ทีละคน ทีละกลุ่ม ทีละก๊วน ปฏิบัติการ “ล้างบาง” ชะตากรรมซ้ำซาก “เพื่อไทย”

พรรคการเมืองที่เป็นแบรนด์เนมของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกยุบมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย โดยศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้กรรมการบริการพรรค 111 คน ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ในปี 2550

ต่อมามีการแทงหน่อขึ้นมาใหม่ภายใต้ชื่อพรรคพลังประชาชน กุมบังเหียนโดย นายสมัคร สุนทรเวช ที่นำพรรคชนะการเลือกตั้ง ได้จัดตั้งรัฐบาล

แต่ต้องอยู่เผชิญชะตากรรม เมื่อนายสมัคร ตกเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เพราะเป็นพิธีกรรายการชิมไปบ่นไป ภายใต้การตีความตามพจนานุกรม จากคำว่า “ลูกจ้าง”

กระทั่งมีการเล่นเกมงูเห่า ดัน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่พรรคพลังประชาชนก็ถูกยุบอีกครั้ง พร้อมกับพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย กับจำนวนกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด 109 คน ในเดือนธันวาคม 2551

และเกิดปรากฏการณ์เปลี่ยนขั้วการเมือง จัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร โดยมีพรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำ จับมือกับกลุ่มเพื่อนเนวิน ที่แปรพักตร์เข้าร่วมรัฐบาล

กระทั่งการเลือกตั้งในปี 2554 ภายใต้การนำทัพของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้จะไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค แต่ก็เป็นตัวชูโรงในฐานะแบรนด์ทักษิณ ในขณะที่ ส.ส. ส่วนใหญ่ล้วนเป็น ส.ส. หน้าใหม่ เพราะคนกลุ่ม 111 ยังไม่ได้รับการปลดล็อกทางการเมือง ไม่สามารถที่จะลงเลือกตั้งได้ แต่พรรคเพื่อไทย สาแหรกที่มาจากพรรคไทยรักไทย ก็ชนะการเลือกตั้งแบบขาดลอย ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

บริหารประเทศไม่ถึง 2 ปี เกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจ และขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ก่อนหน้านั้น ศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 เนื่องจากโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยมิชอบ

ต่อมาวันที่ 23 มกราคม 2558 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าว ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด ด้วยคะแนนเสียง 190 ต่อ 18 งดออกเสียง 8 คะแนน บัตรเสีย 3 คะแนน

ส่งผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องโทษเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี ซึ่งถือเป็นนักการเมืองคนแรก ที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง

ถัดมาอีก 4 เดือน ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 สนช. มีมติถอดถอน นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ด้วยคะแนน 180:6 ถอดถอน นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ด้วยคะแนน 182:5 และ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ด้วยคะแนน 158:25 ออกจากตำแหน่งในคดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด และส่งผลให้ต้องเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี

ต่อมาในวันที่ 19 สิงหาคม 2559 สนช. มีมติถอกถอน นายประชา ประสพดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกจากตำแหน่ง หลังจากที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดก้าวก่าย แทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการบริหารองค์การตลาด ด้วยคะแนน 182:7 ส่งผลให้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

ห่างกันเพียง 1 เดือน ในวันที่ 16 กันยายน สนช. มีมติถอดถอน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ฐานใช้สถานะหรือตำแหน่งรัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่าย แทรกแซงการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของคณะกรรมการปลัดกระทรวงกลาโหม ในการบรรจุแต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือนของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งเป็นข้าราชการประจำ และไม่ใช่ข้าราชการของกลาโหม เพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น และพรรคการเมือง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

ด้วยคะแนน 159:27 และต้องเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี

ในอาทิตย์หน้า สนช. จะมีการแถลงเปิดคดีถอดถอน นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย กรณีสลับร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่มีสมาชิกรัฐสภาลงรายมือชื่อรับรอง และกรณีถอดถอน นายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ใช้บัตรลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ลงคะแนนแทนบุคคลอื่น หลังจากที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด และถ้าดูจากสถิติข้างต้นแล้ว ไม่มีวี่แววว่าบุคคลเหล่านี้จะรอดพ้นจากการถูกถอดถอนแต่อย่างใด

สถานีถัดไป ถึงคิว นายวัฒนา เมืองสุข ที่กรรมการ ป.ป.ช. เพิ่งมีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กับพวก ทุจริตต่อหน้าที่ราชการ กรณีเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการเอกชนในการจัดซื้อ จัดจ้างโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติในยุครัฐบาลทักษิณ ที่เจ้าตัวเพิ่งยื่นขอความเป็นธรรมต่อ ป.ป.ช.

แต่ยังไม่รู้ว่างานนี้หมู่หรือจ่า

และเน็กซ์สเตชั่นจากนี้ คือการชี้ชะตาของอดีต 40 ส.ส. ที่เป็นผู้เสนอเรื่องเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสู่สภา ที่ถือเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ โดย ป.ป.ช. มีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนเอาผิด โดยมี นางสภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ

โดยกลุ่ม 40 ส.ส. ได้ทำหนังสือยื่นเพื่อขอความเป็นธรรมไปแล้ว จึงต้องติดตามต่อไปว่า ผลจะเป็นอย่างไร ถ้าชี้มูลความผิด ผลที่ตามมาคือการถอดถอนแน่นอน

ส่วนจะเลยเถิดไปถึง 300 ส.ส. ที่ร่วมโหวต พ.ร.บ.สุดซอย อย่างที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ เป็นห่วงหรือไม่ ยังไม่มีใครตอบได้ แต่ถ้าใช่ คงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่านี่ไม่ใช่การ “ล้างบาง”

เพราะหากเป็นไปตามนั้น พรรคเพื่อไทย จะไม่เหลือใครที่จะลงเลือกตั้งได้เลย

เว้นแต่…

คนบ้านเลขที่ 111 และ 190 กลับมาฟูลทีมเต็มรูปอีกครั้ง หากเป็นเช่นนั้นยิ่งจะฮึกเหิมกว่าเดิม จะกลายเป็นว่าล้มกระดานตั้งเกมใหม่นั้นเสียของ

เพราะอีกฝั่งอาจมีขุนเหลือมากกว่าเบี้ยก็เป็นได้