ผู้เขียน | อิศรินทร์-หทัยกาญจน์-จำนง |
---|---|
เผยแพร่ |
หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 มิถุนายน 2552
ว่ากันว่า การดับไฟที่ลุกโชน นอกเหนือจากสาดน้ำจาก “ภายนอก” แล้ว
การดึงฟืนให้ออกจากกองไฟ ก็ถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการดับไฟจาก “ภายใน”
ในทางการเมือง กลยุทธ์ดังกล่าวก็มีการนำมาใช้
โดยเฉพาะการดับความร้อนแรงของ “ทักษิณ ชินวัตร”
หลังจากพยายามสาดน้ำจากภายนอก ทั้งการเคลื่อนไหวภาคประชาชนของกลุ่มพันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตย จนนำไปสู่การยุบสภาฯ
ตามมาด้วยการวอล์กเอาต์ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์และชาติไทย
และกระบวนการ “ตุลาการภิวัฒน์” ที่ตัดสินว่า การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
20 มิถุนายน 2549 “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี สร้างแรงสะเทือนครั้งใหญ่ให้แก่รัฐบาล “ทักษิณ” ด้วยการยื่นใบลาออกจากตำแหน่งถึง “เจ้ารัฐบาล” หลังร่วมหัวจมท้ายกันมา 3 ปี 8 เดือน
โดยกำหนดให้หนังสือลาออกมีผลในวันที่ 24 มิถุนายน 2549
ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงเหตุผลเบื้องลึกที่ทำให้เขาเลือกปิดชีวิต “ทนายหน้าตึกไทยคู่ฟ้า” ในวันเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย?
แล้วการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็เกิดขึ้นจริงในอีก 3 เดือนต่อมา…
นายวิษณุคนเดิมได้เข้าไปช่วยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งต่อมาแปรสภาพเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) วางกติกาชั่วคราวของประเทศ
ซ้ำยังได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 12 ตุลาคม 2549
ต่อไปนี้คือคำเฉลยใจจาก “เนติบริกร” ถึงนาทีละทิ้งขั้วอำนาจเก่า และโผเข้าหาอำนาจใหม่ โดยทุกขั้นตอนล้วนมีขบวนการ “พงศาวดารกระซิบ” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ
“ที่ผมลาออกวันนั้น ไม่ใช่เพราะได้รับสัญญาณอะไรจากใคร” เขายืนยัน
“วิษณุ” ย้อนอดีตตั้งแต่เมื่อครั้งที่เขากระโดดเข้ามารับตำแหน่งทางการเมือง
“ตอนที่นายกฯ ทักษิณ (ชินวัตร) ชักชวนผม ท่านไม่ได้พูดถึงการเป็นรัฐมนตรีเลย แต่พูดถึงภารกิจก่อนว่าอยากให้เข้ามาช่วยดูแลอะไร”
“ผมตั้งเงื่อนไขว่า 1. ผมไม่เป็นสมาชิกพรรคนะ 2. ผมไม่เป็นกรรมการอะไรของพรรค และ 3. ผมไม่ลงเลือกตั้งไม่ว่ากรณีใดๆ ที่เข้ามาทำงาน เพราะท่านให้ทำงานสายวิชาการ ถ้าต้องไปดูแลเรื่องการเมือง ผมคงจะทนแรงเสียดทานไม่ไหว ไม่ได้เข้มแข็งพอที่จะต้องไปทำงานอย่างนั้น หาเสียงให้ตัวเองก็ไม่เป็น หาเสียงให้คนอื่นก็ไม่เป็น บุคลิกอาจไม่ถนัดที่ต้องไปทำอย่างนั้น ตรงนี้ทำให้ผมคิดว่าพอเลือกตั้งครั้งหน้าก็คงจะสวัสดีปีใหม่กันได้”
