เผยแพร่ |
---|
“ชีวิตภายใต้รัฐบาลที่ดี มักไม่ค่อยน่าตื่นเต้น; แต่ชีวิตภายใต้รัฐบาลที่ไม่ดี มักจะน่าตื่นเต้นกว่า”
Oscar Wilde (กวีและนักเขียนบทละครชาวไอริช)
ไม่ว่าเราจะมีมุมมองต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 อย่างไรก็ตาม เราคงต้องยอมรับว่าเหตุการณ์นี้เป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และต้องถือเป็นการ “เปลี่ยนระบอบ” อย่างแท้จริงในการเมืองไทย ที่ควรต้องรำลึกถึง
อย่างไรก็ตาม บทความนี้มิได้เขียนขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงวาระครบรอบเหตุการณ์ 2475 แต่อยากชวนมองในบริบทของการเมืองปัจจุบัน เพื่อที่จะสะท้อนถึงปัญหาการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในปีที่ 92 ของ 2475
เส้นเวลาการเมืองไทย
สําหรับการเดินทางของ 2475 ในวาระครบรอบของปีนี้ ดูจะเป็นไปอย่างเงียบๆ และอย่างเงียบเชียบด้วย… แน่นอนว่าในวาระครบรอบ 92 ปีเช่นนี้ ไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นจนกลายเป็นประเด็นใหญ่ทางการเมือง อันจะถูกนำไปผูกโยงกับการเปลี่ยนแปลงในวันดังกล่าวได้มากนัก
แม้จะดูเหมือนว่า จะเป็น 92 ปีที่เงียบๆ สำหรับการจัดงานรำลึก 2475 แต่เหตุการณ์การเมืองรอบๆ ตัวดูจะไม่เงียบเท่าใดนัก โดยเฉพาะในสถานการณ์การเมืองไทยปัจจุบัน คงต้องยอมรับว่าเรายังคงอยู่กับภาวะของ “การเมืองแห่งความไม่แน่นอน” ไม่ต่างกับในช่วงต้นของยุคหลัง 2475 หรืออาจกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในภาวะปัจจุบัน ดูจะมีความท้าทายต่างๆ อย่างรอบด้าน
อีกส่วนที่ดูจะไม่เงียบ ก็คงหนีไม่พ้นจากเสียงเล่าลือในเรื่องของ “รัฐประหาร” จนบางครั้งทำให้คนที่สนใจการเมืองไทยมักมีคำถามอยู่เสมอว่า “92 ปีแล้ว… ข่าวลือเรื่องรัฐประหารยังไม่จบไปจากสังคมการเมืองไทยอีกหรือ?”… สังคมไทยจะต้องติดกับดักอยู่ใน “วังวนรัฐประหาร” แบบไม่มีจุดสิ้นสุด ไปอีกนานเท่าใด เพราะรัฐประหารที่เกิดขึ้นมีจำนวนมาก จนกลายเป็นภาพสะท้อนที่สำคัญของไทยในความเป็น “การเมืองประเทศกำลังพัฒนา”
หรือบางคนอาจจะบอกว่า รัฐประหารคือสัญลักษณ์ของ “การเมืองประเทศด้อยพัฒนา” ต่างหาก ดังเช่นที่ปรากฏให้เห็นในหมู่ประเทศแอฟริกา ที่มีเงื่อนไขของการพัฒนาทางการเมืองและเศรษฐกิจในระดับต่ำ
ในกรณีของไทย เราอาจไม่ได้อยู่กับเงื่อนไขของการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับต่ำแต่อย่างใด แต่เราประสบกับปัญหาทางการเมืองภายในที่มีความผันผวน และหลายครั้งได้กลายเป็นวิกฤต ที่จบลงด้วยการยึดอำนาจ ภาวะเช่นนี้ทำให้เส้นแบ่งเวลาในการเมืองไทยเป็นความน่าเศร้าใจในมิติของการสร้างประชาธิปไตย เพราะเส้นแบ่งนี้มีเพียง 3 แบบ คือ
1) การเมืองยุคก่อนรัฐประหาร
