วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จักรวรรดิในกำแพง : กำเนิดจักรวรรดิ (7)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ช.อวสานราชวงศ์ฉิน (ต่อ)

หลังจากการเสียชีวิตของเฉินเซิ่งและอู๋กว่างแล้ว กบฏก็ตกอยู่ภายใต้การนำของหลิวปังกับเซี่ยงอี่ว์

ปลายปี ก.ค.ศ.207 ทัพกบฏที่นำโดยหลิวปังได้บุกเข้ายึดเสียนหยางเอาไว้ได้พร้อมกับกดดันให้กษัตริย์จื่ออิงให้ยอมสวามิภักดิ์ จื่ออิงทรงหมดหนทางจำต้องยอมแพ้ ฐานะผู้นำคนสุดท้ายของราชวงศ์ฉินจึงจบลงพร้อมกับการสิ้นสุดของราชวงศ์

และเท่ากับจื่ออิงทรงครองราชย์ในฐานะกษัตริย์เพียง 46 วันเท่านั้น

ครั้นถึง ก.ค.ศ.206 เซี่ยงอี่ว์ยกทัพบุกเสียนหยางเข้ามาอีกครั้งก็สำเร็จโทษจื่ออิงจนสิ้นชีพ จากนั้นก็ปล้นวังหลวง เข่นฆ่าชาวเมือง เผาเสียนหยางกับเออฝางกงจนสิ้นซาก อีกทั้งยังขุดพระศพของฉินสื่อขึ้นมาทำลายพร้อมกับปล้นสุสานของพระองค์ (1)

ราชวงศ์ฉินที่ยิ่งใหญ่เพียงสิบปีเศษก็ล่มสลายลงอย่างเด็ดขาดในปีนั้นเอง

 

ซ.บทสรุป : บทเรียนจากราชวงศ์ฉิน

เรื่องราวของราชวงศ์ฉินทั้งก่อนและหลังการตั้งจักรวรรดิเรื่อยมาจนถึงเมื่อราชวงศ์ล่มสลายลงนั้น มีประเด็นคำถามที่พึงค้นหาคำตอบอยู่ไม่น้อย

แต่ที่มีการกล่าวถึงในชั้นหลังอย่างมากมายและต่อเนื่องเรื่องหนึ่งก็คือ ฐานะทางประวัติศาสตร์ของจักรพรรดิฉินสื่อ ที่มีทั้งที่เป็นไปในทางบวกและลบ

ที่เป็นทางบวกมักจะยกย่องฉินสื่อในฐานะผู้ที่รวบรวมจีนให้เป็นแผ่นดินเดียวกันหรือเป็นเอกภาพ โดยเฉพาะการนำจีนไปสู่มาตรฐานาภิวัตน์ (standardizations) ไม่ว่าจะเป็นระบบเงินตรา การปฏิรูปอักษรตัวเขียน เป็นต้น ให้เป็นแบบเดียวกัน ที่ซึ่งได้ส่งอิทธิพลถึงราชวงศ์ในชั้นหลังให้สืบทอดต่อไป

ข้อยกย่องนี้ยังมีไปถึงการสร้างเส้นทางคมนาคมที่มีประสิทธิภาพและเชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจอีกด้วย

แน่นอนว่า การยกย่องเช่นนี้ย่อมตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่า ชนชาติฮั่นเป็นชนชาติที่ก้าวหน้ากว่าชนชาติที่มิใช่ฮั่น และทุกชนชาติที่มิใช่ฮั่นพึงอยู่ร่วมกับชนชาติฮั่นอย่างเป็นปึกแผ่น มิใช่อยู่กันในแบบต่างคนก็ต่างอยู่

ความเป็นปึกแผ่นนี้จึงนำไปสู่การขยายจักรวรรดิให้กว้างไกลออกไปยิ่งขึ้น ซึ่งก็คือการได้มาซึ่งดินแดนของชนชาติที่มิใช่ฮั่นมาเป็นของตน ไม่ว่าชนชาติที่มิใช่ฮั่นจะเป็นศัตรูหรือภัยคุกคามของจีนหรือไม่ก็ตาม

 

ส่วนที่เป็นไปในเชิงลบนั้น คงหลีกเลี่ยงไม่พ้นบทบาทที่ลุแก่อำนาจของจักรพรรดิฉินสื่อโดยตรง

ในกรณีนี้ย่อมเป็นที่แน่นอนว่า บนฐานคิดปัจจุบันที่เชิดชูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้น ไม่ว่าจะมองจากแง่มุมใด จักรพรรดิฉินสื่อย่อมหนีไม่พ้นที่จะถูกระบุว่าเป็นทรราช

แต่ถ้าหากใช้มุมมองร่วมสมัยเดียวกับราชวงศ์ฉินมามองแล้ว ก็ปรากฏหลักฐานว่าในสมัยนั้นก็มีมุมมองที่ไม่ต่างกับมุมมองในสมัยนี้เช่นกัน นั่นคือมุมมองของบัณฑิตสำนักหญูที่ชื่อ เจี่ยอี้ (ก.ค.ศ.201-169) (2)

