“ส้ม” มวยรอง สู้ “แดง” มวยหลัก ศึกชิงนายกฯอบจ.อุดรธานี ระทึก ทักษิณ ขอลุยเอง

 

ยิ่งใกล้วันหย่อนบัตร การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2567 ก็ยิ่งได้รับการถูกพูดถึงมากยิ่งขึ้นในระดับประเทศ

เนื่องจากอุดรธานีเป็นจังหวัดสำคัญทางภาคอีสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการเมืองได้รับการขนานนามว่าเป็น “เมืองหลวงคนเสื้อแดง” อันเป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย

แต่ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรคเพื่อไทยที่เคยครองพื้นที่มาอย่างยาวนาน ถูกชิงเก้าอี้จากพรรคฝ่ายค้านไปได้ถึง 3 เก้าอี้ คือพรรคไทยสร้างไทย และโดยเฉพาะเขต 1 คือพรรคประชาชน (พรรคก้าวไกลเดิม)

นำมาซึ่งการต่อสู้กันอย่างตรงไปตรงมาในรอบนี้ ในสนามท้องถิ่น ระหว่างผู้สมัครจากสองพรรคใหญ่ ได้แก่ พรรคประชาชน (ชื่อเดิมคือ พรรคก้าวไกล) ที่ส่ง นายคณิศร ขุริรัง หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ทนายแห้ว” ขอท้าชิง พรรคเพื่อไทย ที่ส่ง นายศราวุธ เพชรพนมพร อดีต ส.ส. ที่มีประสบการณ์และฐานเสียงเดิมอยู่ในพื้นที่

การจัดการเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นหลังนายวิเชียร ขาวขำ อดีตนายก อบจ. ได้ลาออกก่อนครบวาระ โดยให้เหตุผลด้านสุขภาพ จึงขอส่งไม้ต่อให้ นายศราวุธ เพชรพนมพร อดีต ส.ส.อุดรธานี หลายสมัย

นายคณิศร หรือทนายแห้ว ขุริรัง อายุ 56 ปี ไม่ใช่คนหน้าใหม่ในทางการเมืองท้องถิ่น เคยดำรงตำแหน่งรองนายกฯอบจ.อุดรธานีมาแล้ว 3 ปี เคยดำรงตำแหน่ง ประธานสภาอบจ.อุดรธานี 3 ปี รู้จักโครงสร้างพื้นที่ ผู้คนในจังหวัดอุดรธานีเป็นอย่างดี รอบนี้มาต่อสู้ในนามพรรคประชาชน

ขณะที่ นายศราวุธ หรือป๊อบ เพชรพนมพร อายุ 54 ปี ประสบการณ์อดีตส.ส.หลายสมัย เคยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ สมาชิกสภา อบจ.อุดรธานี (รองประธานสภา อบจ.อุดรธานี) ปี 2544, อดีต ส.ส.4 สมัย พรรคชาติพัฒนา 2544, พรรคไทยรักไทย 2548, พรรคเพื่อแผ่นดิน 2550, พรรคเพื่อไทย 2554 เคยดำรงตำแหน่ง ผช.รมว.สาธารณสุข (สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์), เลขาฯ รมว.สาธารณสุข (ประชา พรหมนอก), รองเลขาธิการพรรคเพื่อแผ่นดิน, เลขาฯ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และประธานกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร

ย้อนดู การเลือกตั้งใน จ.อุดรธานี พรรคเพื่อไทยยึดพื้นที่มานาน นับตั้งแต่มีการเลือกตั้ง ส.ส. 24 มี.ค.2562 ก็เป็นการต่อสู้กันระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคอนาคตใหม่ โดยพรรคเพื่อไทยได้ 3.34 แสนคะแนน พรรคอนาคตใหม่ 1.48 แสนคะแนน

ต่อมา การเลือกตั้ง ส.ส. 20 ธ.ค.66 พรรคเพื่อไทย 3.5 แสนคะแนน แต่เสีย ส.ส.ไป 3 คน พรรคก้าวไกลได้ 2.95 แสนคะแนน (มีคะแนนเพิ่มขึ้น 146,247 คะแนน) ได้ ส.ส.เพิ่ม 1 คน

