ชาคริต แก้วทันคำ : “นักกานเมือง” ในทัศนะเรื่องสั้นของ ลาว คำหอม

การเมือง (Politics) คือกระบวนการและวิธีการที่จะนำไปสู่การตัดสินใจของกลุ่มคน คำนี้มักจะถูกนำไปประยุกต์ใช้กับรัฐบาล แต่กิจกรรมทางการเมืองสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไปในทุกกลุ่มบุคคลที่มีปฏิสัมพันธ์กัน

ฮาร์โรลด์ ลาสเวลล์ นักทฤษฎีการเมืองให้คำนิยามว่า “เป็นการตัดสินใจว่าจะได้อะไร เมื่อใดและอย่างไร”

นักการเมือง, ผู้นำทางการเมืองหรือบุคคลทางการเมือง (Politician) คือบุคคลผู้เกี่ยวข้องกับการมีอิทธิพลต่อนโยบายสาธารณะและการวินิจฉัยสั่งการ ซึ่งรวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งวินิจฉัยสั่งการในรัฐบาลและผู้ที่มุ่งดำรงตำแหน่งเหล่านั้น ไม่ว่าด้วยวิธีเลือกตั้ง การสืบทอด รัฐประหาร การแต่งตั้ง การพิชิตหรือวิธีอื่น

การเมืองไม่ใช่จำกัดอยู่เพียงวิธีการปกครองผ่านตำแหน่งสาธารณะเท่านั้น ตำแหน่งทางการเมืองอาจถืออยู่ในบรรษัทก็ได้

 

ในบทความชิ้นนี้มุ่งนำเสนอ นักกานเมือง ในทัศนะเรื่องสั้นของ ลาว คำหอม นามปากกา คำสิงห์ ศรีนอก ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2535 ซึ่งเรื่องสั้น นักกานเมือง รวมพิมพ์อยู่ในเล่ม “ฟ้าบ่กั้น” รวมเรื่องสั้นที่เขียนขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายเป็นเสมือนคำร้องทุกข์

โดยตั้งใจเสนอภาพความยากไร้ ความเสื่อมโทรมล้าหลังของชาวไร่ชาวนา เพื่อเรียกขานมโนธรรมสำนึกของชาวเมือง ชนชั้นปกครองให้เกิดมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ก่อนที่จะกล่าวถึงเนื้อหาและวิเคราะห์เรื่องสั้น นักกานเมือง ของ ลาว คำหอม ผู้อ่านจำเป็นจะต้องทราบบริบทการเมืองไทยและเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น โดยเทียบเคียงจากปีที่ตีพิมพ์ (2501) และบทสนทนาของตัวละครในเรื่องสั้น “บ้านเมืองเขายุ่ง หลวงพิบูล หลวงเผ่า เปิดแน่บไปถึงไหนๆ แล้ว” (น.76)

จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 2 มีนาคม 2500 และแต่งตั้งให้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้ปราบปรามการชุมนุม

แต่เมื่อฝูงชนเดินทางมาถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์แล้ว จอมพลสฤษดิ์กลับเป็นผู้นำเดินขบวนพาฝูงชนข้ามสะพาน โดยกล่าวว่าทหารจะไม่มีวันทำร้ายประชาชน และเมื่อถึงหน้าทำเนียบรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ได้เป็นผู้เปิดประตู นำพาประชาชนเข้าพบ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จนต้องลงมาเจรจาด้วยตนเองที่บันไดหน้าตึกไทยคู่ฟ้า

เมื่อเจรจากันแล้ว จึงได้ข้อสรุปว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดความไม่ชอบมาพากลและจะจัดการเลือกตั้งใหม่

ซึ่งการเดินประท้วงในครั้งนั้นนับเป็นการชุมนุมทางการเมืองครั้งแรกของชาวไทย ตั้งแต่มีการปฏิวัติสยาม 2475

การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 จึงเท่ากับเป็นการพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะขจัดฐานอำนาจเก่าของ จอมพล ป. พิบูลสงครามได้อย่างเด็ดขาด

