กรกฤษณ์ พรอินทร์ : The Godfather ระบบอุปถัมภ์ที่แทรกซึมในสังคม

“ข้าจะมอบข้อเสนอที่มันปฏิเสธไม่ได้” ประกาศิตนี้ของดอนคอร์เลโอเน ตรึงใจนักอ่านมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 เมื่อ ธนิต ธรรมสุคติ แปลนิยาย The Godfather เป็นภาษาไทยครั้งแรกกับสำนักพิมพ์สนามหลวง

The Godfather เป็นนิยายอาชญากรรมคลาสสิคที่เป็นต้นธารให้แก่ภาพยนตร์เรื่องเดียวกันของ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา ทำให้ภาพของดอนวีโต คอร์เลโอเน กลายเป็นภาพจำของ เจ้าพ่อมาเฟีย ผู้ทรงอิทธิพล ครอบครองเส้นสนกลในทั้งในโลกใต้ดินและรัฐสภา

อีกทั้งยังฉายภาพการทำธุรกิจสีเทาได้อย่างละเอียดลออจนเสมือนผู้อ่านได้เป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวคอร์เลโอเนไปโดยปริยาย

แม้จะเป็นอาชญนิยายก็ตามที

แต่เสน่ห์อย่างหนึ่งของนิยายเรื่องนี้ก็คือความโรแมนติก และบทสนทนาของดอนวีโตที่เป็นเหมือนคำภีร์สอนลูกที่ตราตรึงใจผู้อ่าน

แต่สิ่งที่ทำให้นิยายเรื่องนี้ยืนหยัดท้าทายกาลเวลามาได้เสมอก็คือการเป็นที่พึ่งพึงแก่ผู้ทุกข์ยากของดอนวีโต ในบทบาทของ The Godfather หรือพ่อทูนหัวของเพื่อนที่ยอมรับมิตรภาพที่ดอนหยิบยื่นให้

 

อํานาจนอกระบบของดอนวีโตเป็นสิ่งที่ผู้เป็นเพื่อนของดอนยินยอมจ่ายเพื่อให้ได้สิทธิในการใช้มันเมื่อพวกเขาไม่อาจหาความยุติธรรมได้จากระบบปกติ

ดังที่เราเห็นเมื่อตอนต้นของนิยายที่ อเมริโก โบนาเซรา สัปเหร่ออิตาเลียนที่ลูกสาวคนสวยของเขาถูกวัยรุ่นสองคนรุมทำร้ายจนเสียโฉมและต้องนอนพักฟื้นอยู่ในโรงพยาบาล แต่ศาลมีคำสั่งให้รอลงอาญาเพราะผู้ก่อเหตุทั้งสองเป็นผู้เยาว์ที่มีประวัติดีมาตลอด แถมหนึ่งในนั้นเป็นลูกหลานนักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลของรัฐ

เมื่อนั้นโบนาเซราจึงรู้สึกตัวในทันทีว่านี่คือหมากกระดานที่เขาพ่ายแพ้

เขา–ชาวอิตาเลียนอพยพที่เชื่อมั่นในความเป็นอเมริกันจนถึงขนาดใช้ชื่อตนเองว่าอเมริกาเอ่ยปากออกมาว่า “เพื่อความยุติธรรม เราต้องคลานไปหาดอน คอร์เลโอเน”

“ทำไมเอ็งไปหาตำรวจ? ทำไมไม่มาหาข้าเสียตั้งแต่แรก?” ดอนเอ่ยปากถามเมื่อโบนาเซราร้องขอความช่วยเหลือจากเขา

“…ถ้าเอ็งมาหาข้าเพื่อขอความยุติธรรมตั้งแต่แรก ไอ้สถุลสองตัวที่ทำให้ลูกสาวเอ็งต้องร้องไห้ขมขื่นก็จะต้องร้องไห้อย่างขมขื่นไปแล้ววันนี้ ถ้าวันนี้บังเอิญคนดีๆ อย่างเอ็งไปมีศัตรูที่ไหน พวกนั้นก็จะเป็นศัตรูของข้าไปด้วย แล้วเชื่อข้าเถอะ ว่าพวกนั้นจะต้องกลัวเอ็ง”

 

