เจาะเลือกตั้งสหรัฐฯผ่านมุมเศรษฐกิจการเมือง : เทียบนโยบายทรัมป์ปะทะแฮริส

ศึกเลือกตั้งสหรัฐฯในฐานะหนึ่งในมหาอำนาจโลกครั้งนี้ถูกจับตาอย่างมาก เพราะไม่ว่า กมลา แฮริส แห่งพรรคเดโมแครต หรือโดนัลด์ ทรัมป์แห่งพรรครีพับริกัน ใครชนะเลือกตั้ง ต่างก็ส่งผลอย่างมากต่อการเมืองภายในสหรัฐฯและต่อสถานการณ์โลกขณะนี้

ต้องยอมรับว่าการวิเคราะห์ใน “มิติการเมืองและอุดมการณ์” ที่จะส่งผลต่อผลการเลือกตั้ง กลายเป็นประเด็นหลักในการพูดถึงของสื่อและอินฟลูเอนเซอร์ไทยส่วนใหญ่ ซึ่งในภาพรวม “มุมมองทางเศรษฐกิจการเมืองและแนวทางทางนโยบาย” ว่าจะส่งผลต่อการเลือกตั้งอย่างไร? ยังได้รับการพูดถึงไม่มากนัก

จึงเป็นโอกาสอันดีในการพูดคุยกับ ผศ.ดร.กัลยา เจริญยิ่ง อ.ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ และ การเมืองการปกครองสหรัฐอเมริกา ที่จะมองการเลือกตั้งสหรัฐฯผ่านประเด็นดังกล่าว โดยพาย้อนกลับไปเข้าใจพลวัตการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ และการทำงานของลัทธิเสรีนิยมใหม่ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในสหรัฐฯรอบหลายทษวรรษที่ผ่าน รวมถึงสำรวจจุดยืนทางนโยบายเชิงเปรียบเทียบของทั้ง 2 พรรค

ภาพใหญ่การเปลี่ยนแปลง

ผศ.ดร.กัลยา เจริญยิ่ง เริ่มต้นโดยอธิบายชี้ให้เห็นว่า ภาพใหญ่เศรษฐกิจการเมืองสหรัฐฯ ว่ากำลังอยู่ในช่วงที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Reimagining American Economic Leadership” หรือ “จินตนาการใหม่ของสหรัฐฯในฐานะผู้นำทางเศรษฐกิจ” แนวคิดนี้จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างการเมืองภายในสหรัฐฯและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งจะตอบคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นในการเมืองสหรัฐฯ ตั้งแต่ยุคโดนัลด์ ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ต่อเนื่องมาจนยุคโจ ไบเดน

ทั้งนี้ คลื่นการเปลี่ยนทางการเมืองใหญ่ๆหลังยุคสงครามเย็นก็คือ “โลกาภิวัฒน์เสรีนิยมใหม่” และการโปรโมต “การค้าเสรี” แต่ระบบนี้นำมาสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างในสหรัฐฯคือวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ในปี 2008 ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างหนักต่อภาคส่วนแรงงานในสหรัฐฯ ทั้งยังต้องเจอกับวิกฤตอุตสาหกรรม (ที่ไม่ใช่แบบอุตสาหกรรมไร้ทักษะ) เริ่มย้ายฐานการผลิตเพื่อไปยังประเทศที่มีแรงงานค่าแรงถูกกว่า เกิดปัญหาคนตกงาน ส่วนประเทศอื่นๆก็ได้รับผลกระทบจากเสรีนิยมใหม่เหมือนกันก็นำมาสู่ความยากจน เพราะเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) เป็นระบบเศรษฐกิจแบบตัวใครตัวมัน เป็นระบบเศรษฐกิจที่พยายามทำลายรัฐสวัสดิการ ผู้คนต้องทำมาหากินดิ้นรนต่อสู้เพื่อตัวเอง

ในสหรัฐฯ รีแอคชั่นทางการเมืองที่เกิดจากวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ ในปี 2008 ก็คือการขึ้นมาของโดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงการกลับมาของการเมืองและพรรคการเมืองฝ่ายขวา การเมืองแบบ populism ฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายทั่วโลก อย่างที่อังกฤษก็คือ เบร็กซิต (ประชามติถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป) หรือการมาของการเมืองฝ่ายซ้ายในบางประเทศในยุโรปเช่นที่สเปน โดยสรุป นี่คือรีแอคชั่นของโลกาภิวัฒน์เสรีนิยมใหม่และการเปิดเสรีด้านการค้าทางเศรษฐกิจ

พอเป็นแบบนั้น วิธีการเสนอนโยบายของพรรคการเมืองในสหรัฐฯจึงไม่เพียงเกี่ยวข้องกับเรื่องภายในประเทศ แต่ต้องคำนึงถึงปัจจัยการค้าระหว่างประเทศด้วย ผลทางด้านการเมืองต่อการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ยุคโดนัลด์ ทรัมป์สมัยแรกก็ชัดเจนกับการชู Amarica First หรือ Make Amarica Great Again รวมถึงท่าทีการไม่เอาการค้าเสรีเลย มีนโยบายกีดกันทางการค้า ต่อต้านการอพยพย้ายถิ่นฐาน ดำเนินนโยบายไปในทางพลิกกลับต่อ “ระเบียบโลกที่ปูอยู่บนพื้นฐานของเสรีนิยม” ที่สหรัฐฯโปรโมตมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นโยบายของทรัมป์ไม่ค่อยจะร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ แต่เน้นเป็นทวิภาคีแทน

