เกษียร เตชะพีระ : อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน – ยุค 1 ค.ศ.1975-1989

เกษียร เตชะพีระ

อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน (ตอน2) : ยุค 1 ค.ศ.1975-1989

งานเรื่อง Thailand : Shifting Ground between the US and a Rising China (ค.ศ.2017) ของ Benjamin Zawacki (BZ) กับวิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิตเรื่อง “สี่ทศวรรษนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยต่อจีน : นโยบาย ปัจจัยและข้อเสนอแนะ” (พ.ศ. 2560) ของ ดร.เจษฎาพัญ ทองศรีนุช ชี้ให้เราเห็นชัดอย่างน่าสนใจว่ามีการกลับตาลปัตรโชคชะตา/สถานะทางเศรษฐกิจ (Reversal of Fortune/Status) ของไทยกับจีนในช่วง 4 ยุค 40 ปี จากราว ค.ศ.1975-2015

ตอนเริ่มต้นไทยเหนือกว่าโดยเปรียบเทียบ คือเป็นเศรษฐกิจโตเร็วที่สุดในโลกอยู่ร่วม 10 ปี (ราวกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1980s – กลางคริสต์ทศวรรษที่ 1990s ก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง) และฝ่ายจีนตอนเปิดประเทศหลังปี ค.ศ.1987

บรรดาเจ้าหน้าที่จีนพากันออกมาดูงานไทยเป็นแบบอย่างเปิดหูเปิดตาด้วยความทึ่ง

ทว่า มาปัจจุบัน 40 กว่าปีให้หลังกลับตาลปัตรกัน เศรษฐกิจจีนกลับโตเร็วที่สุดในโลกและฝ่ายไทยหันกลับไปศึกษาดูงานจีนเป็นแบบอย่างแทนบ้าง

คำถามน่าสนใจคือ การค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศเกี่ยวข้องและส่งผลอย่างไรบ้างหรือไม่ต่อสภาพโชคชะตา/สถานะกลับตาลปัตรดังกล่าว?

จะอธิบายความเชื่อมโยงเกี่ยวพันเท่าที่มีอย่างไร?

จะเห็นได้ว่ากรณีไทย GDP โด่งขึ้นในช่วง ค.ศ.1985-1995 แล้วตกวูบ เทียบกับจีนปัจจุบันซึ่งสูงโด่งคล้ายไทยตอนนั้น กระทั่งเมื่อเจ้าหน้าที่จีนเปิดประเทศออกมาดูเพื่อนบ้าน (หลังปิดประเทศมานานสมัยเหมาเจ๋อตง) แล้วพบว่าทุนนิยมเอเชียตะวันออกรวมทั้งเอเชียอาคเนย์โตเร็วกว่าสังคมนิยมจีนมากก็พากันทึ่งและหลากใจ

ดังที่ Arthur R. Kroeber นักวิจัยชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจการเมืองจีนเขียนเล่าไว้ใน China”s Economy : What Everyone Needs to Know (ค.ศ.2016, p. 9) ดังนี้ :

“จีนได้เรียนรู้อะไรจากความสำเร็จของบรรดาเพื่อนบ้านของตนในเอเชียตะวันออก?

เมื่อจีนเริ่มโผล่พ้นช่วงโดดเดี่ยวตัวเองตามลัทธิเหมาในปี ค.ศ.1979 นั้น เจ้าหน้าที่รัฐบาลและนักวิชาการจีนก็เริ่มเดินทางไปทั่วโลก พวกเขาค้นพบอย่างรวดเร็วว่าในแง่เศรษฐกิจและเทคโนโลยี จีนล้าหลัง สุดกู่ไม่เพียงแต่เมื่อเทียบกับบรรดาประเทศมหาอำนาจตะวันตก แต่รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านขนาดเล็กกว่าในเอเชียตะวันออกหลายประเทศด้วย ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวัน ทั้งสามประเทศได้ประสบความเจริญรุ่งโรจน์ทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนนับแต่โผล่พ้นซากปรักหักพังของสงครามออกมาเมื่อต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1950 ถึงปี ค.ศ.1979 ญี่ปุ่นก็ได้กลายเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลกเรียบร้อยแล้วและดูกำลังทำท่าจะแย่งยึดการนำทางเทคโนโลยีระดับโลกไปจากสหรัฐอยู่รอมร่อ