นั่นคือ “เดตไลน์อำนาจ” ที่นายวิษณุตั้งไว้ให้ตัวเอง
ทว่า เมื่อรัฐบาล “ทักษิณ 1” สร้างประวัติศาสตร์อยู่ครบเทอม นายวิษณุกลับได้รับการร้องขอจาก พ.ต.ท.ทักษิณให้อยู่ช่วยงานรัฐบาล “ทักษิณ 2” อีกระยะหนึ่ง
เป็นผลให้ “คนแรงต้านทานต่ำ” ต้องเผชิญกับ “แรงเสียดทานสูง” ที่เกิดจากสารพัดกลุ่มต่อต้านรัฐบาล
“ผมไม่นึกว่าจะมีแรงเสียดทานอย่างนี้ ถ้าเป็นแรงเสียดทานในพรรค ผมเจอมาแล้วจากการเป็นรัฐมนตรีคนกลาง แต่วันนี้เป็นแรงเสียดทานจากนอกพรรค ซึ่งหนักกว่าแรงเสียดทานในพรรค เพราะแรงเสียดทานในพรรคยังมีบารมีนายกฯ คุ้มหัวเรา ก็ยังพอกล้อมแกล้ม แต่ถ้านอกพรรค แม้แต่นายกฯ ยังเอาตัวไม่รอด ผมว่าผมไม่อดทน อดกลั้นขนาดนั้น”
“ถือว่าเราจากกันด้วยมิตรนะ ไม่ได้มีเรื่องกันนะ” คือคำบอกลาจากปาก พ.ต.ท.ทักษิณ ก่อนเข้าจับมืออำลา “หมอกฎหมายคู่ใจ” หลังปิดห้องคุยกันนานกว่า 2 ชั่วโมง
“เรื่องนี้ผมพูดกับนายกฯ ทักษิณ มาตลอด แต่ยังไม่ส่งใบลา พูดตั้งแต่ยุบสภาฯ ใหม่ๆ ผมก็พูดว่า ท่านนายกฯ ครับ ทักษิณ 3 นี่ ผมสวัสดี ผมไม่เอาแล้วนะ เพราะตอนนั้นคิดว่ามันจะมีเลือกตั้งก็ไม่ได้คิดอะไร”
“ยุบสภาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 วันที่ 26-27 ผมก็พูดแล้วว่าผมไม่ลงเลือกตั้งนะ ดังนั้น ตอนทักษิณ 3 ผมก็ไม่เอาแล้ว ส่วนจะไปทำอะไรผมก็ได้บอกท่านชัดเจน ท่านก็ไม่ว่าอะไร”
“แต่อยู่มามันก็ยาวไป งานพระราชพิธีก็กระชั้นเข้ามา ผมเป็นประธานมาตั้งแต่ก่อนยุบสภา แต่ไม่ได้คิดว่างานจะยุ่งยาก ถึงเราจะออกหรือจำเป็นจริงๆ ก็คงจะมีคนมารับช่วงได้ แต่ตอนหลังมารู้ว่ามันยุ่งยาก เปลี่ยนม้ากลางแม่น้ำ ตอนนั้นมันลำบากมากแล้ว
“พอเสร็จส่งคนสุดท้ายกลับ คือ เจ้าชายจิกมี ผมยื่นใบลาออก และคุยกับท่านอยู่ 2 ชั่วโมงครึ่งในวันที่ 20 มิถุนายน”
“ท่านยังถามผมเลยว่าทำไมให้มีผลวันที่ 24 ผมก็บอกไปว่าเวลาผมยื่นบัญชีทรัพย์สินตอนครบ 1 ปี จะจำได้ เพราะ 24 มิถุนายน เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง
“และบังเอิญวันที่ 24 เป็นวันเสาร์ ตลาดหุ้นปิด ถ้ามีผลวันนี้ พรุ่งนี้บังเอิญหุ้นตกก็จะมีคนมาว่าผมอีก ก็เอาเสียให้เรียบร้อย”
“การที่นายกฯ ออกมาพูดวันที่ 23 ที่บอกว่าไม่เป็นไร จะออกก็ออกเลย จริงๆ ท่านไม่ได้ไล่อะไรผมนะ”
“ท่านรู้อยู่เต็มอกว่าใบลาออกมีผลวันที่ 24 มิถุนายน”
นายวิษณุยอมรับว่าสุดโล่งใจในวันลงจากบัลลังก์อำนาจ
เขาไม่อยากรู้ไม่อยากเห็น ไม่อยากฟัง ไม่อยากเกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐบาลอีกต่อไป
