัฐบาลพลเรือน พล.ท.ภราดรมองความต่อเนื่องในช่วงนี้ว่า “ในเชิงนโยบาย ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก การพูดคุยสันติสุขยังเป็นนโยบายหลัก แต่เมื่อทำภายใต้รัฐบาลรัฐประหาร ก็ก่อให้เกิดคำถามในแง่มุมของความชอบธรรมขึ้นมาทันที”

“นโยบายตรงนี้จะสัมฤทธิผลหรือไม่ ต้องดูที่ความเชื่อถือซึ่งกันและกัน ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็อยู่ในขั้นนี้ แม้กระทั่ง คสช. ของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็อยู่ในขั้นนี้”

พล.ท.ภราดรกล่าวเสริมให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนด้วยว่า ในรัฐบาลประชาธิปไตย กระบวนการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะเกิดจากการมีส่วนร่วม และจะมีความน่าเชื่อถือในสัจวาจา ที่เป็นหัวใจสำคัญของการพูดคุย ตั้งแต่ผู้ปฏิบัติระดับในพื้นที่จนถึงรัฐบาล

มีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นแกนหลักทั้ง “งานพัฒนา” และการ “พูดคุยสันติภาพ”

แต่ตอนนี้ ศอ.บต. ที่มี “พลเรือน” เป็นผู้นำ ถูกลดบทบาทไป ด้วยการนำกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มาครอบอย่างเต็มที่ เป็นการคิดศาสตร์เดียวกับสมัย “คอมมิวนิสต์”

ซึ่งถือว่าต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับปัญหาไฟใต้ ที่ยืนอยู่บนเรื่องชาติพันธุ์ ศรัทธา และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่ต้องแก้เรื่องความยุติธรรม สร้างความเสมอภาคและความเท่าเทียม ตามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ส่วนรัฐบาลทหาร ความไว้เนื้อเชื่อใจก็มีปัญหาตั้งแต่แรก ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทหารกับฝ่ายตรงข้ามเป็นปรปักษ์กัน มักตั้งการ์ดใส่กันอยู่แล้ว ถือเป็นข้อด้อย มีความระแวง การพูดคุยยังดำรงอยู่ก็จริง แต่ถามว่าจะมีพัฒนาการไปได้เร็วหรือไม่ ตรงนี้น่าเป็นห่วง

“ประกอบกับพฤติการณ์ผู้นำของเรา เริ่มมีปัญหาศรัทธาในเรื่องของสัจวาจาตามสัญญา ที่รับปากถึงการคืนประชาธิปไตย แต่เลื่อนไปเลื่อนมา ก็ทำให้เกิดความระแวงเหมือนกันว่า พอถึงเวลาจริงแล้วมันจะไม่ใช่หรือเปล่า มันสัมพันธ์กันไปหมด ต้องทำให้เขาเชื่อถือศรัทธาได้ ว่าพูดแล้วเป็นไปตามนั้นจริงๆ”

ถึงแม้สุกรี ฮารี หัวหน้าทีมมาราปาตานี จะระบุว่าเชื่อถือในรัฐบาลทหารมากกว่าประชาธิปไตย แต่อดีตเลขาฯ สมช. อธิบายว่า สุกรีเชื่อว่า เมื่อมีข้อตกลงกันแล้ว จะปุ๊บปั๊บจะง่ายกว่า แต่สภาพความเป็นจริงของการแก้ไขปัญหาแล้วเขาก็รู้อยู่แก่ใจ

“ทั้งโลกพิสูจน์ทราบชัดเจนแล้วว่า การแก้ปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงของมุสลิมแบบนี้ สุดท้ายต้องรัฐบาลประชาธิปไตยอย่างเดียวเท่านั้น เพราะมีความชอบธรรม ไม่มีรัฐบาลเผด็จการไหนที่แก้ไขได้ สิ่งที่เป็นอยู่ในตอนนี้จึงดูย้อนแย้งกัน”

แฟ้มภาพ

สุดท้ายการกำหนด “พื้นที่ปลอดภัย” ที่หนทางเริ่ม “ขรุขระ” เมื่อกำลังใกล้เข้ามานั้น ในมุมมองอดีตเลขาฯ สมช. เห็นว่า นี่เป็นการมุ่งพิสูจน์ทราบว่า แต่ละฝ่ายมีอิทธิฤทธิ์ อำนาจหน้าที่กันจริงหรือไม่ ตรงนี้คือเรื่องปกติ แต่ไม่สัมฤทธิ์ได้ง่าย

“ข้อเท็จจริงในวันนี้คือ มาตรการให้พื้นที่ของแม่ทัพภาคที่ 4 กับคณะพูดคุยของ พล.อ.อักษรา ไม่ตรงกัน ตอนนี้กำลังพูดถึง safety zone แต่ยังไม่ทันไปไหน ข่าวสารก็ไม่ตรงกันแล้ว จึงทำให้เกิดความหวาดระแวง”

หากจะให้เปรียบเทียบการแก้ไขไฟใต้ยุค คสช. เสธ.แมวบอกก็ เหมือน “ซอยเท้า…แต่ไม่หน้าเดิน”