เกาหลีใต้ซึ่งอยู่ภายใต้การนำอันเหนือชั้น เหี้ยมเกรียม และบางทีก็คลุ้มคลั่งของประธานาธิบดีปักจุงฮี (ค.ศ.1961-1979) ได้ผงาดขึ้นจากประเทศยากจนที่สุดในเอเชียไปเป็นขุมพลังอุตสาหกรรมขั้นแรกเริ่ม

ที่น่าอับอายขายหน้าที่สุดสำหรับจีนก็คือไต้หวันอันเคยเป็นมณฑลเกษตรกรรมที่ยากไร้ในปี ค.ศ.1949 เมื่อรัฐบาลชาตินิยมของเจียงไคเช็กที่ปราชัยหนีไปหลบภัยอยู่ที่นั่นหลังพ่ายแพ้สงครามกลางเมืองแก่พวกคอมมิวนิสต์นั้น บัดนี้กลับกลายเป็นประเทศรายได้ปานกลางที่รุ่งเรืองและกำลังจะกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายสำคัญอยู่รอมร่อ”

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในสัมพันธ์ไทย-จีนยุคแรกคือการปรับแถวแนวร่วม (realignment) ระดับภูมิภาคใหม่ที่รวดเร็วเหลือเชื่อในชั่ว 4-5 ปี จาก :

ยุคสงครามอินโดจีนครั้งที่ 1 : [ไทย+US] vs. [3 ปท.อินโดจีน+จีน+พคท.] ->

ยุคสงครามอินโดจีนครั้งที่ 2 : [ไทย+US+จีน+เขมรแดง] vs. [เวียดนาม+ลาว+สหภาพโซเวียต]…โดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ถูกตัดหางปล่อยวัด

BZ ชี้ว่า พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ รมว.ต่างประเทศสมัยรัฐบาลคึกฤทธิ์ เล็งเห็นความเป็นไปได้ของการปรับแถวแนวร่วมภูมิภาคอันใหม่นี้อย่างแยบคายแหลมคมไวมากก่อนกาล และคิดดึงจีนมาเข้าข้างไทย ให้แยกห่างจาก พคท. เพื่อร่วมกันต้านเวียดนาม (ดู BZ, pp. 52-53 อ้างคำให้สัมภาษณ์ของไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ)

นั่นแปลว่การเล็งเห็นภัยคุกคาม (Threat perception) ของไทยเปลี่ยนเมื่อสงครามเวียดนามจบ จากที่ไทยเคยมองจีนเป็นภัยคุกคามหลักด้านความมั่นคง ก็เปลี่ยนมาเป็นภัยเวียดนามแทน ขอแต่จีนเลิกช่วย พคท. เท่านั้นเป็นพอ BZ ยังสรุปอย่างเลือดเย็นว่า :

“… it was China and not the US that would receive credit for fatally wounding the insurgency.” (BZ, p. 53)

แปลว่า จีนนั่นแหละเชือด พคท. ให้ไทย ไม่ใช่ US!

ฝ่ายจีนเองก็เล็งเห็นความข้อนี้ คือมีสำนึกทางภูมิรัฐศาสตร์ไวยิ่งว่าจบสงครามเวียดนาม (US แพ้แน่ๆ) เมื่อไหร่ เวียดนามจะกลายเป็นศัตรูหลักของจีนและไทยในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ติดพรมแดนจีนทันที และจีนได้บอกกล่าวนัยๆ แบบนั้นกับไทยว่า “จีนตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องให้สหรัฐคงอยู่ในประเทศไทยสืบต่อไป”(ทหาร-ฐานทัพ – เพื่อถ่วงทานเวียดนาม) และนายกฯ โจวเอินไหลเตือนนายกฯ คึกฤทธิ์ถึง “อันตรายที่สุญญากาศซึ่งสหรัฐทิ้งไว้อาจก่อให้เกิดขึ้นต่อภูมิภาค” (BZ, p. 53)

