ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : Faces Places ยกย่องสามัญชนแบบไม่ฟูมฟาย

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

มนุษย์ทุกคนต้องตาย

การแสดงความเหนือมนุษย์ของใครจึงต้องทำให้คนนั้นถูกจำจนเหมือนมีชีวิตไม่รู้จบ

อนุสาวรีย์, วันหยุดแห่งชาติ, แสตมป์, ชื่ออาคาร ฯลฯ เป็นเครื่องมือสร้างความทรงจำเพื่อประดิษฐ์อภิมนุษย์แบบนี้

ความทรงจำเชิงยัดเยียดคือเอกสิทธิ์ของวรรณะอภิสิทธิ์ที่ทำให้ตัวเองใกล้ความเป็นอมตะกว่าคนธรรมดา

สำหรับสามัญชนทั่วไป คำถามคือทำไมเราต้องเป็นเบี้ยล่างในโครงข่ายความทรงจำจนต้องเป็นเบี้ยล่างทางสังคมต่อไปอีก?

ทำไมเราไม่จดจำคนธรรมดาให้มากขึ้น?

และทำไมเราไม่มองว่าความตายคือความปกติ

ส่วนความพยายามเป็นอมตะคืออาการของสภาวะวิปลาสทางจิตวิญญาณ?

มองอย่างผิวเผินแล้ว คำถามแบบนี้คล้ายประเด็นปรัชญาที่อยู่ไกลตัว

แต่โดยเนื้อแท้ คำถามนี้คือกุญแจสู่สังคมที่เคารพความเป็นมนุษย์อย่างที่สุด

เพราะความต้องการจำคนธรรมดาจะเกิดขึ้นแต่ในสังคมที่เห็นค่าคนธรรมดา

และถ้าสังคมไม่มีช่องทางให้จดจำคนธรรมดา การเปลี่ยนสังคมให้เป็นพื้นที่ของคนธรรมดาย่อมมีความจำเป็น

ใน Faces Places ซึ่งนักวิจารณ์ทั่วโลกยกย่องเป็นหนึ่งในหนังดีที่สุดแห่งปี

ผู้ชมจำนวนมากตราตรึงกับเสน่ห์ของหนังที่ผสานเรื่องเล่าแสนเรียบง่ายกับภาพราวบทกวี

แต่ก็อย่างที่คนเชื่อว่าเพลโต้พูดไว้ มนตราแห่งความงามอาจทำให้ผู้คนดื่มด่ำจนมองข้ามสารอื่นในงานศิลปะ แม้สารที่ตกหล่นจะมีคุณค่าไม่น้อยกว่าสารที่รับรู้กัน

ในระดับพื้นผิวที่สุด Faces Places คือสารคดีว่าด้วยการเดินทางของคนทำหนังและช่างภาพสองคนไปตามหมู่บ้านในฝรั่งเศส

คนทำหนังคือ Agnes Varda ซึ่งเป็นผู้กำกับสำคัญของโลกมากว่า 60 ปี

ส่วนช่างภาพคือ JR ซึ่งเป็นนามแฝงของหนึ่งในศิลปินที่ได้ชื่อว่าทรงอิทธิพลที่สุดในโลก แม้จะไม่มีใครรู้ว่าตัวจริงของเขาคือใคร

สำหรับคนที่สนใจโลกภาพยนตร์บ้าง อานเญส วาร์ดา คือผู้กำกับฯ ที่ได้ชื่อว่าเป็นตำนานที่มีชีวิต

พูดสั้นๆ คือเดือนพฤษภาคมปีนี้เธอจะอายุครบ 90

และเมื่อคำนึงว่าวาร์ดาทำหนังเรื่องแรกตอนอายุ 27 ก็เท่ากับว่างานล่าสุดของเธออย่าง Faces Places เป็นผลผลิตของคนทำหนังที่อยู่ในแผนที่หนังโลกมา 63 ปี

เพื่อฉายความเก๋าของวาร์ดาแบบไวๆ ขอเทียบกับไทยว่าเธอทำหนังเรื่องแรกในปีที่ครูมารุตทำ “ชั่วฟ้าดินสลาย” พ.ศ.2498, Stephen Davis เล่าในหนังสือชีวประวัติจิม มอร์ริสัน ว่าเธอคือหนึ่งในห้าคนที่อยู่ในงานศพร็อกสตาร์ปี 1971

