รวมเหตุผล “คนเพื่อไทย” แห่ชี้แจง ทำไมต้องล่มการประชุม “ปลดล็อกแก้รธน.?”

ฟังขึั้นไหม? รวมเหตุผล “คนเพื่อไทย” แห่ชี้แจง ทำไมต้องล่มการประชุมปลดล็อกแก้รธน.?

สภาล่มปมแก้รัฐธรรมนูญ

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 – การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องล่มกลางคัน หลังเกิดความขัดแย้งอย่างหนักระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ นำไปสู่เหตุการณ์วอล์กเอาท์ของสมาชิก และการตรวจสอบองค์ประชุมที่ไม่ครบ ส่งผลให้การประชุมต้องยุติลง

สาเหตุสภาล่ม เกิดจากพรรคภูมิใจไทยไม่ร่วมพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ – สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคภูมิใจไทยประกาศกลางที่ประชุมว่าไม่ขอพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่าอาจขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ ฝ่ายสมาชิกวุฒิสภาเสนอญัตติด่วนให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพิ่มเติม แม้ว่าก่อนหน้านี้ศาลจะเคยมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ภายในพรรคเพื่อไทยเองก็มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว

หลังการลงมติ ส.ว. ไม่สามารถผลักดันญัตติของตนได้ จึงเริ่มทยอยวอล์กเอาท์ออกจากห้องประชุม ส่งผลกระทบต่อองค์ประชุมโดยตรง ต่อมามีการ เช็กองค์ประชุม ปรากฏว่าไม่ครบตามข้อกำหนด ทำให้การประชุมต้องสิ้นสุดลงโดยปริยาย

เกิดคำถามขึ้นอย่างมากว่าเหตุใดสภาจึงล่ม โดยเฉพาะกับสส.ฝั่งรัฐบาลคือเพื่อไทย ว่าทำไมไม่แสดงตัวเป็นองค์ประชุม

พรรคภูมิใจไทย หารือกันเค่งเครียด – ภาพ มติชน

 

เพราะการเมือง 3 ก๊ก ต้องอดทน!

นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความชี้แจงทันที โดย ระบุว่า

ถึงจะมีการวอล์คเอาท์ ก็ไม่ได้หมายความว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะถูกน็อคเอาท์ ล้มทั้งกระดานไปเสียตรงนี้ เมื่อมีการยื่นเรื่องสู่ศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยถึงที่สุดเป็นอย่างไร พรรคการเมืองที่สนับสนุนเรื่องนี้ก็ต้องเดินตามนั้น ความจริงที่ต้องพูดกันคือ รัฐธรรมนูญใหม่จะเสร็จไม่ทันอายุของสภา การเลือกตั้งครั้งหน้ายังคงเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน มีสสร.จากการเลือกตั้งมาทำหน้าที่ เป็นเป้าหมายที่ยังบรรลุได้ร่วมกัน

มีความเห็นและแนวทางที่แตกต่างทั้งในพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคแกนนำทั้ง 2 ฝ่ายคงชี้นิ้วใส่กันไม่ได้ว่าคุยกับพรรคร่วมของตนไม่รู้เรื่อง เพราะอยู่ในสภาพคล้ายกัน ไม่ว่าจะจัดตั้งรัฐบาลสูตรไหน สถานการณ์เรื่องแก้รัฐธรรมนูญคงไม่ต่างจากนี้ นี่คือการเมือง 3 ก๊ก ซึ่งต้องใช้ทั้งศิลปะและความอดทนเรื่องแก้รัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทยชัดเจนมาตั้งแต่ต้น และต้องเดินหน้าต่อไป ร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยสสร.จากการเลือกตั้ง

เพราะมันเดินทางตรงไม่ได้!

ด้าน นายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวชี้แจงว่า

เราก็พยายามที่จะประสานงานทุกฝ่าย ทั้งพรรคร่วม และ สว. เพื่อให้เกิดความเป็นไปได้ แต่จากการประเมินแล้วพบว่าโอกาสที่จะผ่านยาก และโอกาสที่จะตกสูง ซึ่งโอกาสผ่านแทบไม่มี เพราะมีสมาชิกไม่น้อยที่ไม่มั่นใจในสถานะหากอยู่ประชุม เพราะฉะนั้นทางที่ดีที่สุดคือยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ เมื่อศาลวินิจฉัยแล้วความหวังเรายังมี

“ถ้าเดินทางตรงไม่ได้ก็ขอเดินทางโค้ง หากทางโค้งแล้วไม่สำเร็จก็ขอหยุดการเดินทางไว้ก่อนดีกว่า ดีกว่าเดินไปแล้วตกเหว” นายสุทิน ระบุ

 

เพราะพรรคสีน้ำเงินไม่เข้าร่วม!

ขณะที่ นายก่อแก้ว พิกุลทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ระบุคล้ายกันว่า

การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีอุปสรรค เนื่องจากพรรคภูมิใจไทยและ ส.ว. กลุ่มเดียวกันไม่เข้าร่วมประชุมพิจารณา โดยอ้างถึงความไม่ชัดเจนในการทำประชามติ ส่งผลให้แม้จะมีการอภิปรายและพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญนานนับสิบชั่วโมง แต่เมื่อลงมติ เสียง ส.ว. ก็จะไม่ถึง 67 คน หรือ 1 ใน 3 ของ 200 คน ตามที่กฎหมายกำหนด ญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะตกไป และอาจต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะเสนอเข้ามาใหม่ได้

บรรยากาศกาหารือกันของ สส.เพื่อไทย – ภาพมติชน

วันนี้ พรรคเพื่อไทยจึงพยายามยื้อไม่ให้มีการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยการไม่แสดงตนในการนับองค์ประชุม เพื่อให้สภาล่ม และเปิดโอกาสให้เดินหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปในอนาคต
ผมไม่อยากตำหนิใครครับ แต่หากพรรคประชาชนต้องการให้การแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จ ก็ควรรับฟังแนวทางของพรรคเพื่อไทยและเดินไปด้วยกัน

หากเราจะร่วมเดินไปข้างหน้า ในฐานะพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อสร้างกติกาใหม่ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ได้โปรดอย่าใจร้อน ควรรับฟังพรรครุ่นใหญ่ที่มีประสบการณ์ล้มลุกคลุกคลานในเรื่องนี้มาก่อนบ้าง

ผมยืนยันอีกครั้ง “พรรคเพื่อไทย เรายังคงผลักดันเต็มที่ เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จครับ”

เพราะอำนาจประธานไม่ชัดเจน!