นอกจากการเมืองเศรษฐกิจในสหรัฐฯจะเกิดการเปลี่ยนแปลง “รีแอคชั่นของโลกาภิวัฒน์เสรีนิยมใหม่” ยังส่งผลกระทบต่อความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐฯด้วย เพราะหลายประเทศก็ไม่ได้ชื่นชอบและไม่ได้ประโยชน์กับระบอบนี้อย่างชัดเจน ขณะที่สหรัฐฯก็ดำเนินนโยบายต่างประเทศในลักษณะส่งเสริมหลักการและคุณค่าต่างๆเช่นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ไปจนกระทั่งสร้างสงครามไว้หลายครั้งในบทบาทการเป็นตำรวจโลก

นั่นคือภาพความเปลี่ยนแปลงหลักๆที่เกิดขึ้นซึ่งจะส่งผลท้าทายในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในครั้งนี้ โดยมีประเด็นหลักๆที่ต้องพิจารณาในเรื่องนโยบายประกอบด้วย

1.การอพยพลี้ภัยย้ายถิ่น

ถือเป็นประเด็นสำคัญมากสำหรับทั้ง 2 พรรค ฝั่งทรัมป์มองว่าพวกนี้คือคนเข้ามาอย่างผิดกฏหมาย มาแย่งงานคนสหรัฐฯ ทำให้อาชญากรรมในสหรัฐฯสูงขึ้น ทรัมป์พูดดูถูกอย่างรุนแรงเช่นที่เราได้เห็นข่าวไปกล่าวหาว่าผู้อพยพ กินแมว กินหมา

นั่นคือสไตล์ของทรัมป์ที่เน้น “การสร้างความเป็นอื่น” ซึ่งโดยทั่วไปก็เป็นธรรมชาติของฝ่ายขวาสุดโต่ง เมื่อเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจขึ้น การหาทางแก้ไขก็เริ่มจากการหาคนเพื่อ blame (กล่าวโทษ) ปัญหา โดยไม่ได้เริ่มจากการไปดูโครงสร้างเศรษฐกิจ ปัญหาจากระบบทุนนิยม เสรีนิยมใหม่ หรือการค้าเสรีอะไร ง่ายที่สุดก็คือการ blame ไปที่ผู้อพยพ แล้ววิธีการนี้ไม่ใช่เป็นแค่ในสหรัฐฯแต่เกิดขึ้นกับฝ่ายขวาทั่วโลก ที่ยุโรปก็ด้วย

แน่นอนต้องยอมรับว่ามันมีวิกฤตผู้อพยพลี้ภัยย้ายถิ่นจริงๆ แต่ไม่มีใครเคยถามกลับเลยว่า การที่คนที่เขาอพยพลี้ภัยย้ายถิ่นอยากจะเข้าสหรัฐฯเป็นเพราะเหตุผลอะไร? มันมีหลายปัจจัยที่เขาหนีมา ตั้งแต่ประเทศที่เขาอยู่ยากจน จึงหาทางหนีวิกฤตเศรษฐกิจ แล้วที่ประเทศนั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจยากจนมันเกิดจากนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯสมัยก่อนหรือเปล่า? ที่มาทำให้เศรษฐกิจเขาพัง หรือประเทศเขาเกิดสงคราม ก็ต้องถามว่าสงครามนั้นเกิดจากตัวเล่นภายนอกอย่างสหรัฐฯหรือเปล่าที่ไปทำให้ประเทศตรงนั้นมีสงคราม ปฏิเสธไม่ได้นะ สงครามในปัจจุบันที่ตะวันออกกลาง ก่อนหน้านี้ที่อัฟกานิสถานมันก่อให้เกิดคลื่นคนอพยพ

หรือมันเกิดจากสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า? จู่ๆประเทศหรือพื้นที่ที่เขาอยู่แห้งแล้ง ปลูกอะไรไม่ได้ เอาเข้าจริงบางทีมันก็เป็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมซึ่งมีการศึกษาออกมาแล้วพบว่าประเทศพัฒนาแล้วคือผู้สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมมากกว่า มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์มากกว่าประเทศยากจน และคนที่ได้รับผลกระทบก็คือประเทศยากจน

นั่นคือหนึ่งในปัจจัยการอพยพ แล้วถามว่าทำไมต้องเข้าสหรัฐฯ คำตอบไม่ต้องไปดูอะไร ดูแค่ค่าแรงก็จะเห็นว่ามันต่างจากประเทศที่เขาอยู่มากๆ มันคือโอกาสในการเข้าไปทำงานหาเงิน

แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ต้องยอมรับว่า สหรัฐฯคือประเทศแห่งการอพยพลี้ภัยย้ายถิ่น พูดกันแบบตรงไปตรงมาก็คือเป็นแบบนี้มาตั้งแต่สร้างประเทศแล้ว ถ้าจะเอาคนพื้นที่จริงๆก็คือคนอินเดียนแดง ที่มาใหม่ก็คือผู้อพยพย้ายถิ่นทั้งนั้น

