ยุวดี ศิริ : “รถพุ่มพวง” ยังอยู่ได้…สบายมาก

ยุวดี ศิริ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ


หนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมา คนรู้จักต่างให้ความเป็นห่วงเป็นใยและส่งรูปรถขายสินค้าของซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่เจ้าหนึ่งมาให้ดู ประมาณว่าเป็นร้านสะดวกซื้อเคลื่อนที่ ติดป้ายว่า “มินิบิ๊กซี” เข้าไปเร่ขายสินค้าให้ผู้คนที่อยู่ตามหมู่บ้านจัดสรร

คนที่ส่งรูปมาส่วนใหญ่นอกจากถามด้วยความสนใจว่า “ได้เห็นหรือยัง” ก็ยังส่งมาพร้อมกับข้อความเอาใจช่วยประเภท “รถพุ่มพวง…สู้สู้” หรือถ้อยคำกังวลใจแบบ “แล้วรถพุ่มพวงจะไปรอดมั้ย”

เหตุที่มีคนถามไถ่กันมากขนาดนี้ เป็นเพราะสิบปีกว่าแล้วที่ผู้เขียนเก็บข้อมูลและทำงานวิจัยเกี่ยวกับรถขายกับข้าว หรือที่ผู้เขียนเรียกว่า “รถพุ่มพวง” ทำให้ได้รู้ ได้เห็น และเข้าใจวิถีชาวบ้านที่สัมพันธ์กับรถขายกับข้าวชนิดนี้เป็นอย่างดี

คนรอบข้างที่ได้ฟังเรื่องราวต่างๆ มาโดยตลอดเลยคิดว่า…รถพุ่มพวงกับผู้เขียนเป็นญาติกัน (ฮา) พอญาติโดนรังแกเลยต้องเอาใจช่วยกันหน่อย

 

ตอนที่ทำงานวิจัยในปีแรกๆ ประมาณ พ.ศ.2546 ผู้เขียนก็เรียก “รถขายกับข้าว” เหมือนคนทั่วๆ ไป

แต่พอปี พ.ศ.2550 ได้ยินครั้งแรกจาก ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง เรียกว่า “รถพุ่มพวง” ภาพรถขายกับข้าวที่ห้อยของเป็นพวงๆ ข้างรถผุดขึ้นมาชัดเจนเลยทีเดียว

ต่อมาเมื่อเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ จึงพบว่าการเรียกรถขายกับข้าวชนิดนี้ว่า “รถพุ่มพวง” นั้น มีนัยยะที่ถูกต้องอย่างมากมาย

ประการแรก การที่ผู้ขายห้อยสินค้า “เป็นพุ่มเป็นพวง” นั้น ก็เพื่อให้เกิดการจัดแบ่งประเภทของสินค้า เช่น พุ่ม (กลุ่ม) นี้เป็นผักใบ เช่น คะน้า กะหล่ำปลี ฯลฯ พุ่มนี้เป็นผักสมุนไพร เช่น ข่า ตะไคร้ โหระพา ใบกะเพรา ฯลฯ ซึ่งจะง่ายต่อการที่ผู้ซื้อจะหาสินค้าได้เอง

ส่วนที่เป็นพวงๆ ก็เพื่อบอกว่าของในพวงนั้นราคาเท่าไหร่ พวงนั้น 5 บาท พวงนี้ 10 บาท

การจัดของด้วยรูปแบบและวิธีการเช่นนี้จึงง่ายต่อการหาสินค้าและคิดราคา ถือเป็นความสะดวกทั้งแก่ผู้ซื้อและผู้ขาย

 

ประการที่สอง เป็นเรื่องการใช้พื้นที่ เมื่อรถกระบะมีพื้นที่ส่วนใต้หลังคาอยู่อย่างจำกัด การจัดวางทุกอย่างไว้ที่พื้นท้ายกระบะทั้งหมดก็จะวางได้น้อยและเกิดการซ้อนทับ เมื่อเป็นอาหารประเภทผักถ้าซ้อนทับกันมากๆ ผักก็จะช้ำ

การห้อยไว้ในพื้นที่ด้านข้าง จึงเป็นการใช้พื้นที่ในแนวตั้งให้เกิดประโยชน์ และทำให้เห็นสินค้าโดยง่าย ไม่ต้องควานหาหรือยกนั่นยกนี่ให้วุ่นวาย

รถพุ่มพวงนั้นถือเป็นรถขายสินค้าที่รวมเอาตลาดสดและร้านโชห่วยเข้าไว้ด้วยกัน และเคลื่อนที่ไปขายสินค้าและบริการให้กับชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลหรือที่ไม่ได้รับความสะดวกจากบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ

คุ้นๆ หรือไม่ว่าคล้ายอะไร…คล้ายกับการเกิดขึ้นของรถตู้กับวินมอเตอร์ไซค์ รัฐตัดถนนเพื่อกระจายความเจริญแต่ไม่คิดระบบขนส่งสาธารณะ รัฐออกผังเมืองเพื่อกำหนดความหนาแน่นของการใช้ที่ดิน

แต่รัฐไม่ได้สร้างหรือจูงใจให้เกิดการสร้างสาธารณูปการขั้นพื้นฐาน ไม่ได้วางแผนว่าผังเมืองระดับไหนต้องการอะไร