ส่วนการเลือกตั้ง นายก อบจ.อุดรธานี ครั้งก่อน 20 ธ.ค.63 นายวิเชียร ขาวขำ พรรคเพื่อไทย 326,027 คะแนน นายฐานวัฒน์ ธนาธัญญพิชญ์ จากกลุ่มก้าวหน้า (นายธนาธร ลงพื้นที่ช่วยหาเสียงเต็มที่) ได้ 185,804 คะแนน

ศึกเลือกตั้งนายกฯ อบจ.รอบนี้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,258,454 คน แบ่งเป็น 42 เขตเลือกตั้งใน 20 อำเภอ

เลือกตั้งนายกฯ อบจ.รอบนี้ ไม่ว่าจะมองพลังทางการเมืองจากเบื้องหน้าหรือเบื้องหลัง ต้องยอมรับว่าพรรคเพื่อไทยเป็นต่อ

1.คือจ.อุดรธานีเป็นฐานคะแนนเสียงเดิมมานานกว่า 2 ทศวรรษของพรรคเพื่อไทย

นายกฯอบจ.คนเก่าคือนายวิเชียร ขาวขำ ก็มาจากพรรคเพื่อไทย ประกาศสนับนายศราวุธ ยังได้รับการสนับสนุนจากคนเสื้อแดงเดิม และต้องไม่ลืมว่า ส.ส.อุดรธานีทั้ง 7 คน ก็เป็นบ้านใหญ่ที่จะคอยสนับสนุนทางตรง

นอกจากนี้ยังไม่ต้องสู้กับพรรคร่วมรัฐบาลใดๆ แถมยังได้แรงหนุนทางอ้อมจากแขนขาระบบราชการมาด้วย

2.พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ย่อมมีผลบวกในทางจิตวิทยามากกว่าการเลือกพรรคฝ่ายค้าน

ที่ผ่านมา สมรภูมิท้องถิ่น พรรคคู่แข่งก็คือพรรคประชาชน พ่ายแพ้ในสมรภูมิท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง ในแง่หมุมหนึ่งสะท้อนว่า กลวิธีใช้บ้านใหญ่ต่อสู้ ได้ผล

3.การลงพื้นที่สนับสนุนจากเบื้องหลังพรรคเพื่อไทยตัวจริง อย่างนายทักษิณ ชินวัตร เป็นเวลา 3 วันก็คือวันที่ 13-17 พ.ย.นี้

ทั้งยังขนกองทัพนักปราศรัยไปลงพื้นที่ ตั้งแต่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ยัน น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล หรือเดียร์ บุตรสาว พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เพื่อดึงคะแนนคนเสื้อแดง

4.พรรคประชาชน อ่อนแรงลงในทางการเมือง ผลจากการถูกกระบวนการนิติสงครามเล่นงาน ถูกยุบพรรค แกนนำคนสำคัญตัดสิทธิทางการเมือง  สส.หลายคนชะตากรรมแขวนอยู่บนเส้นด้าน ไม่รู้จะออกหัวออกก้อย แม้จะยังสามัคคีกันด้วยอุดมการณ์ แต่ก็ขาดเครื่องไม้เครื่องมือและโอกาสในการทำงานการเมืองไป ขณะคนที่เหลือก็อยู่ในสถานะฝ่ายค้าน ทำอะไรไม่ได้มาก

ไม่ว่าจะประเมินจากสถานการณ์ทางการเมือง ฐานเสียง ทรัพยากร ขุมกำลังต่างๆที่มีอยู่ในมือ ยังไงพรรคเพื่อไทยก็เป็นต่อมากกว่า โพลจากพื้นที่เองก็เห็นไปในทางเดียวกัน

แต่ก็เกิดคำถามต่อมาว่า ทำไมระดับนายทักษิณ ต้องลงไปลุยเอง

เพราะในการหาเสียงครั้งนี้ ผู้นำทางความคิดของพรรคประชาชนอย่าง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ลงไปลุยในพื้นที่เช่นกันในฐานะผู้ช่วยหาเสียง ตามมาด้วยนายปิยบุตร แสงกนกกุล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ก็จัดเต็ม แท็กทีมก็ลงพื้นที่แบบดาวกระจาย