ยกตัวอย่างในปัจจุบัน อย่างเมืองนิวยอร์ก ถ้าไม่มีแรงงานอพยพ มหานครนี้ก็เจ๊งทั้งเมือง ทำอะไรไม่ได้เลย เพราะแรงงานทุกอย่างที่ขับเคลื่อนเมืองอยู่ ก็คือผู้อพยพทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานในร้านฟาสฟู๊ด คนส่งของ งานก่อสร้าง ก็คือแรงงานที่มาจากลาตินอเมริกาและอื่นๆ งานที่ไม่ต้องใช้ทักษะทั้งหลายก็ใช้แรงงานจากคนเหล่านี้ทั้งสิ้น ถ้าไม่มีแรงงานอพยพเมืองทั้งเมืองแทบจะเดินไม่ได้ แต่มุมคิดแบบนี้ไม่ค่อยได้ถูกพูดถึง คนคิดแต่ในมุมผู้อพยพมาแย่งงาน ซึ่งความคิดแบบนี้มันตอบคำถามของปัญหาได้ง่ายสำหรับหลายคน ยิ่งคนอเมริกาที่ไม่ได้ฐานะดี พอมาเจอนโยบายค้าเสรีจนต้องตกงานมันก็ง่ายที่จะโยนคำอธิบายว่ารัฐบาลไม่ช่วย ถูกผู้อพยพมาแย่งงาน เป็นต้น

เมื่อมองมาที่นโยบายของทั้งสองพรรค กรณีปัญหาผู้อพยพลี้ภัยย้ายถิ่น ทั้งสองพรรครอบนี้ต่างเห็นตรงกันว่ามันมีปัญหา ต้องจำกัดการอพยพย้ายถิ่นทั้งคู่ แตกต่างกันเพียงวิธีที่จะจัดการหรือดีลกับปัญหา

ฝั่งทรัมป์ ต้องยอมรับว่าเวลาเขาพูดอะไรบางทีมันสุดโต่งมากจนไม่รู้ว่าเขาจะทำจริงไหม? แต่ก็มีความน่ากังวลอยู่ในการพูด เช่นการบอกจะไล่คนลักลอบเข้าเมืองที่มาทำงานออกให้หมด ฝั่งกมลา แฮริส ก็ประกาศจะจำกัดไม่ให้มีการลักลอบอพยพเข้ามา แต่ยังให้โอกาสเด็กๆที่เข้ามาในสหรัฐฯอย่างผิดกฏหมาย หรือเข้ามาตั้งแต่เด็กๆให้ใช้ชีวิต เรียน หรือสามารถหางานทำได้แบบไม่ให้ citizen

โดยยุคที่ทรัมป์เป็นรัฐบาล จะเห็นว่าเขามีศูนย์กักตัวผู้อพยพแล้วหาทางส่งกลับประเทศ มีนโยบายแยกผู้ปกครองกับเด็ก จนเกิดปัญหาการมาแค่ตัวเด็กแบบไม่มีผู้ปกครองด้วยในยุคนั้น ซึ่งก็เกิดความวุ่นวายมากเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจโดยตรงแบบเรื่องการค้า แต่ต้องยอมรับว่าพวกนี้คือแรงงานในอนาคต ที่จะมาทำงานในฟาร์ม ไร่สวน

2.การค้าระหว่างประเทศ

อย่างที่บอก ยุคนี้คือยุค “Reimagining American Economic Leadership” หรือ “จินตนาการใหม่ของสหรัฐฯในฐานะผู้นำทางเศรษฐกิจ” ว่าจะเป็นอย่างไร?

การเดินหน้าโปรโมตการค้าเสรีแบบเมื่อก่อนมันไม่ฟังก์ชั่น แถมมันยังย้อนกลับมาสร้างปัญหาต่างๆขึ้น ยุคทรัมป์จึงเป็นที่มาของการพยายามกีดกันทางการค้า การตั้งกำแพงภาษีสูงมาก การทำสงครามการค้ากับจีน ซึ่งพอโจ ไบเดนเข้ามา ก็ไม่ได้ลดกำแพงภาษีที่ทรัมป์ทำไว้ แถมยังเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ ไม่ได้มีการพลิกกลับด้านนโยบายเหมือนบางนโยบายที่เป็นการเมืองภายใน ดังนั้นจะเห็นว่าเรื่องการตั้งกำแพงภาษีเป็นสิ่งที่ทั้งสองพรรคเห็นพ้องต้องกัน นั่นสะท้อนว่าเขาพยายามจะคง “จินตนาการความเป็นมหาอำนาจแบบใหม่” ของสหรัฐฯไว้ โดยทั้งสองพรรคมองตรงกันว่ามีจีนเป็นภัยคุกคาม และมีนโยบายทางการค้าที่ไม่เหมือนสมัยก่อนที่พยายามจะเปิดการค้าเสรี