ระบบอุปถัมภ์ที่แทรกซึมในสังคม

The Godfather ฉายภาพของระบบอุปถัมภ์ที่แทรกซึมอยู่ในสังคมให้เห็นได้อย่างเด่นชัด จากความช่วยเหลือของดอนวีโตที่มีให้แก่คนทุกชนชั้น ทั้งแม่ม่ายผู้ทนทุกข์ตลอดจนนักการเมืองผู้ทรงอำนาจในสภา ตั้งแต่สมัยที่เขายังเป็นดอนรุ่นหนุ่ม จนกระทั่งอายุอานามถึงวัยเลี้ยงหลาน

การสานสัมพันธ์กับตำรวจและนักการเมืองเพื่อความราบรื่นในการทำงาน การแลกเปลี่ยนความเอื้อเฟื้อ และมอบความช่วยเหลือยามจำเป็น เป็นหนึ่งวิธีการหยิบยื่นมิตรภาพของดอนวีโตที่มีให้แก่เพื่อนของเขาอยู่เสมอ เพื่อประโยชน์ในการจัดการธุระต่างๆ โดยเฉพาะการลัดขั้นตอนทางกฎหมายและการอำนวยความสะดวกยามจำเป็น

หลายสิบปีที่ดอนวีโตแทรกแซงกลไกรัฐเพื่อตอบแทนมิตรภาพที่ผู้คนหยิบยื่นให้ในฐานะ Godfather ย่อมแสดงให้เห็นว่าสังคมอเมริกันมีช่องโหว่ให้ผู้มีเงินและมีอำนาจนอกระบบสามารถยักย้ายถ่ายเทกติกาต่างๆ ได้ตามอำเภอใจโดยไม่สนใจทั้งคำครหาและหลักกฎหมายอันเป็นนิติรัฐ

ดอนวีโตจะทำการอย่างนี้ไม่ได้เลยเป็นสิบๆ ปี ถ้าไม่มีช่องโหว่ทางกฎหมาย และการเพิกเฉยจากเจ้าหน้าที่รัฐที่คอยปิดตาข้างหนึ่งเป็นธุระจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้แลกกับสินน้ำใจที่ดอนจะมีให้แก่เพื่อนของเขา

 

แน่นอนว่า The Godfather เป็นนิยายที่มีฉากหลังเป็นอเมริกาในช่วงยุคปี 1950 แต่เราอาจมองเห็นภาพการใช้ระบบอุปถัมภ์ในนิยายที่ซ้อนทับกับสภาพความเป็นจริงของสังคมอเมริกันในยุคปัจจุบัน หรืออาจเลยเถิดไปจนเห็นภาพๆ นี้ในสังคมบ้านเราก็เป็นได้

หลายครั้งที่สังคมไทยตั้งคำถามถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ไม่อาจตอบสนองความต้องการได้ทันท่วงที และหลายคราก็ค้านสายตาคนส่วนใหญ่

เช่น เรื่องของคุณป้าขวานซิ่งที่ใช้ขวานทุบรถที่มาจอดหน้าบ้านของตน หลังจากที่ต้องอดทนจากพฤติกรรมย่ำแย่ของผู้ใช้ตลาดที่ไม่ได้รับอนุญาตที่ผุดขึ้นรอบบ้านของเธอ จนการใช้ขวานทุบรถครั้งนี้สั่นสะเทือนไปถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายที่ปล่อยปละละเลยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้เป็นสิบปี

หรือกระทั่งล่าสุดอย่างกรณีเสือดำที่ทุ่งใหญ่ ที่มีความล่าช้าในการสืบสวน สังคมจึงตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดกันแน่จึงเกิดความล่าช้าเช่นนี้ขึ้น

โดยชี้เป้าไปที่ความร่ำรวยและอิทธิพลของผู้ถูกกล่าวหาเป็นสำคัญว่าน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย

จากภาพที่ซ้อนทับกันเช่นนี้ทำให้เราเห็นว่า นิยาย The Godfather ยังคงชี้ให้เห็นภาพการแทรกแซงอำนาจรัฐได้อย่างเด่นชัด แม้ว่าจะนำไปเปรียบเทียบกับสังคมใดหรือในยุคไหนก็ตาม เพราะธรรมชาติของมนุษย์ย่อมต้องการได้รับสิทธิพิเศษและการได้รับความยุติธรรมที่มีมาได้ยากหากรอคอยระบบราชการดำเนินงานตามปกติ