2) การเมืองยุครัฐประหาร
3) การเมืองยุคหลังรัฐประหาร
เส้นแบ่งเวลาเช่นนี้ไม่ได้บอกอะไรมากไปกว่า ความเป็น “สังคมรัฐประหาร” และหลายครั้งที่ การเมืองไทยเดินมาถึงจุดเวลาที่ 3 แล้ว จนบางทีก็เกิดภาวะน่าหดหู่ที่การเมืองถอยกลับไปที่จุดที่ 1 ใหม่อีก… ถ้าหลายท่านเคยเล่นเกมส์ตอนสมัยเด็กๆ จะเหมือนกับเราเล่น “เกมบันไดงู” ที่เดินไปข้างหน้าแล้ว ก็ยังกลับตกบันไดงูลงมาที่เดิม ไม่ไปไหน!…
การเมืองไทย “ตกบันไดรัฐประหาร” ครั้งแล้วครั้งเล่า
วังวนเดิม
ภาวะเช่นนี้จึงเป็นดังการเดินในวังวนเดิม จนทำให้รัฐประหารกลายเป็นปรากฏการณ์หลักของการเมืองไทยและมีสถานะของการเป็น “เส้นเวลา” ที่สำคัญทางการเมือง และในอีกด้านก็เป็นภาพสะท้อนว่า การเมืองในระบอบประชาธิปไตย ดูจะมีอายุสั้น และดำรงอยู่ด้วยความเปราะบาง เช่น ดูเหมือนเรากล่าวถึงน้อยมากในเรื่องของการเมืองยุคหลัง 14 ตุลาคม 2516 หรือการเมืองยุคหลังพฤษภาคม 2535 เป็นต้น และช่วงเวลาดังกล่าวก็ดูจะไม่ยาวเท่าใดนัก แม้จะมีผลสะเทือนกับการเมืองไทยอย่างมากในหลายเรื่องก็ตาม
หากเปรียบเทียบแล้ว การเมืองยุครัฐประหาร และยุคหลังรัฐประหารดูจะยาวกว่ายุคประชาธิปไตยมาก เช่น ใครเลยจะคิดว่าประเทศจะกลับมาจมปลักอยู่กับการเมืองยุครัฐประหารที่ล้าหลังของ คสช. ภายใต้ “ระบอบทหาร” นานถึง 5 ปี และจมอยู่กับยุคหลังรัฐประหารที่ถูกควบคุมโดย คสช. ด้วยการสร้าง “ระบอบพันทาง” (hybrid regime) เพื่อให้ผู้นำรัฐประหารสืบทอดอำนาจต่อไปอีก 4 ปี ได้อย่างไม่น่าเชื่อ
กล่าวคือ การเมืองไทยติดอยู่กับระบอบทหาร 2 แบบในช่วงเกือบ 1 ทศวรรษอย่างไม่น่าเชื่อ ความยาวในการมีอำนาจของระบอบทหารเช่นนี้ ย่อมส่งผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือเกิดสภาวะ “การสร้างความเข้มแข็ง” ของระบอบอำนาจนิยมในทางทฤษฎี ที่จะทำให้เกิด “การตกค้าง” ของระบอบเดิมดำรงอยู่ในระบอบหลังการเปลี่ยนผ่าน
การตกค้างของระบอบเดิมที่ชัดเจน จึงปรากฏในรูปของการออกแบบโครงสร้างทางการเมืองของคณะรัฐประหาร 2557 ซึ่งเสมือนหนึ่งมีการขุดหลุมบ่อ ทำหลุมพราง และสร้างสิ่งกีดขวางบนถนนสายประชาธิปไตย เพื่อทำให้เกิดอุปสรรคทุกประการต่อทั้งการจัดตั้งรัฐบาล และการบริหารของรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง เว้นแต่ต้องเป็นรัฐบาลของกลุ่มผู้นำรัฐประหารเดิมเท่านั้น ที่จะสามารถใช้เส้นทางนี้ได้อย่างปลอดภัย
สภาวะเช่นนี้อาจกล่าวโดยภาพรวมได้ว่า ระบอบรัฐประหารสามารถสร้าง “ปัจจัยเหนี่ยวรั้ง” ต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยได้มากอย่างคาดไม่ถึง เช่น สร้างปัญหาอย่างมากในกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง 2566 หรือสร้างปัญหาอย่างมากเช่นกันในกระบวนการเลือกวุฒิสมาชิกในปีปัจจุบัน (ดังที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อมวลชนถึงความ “อลวน” กับกระบวนการดังกล่าว)