ในยุคปลายๆของทษวรรษ 1990 สหรัฐฯมีนโยบายไปบังคับให้จีนเข้าร่วม WTO ทุกอย่างคือการค้าเสรี ด้วยมีจินตนาการว่าหากจีนเข้าร่วม ก็จะทำตามกฏเกณฑ์ทางการค้าของ WTO แต่วันนี้ทุกอย่างมันตรงกันข้ามเลย การค้าระหว่างประเทศมันตรงข้ามกันเลย

ถามว่านโยบายการกีดกันการค้าในอนาคตจะเป็นอย่างไร? ฝั่งทรัมป์เขามีความเชื่อแปลกๆอะไรบางอย่าง

1.เขามองว่าการใช้กำแพงภาษีนำเข้า ด้วยเชื่อว่ามันจะทำให้อีกฝ่ายกลัว หรือยอมทำตามได้ แต่ในความเป็นจริง เมื่อสหรัฐฯขึ้นกำแพงภาษีสินค้าบางอย่าง จีนเขาก็เอาคืนตั้งกำแพงภาษีสินค้าสหรัฐฯบ้าง

2.อันนี้เป็นความเชื่อที่ผิดมากๆ แต่ทรัมป์ก็ยังเข้าใจแบบนี้ก็คือ ทรัมป์เขาคิดว่าถ้ามีกำแพงภาษี จะนำรายได้เข้าสู่สหรัฐฯ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วภาษีที่เก็บจากสินค้านำเข้า มีรายได้เข้ารัฐบาลก็จริง แต่คนที่จ่ายจริงๆคือคนอเมริกันในฐานะผู้บริโภคเอง ไม่ใช่จีน

ซึ่งในการหาเสียงคราวนี้ทรัมป์หาเสียงว่า เดี๋ยวเขาจะขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าจากจีน 60% และจะมีการตั้งกำแพงภาษีสำหรับสินค้านำเข้าทุกอย่างทั่วโลก 10% (เป็นนโยบายพูดตอนหาเสียงแต่จะทำได้หรือเปล่าไม่มั่นใจ) นี่คือ “การพยายามจะสร้างจินตนาการใหม่ในอำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯแบบทรัมป์” ด้วยมองว่าการกีดกันทางการค้าสามารถสร้างความมั่งคั่งโดยปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ และเพื่อสร้างงาน

ถามว่าทำไมต้องมีการกีดกันทางการค้า เพราะสหรัฐฯเอาเรื่องนี้ไปผูกกับนโยบายด้านความมั่นคง แน่นอน พูดอย่างตรงไปตรงมา การกีดกันทางการค้าไปผูกกับความมั่นคง มันก็มีความชอบธรรมอยู่ เช่นการไปสกัดกั้นบางเทคโนโลยีอย่างเซมิคอนดักเตอร์ หรือ clean technology เพื่อพยายามสร้างงานให้กับบริษัทท้องถิ่นในสหรัฐฯ

ไบเดนชัดเจนว่าทำเรื่องนี้ พยายามบล็อกสินค้าเทคโนโลยีจากจีน ประเด็นแรกก็คืออยากพัฒนาเทคโนโลยีของสหรัฐฯ อย่างรถยนต์ไฟฟ้าจีนที่พยายามเข้ามาตีตลาดสหรัฐฯ อีกประเด็นคือ ไม่อยากให้คนสหรัฐฯใช้ เพราะตัวรถมันผูกโยงกับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งเป็นการใช้ซอฟแวร์ที่ค่อนข้างก้าวหน้าและซับซ้อน เขาก็กลัวจีน อยากให้คนสหรัฐฯ ใช้ของสหรัฐฯ มากกว่า

ดังนั้นสำหรับทรัมป์ ความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนเขาใช้คำว่า “Decoupling” คือความสัมพันธ์แบบหลุดแยกออกจากการเป็นคู่ค้ากันไปเลย เขาเชื่อว่าหากมีการกีดกันทางการค้ากับจีนรวมถึงการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจะสร้างงานให้คนสหรัฐฯ ทั้งที่เอาเข้าจริงมันไม่ได้สร้างงานสักเท่าไหร่ แถมทำให้ manufacturing (อุตสาหกรรมการผลิต) ลดลงด้วย เพราะหากไม่เอาสินค้าจีน มันก็ขยับไปเวียดนาม ก็ได้ เช่น สมมติสหรัฐฯบล็อกสินค้าเกษตรจากจีนซึ่งเป็นสินค้าที่สหรัฐฯก็ปลูกเองไม่ได้ สุดท้ายก็ขยับไปที่บราซิล หรือมันก็มีประเด็นหากจีนค้าขายสหรัฐฯไม่ได้ เขาก็ไปค้าขายประเทศอื่นแทนได้เป็นต้น

ขณะที่นโยบายของแฮริส ดูจากทิศทางของไบเดนแล้ว แฮริสก็คงจะดำเนินนโยบายกำแพงภาษีกับจีนต่อคล้ายๆกับไบเดน ไม่มั่นใจว่าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงด้วย แต่จะไม่มากเท่าทรัมป์ โดยแฮริสจะยังคงมองประเด็น ความมั่นคงทางเศรษฐกิจผูกกับความมั่นคงของชาติอยู่