มุมมองนี้มีขึ้นหลังการล่มสลายของราชวงศ์ฉินไปแล้วราวสองทศวรรษ โดยตอนหนึ่งมุมมองนี้ได้วิเคราะห์ว่า

“ข้างหนึ่งฉินมีชัยเหนือดินแดนอื่นโดยใช้เล่ห์เหลี่ยมและกำลังเป็นลำดับสำคัญ อีกข้างหนึ่งก็กลับขึ้นชื่อในทางใช้อำนาจบังคับเพื่อให้เกิดความสงบและเสถียรภาพ วิธีเช่นนี้จึงพันธนาการและครอบงำฉินไปจากการปกป้องตนด้วยวิธีอื่น

“และนับแต่ที่ฉินตั้งตนเป็นอิสระในยุครัฐศึกจนถึงเมื่อครองทั่วหล้าแล้วนั้น ฉินก็หาได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการปกครองของตนไม่ ดังนั้น วิธีที่ได้ชัยมากับวิธีที่ใช้อำนาจจึงไม่มีอะไรแตกต่างกัน”

 

ความแหลมคมของข้อวิเคราะห์นี้อยู่ตรงการฉายให้เห็นภาพรวมการเถลิงอำนาจของฉิน ที่ซึ่งได้ผูกเงื่อนปมขึ้นมาพันธนาการตนเองจนดิ้นไม่หลุด และเงื่อนปมนี้จักได้บีบรัดฉินจนแหลกเหลวไปในที่สุด

ถัดจากภาพรวมดังกล่าว เจี่ยอี้ก็ได้ให้ภาพเปรียบของจักรพรรดิฉินสื่อว่า “ทรงโบยตีเพื่อที่จะขับเคลื่อนจักรวาลที่อยู่ตรงเบื้องพระพักตร์ของพระองค์อย่างบ้าระห่ำ” อย่างไรบ้าง

โดยเจี่ยอี้อธิบายว่า ฉินสื่อทรง “เฆี่ยนตีโลกทั้งใบ” และ “เขย่าทั้งสี่คาบสมุทร” ด้วยการ “ทลายทุกกำแพงที่มีชื่อ เข่นฆ่าผู้นำท้องถิ่น ยึดอาวุธจากทั่วหล้ามายังเสียนหยางเพื่อหลอมเป็นระฆัง และหล่อเป็นประติมากรรมมนุษย์ยักษ์ 12 รูป (3)

“ใช้กฎระเบียบที่สร้างความอ่อนแอให้แก่สามัญชนคนธรรมดา เหยียบยอดเขาฮว๋าเสมือนเป็นกำแพงเมืองของตน (4) ชักน้ำจากแม่น้ำเหลืองมาเป็นคูเมือง

และจากยอดกำแพงที่สูงลิบลิ่ว พระองค์ทรงเพ่งมองลงมายังเบื้องล่างที่ลึกสุดจะหยั่งถึง แล้วคิดว่าจักทรงปลอดจากภัยทั้งปวง”

เช่นนี้แล้วเจี่ยอี้ซึ่งเป็นบัณฑิตสำนักหญูย่อมต้องเห็นว่า ฉินสื่อทรงล้มเหลวในเรื่องเมตตาธรรมและคุณธรรม และความเข้าใจที่มีต่อการใช้อำนาจเพื่อรุกรานกับอำนาจเพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียว

ความล้มเหลวนี้สรุปแล้วก็คือ การไร้ศีลธรรมในการปกครอง การขาดแคลนบัณฑิตมาช่วงใช้งาน (เพราะถูกฉินสื่อเข่นฆ่าไปมากมาย) ปฏิเสธจารีตประเพณีที่เคยสืบทอดกันมาช้านาน และการถูกต่อต้านจากชนชั้นชาวนา เหล่านี้ล้วนคือปัจจัยที่นำมาสู่การล่มสลายของราชวงศ์ฉินในที่สุด

มุมมองของเจี่ยอี้ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า แม้แต่บุคคลในสมัยนั้นก็วินิจฉัยได้ว่าจักรพรรดิฉินสื่อเป็นบุคคลเช่นใด ซึ่งหากไม่ติดในแง่ของการใช้วลีที่ต่างกันระหว่างอดีตกับปัจจุบันแล้วก็จะพบว่าความล้มเหลวทางศีลธรรมของฉินสื่อนับเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราชวงศ์ล่มสลาย 

 

แต่ในขณะเดียวกันก็มีคุณค่าในด้านกลับด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อฮั่นได้ก้าวขึ้นมาเป็นราชวงศ์ต่อไป ฮั่นก็ถือเอาความล้มเหลวนั้นมาเป็นบทเรียนที่ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง และทำให้ราชวงศ์นี้สามารถยืนยงได้ยาวนานกว่า 400 ปี

จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า การมองบทบาทของฉินสื่อในเชิงบวกนั้น เป็นการมองที่ปลายเหตุโดยมีความเป็นเอกภาพเป็นหลักหมายที่สำคัญ เป็นการมองที่มิได้หยิบยกเอาบทบาทที่เป็นทรราชซึ่งมีนัยในเชิงลบมาประกอบ

จะว่าไปแล้วการมองในเชิงบวกดังกล่าวเห็นได้ชัดในจีนยุคปัจจุบัน (ยุคคอมมิวนิสต์) ที่มีนักคิดหรือปัญญาชนที่สมาทานลัทธิมาร์กซ์และลัทธิเลนินนำเสนอขึ้นมา การนำเสนอนี้มีฐานคิดที่สำคัญอยู่ตรงความเป็นเอกภาพ

โดยชี้ให้เห็นว่า ความเป็นเอกภาพมีความสำคัญและจำเป็นต่อชาวจีนในยุคปัจจุบันนี้อย่างไรบ้าง ดังนั้น การที่รัฐใช้อำนาจที่เด็ดขาด (เผด็จการ) กับประชาชนในทุกวันนี้นั้น ในด้านหนึ่งก็เพื่อให้มีความสงบ

ความสงบที่เคียงคู่กับความเป็นเอกภาพ
—————————————————————————————-

(1) กล่าวกันว่า ทหารดินเผาที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีและตั้งแสดงเห็นอยู่ที่สุสานของจักรพรรดิฉินสื่อในเมืองซีอานปัจจุบันนี้นั้น ถือเป็นส่วนน้อยที่หลงเหลือจากการเผาของเซี่ยงอี่ว์

อนึ่ง เมื่อ ค.ศ.2003 ขณะพำนักอยู่ในจีนข้าพเจ้าได้ดูรายการสารคดีจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 10 หรือ CCTV 10 ของทางการจีนที่นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับการมีอยู่จริงของวังเออฝางกง โดยจากการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่ที่เชื่อว่าเป็นที่ตั้งของวังนี้ ปรากฏว่าไม่พบร่องรอยของผงถ่านที่เกิดจากการเผาทำลายแต่อย่างไร (ซึ่งหากถูกเซี่ยงอี่ว์เผาจริงก็น่าที่จะทิ้งร่อยรอยเอาไว้บ้างแม้เพียงเล็กน้อย) จึงชวนให้สงสัยว่าวังเออฝางกงที่อลังการนั้นเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นหรือไม่ อย่างไร หรือว่าพื้นที่ที่ขุดค้นยังมิใช่ที่ตั้งจริงของวังนี้ จากเหตุนี้ เรื่องของวังเออฝางกงจึงเป็นปริศนาต่อไป จนกว่าจะมีหลักฐานที่แน่ชัดมายืนยัน

(2) เจี่ยอี้เป็นขุนนางที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในสมัยฮั่น เคยมีตำแหน่งสูงถึงกษัตริย์ (หวัง) ทั้งยังมีงานนิพนธ์หลายชิ้นที่มีคุณค่าทางความคิดและทางประวัติศาสตร์ อนึ่ง ปีชาตะและมรณะของเขามีบางที่ระบุเป็น ก.ค.ศ.200-168

(3) อันที่จริงแล้วประติมากรรมมนุษย์ยักษ์นี้ก็คือ หุ่นโลหะทหารขนาดใหญ่ ทั้งนี้ นอกจากระฆังและหุ่นทหารแล้วก็ยังมีกังสดาลอีกด้วย โดยแต่ละชิ้นมีน้ำหนัก 1,000 ต้าน คำว่า ต้าน ที่เป็นหน่วยน้ำหนักของจีนนี้มีมาแต่โบราณแล้ว มีรูปตัวเขียนเหมือนคำว่า สือ ที่แปลว่า หิน ดังนั้น ทุกวันนี้จึงอ่านว่า สือ อันที่จริงแล้ว ต้าน หรือ สือ นี้เป็นหน่วยปริมาณ และเมื่อเทียบเป็นหน่วยน้ำหนักตามมาตราปัจจุบันแล้วพบว่ามีผู้เทียบแตกต่างกันไป แต่ที่ดูใกล้เคียงน่าจะอยู่ที่ 1 ต้านเท่ากับ 60-67 ก.ก. โดยประมาณ (บางที่เทียบได้ 100 ก.ก.ซึ่งออกจะสูงเกินไป) จากเหตุนี้ หากเทียบตามที่ว่าแล้ว 1,000 ต้าน ก็จะเท่ากับ 60,000-67,000 ก.ก.โดยประมาณ หากน้ำหนักเป็นจริงตามนี้แล้วประติมากรรมนี้จะใหญ่อย่างมากจนเหลือเชื่อ

(4) ภูเขาฮว๋า (ฮว๋าซาน) ถือเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ในความเชื่อของชาวจีน ข้อความตอนนี้ต้องการสื่อว่า จักรพรรดิฉินสื่อเหยียบย่ำเขาลูกนี้อย่างขาดความเคารพ