ก่อนใบลาออกมีผล 1 วัน อดีตรองนายกรัฐมนตรีชิงฉากหลบมรสุมการเมืองไปท่องเที่ยวในหลายประเทศ อาทิ เกาะฮ่องกง มาเก๊า ญี่ปุ่น พม่า ออสเตรเลีย ฯลฯ
และไม่ลืมปิดโทรศัพท์มือถือที่ปกติมักประจำการอยู่ที่ข้างหู-ข้างที่นอน เพราะคิดว่าเมื่อไม่มีงานราชการแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องพูดจากับใคร
“มีคนที่โทร.มากวนผมคือผู้สื่อข่าว ซึ่งผมไม่อยากคุย พูดจริงก็ไม่อยากพูด พูดโกหกก็ไม่อยากพูด พวกที่ 2 คือโทร.มาถามว่าทำไมถึงออก และพวกที่ 3 คือโทร.มาชวนให้ไปเป็นโน่นไปทำนี่ เราก็ไม่อยากเสียไมตรีเพราะยังไม่อยากทำอะไร ดังนั้น ใครรู้ว่าบ้านผมอยู่ที่ไหน บุกมาพบ ก็มาได้”
“แต่ประเภทให้พูดทางโทรศัพท์ ผมไม่เอา ที่นี้ลึกๆ อีกข้อคือผมกลัวการดักฟังด้วย”
กระทั่ง 2 เดือนผ่านไป… นายวิษณุเริ่มรู้สึกเหงาจับจิต โทรศัพท์มือถือเครื่องเดิมจึงถูกเปิดใช้งานอีกครั้ง
“พอเปิดโทรศัพท์ปั๊บ ผมก็จะเจอไอ้ที่กลัวทั้งหมดน่ะ มาหมดเลย ตั้งแต่คนในรัฐบาล รัฐมนตรี ผู้สื่อข่าว คนโทร.มาเห็นใจ คนโทร.มาด่าว่าทำไมถึงออก ทิ้งรัฐบาล ไม่ใช่ลูกผู้ชาย และยังมีคนโทร.มาเชียร์”
“มีคนโทร.มาชวนให้ไปทำโน่นทำนี่ คุณไม่มีรายได้เลยนะ มาอยู่สำนักงานทนายความดีกว่าจะให้เงินเดือนเท่านั้นเท่านี้ ซึ่งก็สนใจ เพราะผมก็อดอยาก แต่พูดดูไปแล้ว การทำอย่างนั้น…สำนักงานเขาใหญ่ก็จริง แต่เขาฟ้องรัฐบาลนะ จึงไม่สมควร ก็ได้แต่บอกปัดว่าเอาไว้รัฐบาลนี้เปลี่ยนแปลงแล้วตั้งรัฐบาลใหม่ ผมเพิ่งออกมา รัฐบาลเขายังอยู่ แล้วคุณมาฟ้องรัฐบาล มาสู้คดีกับรัฐบาลโดยมีผมเป็นที่ปรึกษา ผมก็คงเป็นคนไม่มีมารยาท”
นั่นคือ เหตุผลที่ทำให้นายวิษณุออกตะลอนเที่ยวเรื่อยมา โดยไม่นึกกลัวการถูกไล่เช็กบิลเยี่ยงอดีตรัฐมนตรีคนอื่นๆ
“ผมไม่ได้สนใจเรื่องความปลอดภัย เพราะไม่เคยคิดว่าตัวเองจะไม่ปลอดภัย ไม่เคยรู้สึกเลย ใครจะทำอะไรก็ทำไป”
อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าได้เผาเอกสารสำคัญที่อยู่ในครอบครองทิ้งเกือบหมด โดยไม่รู้ว่าจะมีการปฏิวัติ หรือมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขึ้นมาเค้นคอคนการเมืองในรัฐบาล “ทักษิณ” ในเวลาต่อมา
“ถ้ามันผิดก็คือผิด แต่เป็นเพราะเชื่อว่าสุจริตคือเกราะบัง ศาสตร์ฟ้อง, ปัญญาประดุจดังอาวุธ. คุมสติต่าง โล่ป้อง. อาจแกล้ว กลางสนาม. ความหมายคือไม่ใช่มาดัดจริตพูดว่าสุจริตในวันนี้ แต่วันนั้นที่มีเรื่องเข้ามา เราเชื่อว่าเราสุจริต” นายวิษณุกล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
ยืนยันได้ว่าตลอดการทำหน้าที่รองนายกรัฐมนตรี ไม่เคยทำเรื่องผิดให้กลายเป็นถูก?