3.เงินเฟ้อ

ช่วงทรัมป์เป็นประธานาธิบดี เงินเฟ้ออยู่ที่ประมาณ 2% แต่ช่วงไบเดน เงินเฟ้อเกิดพุ่งขึ้นถึง 9% เพราะเป็นช่วงที่มีการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด จนส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อทั่วโลก (แม้ตอนนี้จะลดลงมาแล้ว)ซึ่งส่งผลให้ค่าครองชีพในสหรัฐฯแพง โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดแก้ปัญหาด้วยการขึ้นดอกเบี้ย

แต่ท่าทีของทรัมป์ต่อบทบาทของธนาคารกลางสหรัฐฯก็สร้างความมึนงง เพราะเขาออกมาบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการที่ธนาคารกลางฯเข้ามาจัดการเรื่องดอกเบี้ย เขาอยากให้ตัวรัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดทิศทางดอกเบี้ยด้วย ทั้งๆที่โดยปกติเราจะได้ยินกันว่าควรปล่อยให้ธนาคารกลางเป็นอิสระรัฐบาลไม่ควรมายุ่ง ขณะที่กมลา แฮริส ก็เป็นจุดยืนแบบปกติที่เห็นว่าธนาคารกลางสหรัฐฯมีความเป็นเอกเทศจากการเมือง รัฐบาลกลางไม่ควรเข้าไปวุ่นวาย

โดยสรุป ทรัมป์เสนอวิธีลดเงินเฟ้อด้วยการสร้างกำแพงภาษีโดยยังไม่บอกว่าจะใช้วิธีการใด รวมถึงเข้าไปจัดการกับธนาคารกลาง ขณะที่แฮริส จะเน้นควบคุมไม่ให้บริษัทใหญ่ๆขึ้นราคาสินค้า ด้วยวิธีให้องค์กรที่ดูแลการค้าภายในประเทศเข้าไปจัดการหากบริษัทไหนที่ขึ้นราคาสินค้าสินค้า โดยเฉพาะสินค้าบริโภค

4.นโยบายภาษีในประเทศ

จากช่วงที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีปี 2017 มีการออกนโยบายลดภาษีคนรวยหรือบริษัทขนาดใหญ่จำนวนมากยาวถึงปี 2025 ซึ่งหากทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีเขาสัญญาว่าจะต่ออายุมาตรการนี้ ด้วยความที่เขาเป็นนักธุรกิจจึงมองเรื่องการลดภาษีบริษัทใหญ่

แม้จะลดการเก็บภาษีเอกชน แต่ทรัมป์ก็มีมาตรการทางภาษีที่จะช่วยชนชั้นกลาง เช่นการลดภาษีสำหรับผู้มีบุตร 2,000 เหรียญ ขณะที่แฮริสก็มีนโยบายคล้ายๆกัน แต่ให้มากกว่าถึง 6,000 เหรียญ ต่างกันตรงที่แฮริสประกาศชัดว่าจะเพิ่มการเก็บภาษีคนรวย ภาษีรายได้ผู้บริหารระดับสูงที่ปัจจุบันอยู่ที่ 37% ให้สูงกว่านี้อีก (ซึ่งก็สูงอยู่แล้ว แต่อย่าลืมว่าเงินเดือนเขาก็สูงและมีสวัสดิการอย่างอื่นที่ไม่อยู่ในรายได้)

ส่วนภาษีบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 21% แฮริสก็ประกาศจะขึ้นเป็น 28% นี่คือสิ่งที่ต่างกัน แต่เพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ แฮริสก็ประกาศจะมีการลดภาษีสำหรับธุรกิจขนาดเล็กหรือสตาร์ทอัพ รวมถึงตัดภาษีเงินทิป และการลดภาษีจากดอกเบี้ยหรือการลงทุนซึ่งยุคไบเดนมีอยู่สูงถึงเกือบ 40% แต่แฮริสก็ลดลง ขณะที่ทรัมป์จะไม่เก็บภาษีเงินเกษียณประกันสังคม

ผศ.ดร.กัลยา เจริญยิ่ง อ.ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

5.เรื่องสิทธิการทำแท้ง

ในยุคทรัมป์มีการเปลี่ยนกฏหมาย Roe v. Wade ซึ่งเป็นกฏหมายระดับทั้งประเทศออกมาตั้งแต่ปี 1973 อนุญาตให้ทำแท้งได้ ทรัมป์สามารถตั้งตุลาการในศาลสูงสุดสหรัฐฯได้ถึง 3 คน ทำให้ศาลมีความเป็นอนุรักษ์นิยมมากขึ้น ซึ่งผู้สนับสนุนทรัมป์จำนวนมากคือ ชาวคริสเตียนแบบอีวานเจลิคัลที่มีความเชื่อเรื่องคุณค่าความเป็นครอบครัว พ่อ แม่ ลูก ความเป็น ชาย-หญิง สูงมาก เขาไม่เชื่อเรื่องความหลากหลายทางเพศและการทำแท้ง สุดท้ายกฏหมายทำแท้งก็ตกไปอยู่ในอำนาจของแต่ละมลรัฐฯ ว่าจะให้ทำแท้งหรือไม่ ให้ทำแบบมีเงื่อนไข หรือไม่ให้ทำเลย

