กรองกระแส : ผลลัพธ์ แรงกระทบ สถานการณ์ รัฐประหาร ตุรกี คำตอบอยู่ “7 สิงหาคม”

แม้ว่าสถานการณ์รัฐประหารที่ตุรกีจะมีความแตกต่างจากสถานการณ์รัฐประหารในไทยเป็นอย่างมาก บนพื้นฐานแห่งสภาพความเป็นจริงที่แน่นอน

1 เป็นความเป็นจริงของตุรกี 1 เป็นความเป็นจริงของไทย

ไม่เพียงเพราะว่าตุรกีเป็นประเทศในยุโรป ไทยเป็นประเทศในเอเชีย หากแต่องค์ประกอบภายในอันประกอบส่วนขึ้นเป็นตุรกี เป็นไทยก็แตกต่างกัน

จะมีความเหมือนก็เฉพาะแต่ต้องประสบกับสถานการณ์รัฐประหารเช่นเดียวกัน

1 เมื่อองค์ประกอบภายในของตุรกีกับองค์ประกอบภายในของไทยมีความแตกต่างกัน ผลของสถานการณ์รัฐประหารจึงแตกต่างกันไปด้วย

รัฐประหารในตุรกีประสบกับการต่อต้านกระทั่งล้มเหลวและกลายเป็นกบฏ

รัฐประหารในไทย ไม่ว่าเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มีแรงต่อต้านน้อยมาก คณะรัฐประหารไม่ว่าจะเรียกตัวเองเป็น “คมช.” ไม่ว่าจะเรียกตัวเองเป็น “คสช.” จึงประสบผลสำเร็จกระทั่งสามารถโค่นล้มรัฐบาลและจัดตั้งรัฐบาลของตนขึ้นมาได้

กระนั้น ภายในความแตกต่างไม่ว่าในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ไม่ว่าในเรื่ององค์ประกอบภายในทางการเมือง ถามว่ารัฐประหารตุรกีส่งผลสะเทือนต่อไทยหรือไม่

มีความจำเป็นต้องสำรวจ ค้นหา และวิเคราะห์

ประชามติ อังกฤษ
รัฐประหาร ตุรกี

ในยุคแห่งโลกาภิวัตน์ ไม่ว่าจะเกิดประชามติว่าด้วยจะออกหรือคงอยู่กับสหภาพยุโรปของประชาชนแห่งสหราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเกิดรัฐประหารที่ล้มเหลวในตุรกี

มีผลสะเทือน

เป็นผลสะเทือนเพราะประชามติในสหราชอาณาจักร ไม่เพียงแต่นำไปสู่การเปรียบเทียบกับประชามติในสหภาพเมียมาเมื่อปี 2551 หากแต่ยังนำไปสู่การเปรียบเทียบกับบรรยากาศแห่งประชามติในประเทศไทยซึ่งจะมีในเดือนสิงหาคมนี้

เป็นเพราะโลกได้แคบลงเพราะเทคโนโลยีการสื่อสาร

เพียงไม่กี่นาทีของสถานการณ์อันเกิดขึ้นที่สหราชอาณาจักร เพียงไม่กี่นาทีของสถานการณ์อันเกิดขึ้นที่ตุรกีก็ผ่านการรับรู้ของไทยและคนไทย

อย่างน้อยก็ในหมู่คนไทยซึ่งอยู่ในแวดวงข่าวสาร ข้อมูล

การรับชม รับฟัง รายละเอียดมิได้อยู่ที่โทรทัศน์ หากแต่ยังอยู่ที่สื่อโซเชียล และที่สำคัญยังรู้ผ่านอุปกรณ์พกพาเช่นสมาร์ตโฟน

รวดเร็วในระนาบเดียวกันกับที่รับรู้ในอังกฤษและในตุรกี

กล่าวสำหรับผลสะเทือนประชามติย่อมนำไปสู่การเปรียบเทียบกับประชามติร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวสำหรับผลสะเทือนรัฐประหารย่อมนำไปสู่การเปรียบเทียบกับรัฐประหารอันเคยเกิดขึ้นในรอบ 1 ทศวรรษของไทย