“ผมยืนยันว่าไม่เคย แต่นักกฎหมายมันมีหลายประเภท ประเภทที่ 1 บอกว่าผิด ทำไม่ได้จบ และไม่ให้ใครทำแล้ว ประเภทที่ 2 ผิด ทำไม่ได้ แต่ถ้าจะทำให้ได้คุณต้องทำอย่างนี้ พวกที่ 1 คือ พวกที่บอกว่าจะไปดอนเมืองต้องไปถนนพหลโยธิน เมื่อถนนพหลโยธินปิดซ่อม ก็อย่าไปดอนเมืองเลย พวกที่ 2 คือจะไปดอนเมืองต้องไปพหลโยธิน แต่เมื่อพหลโยธินรถติด ทำไมไม่เลือกถนนวิภาวดีล่ะ”
“จุดหมายปลายทางยังเหมือนเดิม แต่วิธีการคุณต้องเปลี่ยนเพราะถ้ายังใช้วิธีการนี้คือผิดกฎหมาย หรือเป็นไปไม่ได้ คุณใช้วิธีอื่นสิ ซึ่งวิธีอื่นมันก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่เมื่อก่อนเขาอาจนึกไม่ถึงว่ามันมีอยู่”
“ส่วนพวกที่ 3 คือคุณจะไปดอนเมือง พหลโยธินรถติด ช่างมัน ลุยไปเลย เอารถจราจรเปิดไฟแดงนำหน้า นั่นคือพวกที่ทำผิดให้เป็นถูก ผมยืนยันว่าผมไม่เคยทำ”
แม้นายวิษณุจะปฏิเสธข้อกล่าวหากลับ “ดำ” ให้เป็น “ขาว” แต่สมญา “เนติบริกร” ได้กลายเป็นเครื่องหมายประจำตัวเขาไปแล้ว
“สมญาก็คือสมญา เป็นเรื่องที่คนอื่นเรียกเรา ดังนั้น จึงไม่มีอะไรต้องไปพูด ไม่มีปัญหาอะไร ผมยังครึกครื้น ชาคริต (แย้มนาม นักแสดงชื่อดัง) เขายังไม่โกรธเลยไปเรียกเขา “ซาตานหน้าหยก” (ผู้สื่อข่าวสายบันเทิงตั้งฉายานักแสดงประจำปี 2549)”
แท้จริงๆ แล้ว “เนติบริกร” ใช่ตัวตนของอาจารย์หรือไม่?
ผู้ถูกเรียกขานนิ่งคิดพักใหญ่ ก่อนตอบว่า มันแล้วแต่เซนส์ในความหมายนะ ซึ่งเขาเองไม่ได้เดือดร้อน เพราะคิดว่าถูกและจริง ไม่มีอะไรผิดในคำ”
“ถ้าถือว่าเป็นผู้ให้บริการทางด้านกฎหมาย ก็รู้สึกภาคภูมิใจ”
แม้ “กูรูด้านกฎหมาย” จะถูกกระทำโดย “การเมือง” หลายครั้ง แต่เขากลับไม่เข็ดขยาดหรือประกาศตัดขาดจากมัน
“ผมไม่อยากพูดว่าการเมืองไม่เอาแล้ว แต่ไม่ดิ้นรนขวนขวายเข้าไปหา ส่วนอย่างอื่นก็แล้วแต่จะพิจารณากัน ถ้าไปถาม พล.อ.สุรยุทธ์ (จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี) เมื่อต้นปี 2549 คุณสุรยุทธ์ก็จะตอบว่าไม่เอาการเมือง ท่านเป็นถึงองคมนตรี คงไม่ได้มาตั้งเป้าหมายว่าวันหนึ่งต้องเป็นนายกฯ”
“แต่พอวันหนึ่งเกิดเหตุให้ท่านมาเป็น เราจะไปบอกว่าท่านจะคิดมานานแล้ว เราคงพูดอย่างนั้นไม่ได้แล้ว ถ้าพูดอะไรไปก็จะกลายเป็นตระบัดสัตย์ ดังนั้น จึงไม่ควรพูดอะไร แต่เราไม่ดิ้นรนเข้าไปหา แค่นั้นเอง”
สิ่งหนึ่งที่ช่วยสร้างระยะห่างระหว่าง “วิษณุ” กับ “การเมือง” เห็นจะเป็น “กติกาชีวิต” 3 ข้อที่เขาตั้งไว้กับตัวเองและยังยึดมั่นอยู่กับมันเสมอมา