แน่นอนกมลา แฮริส ประกาศจะนำกฏหมายนี้กลับมา ให้การทำแท้งสิทธิที่เลือกได้ของพลเมืองสหรัฐฯทุกคน เพราะมองว่าเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ทรัมป์ดึงมันไปจากคนอเมริกัน ขณะที่ทรัมป์จะยกอำนาจนี้ให้แต่ละมลรัฐตัดสินใจ

นอกจากนี้ยังมีประเด็นของยาทำแท้งที่เป็นยากิน ยุคทรัมป์ทำให้ยานี้หายากขึ้นและแพงมากขึ้นในตลาด แต่เดโมแครตประกาศจะทำให้มันหาซื้อง่ายขึ้นด้วย

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องเพศสภาพ เป็นเรื่องสิทธิในการเลือกของสตรีซึ่งมันจะลามไปยังนโยบายต่างประเทศด้วย เพราะการทำแท้งมันเป็นเรื่องสิทธิความปลอดภัย WHO ก็โปรโมตเรื่องนี้ด้วย แต่ทรัมป์เองเขามีปัญหากับองค์กรต่างประเทศนี้ค่อนข้างมาก

6.นโยบายต่างประเทศ

ทั้ง 2 พรรคมีมุมมองและกรอบคิดที่ต่างกัน ทรัมป์มีมุมมองแบบที่ศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า zero-sum game เช่นจะทำการค้ากันก็ต้องมีคนได้-เสีย มันไม่มีใครจะชนะทั้งคู่ หลักคิดนี้นำไปสู่การกีดกันทางการค้า

ในมุมมองต่างประเทศ ทรัมป์ไม่ใส่ใจอะไรเลยเกี่ยวกับประชาธิปไตย แม้หลักการนี้จะเป็นสิ่งที่สหรัฐฯโปรโมตมาต่อเนื่องยาวนานในอดีต ทรัมป์กลับไม่ให้คุณค่าเรื่องนี้เลย พูดให้ชัดก็คือสำหรับทรัมป์ไม่มีเรื่องคุณค่าประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชนในนโยบายการต่างประเทศเลย

ขณะที่แฮริสเขายังมองว่า ความเข้มแข็งของสหรัฐฯ ยังต้องพึ่งพาความร่วมมือจากประเทศอื่น หากจะทำให้ความมั่นคงของสหรัฐฯดียิ่งขึ้น ได้รับการปกป้องอย่างแท้จริง จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ต้องมีการสร้างพันธมิตรในการเมืองระหว่างประเทศ ขณะที่ของทรัมป์ตั้งแต่ยุคที่เขาเป็นประธานาธิบดีจนถึงตอนนี้มันเป็นนโยบายชาตินิยม

ทรัมป์ไม่ค่อยชอบพหุภาคีหรือองค์กรระหว่างประเทศที่ต้องร่วมมือ ทรัมป์จะชอบแบบ “ทวิภาคี”แบบไม่ต้องพึ่งองค์กรระหว่างประเทศ ตั้งแต่สมัยเป็นประธานาธิบดีจนถึงตอนนี้ ทรัมป์ก็จะขู่ตลอดเวลา จะนำสหรัฐฯออกจากนาโต้ เป็นต้น

ส่วนแฮริสนั้นต่างกันเลย เน้นการแสวงหาความร่วมมือ ให้ความสำคัญองค์กรระหว่างประเทศและพันธมิตร จะเห็นว่าเดโมแครตเข้าข้างยูเครนชัดเจน ขณะที่ทรัมป์ก็มีความสัมพันธ์กับปูตินแบบแปลกๆงงๆคือโชว์ว่ายังคุยกันได้ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ให้เขาเข้ามาข่ม

ส่วนศึกที่ตะวันออกกลาง ฝั่งเดโมแครตชัดเจนว่าเข้าข้างอิสราเอล ส่งอาวุธให้ ปกป้องอิสราเอล แต่ขณะเดียวกันก็ยังประกาศสนับสนุนสิทธิของชาวปาเลสไตน์ ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ขณะที่ทรัมป์ ต้องยอมรับว่ารีพับรีกันเองก็เข้าข้างอิสราเอลชัดเจน เพราะกลุ่มล็อบบี้อิสราเอลเป็นกลุ่มใหญ่สุดในอเมริกา เขามีอำนาจเยอะมาก แม้เขาจะออกมาพูดว่าจะหยุดสงครามแต่ก็ยังไม่มีความมั่นใจ เพราะในแง่หนึ่งฐานเสียงอาหรับส่วนหนึ่งในสหรัฐฯในรัฐสวิงสเตทก็หันไปเลือกทรัมป์แล้ว

7.Cyber Security

สมัยที่กมลา แฮริสเป็น วุฒิสภาของรัฐแคลิฟอร์เนีย เขาให้ความสำคัญกับ Cyber Security มาก พยายามจัดการกับปัญหาสแกมเมอร์โดยผลักดันให้รัฐมีบทบาทสำคัฐในการจัดการปัญหา