เช่น เมื่อมีการตัดถนน ความเจริญก็ไป แหล่งงานก็ไป ที่อยู่อาศัยก็ตามไป หมู่บ้านจัดสรรก็กระจายไปตามเส้นทางเกิดใหม่ ยิ่งราคาถูกยิ่งอยู่ห่างไกล จะพึ่งพารถเมล์ก็ไม่มี จะซื้อของจากตลาดก็ไกลเกิน

รถพุ่มพวงจึงกลายเป็นโอกาสของคนจนที่ปรับตัวต่อสู้กับระบบทุนนิยมในช่วงวิกฤต

 

“วิกฤต” ที่เคยพาเอาร้านโชห่วยแบบดั้งเดิมล้มหายไปเป็นจำนวนมาก มีร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตแทรกตัวอยู่ทุกหัวระแหง เกิดสงครามตัดราคาจนร้านโชห่วยอยู่ไม่ได้ จนวันหนึ่งรถพุ่มพวงก็เกิดขึ้นและพาเอาร้านโชห่วยและตลาดสดเคลื่อนที่ไปหาชาวบ้าน

แล้วความกังวลใจรอบใหม่ก็เริ่มขึ้น เมื่อรถกระบะคันสีเขียวนำสินค้าแบบที่ขายในร้านสะดวกผสมกับบางส่วนของซูเปอร์มาร์เก็ตแล่นไปจอดขายสินค้าในหมู่บ้านจัดสรร

รูปรถก็มีอยู่รูปเดียว แต่เปิดประเด็นไปทั่ว แสดงว่าตระเตรียมมาเป็นอย่างดี เป็นการโยนหินถามทางชัดๆ

เหมือนจะถามว่าสังคมจะว่าอย่างไร

ซึ่งก็เป็นแบบนั้นจริงๆ มีคนตั้งคำถามขึ้นมาว่า “แล้วรถพุ่มพวงจะไปรอดมั้ย”

ประสบการณ์ของผู้เขียนที่เก็บข้อมูลรถพุ่มพวงมาเป็นสิบปีตอบได้เลยว่า “งานนี้ไม่ใช่เคี้ยวกันง่ายๆ แบบเอาอ้อยเข้าปากช้างแน่ๆ ให้เป็นรายใหญ่แบบช้างสีเขียวก็เถอะ”

ทำไมผู้เขียนจึงแน่ใจเช่นนั้น

 

เรื่องที่หนึ่ง แม้ว่า “รถมินิบิ๊กซี” จะมีรูปแบบที่คล้ายรถพุ่มพวง แต่เมื่อพิจารณาสินค้าที่ขายแล้วเป็นสินค้าคนละประเภทกัน กลุ่มคนแม้จะซ้ำกันบ้าง แต่คนกลุ่มใหญ่ที่ซื้อของจากรถพุ่มพวงไม่ได้ซื้อของจากร้านสะดวกซื้อหรือมินิซูเปอร์มาร์เก็ต โอกาสที่จะเข้าถึงกลุ่มผู้ซื้อของรถพุ่มพวงจึงค่อนข้างห่างไกล

เรื่องที่สอง รถพุ่มพวงมีการให้บริการในลักษณะของการพึ่งพากันแบบสังคมไทย

เช่น วันนี้ยายอยากได้ปลากระบอกมาทำแกงส้มปลากระบอก อย่างนี้โทร.สั่งกับรถพุ่มพวงได้ ราคาค่าจัดหาของบวกเพิ่มไปนิดหน่อย…เอามะดันมาให้ยายสองสามลูกด้วยน้า

เรื่องแบบนี้ระบบทุนนิยมเข้าใจมั้ย

เรื่องที่สาม กลุ่มลูกค้าที่ซื้อของจากรถพุ่มพวงมีทั้งยายแก่ที่อยู่กับบ้าน คนรับใช้ที่ชอบรวมกลุ่มทำอาหารกินกันเอง แรงงานตามไซต์ก่อสร้าง คนงานตามโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ

คนเหล่านี้มี “จริต” ในการเลือกซื้อของในรถพุ่มพวงไม่เหมือนกัน

เอาแค่ต้องเข้าใจว่า จะขายของให้ใครและขายอะไร แค่นี้ “บิ๊กซี” ก็จัดของไม่เป็นแล้ว

ยังมีเรื่องที่สี่-ห้า-หก เช่น การบริหารต้นทุน การจัดการกับของที่เหลือ รวมถึงปริมาณที่ลูกค้าแต่ละกลุ่มพอใจที่จะจ่ายในระดับไหน หรือจ่ายเชื่อก็ได้ด้วยนะ และอีกจิปาถะ

วิถีชาวบ้านแบบนี้ พวก “รถพุ่มพวง” เขาปรับตัวจนเข้ากับชาวบ้านได้มานานแล้ว ไม่เล่าทั้งหมดล่ะ เดี๋ยวจับทางกันถูก เล่าแค่ให้พอรู้ว่า “อย่าเอาช้างมาขี่จับตั๊กแตน” เลย ตอนแรกคนซื้ออาจเห่อเพราะเป็นของใหม่

แต่ในระยะยาวแล้ว “รถพุ่มพวง ยังอยู่ได้…สบายมาก”