ดังนี้ เราจึงถวิลหาควายุติธรรมจากคนอย่างดอน คอร์เลโอเน อยู่เสมอ แม้รู้อยู่แก่ใจว่านี่คือส่วนสำคัญในการใช้อำนาจนอกระบบ และสนับสนุนระบบอุปถัมภ์ให้หยั่งรากลึกลงไปจนไม่อาจรื้อถอนได้โดยง่าย

 

พลังวรรณกรรม

ในทางศาสนา การเป็น Godfather หรือพ่อทูนหัว ถือเป็นการผูกพันทางจิตวิญญาณอย่างหนึ่ง ที่ผู้รับหน้าที่เป็นพ่อทูนหัวจะเป็นผู้ชี้แนะแนวทางในทางศาสนาให้แก่บุตรที่ตนรับมาดูแล ในนิยาย The Godfather มาริโอ พูโซ ผู้เขียนก็ได้ขับเน้นการดูแลของดอนวีโตให้เด่นชัด จากการที่ตัวละครอื่นๆ เรียกเขาว่า Godfather อันเป็นการแสดงออกถึงการยอมรับความเป็นเพื่อนที่เขาและดอนมีร่วมกัน

ในนิยาย หากคุณเป็นเพื่อนกับดอนแล้ว คุณจะขอความช่วยเหลือจากดอนได้ และแน่นอนว่า สักวันหนึ่งดอนวีโตอาจจะต้องการขอความช่วยเหลือจากคุณด้วยเช่นกัน และมันอาจจะเป็นข้อเสนอที่คุณปฏิเสธไม่ได้ด้วยนั่นเอง

มาริโอ พูโซ ใช้ประสบการณ์ชีวิตในการเป็นชาวอิตาเลียนอพยพ บวกกับการทำงานให้กับหนังสือพิมพ์ที่ได้คลุกคลีกับข่าวอาชญกรรมที่เกิดขึ้นโดยองค์กรมาเฟีย มาผสานจินตนาการจนเกิดเป็นนิยายเรื่องนี้ขึ้นมาเมื่อปี 1969

และนับตั้งแต่นิยายเรื่องนี้ถูกตีพิมพ์เป็นต้นมา มาริโอ พูโซ ได้ทำให้คำว่า Godfather มีความหมายอีกนัยหนึ่งที่หมายถึงการเป็นเจ้าพ่อมาเฟียจากนวนิยายเรื่องนี้ เขาใช้การดูแลของ Godfather ในเชิงศาสนามาเป็นภาพเดียวกันกับการดูแลหรือการให้ความช่วยเหลือคนในปกครองได้อย่างแนบเนียนในฐานะของดอนวีโต

การทำให้อาชญนิยายเรื่องหนึ่งที่สมควรจะเป็นแค่เรื่องอ่านเล่น กลายเป็นต้นแบบของนวนิยายแนวนี้ในยุคหลัง ทั้งการสร้างบุคลิกตัวละคร การดำเนินกลยุทธ์ และบทสนทนาที่เฉียบคม จนตราตรึงใจผู้อ่านมาได้กว่า 40 ปี รวมถึงการสร้างความหมายใหม่ให้แก่คำว่า Godfather ก็นับว่าเป็นพลังวรรณกรรมอย่างหนึ่งที่มาริโอ พูโซ ได้สร้างสรรค์ไว้ และยังไม่มีใครสามารถเทียบชั้นหรือโค่นเขาลงจากฐานะยอดนักเขียนอาชญนิยายมาเฟียไปได้ จากผลงาน The Godfather เล่มนี้ของเขา

ทั้งนี้ก็เพราะนิยายเรื่องนี้สร้างความประทับใจแก่ผู้อ่าน จากการฉายภาพมาเฟียผู้ยิ่งใหญ่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง และการตีแผ่ความอยุติธรรมทั้งหลายที่คนอย่างดอนคอร์เลโอเนคอยขจัดปัดเป่าในฐานะแอนตี้ฮีโร่ที่อยู่เคียงข้างผู้ทุกข์ยากนั่นเอง