ส่วนทิม วอลต์ คู่หูชิงรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของแฮร์ริส สมัยเป็นผู้ว่าการรัฐมินนิโซตา ก็ผลักดันการแก้ไขกฏหมาย กำหนดมาตรฐานแก้ไขปัญหา Cyber Security ให้สอดคล้องกับรัฐบาลกลาง เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล สร้างระบบป้องกันสายเคเบิลจากสแกม พัฒนาโครงสร้างในการปกป้อง Data Privacy

เรื่อง Cyber Security เป็นเรื่องสำคัญของทั้งสองพรรค แต่จะต่างกันที่การจัดการ

ในส่วนทรัมป์ แทนที่จะให้รัฐมีบทบาทนำในการผลักดันการแก้ไข ป้องกันและพัฒนา เขาเลือกที่จะให้บริษัทเอกชนเป็นผู้จัดการ ผลักดันให้มีบทบาทเยอะขึ้น ทรัมป์ชอบที่จะให้เอกชนมาเป็นผู้ดูแล Cyber Security นั่นอาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาดึงนักธุรกิจอย่างอีลอน มัสต์ เข้ามา

โดยทั้งทรัมป์และแฮริสต่างให้ความสำคัญอย่างมากกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ขณะที่อุตสาหกรรมไฮเทคไม่ว่าจะเป็นเอไอ ดาตาเซ็นเตอร์ หรือเซมิคอนดักเตอร์ จะเป็นเศรษฐกิจตัวใหม่ในอนาคตที่จะต้องต่อสู้กันในอนาคต

8.เรื่องสิ่งแวดล้อม

2 พรรคแตกต่างกันสุดฤทธิ์ ยุคทรัมป์เป็นประธานาธิบดี เขานำสหรัฐฯถอนตัวจาก “ความตกลงปารีส” (Paris Agreement) ที่ตลกมากคือคนที่เขาเลือกมาบริหารองค์กรด้านการปกป้องสิ่งแวดล้อมประเทศ กลับเป็นนักธุรกิจอดีตซีอีโอยักษ์ใหญ่ธุรกิจน้ำมัน นี่ทำให้รู้ว่าเขาไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเลย

ขณะที่พรรคเดโมเครตต้องยอมรับว่าเขาใส่ใจเรื่องนี้มากกว่า ซึ่งเอาเข้าจริงพรรครีพับริกันควรจะใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมมากกว่านี้ เพราะต้องเข้าใจว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมมันเป็นปัญหาระดับ “ระหว่างประเทศ” ไม่ใช่แค่ปัญหาภายในประเทศคล้ายๆ Cyber Security โรคระบาด หรือการก่อการร้าย นั่นแหละ

มันเป็นประเด็นที่คนจะเป็นมหาอำนาจโลกต้องใส่ใจ จะดีลแต่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเอาเข้าจริงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ มันผูกโยงกับเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานจากฟอสซิล น้ำมัน มันส่งผลต่อ “ภาวะเรือนกระจก” ในโลก มันทำลายสิ่งแวดล้อม ยุคนี้จึงเป็นยุคเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสะอาด ประเทศพัฒนาแล้วทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างมากกว่าด้วยวิถีชีวิตของเขา ในฐานะประเทศมหาอำนาจจึงควรโปรโมตเรี่องพลังงานสะอาดเพื่อให้โลกขยับไปข้างหน้า เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมมันกระทบกับทั่วโลก มหาอำนาจต้องดูแลเรื่องนี้

ถ้าทรัมป์ขึ้นมา น่าสนใจว่าสหรัฐฯยุครีพับริกัน จะไม่เล่นบทบาทนี้เลยหรือ? จะเล่นบทบาทแค่ไม่เอาจีนหรือ? หากไม่เล่นก็จงระวังประเทศอื่นจะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเพราะเขาแคร์และดูแลเรื่องนี้ สุดท้ายบทบาทสหรัฐฯก็จะลดลง

ดังนั้นหากสหรัฐฯจะสร้าง “Reimagining American Economic Leadership” หรือ “จินตนาการใหม่ของสหรัฐฯในฐานะผู้นำทางเศรษฐกิจ” ก็ต้องทำควบคู่ไปกับเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะเทคโนโลยีในอนาคตเอาเข้าจริงๆมันเปลืองไฟฟ้ามากนะ เอาง่ายๆเลยอย่างแชต GPT นี่มันก็เปลืองไฟมาก มันคล้ายๆบิตคอยด์ที่ต้องมีคอมพิวเตอร์ running อยู่ตลอดเวลา มันต้องมีเมนเฟรมที่ต้องรันข้อมูลตลอดเวลา เมื่อต้องใช้ไฟฟ้าเยอะแล้วถามว่าจะใช้อะไรผลิตไฟฟ้า