ส่วนแง่ประวัติศาสตร์หนัง เธอคือเสาหลักของหนังฝรั่งเศสกลุ่ม Left Bank ที่ทำงานจนปัจจุบัน

คนที่พอรู้ว่าจิม มอร์ริสัน ยิ่งใหญ่ขนาดในทศวรรษ 1970 คงนึกภาพออกว่าวาร์ดามีบารมีขนาดไหนจนเป็นไม่กี่คนที่อยู่ในงานฝังศพร็อกสตาร์ระดับโลกที่ยุคนั้นคงยิ่งใหญ่ไม่น้อยกว่าเลียม กัลลาเกอร์ ยุคปัจจุบัน

ในกรณีคนที่สนใจเรื่องภาพและดีไซน์ วาร์ดาคือคนทำหนังที่มีสายสัมพันธ์กับศิลปินร่วมสมัยแขนงนี้เยอะไปหมด

และในภาพยนตร์เรื่องนี้ เธอแทบจะทำให้บางตอนของหนังเป็นบทโศลกถึงการต่อสู้เพื่อยืนหยัดในวงการศิลปะของคนรุ่นใหม่ฝรั่งเศสยุคทศวรรษ 1970 เช่นเดียวกับเป็นบทอาดูรถึงเพื่อนร่วมแนวทางทั้งหมดที่จากไป

เธอคุ้นเคยกับ Henri Bresson ผู้บุกเบิกแนวคิด Decisive Moment ของกลุ่ม Street Photo ในการถ่ายภาพคนธรรมดา

Guy Bourdin ที่เอามุมมองเหนือจริงใส่ภาพถ่ายแฟชั่นจนมีงานอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสำคัญแทบจะทั่วโลกจาก Tate ถึง MOMA

รวมทั้ง Martine Franck ช่างภาพที่โดดเด่นด้านการดึงความเป็นมนุษย์ของซับเจก ต่อให้จะเป็นการถ่ายนักคิดที่ปฏิเสธมนุษยนิยมอย่างฟูโกต์ก็ตาม

สรุปแบบสั้นที่สุด Faces Places คือผลงานของอนุสาวรีย์ที่มีชีวิตแห่งวงการหนังยุโรปที่งานของเธอแนบแน่นกับความเคลื่อนไหวด้านศิลปะร่วมสมัยจากทศวรรษ 1970 โดยเฉพาะในเรื่องของการให้ความสำคัญกับคนทำงานที่เป็นคนธรรมดาๆ

คู่ขนานกับวาร์ดาคือช่างภาพที่ทำงานใต้นามแฝงว่า JR ซึ่งถูกยกย่องเป็นหนึ่งในศิลปินที่ทรงอิทธิพลของปี 2017 หรืออาจถึงขั้นของทศวรรษ 2010 จากโครงการศิลปะ Inside Out ซึ่งเปลี่ยนพื้นที่สาธารณะให้เป็นพื้นที่แสดงความสำคัญของมนุษย์โดยติดตั้งภาพคนธรรมดาบนสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะคนที่ถูกมองข้ามในสังคม

ในงานสุดโด่งดังอย่าง Au Panth?on! เจอาร์เอาภาพคนธรรมดาเป็นร้อยไปแปะบนหลังคาและพื้นวิหารแพนธีออน

ส่วนใน The Wrinkle of the City เขาใช้ตึกเก่ากลางกรุงฮาวานาติดภาพคนคิวบาชราใบหน้าเหี่ยวย่นที่อยู่มาตั้งแต่ยุคคาสโตรปฏิวัติ

ขณะที่งาน Kikito ก็ติดตั้งรูปเด็กทารกเม็กซิกันในท่ารื้อรั้วที่อเมริกาสร้างปิดชายแดนเม็กซิโก

แม้แต่ในพื้นที่สงครามอย่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ เจอาร์ก็ทำโครงการ Face-2-Face ติดตั้งภาพคนปาเลสไตน์กับอิสราเอลประกบกันบนกำแพงที่กั้นคนสองประเทศจากกัน