นั่นคือ 1. ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง 2. ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง และ 3. ไม่เข้าสังกัดกลุ่มการเมืองใดๆ
“ผมเป็นของผมอย่างนี้ คุณไม่คิดจะมายุ่งกับผม ก็ดีแล้วถูกแล้ว แต่ถ้าวันหนึ่งมีคนมาบอกว่าคุณต้องเข้ามาช่วยก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่พูดนี่ไม่ใช่แบะท่านะ”
ไม่ว่านายวิษณุจะถูกตราหน้าเป็น “เนติบริกร” ของ “เผด็จการรัฐสภา” หรือ “เผด็จการทหาร” แต่ทุกฝ่ายมิอาจมองข้ามมุมมองอันแหลมคมของนักกฎหมายผู้นี้ได้ โดยเฉพาะความเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งถูกมองว่าเป็น “มรดก คมช.”
เขามองว่าความเคลื่อนไหวของนักการเมืองในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชามติถือเป็นเรื่องที่อยู่ในเกม แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงโอกาสและกาลเทศะด้วย จะบอกว่ามีอำนาจตามกฎหมายอย่างเดียวคงไม่ได้
“จริงอยู่ที่พ่อมีอำนาจตีลูก ครูมีอำนาจตีศิษย์ แต่ถ้าตีไปเรื่อย ไม่รู้ว่าทำอะไรผิดถึงตี ลูกก็จะแข็งข้อ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ คุณอาจมีอำนาจตามกฎหมายในการเสนอแก้ไข แต่ถ้าแก้แล้วแย่กว่าเดิม มันก็จะมีคนแก้ใหม่ แก้บ่อย แก้ทุกเดือน จนกระทั่งเละไปหมด เรียนก็ไม่ถูก ท่องก็ไม่ได้ สอนก็ไม่ได้ จำก็ไม่ได้ มันก็ไม่เรียบร้อย”
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เคยรับสั่งต่อ ส.ส.ร. ที่ทำการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 อย่างเป็นทางการว่า รัฐธรรมนูญไม่ควรเขียนให้ยืดยาว เพราะถ้าเขียนยาว มันใช้ไปได้ระยะหนึ่ง มันก็ตัน มันก็แข็งกระด้าง ปล่อยให้มันอยู่ในกฎหมายลูกเสียบ้าง ปล่อยให้ไปคิดไปตีความกันบ้าง ตีความกันสักพักว่ามันดี เมื่อไรร่างก็เอามาเขียน”
“วันนี้เราไม่รอให้คนคิดอย่างไร แต่เราเขียนเพื่อให้รู้ว่าคุณต้องคิดอย่างนี้ มันจึงมีคนพร้อมคัดค้านเพราะเขาไม่ได้มีส่วนร่าง สังเกตว่าคนที่ร่าง ทำไมหนอมันถึงได้เห็นดีเห็นงามไปหมด และก็หวงแหน แต่ทำไมยังมีคนวิจารณ์กันอยู่ ดังนั้น ถ้าเข้าใจธรรมชาตินี้ ก็อย่าไปคิดอะไรมาก” นายวิษณุพูดแบบปลงๆ
ถ้าให้สรุปบทเรียนหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นายวิษณุบอกได้คำเดียวว่า “เสียดาย” เพราะไม่มีการสะสางปัญหาเก่า และวางรากฐานให้บ้านเมืองเกิดความเรียบร้อยทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และกฎหมาย