ปัญหาก็คือทรัมป์ไม่เอาเรื่องสิ่งแวดล้อมเลย อันนี้เป็นอันตรายต่อโลก เพราะสหรัฐฯที่ได้ชื่อว่ามีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ใหญ่มาก อย่าลืมว่าวิถีชีวิตของคนรวยมันผลิตคาร์บอนฟุตพริ้นท์มากกว่าคนจนในแอฟริกา ยังไงประเทศซีกโลกเหนือก็ผลิตคาร์บอนฟุตพริ้นท์มากกว่า เขาก็ควรจะจ่ายมากกว่าเพื่อรับผิดชอบต่อมลภาวะที่เกิดขึ้น ประเด็นคือถ้าโลกมีประธานาธิบดีแบบทรัมป์ที่ไม่สนใจเรื่องพวกนี้ อนาคตจะเป็นอย่างไร เวลาโลกร้อนอากาศเปลี่ยนแปลง เกิดน้ำท่วมที่ไม่ใช่ในสหรัฐ แต่เกิดในบังกลาเทศ ผลกระทบมันต่างกัน เราได้รับผลกระทบโลกร้อนเช่นกัน แต่ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากกว่าคือประเทศด้อยพัฒนา

จริงๆสหรัฐฯตอนนี้ก็ได้รับผลกระทบหนัก ดูจากเฮอริเคนที่เข้าแต่ละครั้ง ใหญ่และรุนแรงขึ้น มันไม่ใช่ภัยพิบัติตามธรรมชาติแต่มันเป็นภัยพิบัติจาก climate change ถ้าจะเป็นมหาอำนาจคุณต้องเทคแคร์เรื่องนี้ แต่ทรัมป์ไม่มี

ผศ.ดร.กัลยา เจริญยิ่ง อ.ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ขวากลางสู้กับขวา?

โดยสรุป หากทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีเขาเป็นนักธุรกิจ จะคิดอะไรแบบระยะสั้น เขาพยายามจะลดอำนาจของระบบราชการส่วนกลาง เขาพูดเองว่าถ้าเข้ามาได้จะไล่พวกข้าราชการ เทคโนแครตตามกระทรวงออกให้หมด จะยกเลิก department of education อะไรพวกนี้ แล้วจะให้มลรัฐเป็นตัวจัดการซึ่งอันนี้ก็อันตรายมาก เพราะงานพวกนี้บางทีมันต้องเหนือว่ามุมมองของแค่พรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่ง เช่นหากให้บางรัฐจัดการเรื่องการศึกษา ตอนนี้เกิดขึ้นแล้ว รัฐที่อนุรักษ์นิยมมากๆ หนังสือบางเล่มเขาก็แบน แบนหลายเล่มเลยด้วย

ส่วนเศรษฐกิจโลก ทรัมป์ดำเนินนโยบายแบบ America First มีการต่างประเทศแบบโผงผางแบบงงๆ อาจจะไปจับมือกับประธานาธิบดีเกาหลีเหนือ แต่ก็จบลงไม่มีอะไรความสัมพันธ์หลังจากนั้น ราวกับแค่ไปถ่ายรูปกัน ขณะที่เดโมแครตจะเน้นให้ความสำคัญกับพันธมิตรระดับนานาชาติ โปรโมตเรื่องประชาธิปไตยอยู่ แต่แน่นอนการค้าของเดโมแครตยังมุ่งปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯอยู่

เรื่องการการโปรโมตคุณค่าแบบประชาธิปไตย หากทรัมป์เข้ามาเขาประกาศชัดจะจัดการฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เห็นด้วยกับเขาทั้งหมด คดีที่ถูกฟ้องร้องทั้งหลายก็อาจรอด พูดง่ายๆว่าแนวโน้มขยับไปทางอำนาจนิยม ขยับไปทาง fascism มากขึ้น แล้วผลจากการที่สหรัฐฯขยับแบบนี้ ก็จะส่งผลต่อการเมืองระหว่างประเทศโดยตรง ประเทศเล็กๆอาจจะไม่ได้ดีลกับสหรัฐฯในแบบคุณค่าประชาธิปไตย และนี่คือสิ่งที่อันตราย

แต่หากแฮริสชนะเลือกตั้ง เชื่อว่าทรัมป์คงไม่ยอมง่ายๆ อาจเกิด “เหตุการณ์ 6 มกรา” ขึ้นอีกรอบ เชื่อว่าทรัมป์ก็ไม่ยอม อันนี้เขาพูดเอง ถ้าเขาไม่ชนะเขาจะเอาเรื่อง …

น่าสนใจอีกว่านอกจากเลือกประธานาธิบดี ยังมีการเลือกตั้งสภาผู้แทนฯหรือ คองเกรสอีกด้วย ซึ่งน่าสนใจว่า เดโมแครตจะได้เป็นเสียงข้างมากหรือเปล่า? เพราะคองเกรสเป็นตัวผ่านกฏหมาย รวมถึงต้องดูด้วยว่าวุฒิสภาจะขยับไปทางไหน เพราะตอนนี้ยังเป็นรีพับริกันอยู่ สมมติสภาล่างและสภาบนเป็นเดโมแครต หากทรัมป์เข้ามามันยังคานอำนาจกันได้

โดยภาพรวม เลือกตั้งรอบนี้ไม่มีความคิดการเมืองแบบซ้าย แบบ “เบอร์นี่ แซนเดอร์ส” แล้ว วันนี้เดโมแครตขยับนโยบายมาเป็น “พรรคขวากลาง” มากขึ้นเพื่อดึงคะแนนเสียงคนที่เอียงไปทางขวา หรืออยู่ตรงกลางยังไม่เลือกใคร ขณะที่รีพับรีกันเป็นพรรคขวา