ตัวผู้สมัครอย่างนาย คณิศร ขุริรัง ก็ไม่ธรรมดา นอกจากเชี่ยวชาญในพื้นที่ยังเป็นผู้สมัครที่ผ่่านหลักสูตร “นักการเมืองท้องถิ่นก้าวหน้า” ของคณะก้าวหน้าได้สำเร็จ เรียกได้ว่าขึ้นแท่นนักการเมืองระดับมี “กึ๋น” อยู่บ้าง

ใจหนึ่งก็รู้ว่าโอกาสชนะมีน้อย แต่อีกใจก็คิดว่าแม้อาจจะแพ้ แต่ต้องสู้ให้ถึงที่สุด เพื่อรักษาฐานคะแนนไว้ไม่ให้ลดหาย รวมถึงหล่อเลี้ยงความหวัง “แนวทางประชาธิปไตยแบบก้าวหน้า”

ยิ่งการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคประชาชน (อดีตพรรคก้าวไกล) สร้างปาฎิหาริย์ เจาะไข่แดงเพื่อไทย เขต 1 ได้สำเร็จแบบเซอร์ไพร์สคนทั้งจังหวัด แบบนี้จะไม่ส่งผู้สมัครลงแข่งก็คงไม่ได้

ขณะที่พรรคเพื่อไทยชูประสบการณ์และนโยบายการพัฒนาเพื่อดึงดูดฐานเสียงเดิมในพื้นที่ ซึ่งเป็นฐานเสียงของ “คนเสื้อแดง” มาเป็นจุดขายในการเลือกตั้งครั้งนี้

สำหรับพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะกับนายศราวุธ การลงแข่งรอบบนี้เปรียบเสมือนนัดล้างตา จากที่แพ้พรรคก้าวไกลในสนามเลือกตั้ง สส.ปี 2566

หากเพื่อไทยทำสำเร็จ นอกจากเป็นการป้องกันแชมป์ ยังเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สกัดไม่ให้กองทัพส้มเติบโตมากขึ้นในภาคอีสาน ซึ่งจะส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญในการเลือกตั้งรอบหน้า

จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไม “นายใหญ่” แห่งบ้านจันทร์ส่องหล้าต้องลุยเอง ยกหูประสานบ้านใหญ่ทั้งจังหวัดให้รวมใจกัน (แถมครั้งนี้ ยังได้เสียงหนุนจาก 2 เขตของพรรคไทยสร้างไทยมาช่วยด้วย) เพราะต้องนำทัพพรรคเพื่อไทย ชนะพรรคประชาชนให้ขาด

อย่าลืมว่าคะแนนเลือกพรรคของการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2566 จังหวัดอุดรธานี พรรคส้มได้มาเกือบ 3 แสนคะแนน ขณะที่ พรรคแดงได้ไป 3.5 แสนคะแนน จึงต้องใช้เวทีเลือกตั้งสนามท้องถิ่นเพื่อย้ำชัยชนะให้ขาดกว่านี้

นายทักษิณมาเอง เพื่อให้องคาพยพในพื้นที่ผนึกกำลังกันสู้ศึก รวมถึงต้องปลุกประชาชนให้ออกมาใช้สิทธิให้มาก

รอบนี้นายทักษิณยังเชื่อในยุทธศาสตร์บ้านใหญ่ “ล้มกระแสส้ม” ซึ่งสำเร็จมาแล้วในการเลือกตั้งท้องถิ่นรอบปีที่ผ่านมา

เมื่อวิเคราะห์จากทุกปัจจัยการเมือง โดยรวม จึงเรียกได้ว่า เพื่อไทยเหนือกว่าทุกอย่าง

ณ เวลานี้ “กองทัพแดง” จึงเป็นมวยหลัก ส่วน “พรรคส้ม” เป็นมวยรอง

ปัญหาอยู่ที่คะแนนจะมากเท่าไหร่ เพราะถ้าไม่ขาดลอย นอกจากคะแนนนิยมจะกระทบมาจากรัฐบาล และตัวนายกฯแล้ว ยังน่ากังวลมากสำหรับพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าอีกด้วย