หลังจากนั้นอำนาจทั้งหมดจึงตกอยู่ที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้วต่อมาได้มีการทำรัฐประหารอีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 เมื่อสามารถควบคุมความวุ่นวายในสภาได้ และเป็นที่มาของการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 17 ที่มอบอำนาจให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาดต่อผู้กระทำการเป็นปรปักษ์ต่อความมั่นคงของรัฐได้ทันที (สารานุกรมเสรีวิกิพีเดีย)

 

เรื่องสั้น นักกานเมือง ของ ลาว คำหอม เปิดเรื่องโดยใช้ฉาก (setting) ชนบทแห่งหนึ่ง จากนั้นจึงแนะนำ “เขิน” ตัวละครหลักหลากมิติ (round character) ที่มีลักษณะหลากหลาย ทั้งขัดแย้งและคาดเดาได้ยาก พัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงนิสัยหรือทัศนคติได้ตามเหตุการณ์จนสร้างความประหลาดใจให้ผู้อ่าน และบรรดาตัวละครอื่นๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเติมสีสันให้กับภาพสะท้อนสังคมชนบท รวมถึงบรรยากาศการเลือกผู้แทนในอดีต

โดยลำดับเรื่องเล่าไปตามเหตุการณ์ของเรื่อง (story time) ในลักษณะเล่าละเอียดแบบดูละคร (scene) โดยเน้นที่ฉากบทสนทนาและฉากแสดงการกระทำของตัวละครผ่านปมความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสังคมหรือสภาพแวดล้อมภายนอก ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจโดยตรงของตัวละครในตอนจบแบบไม่มีบทจบ

ลาว คำหอม ให้ตัวละครสนทนากันในวงเหล้าเกี่ยวกับการเลือกตั้งและเรื่องผู้แทน ซึ่งสะท้อนทัศนะของชาวบ้านได้อย่างตรงไปตรงมาถึงอำนาจและพฤติกรรมของผู้แทน

แล้วการยุยงของบรรดาลูกศิษย์และเพื่อนร่วมวงเหล้าก็ทำให้ “เขิน” ตัดสินใจลงสมัคร ทำให้หมู่ข้าราชการที่รู้ข่าวพากันหัวเราะเยาะ

แม้ว่า “เขิน” จะมีคุณสมบัติครบถ้วนในฐานะประชาชนของจังหวัดนั้น และยังเป็นที่รู้จักคุ้นเคยของชาวบ้านร้านตลาด

แต่เขากลับไม่มีอะไรจะไปสู้กับเหล่าอดีตข้าราชการ ทนายความ คุณพระ คุณหลวง ที่ส่วนมากมาจากเมืองหลวงและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งล้วนแต่เป็นชนชั้นกลางและชนชั้นนำที่ได้รับอภิสิทธิ์บางอย่าง

ด้วยความที่ “เขิน” เคยบวชเรียนมา เขาจึงรู้สึกกระดากปากหากจะยกตนข่มท่านหรือชี้หน้าค่าคน ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีโอกาสปราศรัย ทำได้เพียงเมามายเฮฮาไปตามประสาและเฝ้าดูผู้สมัครรายอื่น จนคิดวิธีที่จะเอาชนะคนเหล่านั้น โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้นำพาชาวบ้านไปขอเงิน

และโอกาสนี้เองที่ทำให้ “เขิน” ได้พูดโน้มน้าวและโต้แย้งวาทกรรมของคนเมืองไปในคราวเดียวกันด้วย

 

“ศรัทธาทั้งหลาย เห็นหรือยังว่าทุกคนคุยโวไปอย่างนั้นเอง ว่าจะทำอ้ายนั่น อ้ายนี่ มันจะทำได้อย่างไร เพียงแต่พวกเราขอเงินมันยังไม่มีให้ เมื่อเป็นอย่างนั้นเราจะเชื่อได้หรือ? เราจะเลือกเขาได้หรือ?” (น.83)