“ปัญหาที่เป็นความขัดแย้ง แค่ถูกพักรบชั่วคราวแล้วก็เริ่มอีก เหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยน เพราะสังคมนี้มีความขัดแย้งที่ซึมลึก อย่างในบางประเทศ ถ้าผู้อาวุโส ผู้ใหญ่ ออกมาพูดปั๊บ ก็จบ แต่เราไม่มี”
“ในเรื่องทางการเมืองทั้งอดีตและปัจจุบัน ท่านก็ไม่ออกมาทำอะไร ถ้าทำก็ทำกันเงียบๆ ไม่เป็นทางการ สมัยก่อนผมก็ได้ยินว่ามีผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ ก็เห็นว่าเป็นอย่างนั้น ตามหลักเราควรจะเงียบ แต่ที่ยังไม่เงียบก็เพราะว่ายังไม่เชื่อว่าท่านพูดจริง ที่นี้ก็จบ ก็เอาหลักฐานมาแสดง”
“ถ้าพูดจริงก็อยู่ที่การออกมาในวันที่ 4 ธันวาคม ให้ได้ยินกันทั้งประเทศ จบกันไหมล่ะ ที่เราเชื่อเพราะ 1. เราเชื่อท่าน 2. เราเชื่อว่าท่านพูด แต่ประเภทที่รู้ว่าท่านพูด แต่ไม่เชื่อ ยังไม่ค่อยมีนะ”
แต่ในความเป็นจริงเรื่องลึกๆ ลับๆ มักมีเพียงการ “แอบอ้าง” แต่หาหลักฐานจับต้องไม่ได้
ตรงนี้ทำให้ขบวนการ “พงศาวดารกระซิบ” ลุกลามขยายตัว!
“สมัยก่อนคนที่จะมากระซิบมีอยู่ไม่กี่คน อย่างคุณมากระซิบ ผมไม่มีทางเชื่อคุณ แต่ผมเจอบางคนมากระซิบ ผมก็ต้องเชื่อเขา”
“แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะคนที่จะมากระซิบแล้วมานั่งดูว่าคนนั้นใกล้ คนนี้ชิด คนโน้นสนิท มันมีคนแบบนี้เยอะ เขาอาจจะใกล้ชิดจริงๆ นะ เพียงแต่การพูดแบบนี้กลายเป็นแทนที่เราจะเชื่อต้นตอ เราก็ไปเชื่อคนที่มาพูดก่อนแทน เราก็เลยไม่เชื่อไง”
“บางทีคนนี้มีความขัดแย้งกับคนนั้น มันไม่ได้ยกเว้นคนที่อยู่ใกล้ชิดนะ ผมขัดแย้งกับคุณอยู่คนละฝ่ายกับคุณ แม้คุณเป็นผู้ใกล้ชิดว่ามาอย่างนี้ ผมก็ไม่เชื่อคุณ สังคมนี้มันไม่มีคนกลาง ในสมัยก่อนมันมีนะ ใครสักคนมาบอกว่ารับสั่งอย่างนี้ เราเชื่อ เพราะคนที่จะพูดอย่างนี้ได้ มีอยู่ไม่กี่คน แต่วันนี้ใครๆ ก็พูดได้ทั้งนั้น”
“ผมไปทำรองเท้า ช่างทำรองเท้ายังกระซิบเลย ถ้ามากระซิบในเรื่องที่ถูกใจผม ตรงใจผม ผมก็ไปกระซิบต่อ แต่ถ้าผมไม่เห็นด้วยกับตัวเรื่อง คุณมากระซิบ จ้างให้ผมก้ไม่เชื่อ เพราะผมถือว่าคุณอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง นานๆ เข้าก็ลามไปถึงต้นตอว่าอยู่คนละฝ่ายกัน อย่างนี้เลยกลายเป็นสังคมที่มีขัดแย้งกันจริงๆ”
นายวิษณุกล่าวทิ้งท้ายว่า การระงับความขัดแย้งมีความสำคัญมาก แม้กระทั่งความขัดแย้งในหมู่ “พรายกระซิบ” ก็เป็นเรื่องที่ต้องระงับ ถ้าไม่ใช่ข้อเท็จจริงก็ต้องปฏิเสธ
ทว่า จนบัดนี้คนใน “พงศาวดารกระซิบ” กลับยังทำหน้าที่อย่างแข็งขัน
ความขัดแย้งก่อนและหลังเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 จึงมิอาจยุติลงได้!!!