ด้าน ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ระุบุว่า แนวทางการแก้รัฐธรรมนูญ ของพรรคเพื่อไทย เรายังยืนยันมุ่งแก้ รธน. 2560 แต่เมื่อพิจารณาความเป็นไปได้ของการแก้ไข รธน.60 ม.256 ในวันนี้แล้ว เป็นเรื่องยากที่จะมีเสียง ส.ว.สนับสนุน 67 เสียง

เพราะมีความกังวลในความไม่ชัดเรื่องอำนาจของท่านประธานวันนอร์ ในการบรรจุวาระ และข้อถกเถียงในความไม่ชัดเรื่องการทำประชามติ ก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ

พรรคเพื่อไทย จึงลงมติเห็นด้วยกับ ญัตติด่วนของ ส.ว. เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพื่อความรอบครอบ และชัดเจนในแนวทางว่าจะต้องทำประชามติกี่ครั้งกันแน่ โดยการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

สส.พรรคประชาชน พยายามประท้วง แสดงการคัดค้าน และโน้มน้าวให้ที่ประชุมเดินหน้าพิจารณาญัตติต่อ – ภาพมติชน

หากยังดึงดัน อภิปรายและให้มีการลงมติพิจารณาแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญ 60 หญิงขอย้ำนะคะ ว่า เสียงสว.67 เสียงเป็นไปไม่ได้ เพราะมีความกังวลถ้าศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ตีความ ความพยายามในการก่อร่างสร้างประชาธิปไตย ด้วยการเปิดประตูบานแรก แก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 ก็จะเท่ากับตกไปทันที ปิดประตูสูญเปล่า เดินไปก็มีแต่ทางตัน และต้องใช้เวลาเท่าไรอีกไม่ทราบเพื่อกลับไปเริ่มต้นใหม่

การเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องการผลักดัน เพราะ รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ตัดทอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในหลายเรื่อง

ขอย้ำว่าเราเดินหน้ามุ่ง ”แก้รัฐธรรมนูญให้เกิดขึ้นจริงๆ“ มากกว่าแค่ได้พูดว่า “เสนอแก้แล้ว“

เพราะเสียงสว.ไม่ครบ!

สุดท้ายคือ ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ระบุว่า

การประชุมจำเป็นต้องล่ม เพื่อให้ญัตติยังคงอยู่ ดีกว่าเดินหน้าต่อทั้งๆที่รู้ว่าเสียง สว.ไม่ครบ

ขอใช้พื้นที่นี้ชี้แจง ต่อการตัดสินใจเป็นองค์ประชุมหรือไม่ของสมาชิก พรรคเพื่อไทย ในวันนี้ ทั้งที่ตัวผมเองก็ได้พูดอย่างชัดเจน ว่าเรายังอยู่ในที่ประชุม และไม่ได้ walk out ไปเหมือน สว.ส่วนใหญ่

แต่การตัดสินใจที่เกิดขึ้น เนื่องมาจากเราหันหลังกลับไปดูแล้ว ทราบถึงจำนวนแก่ใจว่า องค์ประชุมของฝั่ง สว.ไม่มีทางร่วม “รับหลักการ” ถึง 1 ใน 3 หรือ 67 คน เพราะผู้ที่ยังพร้อมให้ความร่วมมือประชุมมีไม่ถึงด้วยซ้ำ

การประกาศไม่ร่วมสังฆกรรม พิจารณาวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคภูมิใจไทย วันนี้ทำสำเร็จ – ภาพมติชน

ซึ่งสาเหตุหลักของการ walk out คือ สว.ส่วนใหญ่ ด่วนตัดสินใจ ว่าการพิจารณาคราวนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่รอที่จะให้ถามศาลรัฐธรรมนูญเลยด้วยซ้ำ

การเดินหน้าประชุมต่อ ไปจนถึงลงมติ จะนำไปสู่การไม่ผ่านในวาระรับหลักการ 100% และเป็นเหตุให้ล้มความพยายามทั้งหมด ตลอดจนไม่สามารถเสนอญัตติในทำนองเดียวกันกลับเข้ามาใหม่ได้

การเลือกที่จะให้ ยุติการประชุม ในวันนี้ จึงเป็นแนวทางที่เราตัดสินใจเพื่อให้ญัตตินี้ยังค้างอยู่ และไม่ตกไป เพื่อพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าจะเดินอย่างไรต่อให้เป็นประโยชน์มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้การประชุมวันนี้จะล่มลงไป แต่ประธานรัฐสภาได้นัดประชุมใหม่อีกครั้งในวันพรุ่งนี้ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ตั้งแต่ช่วงเช้า ท่ามกลางกระแสจับตาว่าการอภิปรายและลงมติจะแตกต่างจากวันนี้หรือไม่

สถานการณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ต้องติดตามกันต่อไปว่าการประชุมครั้งหน้าจะสามารถเดินหน้าต่อได้หรือไม่ หรือจะเกิดเหตุสภาล่มอีกครั้ง