พูดแบบรวบรัดที่สุด เจอาร์ใช้ภาพถ่ายและพื้นที่สาธารณะเพื่อทำให้คนธรรมดามีเสียงดังขึ้น และในบรรดาคนธรรมดาทั้งหมด เขาให้น้ำหนักเป็นพิเศษกับคนที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางวัฒนธรรมหรือคนชายขอบทางเศรษฐกิจ สังคม

ฟังตรงนี้แล้วอาจชวนให้เข้าใจว่าเจอาร์เป็นช่างภาพเพื่อชีวิต แต่หมอนี่ไม่ได้ถ่ายภาพเพื่อตีแผ่ปัญหาหรือกระตุ้นความเคลื่อนไหวในสังคม เขาถ่ายคนที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งผ่านมุมมองที่เห็นแต่ละคนเป็นดาวสุกสกาวสดใส ภาพจึงเชิดชูความเป็นมนุษย์ของปัจเจก ไม่ใช่ชนชั้นหรือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

อาจพูดอีกอย่างก็ได้ว่าการให้ความสำคัญกับมนุษย์กลุ่มที่เป็นสามัญชนแบบนี้คือห่วงโซ่ที่เกาะเกี่ยวให้งานของเจอาร์ต่อติดกับผู้กำกับรุ่นย่าอย่างวาร์ดาได้อย่างดี

ภูมิหลังของคนทำหนังอาจทำให้ผู้ชมบางกลุ่มหวาดหวั่นว่า Faces Places เป็นหนังที่หนักเกินไป แต่สองคนนี้ไม่ใช่นักกิจกรรม ซ้ำโดยเนื้อแท้แล้วคือคนทำงานศิลปะที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์ หนังเรื่องนี้จึงดูง่าย ดูเอาภาพชนบทหรือชายหาดฝรั่งเศสในมุมมองที่แปลกตาก็ได้ หรือดูความอัศจรรย์ของภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวในหนังก็ได้เช่นกัน

พูดให้โรแมนติกมากขึ้น Faces Places คือ Road Movie ว่าด้วยคุณย่านักทำหนังอายุ 90 กับช่างภาพอายุ 30 ที่มาจากภูมิหลังที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

แต่การเดินทางทำให้ทั้งคู่เห็นแง่งามของกันและกันที่แยกไม่ออกจากการเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์

และในที่สุดก็ร่วมกันเปลี่ยนโลกเป็นพื้นที่แสดงมนุษยภาพของมนุษย์ขึ้นมา

เพื่อความเป็นธรรมกับผู้ชม ควรระบุด้วยว่า Faces Places เป็นสารคดีที่ผู้กำกับฯ ระดับโลกเล่าเรื่องการถ่ายภาพของเจอาร์

แต่เพื่อความเป็นธรรมกับภาพยนตร์ ควรระบุด้วยว่าสารคดียุคนี้ต่างจากชีวิตสัตว์โลกหรือวงเวียนชีวิต

มันมีโครงเรื่อง, มีความเป็นศิลปะ มีประเด็นนำเสนอ และไม่ใช่แค่การตั้งกล้องบันทึกภาพตามยถากรรม

นักวิจารณ์ทั้งโลกยกย่องว่า Faces Places คือหนังที่ดีที่สุดในรอบปี เว็บไซต์บางแห่งมีผู้รีวิวหนังเรื่องนี้แง่บวก 100% แล้วด้วยซ้ำ หนังแสดงฤทธิ์ของการเล่าเรื่องที่มีเสน่ห์จนไม่ต้องปั้นดราม่าหรือความขัดแย้งเพื่อดึงดูดคนดูตรงไหน

มนตราของหนังทำให้ผู้ชมดูหญิงชราถ่ายหนังบันทึกการทำงานของตากล้องหนุ่มจนจบแบบไม่รู้ตัว

ในกรณีนี้ ความเป็นปัญญาชนของคนทำหนังไม่ได้ทำให้เกิดหนังอาร์ตหรือหนังทดลองที่ดูยาก แต่กลับให้กำเนิดหนังที่เรียบง่าย, อบอุ่น หากทว่ากลับเปี่ยมไปด้วยความลุ่มลึกในด้านการพังทลายความคร่ำครึของสังคม

ในระดับที่ลึกที่สุด Faces Places คือหนังที่ยกย่องสามัญชนโดยไม่ต้องพร่ำเพ้อเรื่องความยิ่งใหญ่ของประชาชน