รายงานพิเศษ : ทัศนะนักการเมืองรุ่นใหม่ กับโจทย์พาประเทศพ้นจากความล้าหลัง

อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์ / รายงาน

บรรยากาศการเมืองไทยในเวลานี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสพรรคการเมืองและการเข้าสู่การเมืองของคนรุ่นใหม่ เป็นเรื่องที่พูดกันมาก และเสียงดังมากขึ้น โดยเฉพาะการเปิดตัวพรรคกาเมืองต่างๆ รวมถึงพรรคอนาคตใหม่ที่ทุกสายตาต่างจับจ้องด้วยความสนใจ (และหวาดหวั่น)

และด้วยคำว่า “คนรุ่นใหม่” ยังทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหลายพรรคการเมืองที่เข้าสู่การผลัดใบ แต่ด้วยคำว่า “ใหม่” โดยเฉพาะช่วง 4-5 ปีมานี้ อาจไม่ใช่แค่ตัวบุคคลเพียงอย่างเดียว

แต่มันคือการแสวงหาความคิดใหม่ ที่จะส่งผลต่อสังคมและประเทศว่าจะมุ่งไปสู่อนาคตยังไง

ในขณะที่การเลือกตั้ง ที่ย้ำว่าเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก็ยังไม่สามารถให้ความเชื่อมั่นได้ว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่”

 

เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือเอฟซีซีที ได้เปิดโอกาสให้นักการเมืองรุ่นใหม่เข้ามาแบ่งปันและแสดงความคิดว่า จะสร้างอนาคตให้กับประเทศไทยยังไง จาก นายวราวุธ ศิลปอาชา จากพรรคชาติไทยพัฒนา, ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช จากพรรคเพื่อไทย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากพรรคอนาคตใหม่

โดยมีผู้สื่อข่าวทั้งไทยและเทศเข้าร่วมฟังจนแน่นห้อง

นายธนาธรได้กล่าวถึงที่มาของการตั้งพรรคว่า เกิดขึ้นไม่กี่เดือนก่อน จากการหารือกับนายปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการนิติศาสตร์ ถึงความคิดในการจดตั้งพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ด้วยเหตุผลที่ว่า ผู้คนในประเทศถูกกดขี่มาอย่างยาวนานและกำลังมองหาทางเลือก

พรรคอนาคตใหม่จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบความต้องการนี้และทำให้การเมืองแบบรัฐสภากลับมาทำงานอีกครั้ง หลังจากการเมืองไทยเผชิญกับการแบ่งสี จนมาถึงการรัฐประหารของ คสช.

ซึ่งนายธนาธรมองว่าการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยวิธีที่ไม่เป็นประชาธิปไตยหรือจากกระบอกปืน ไม่สามารถแก้ไขได้จริง เพราะความขัดแย้งในระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องปกติ

วงจรการเมืองไทยที่ขัดแย้งก็รัฐประหาร นายธนาธรเน้นว่า เราไม่ควรส่งต่อสังคมแบบนี้ให้กับคนรุ่นหลัง และต้องดึงทุกฝ่ายทุกสีกลับมาเชื่อมั่นต่อระบบรัฐสภา และเป็นสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่เข้ามาขับเคลื่อน

นายธนาธรเสนอว่า สิ่งแรกที่ต้องเป็นจุดเริ่มต้นคือการสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตย (Democratic Society) หากทำไม่ได้ก็ไม่ต้องพูดถึงเรื่องอื่น และยังเสนอถึงทุกพรรคการเมืองให้ผลักดันแนวทาง 4 ข้อ คือ

1) ต้องมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่เสรีและเป็นธรรม

2) ไม่เอานายกรัฐมนตรีคนนอก

3) พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องรวมตัวกันตั้งสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ลงประชามติ

และ 4) พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยร่วมเรียกร้องแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม เพื่อลดอำนาจกองทัพ

นายธนาธรกล่าวในตอนท้ายว่า โครงสร้างทางการเมืองที่เป็นอยู่ถูกครอบงำ ไม่ว่า ฝ่ายบริหารที่ถูกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ล่ามคอจนไม่สามารถออกนโยบายของตัวเองได้ ฝ่ายนิติบัญญัติที่ไม่มี ส.ว.จากการเลือกตั้ง ซึ่งเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจากรัฐธรรมนูญ 2540 และฝ่ายตุลาการที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน นั้นคือสาเหตุที่ทำไมถึงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560

เป็นสิ่งที่นายธนาธรเน้นย้ำว่าเป็น “1 คำมั่น – 4 ข้อ – 1 เป้าหมาย”