ดังนั้น ในปีที่ 92 ของ 2475 ความน่าหดหู่ในอีกส่วนเป็นเพราะเราไม่ได้เห็นการขยับตัวของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่างคาดหวังเท่าใดนัก เรากลับเห็นการตกค้างของระบอบอำนาจนิยมด้วยการสร้างกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ที่กลายเป็นปัญหาในตัวเองอย่างมาก และทำให้ความหวังว่า “ส.ว.ใหม่” อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของ “การเมืองใหม่” นั้น อาจจะไม่เป็นจริงเท่าใดนัก
หรืออีกนัยหนึ่ง การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยไทยยังคงมีอุปสรรคจากผลที่เกิดจากกระบวนการเมืองที่ถูกออกแบบจากคณะรัฐประหารเดิม อีกทั้งการเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ก็ถูกท้าทายจากสภาวะของความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดทั้งภายในและภายนอกระบบการเมืองไทย
พายุแห่งความท้าทาย
ผลจากปัจจัยเช่นนี้จึงเป็นดัง “อำนาจตกค้าง” ที่ทำให้ระบอบการเมืองหลังการเลือกตั้ง 2566 มีปัญหาและอุปสรรคในตัวเอง และในอีกด้าน ถ้ารัฐบาลไม่มีขีดความสามารถในการบริหารประเทศเพียงพอในการรับมือกับปัญหาต่างๆ แล้ว รัฐบาลเลือกตั้งจะถูกรุมเร้าจากปัญหาของ “กับดักเดิม” และปัญหาของ “พายุลูกใหม่” ที่เข้ามาพร้อมกันในหลายเรื่อง
ดังนั้น เมื่อการเมืองไทยหลุดออกจาก “การเมืองยุคหลังรัฐประหาร” ด้วยความพ่ายแพ้ของ “พรรครัฐบาลทหารเดิม” ในการเลือกตั้ง 2566 แล้ว จะเห็นได้ชัดถึงปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้ามากขึ้น ทั้งในบริบทของปัญหาการเมืองภายใน ปัญหาการเมืองภายนอก ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางสังคม ตลอดรวมถึงปัญหาความมั่นคงในมิติต่างๆ ซึ่งภาวะเช่นนี้ทำให้ประเทศที่อยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นดัง “รัฐนาวาที่ถูกคลื่นลูกใหญ่ถาโถมไม่หยุด”
ในท่ามกลางคลื่นลมทางการเมืองเช่นนี้ จึงมีเสียงถามเสมอว่า “กัปตันเศรษฐา” ที่เข้ามารับตำแหน่งใหม่ หลังจากกัปตันคนเก่าที่ไม่ได้รับความนิยม และถูกปลดออกจากผลของการลงคะแนนของคนในเรือแล้ว กัปตันใหม่จะสามารถนำพา “รัฐนาวาสยาม” ฝ่าคลื่นลมในท่ามกลางพายุและคลื่นลูกใหญ่ได้อย่างไร
หากเราลองสำรวจพายุและคลื่นลมแรงที่เข้ามากระแทกรัฐนาวานี้ในแต่ละส่วน เราจะเห็นพายุ 5 ลูก
ดังนี้