ซึ่งตรงกันและช่วยให้ชัดเจนขึ้นซึ่งสิ่งที่คุณเจษฎาพัญเขียนไว้ในวิทยานิพนธ์ว่า “จีนไม่ต้องการให้มีฐานทัพของสหรัฐตั้งอยู่ในไทย…อย่างไรก็ตาม จีนไม่ได้กดดันเรื่องนี้กับไทยมากนักหากผู้นำไทยเห็นว่าการมีกองกำลังทหารของสหรัฐจะช่วยป้องกันภัยจากคอมมิวนิสต์ในอนุภูมิภาคอินโดจีนได้” (น. 73 เน้นโดยผู้เขียน)

อย่างไรก็ตาม คุณเจษฎาพัญประเมินสรุปไว้ในบทคัดย่อของวิทยานิพนธ์ตอนหนึ่งเกี่ยวกับปัจจัย “โครงสร้างการเมือง” ต่อนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยต่อจีนว่า “โดยในส่วนของปัจจัยภายในนั้น โครงสร้างการเมืองมีความสำคัญน้อยกว่าปัจจัยอื่นๆ” (น. 2)

ข้อประเมินของคุณเจษฎาพัญนี้น่าฉงนสงสัยมากเมื่อดูเปรียบเทียบกับงานของ Banjamin Zawacki ในกรณีนโยบายไทยต่อสหรัฐ เห็นได้ชัดว่ามันเปลี่ยนพร้อมกับระบอบการเมืองเปลี่ยน โดยเฉพาะจากจอมพล ป. (ระบบเลือกตั้งแบบอำนาจนิยม) ” สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส (เผด็จการทหารอาญาสิทธิ์) ” หลัง 14 ตุลาฯ 2516 (ระบบเลือกตั้งประชาธิปไตย) (BZ, p. 32, 76-80) และในช่วงหลัง 14 ตุลาฯ ก็เห็นชัดว่านโยบายไทยต่อจีนก็เปลี่ยนไปด้วย

อันที่จริงในตัววิทยานิพนธ์ของคุณเจษฎาพัญเอง ช่วงยุคที่ 1 นี้ปรากฏว่าการเปลี่ยนโครงสร้างหรือระบอบการเมืองส่งผลต่อนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยต่อจีนถึง 4 ครั้ง คือ

1) จากจอมพลป. -> สฤษดิ์ (น.63-64)

2) จากช่วงปี พ.ศ.2516-2519 (น.69-70)

3) จากช่วงปี พ.ศ. 2519-20 สมัยรัฐบาลธานินทร์ (น.76-77, 105, 108-109) และ

4) จากสมัยรัฐบาลธานินทร์ -> รัฐบาลเกรียงศักดิ์ (น.79-80)

และสรุปรวม (น.147, 150, 172)

จากภาพรวมเหล่านี้ ผมคิดว่าข้อสรุปของเจษฎาพัญในบทคัดย่อวิทยานิพนธ์กลับขัดแย้งกับข้อค้นพบในวิทยานิพนธ์เองมากมายหลายที่ อย่างน้อยในช่วงยุค 1 หรือพูดอีกอย่างก็คือ “ยุคสงครามเย็น” ดังนั้น ควรปรับแก้ถ้อยความส่วนนี้ในบทคัดย่อใหม่เป็นว่า : “โดยในส่วนของปัจจัยภายในนั้น โครงสร้างการเมืองมีความสำคัญน้อยกว่าปัจจัยอื่นๆ ในช่วงยุคหลังสิ้นสุดสงครามเย็นเป็นต้นมา” แทน

ส่วนเหตุปัจจัยที่ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ผมขอเก็บไว้อภิปรายอย่างพิสดารในภายหลัง

(ต่อสัปดาห์หน้า)