ด้านนายวราวุธกล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าในอดีตทุกคนต่างมองนักการเมืองค่อนข้างแย่ และเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ทำให้กลายเป็นหนึ่งในข้ออ้างที่ทหารเข้ามารัฐประหาร ไม่ว่า ประเทศไม่สงบ เกิดการคอร์รัปชั่น ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ สภาพการณ์ของไทยจึงสะท้อนมาตรฐานนักการเมือง คำถามคือ เราจะพัฒนานักการเมืองยังไง

ประเทศไทยที่ประชาชนกว่า 80-90% เป็นชาวนาและผู้ใช้แรงงานซึ่งมองเรื่องประชาธิปไตยต่างกัน แต่พวกเขาจะเลือกนักการเมืองที่เข้าใจวิถีชีวิตของพวกเขา และตอบสนองต่อความต้องการ

ดังนั้น ในอนาคตมาตรฐานนักการเมืองจะต้องได้รับการยกระดับ ซึ่งการศึกษาคือกุญแจสำคัญ

นายวราวุธกล่าวอีกว่า ช่วง 10 ปีมานี้ ประเทศไทยยังอยู่กับที่ การศึกษาก็เช่นกัน หากจะพัฒนาไปสู่อนาคต จะต้องทำให้ประชาชนได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น พวกเขาไม่สนใจว่าใครจะขึ้นมาบริหาร พวกเขารู้แค่ว่าจะกินอะไรในวันพรุ่งนี้ ไฟฟ้าถึงหรือไม่

ส่วนเรื่องการเมืองนั้น นายวราวุธกล่าวว่า การเมืองไทยมันเปลี่ยนไปมาระหว่างเอา-ไม่เอานายกฯ คนนอก ซึ่งในอนาคตข้างหน้าไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร

แต่เมื่อการเลือกตั้งมาถึง ระบบกลับสู่ปกติ ก็จะเข้ามีการเลือกตัวแทนเข้าสู่สภา นั้นคือสิ่งที่พรรคชาติไทยพัฒนาทำ และการเมืองนั้นเป็นเรื่องของการต่อรอง ไม่ใช่เกมชิงอำนาจที่ผู้ชนะได้ครอบครองหมด ซึ่งการเมืองในความคิดตัวเองนั้นทุกพรรค แม้แต่ฝ่ายค้านก็คือเพื่อนร่วมงาน

นายวราวุธยังพูดถึงคนรุ่นใหม่ที่เข้าสู่การเมือง โดยหลังจากนายบรรหาร ผู้เป็นบิดาจากไปได้ 2 ปี ถือเป็นโอกาสที่ได้รีแบรนดิ่งพรรค อยากเห็นคนหน้าใหม่เข้ามาทำงาน เป็นผู้บริหารพรรค โดยที่ยังมีสมาชิกเดิมอยู่ต่อ

แต่สิ่งที่ยังคงเชื่อมั่นคือ พลังเจตจำนงของประชาชน ประชาธิปไตยจะต้องมีชัย และหลายสิ่งจะดีขึ้น ไม่ทางใดทางหนึ่ง ต่อให้ไม่สวยหรูบ้าง แต่ก็ยังเดินหน้าต่อไปได้

ขณะที่ ร.ท.ปรีชาพล กล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ในยุคทำลายล้างทางเทคโนโลยี ความเปลี่ยนแปลงของข้อมูลข่าวสาร การเกิดระบบเศรษฐกิจปกติใหม่ ซึ่งพรรคเพื่อไทยพร้อมช่วยคนยากจนให้รอดพ้นจากภาวะดังกล่าว สร้างสมดุลทั้งเศรษฐกิจส่งออกและการพึ่งพาตนเอง

ร.ท.ปรีชาพลได้กล่าวถึงคนรุ่นใหม่ว่า พวกเขาเติบโตในยุคของเทคโนโลยีและมีบทบาทสำคัญ โดยที่คนที่อำนาจตัดสินใจเป็นคนหัวเก่า ส่วนคนรุ่นใหม่ที่คิดแบบดิจิตอลกลับไม่มีอำนาจตัดสินใจ

ดังนั้น คนทั้งสองวัยจะต้องเชื่อมต่อกัน เรียนรู้ประสบการณ์พร้อมกับผนวกเอาความรู้ใหม่ ซึ่ง ร.ท.ปรีชาพลยกขึ้นมาคือ การศึกษา เศรษฐกิจชุมชนและการเมือง