1)พายุการเมืองโลกที่เป็นผลของสงครามเย็น หรือผลจากการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ในเวทีการเมืองโลก และปัญหานี้มีแนวโน้มที่ทวีความรุนแรงขึ้น ไทยจะยืนอย่างไรในพายุนี้… ความเชื่อที่ท่องเป็น “สูตรสำเร็จ” 3 ประการ คือไทยเป็นกลาง ไทยไม่เลือกข้าง ไทยจะเป็นสนลู่ลม จะยังใช้ในทางปฏิบัติกับสถานการณ์ “คลื่นลมแรงในเวทีสากล” ได้เพียงใด เช่นกับปัญหาสงครามยูเครน เป็นต้น
2) พายุการเมืองไทย อันเป็นผลจากความขัดแย้งในตัวระบบการเมืองไทยเอง ทั้งปัญหาระหว่างรัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้าน ปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาล และปัญหาภายในของตัวพรรคเอง รวมถึงปัญหาการยุบพรรค การตัดสินคดีนายกฯ และข่าวลือรัฐประหารที่หวังว่าจะไม่เป็นจริง (แม้จะมีบางคนจะยังฝันหา!) และทั้งต้องเตรียมรับกับการมาของ ส.ว.ใหม่ อันเป็นดัง “พายุลูกใหญ่ในเวทีภายใน”
3) พายุเศรษฐกิจ เป็นผลพวงจากความพอกพูนของปัญหาเศรษฐกิจภายใต้ระบอบทหาร และสำทับด้วยวิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นผลจากโรคระบาด และตามมาด้วยสงครามทั้งในยูเครนและกาซา ตลอดรวมถึงปัญหาความขัดแย้งในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทยระหว่างรัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งคงต้องเรียกภาวะนี้ว่า ปัญหา “กบฏบางขุนพรหม” (ไม่ใช่เรื่องของวังบางขุนพรหมในยุคหลัง 2475 แบบเดิม) และคงต้องยอมรับว่า “พายุเศรษฐกิจในยุคของแพง” เช่นในปัจจุบันนั้น ยังพัดแรงเสมอ และเป็นความท้าทายสำหรับรัฐบาลที่จะต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจในยามนี้ เพราะทั้งปัจจัยภายในและภายนอกไม่เอื้อกับการรื้อฟื้นเศรษฐกิจไทยในยามนี้เท่าใดนัก
4) พายุสังคม อันเป็นผลของความยากจน หนี้ครัวเรือนที่สูงมากขึ้น และยังโถมด้วยปัญหาคือ ค่าครองชีพและราคาสินค้าในชีวิตประจำวันที่สูงมากขึ้น ปัญหายาเสพติด รวมทั้งปัญหาอากาศที่ผันผวนและมีผลกระทบทางสังคม “ลมพายุในบ้าน” มีนัยถึงปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ ที่กระทบต่อผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม และต้องการแนวทางการแก้ไขจากรัฐบาล
5) พายุความมั่นคง ที่เห็นทั้งจากปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาเส้นเขตแดนทางทะเลไทย-กัมพูชา และการกำหนดท่าทีต่อปัญหาสงครามกลางเมืองเมียนมา “พายุความมั่นคง” ทั้ง 3 ลูกเป็นความท้าทายสำคัญในทางยุทธศาสตร์ที่รอคำตอบจากการกำหนดนโยบายของรัฐบาล
การเปลี่ยนผ่านในปีที่ 92 ของ 2475 จึงเห็นถึงการก่อตัวของพายุ 5 ลูกที่กำลังเกิดขึ้น และท้าทายต่อ “กัปตันเศรษฐา” ในการนำรัฐนาวาครั้งนี้อย่างมาก จนเกิดความกังวลกับข่าวลือว่า พายุเหล่านี้จะกลายเป็น “เกมบันไดงู” อีกหรือไม่ ซึ่งก็หวังว่าจะไม่ใช่!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022