ประเด็นดังกล่าว อาจมองว่าเป็นการขายเสียงโดยไม่รู้ตัวของ “เขิน” และชาวบ้านก่อนมีการเลือกตั้ง หรืออาจขยายความได้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการสร้างพื้นที่ต่อรองทางการเมืองแบบชาวบ้านในอีกรูปแบบหนึ่ง

แต่มุมมองที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการขอเงินหรือแจกเงินในการเลือกตั้งผู้แทนของประชาชน จนคล้ายเป็นช่องทางสู่ระบบ “ธนาธิปไตย” (plutocracy) หรือการเข้ายึดอำนาจรัฐโดยพวกคนรวย เพราะหลังจากนั้น “เขิน” ได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์เสียดสีอย่างเจ็บแสบถึงเหล่าผู้สมัครที่มีหลายยศหลายชั้นอย่างหน้าตาย มันสะท้อนทั้งภาพลักษณ์ ความจริงและธรรมชาติของนักการเมือง ข้าราชการและชนชั้นปกครองไทยในอดีตสืบเนื่องถึงปัจจุบันว่า

“ใครที่มันพูดเมื่อตะกี้นี้ที่ว่ารู้จักพวกเราดี รู้จักความอดอยากยากแค้นของเราดี ถามเขาดู เขารู้ไหมว่าเรามีนากี่ไร่? ตอนเช้ากินข้าวกับอะไร? มันก็ไม่รู้ เชื่อข้าเถอะ พูดสู่รู้ไปอย่างนั้นเอง…” (น.84)

 

จากข้อความข้างต้น สามารถนำมาเชื่อมโยงกับความคิดของ เบอร์นาร์ด คลิก ซึ่งกล่าวว่า คนทุกกลุ่มที่ต้องการจะมาเป็นรัฐบาลแล้วบริหารประเทศนั้น ต้องผ่านการยินยอมของมวลชนเสมอ นี่เป็นเหตุผลที่ระบบเผด็จการทหารจำนวนมากอ้างว่าตนเป็นประชาธิปไตย

ซึ่งสอดรับกับคำพูดของ “เขิน” อีกว่า “ประชาธิปไตยเว้ย ไม่ใช่ไตไต… เขาเรียกว่ารัฐประหาร ประชาธิปไตยน่ะ มันต้องรัฐประหารบ่อยๆ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย” (น.76) ซึ่งแฝงนัยเสียดสีการเมืองได้อย่างแยบยลกับเหตุการณ์รัฐประหารถึงสองครั้งโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500 และ 2501

ทั้งนี้ การปกครองที่ดีควรเป็นประชาธิปไตย (democracy) ทั้งในความหมายเชิงสถาบันและในความหมายทางสังคม ซึ่งควรรวมไปถึงเสรีภาพของปัจเจกบุคคลในการคิดและพูดหรือแสดงออก สิทธิมนุษยชน ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและความยุติธรรมทางสังคม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นอะไรที่มากกว่าสิทธิทางการเมืองที่เท่าเทียมกัน

ในเรื่องสั้น นักกานเมือง ของ ลาว คำหอม เมื่อประชาธิปไตยมีความหมายผูกติดกับคำว่า “เลือกตั้ง” (election) การที่ผู้คนต้องเผชิญหน้ากับการเลือกตั้งใหม่เป็นระยะๆ “แล้วนี่มิต้องเลือกผู้แทนอีกแล้วรึ” (น.77) พร้อมยอมรับผลกkรเลือกตั้งนั้น รัฐประชาธิปไตยต้องให้ผู้อยู่ใต้ปกครองรับรู้การตัดสินใจของรัฐ และรัฐต้องอนุญาตให้สาธารณชนวิจารณ์รัฐผ่านสื่อต่างๆ ได้ด้วย