ฝนตกที่ตุรกีจึงมีเสียงฟ้าร้องก้องสะท้านในไทยอย่างมิอาจปฏิเสธได้

รัฐประหาร ตุรกี
รัฐประหาร ไทย

พลันที่เกิดสถานการณ์ล้มเหลวของรัฐประหารในตุรกี คำถามแรกในหมู่คนไทยก็คือ เหตุปัจจัยอะไรทำให้มีความแตกต่างในด้านผลลัพธ์

ทำไมรัฐประหารตุรกีจึงล้มเหลว ทำไมรัฐประหารไทยจึงสำเร็จ

การรื้อฟื้น “สภาพ” และ “สถานการณ์” ของการเมืองไทยตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 และก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 จึงได้เกิดขึ้น

มองเห็นภาพของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล มองเห็นภาพของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

มีคำถามถึงรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มีคำถามถึงรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 และร่างรัฐธรรมนูญที่จะลงประชามติในเดือนสิงหาคม 2559

มองเห็นความสัมพันธ์ มองเห็นความเกี่ยวเนื่อง ยึดโยง

ที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” อย่างที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เรียกร้องต้องการก่อนรัฐประหารอาจมองเป็นภาพไม่ชัด แต่พลันที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ว่าฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ไม่ว่าฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ปรากฏขึ้นเริ่มชัด

ชัดว่า ส.ว. ที่ได้มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ชัดว่าอำนาจอธิปไตยยังอยู่ในมือของ คสช. และองค์กรอิสระซึ่งแต่งตั้งโดย คสช.

ยิ่ง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมาสดุดีวันต่อวันยิ่งบังเกิดความแจ่มแจ้ง

1 รัฐประหารตุรกีก่อให้เกิดนัยประหวัดมายังรัฐประหารไทยไม่ว่าเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าเดือนพฤษภาคม 2557

และ 1 ทำให้สามารถตัดสินใจได้มากยิ่งขึ้นว่าทิศทาง “ประชามติ” จะดำเนินไปอย่างไร

หากเป็นการออกเสียงเพื่อ “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญเท่ากับยอมรับความชอบธรรมของรัฐประหาร ยอมรับการสืบทอดอำนาจของ คสช. ซึ่งมาโดยกระบวนการรัฐประหาร

หากเป็นการออกเสียงเพื่อ “ไม่รับ” เท่ากับเป็นการปฏิเสธ

ปรากฏการณ์ การเมือง
ผลสะเทือน “การเมือง”

รัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ก็เหมือนกับรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 นั่นก็คือ ไม่มีการต่อต้าน มิหนำซ้ำ ยังมีคนนำกระเช้าดอกไม้ไปมอบให้กับคณะรัฐประหาร

แต่หลังการเลือกตั้ง ในเดือนเมษายน 2535 ก็เกิดการต่อต้าน

แต่หลังการเลือกตั้ง ผลของการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2550 ก็แสดงให้เห็นว่าประชาชนรู้สึกอย่างไรกับการรัฐประหาร

นั่นก็โดยการเลือกพรรคพลังประชาชนอันเป็นอวตารแห่งพรรคไทยรักไทยมาเป็นอันดับ 1

การแสดงออกในเดือนพฤษภาคม 2535 คือการแสดงการต่อต้าน ปฏิเสธต่อรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534

การแสดงออกในเดือนธันวาคม 2550 คือการแสดงการต่อต้าน ปฏิเสธต่อรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

เป็นการแสดงออกอย่างสุภาพ นิ่มนวลและเป็นอารยะของประชาชนไทย

ท่าทีของประชาชนไทยจะแสดงออกอีกครั้งในการออกเสียงประชามติวันที่ 7 สิงหาคม อันเป็นปฏิกิริยาโดยตรงต่อรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557