ร.ท.ปรีชาพลเสนอให้ปฏิรูปการศึกษา ด้วยการกระจายอำนาจด้านการศึกษา การพัฒนาเทคโนโลยี ปรับปรุงหลักสูตรให้เข้ากับกระแสโลก บูรณาการกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการต่อยอดสู่การสร้างอาชีพ

ในด้านเศรษฐกิจชุมชนนั้น ร.ท.ปรีชาพลเสนอให้ยกระดับโอท็อปสู่ดิจิตอลไปยังตลาดโลก ตามโมเดลแบบอาลีบาบาและอเมซอน

ส่วนการเมืองนั้น ร.ท.ปรีชาพลต้องการให้คนรุ่นใหม่มีความเป็นชาตินิยมแต่ไม่คลั่งชาติ มีนักการเมืองที่คิดถึงคนรุ่นต่อไปมากกว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป คิดต่างได้แต่ต้องเคารพความเห็นที่แตกต่าง

เลิกล่าแม่มดกับคนคิดต่าง เพราะทุกคนล้วนเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย โดยที่กฎหมายจะบังคับใช้อย่างเท่าเทียม ไม่สองมาตรฐาน

 

ส่วนนายพริษฐ์กล่าวว่า ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่เข้ามา จะสร้างมาตรฐานใหม่ทางการเมืองไทยขึ้น

อย่างแรกคือ ช่วงที่เติบโตอยู่ในไทย เกิดความขัดแย้งระหว่างสีที่กำลังเข้มข้น ซึ่งมั่นใจว่าอยากก้าวข้ามตรงจุดนี้ สิ่งที่หลายพรรคไม่เห็นด้วย เราต้องก้าวข้ามออกไป

อย่างที่สอง ต้องมั่นใจว่าเกิดการยอมรับความเห็นที่แตกต่าง ไม่ว่าจะต่างความคิด ต่างอุดมการณ์ ไม่ได้แปลว่าจะต้องทำร้ายกัน

และอย่างที่สาม สิ่งสำคัญคือเราเป็นใคร เราสามารถเรียนรู้ได้ว่าการเมืองนั้นเป็นอย่างไร หลายคนอาจมองตนเองแล้วนึกไปถึงญาติที่เป็นนักการเมือง (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ผมไม่ได้เหมือนเขา ผมมั่นใจได้ว่าไม่มีใครจะพูดไปโยงความเกี่ยวข้องกับครอบครัวว่าเป็นลูกหลานคนนั้นคนนี้ได้

และท้ายที่สุด สิ่งสำคัญคือ ผมยืนอยู่ในฐานะพรรคประชาธิปัตย์ใหม่

นายพริษฐ์ยังกล่าวถึงการช่วยพรรคประชาธิปัตย์ จะต้องเป็น 3 แนวทางคือ

1) ยึดมั่นในอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย โดยเป็นประชาธิปไตยตลอดกระบวนการ การเคารพเสียงข้างมาก สิทธิมนุษยชน การกระจายอำนาจและตรวจสอบถ่วงดุล

2) การสร้างประชาธิปไตยจากภายในพรรค

และ 3) ประชาธิปัตย์ใหม่ต้องผลักดันนโยบายมากกว่าสร้างวาทกรรม

 

ในช่วงตอบคำถามจากสื่อ เมื่อถามถึงสิ่งที่นายธนาธรเสนอชุดความคิดเข้มข้นที่ต่อต้านระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ด้านตัวแทนทั้ง 3 พรรคมีจุดยืนเรื่องนี้อย่างไร

ร.ท.ปรีชาพลกล่าวว่า ประเทศนี้ต้องฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยไปถึงรากฐาน และทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้เกิดรัฐประหารอีก แม้ยอมรับว่าลำบากที่ว่าจะทำยังไงให้ระบบทหารออกไป แต่สิ่งที่ต้องทำคือเปลี่ยนวิธีคิดคน และย้ำว่า พรรคเพื่อไทยต่อต้านระบบเผด็จการ และสนับสนุนการเมืองระบอบประชาธิปไตย

ด้านนายวราวุธก็กล่าวว่า ในฐานะนักการเมือง ไม่สนับสนุนการรัฐประหารไม่ว่าจะกี่ครั้งก็ตาม แต่จะยับยั้งอย่างไรนั้น ต้องย้อนไปที่กล่าวถึงข้ออ้างที่ทหารใช้เพื่อยึดอำนาจ และตนไม่เชื่อในการเปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้ว

ขณะที่นายพริษฐ์ได้ย้ำชัดว่าเราเชื่อมั่นในอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย และหลักการที่กล่าวไป

รวมถึงสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพสื่อ