และผลจากคำพูดของ “เขิน” ในที่สาธารณะ ซึ่ง ลาว คำหอม ต้องการสื่อถึงเสรีภาพในการพูดเพื่อประโยชน์ส่วนรวม จนทำให้เขาได้รับเลือกเป็นผู้แทนระหว่างถูกคุมขัง แต่ครั้นถูกปล่อยตัว ท่านผู้แทน “เขิน” ก็รู้สึกกระดากอายตามความหมายของชื่อเรียกตน ทำให้ระหว่างเดินลงจากสถานีตำรวจเกิดความขัดแย้งภายในจิตใจจนนำไปสู่การตัดสินใจในตอนจบ เมื่อเขาเข้าช่วยเข็นรถบรรทุกข้าวสารและสินค้าไปขายนอกอาณาเขต

 

สรุปว่า การหนีหรือหายตัวไปของ “เขิน” อาจตีความได้ดังนี้

ประการแรก “เขิน” โง่ (ไม่มีความรู้ โดยเฉพาะเรื่องเงินทอง) จน (เป็นชาวบ้านชนบทธรรมดา) เจ็บ (จากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เสมอ) จึงไม่อยากรับตำแหน่งผู้แทน ซึ่งได้สร้างระบบชนชั้นขึ้นมาเพื่อกดทับตนและคนอื่น และมันกำลังนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ชีวิตอิสระและทัศนคติ

หมายความว่า แม้อุดมคติเป็นสิ่งสำคัญในการเมือง แต่ความเป็นจริงจะเป็นตัวกำหนดว่าควรเดินไปในทิศทางใดด้วย

ประการต่อมา แท้จริงแล้ว “เขิน” เพียงต้องการแสดงถึงสิทธิเสรีภาพของตนในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่คำนึงถึงความเสมอภาค ไม่ถูกปิดกั้นการแสดงออก การมีส่วนร่วมทางการเมือง และพยายามสะท้อนว่าตำแหน่งผู้แทนไม่จำเป็นต้องถูกผูกขาดโดยชนชั้นใด ซึ่งการต่อสู้เรียกร้องของเขาก็ไม่ใช่เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจหรืออิทธิพลทางการเมือง แต่มันเป็นการ “รนหาที่แท้ๆ อยู่ดีไม่ว่าดี หาเสนียดให้กับตัว” (น.86) เสียด้วยซ้ำ

ประการสุดท้าย “เขิน” ปฏิเสธอำนาจทางการเมืองและการปกครองที่ได้รับจากส่วนกลาง ซึ่งนับเป็นตอนจบที่ ลาว คำหอม ทั้งแฝงความหมายและคล้ายจะสื่อสารให้ผู้อ่านคิดและเห็นมากกว่าสิ่งที่เขียน เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ความทรงจำที่เกิดขึ้นซ้อนทับกับบริบทการเมืองไทยในช่วงเวลานั้น

นอกจากนี้ ลาว คำหอม อาจต้องการชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงประวัติศาสตร์สังคมชนบท จากพื้นฐานความรู้ที่สำคัญเพื่อทำความเข้าใจความรู้สึกนึกคิดและการแสดงออกทางการเมืองของคนชนบท เพื่อให้สังคมได้รับรู้ความจริง อันจะช่วยลดความขัดแย้งและประโยชน์ในการพัฒนาประชาธิปไตยตามแบบมาร์กซิสต์ (marxism) ที่มองว่า “ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของสังคมทั้งหมดจนกระทั่งบัดนี้ ล้วนเป็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ทางชนชั้น”

และในทุกการต่อสู้ทางชนชั้นเป็นการต่อสู้ทางการเมืองนั่นเอง

———————————————————————————————
บรรณานุกรม
– เบอร์นาร์ด คลิก. (2560). ประชาธิปไตย : ความรู้ฉบับพกพา. กรุงเทพฯ : โอเพ่นเวิลด์ส
– มานะ นาคำ และคณะ (2556). แนวการศึกษากระบวนการไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยในชนบท. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://mekongjounal.kku.ac.th. สืบค้นเมื่อ [3 ธันวาคม 2560].
– ลาว คำหอม. (2551). ฟ้าบ่กั้น. พิมพ์ครั้งที่ 20. กรุงเทพฯ : แพรว.
– อิราวดี ไตลังคะ. (2545). ศาสตร์และศิลป์แห่งการเล่าเรื่อง. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.