3 ปีรัฐประหารเมียนมาร์! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข
(Photo by Handout / MYANMAR MILITARY INFORMATION TEAM / AFP)

นับจากปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ของกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อย หรือที่รู้จักในชื่อของ “ปฏิบัติการ 1027” ที่เกิดขึ้นในวันที่ 27 ตุลาคม ของปีที่ผ่านมานั้น เห็นได้ชัดถึงการถอยร่นทางทหารของกองทัพเมียนมาร์อย่างชัดเจน หรืออาจกล่าวได้ว่า สัญลักษณ์ของการฉลองวาระครบรอบ 3 ปีรัฐประหาร คือ ภาพของกองทัพเมียนมาร์ที่พ่ายแพ้ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศ และการพ่ายแพ้เช่นนี้ กำลังมีสภาวะเป็น “โดมิโนเมียนมาร์” ที่เห็นถึงการล้มตามกันของกองกำลังของฝ่ายรัฐบาลในเมืองต่างๆ

การถอยร่นในทางทหารของฝ่ายรัฐบาลอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ จะส่งผลอย่างไรกับสถานการณ์ทางการเมืองในเมียนมาร์ และในอีกด้านจะส่งผลอย่างไรต่อปัญหาความมั่นคงไทย ประเด็นหลังนี้เป็นความท้าทายใหญ่ที่รอรัฐบาลกรุงเทพฯ อยู่ในอนาคต โดยเฉพาะรอคำตอบในการกำหนดนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงไทย

 

พลวัตสงคราม

การถอยของกองทัพรัฐบาลเกิดในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งก็สอดรับกับปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมายชาวจีน หรือที่เรียกกันว่า “จีนเทา” ซึ่งก่ออาชญากรรมค้ามนุษย์ และธุรกิจผิดกฎหมาย โดยเฉพาะ “แก๊งคอลเซนเตอร์” ที่กลายเป็นอาชญากรรมของการหลอกลวงที่เกิดขึ้นขนาดใหญ่ทั้งในจีน ไทย และหลายประเทศในภูมิภาค อันทำให้รัฐบาลจีนต้องตัดสินใจสนับสนุนกองกำลังของชนกลุ่มน้อยให้เปิดปฏิบัติการทางทหารต่อแก๊งอาชญากรรมเหล่านี้

การตัดสินใจของจีนเช่นนี้ในอีกด้านหนึ่งมีความชัดเจนว่า รัฐบาลทหารเมียนมาร์น่าจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอย่างมาก (ว่าที่จริงควรต้องใช้คำว่า “อย่างมหาศาล”) จากกลุ่มดังกล่าว ทำให้กองทัพไม่มีท่าทีที่จะช่วยในการกวาดล้างการก่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด ว่าที่จริง เป็นที่รับรู้กันว่า พื้นที่นี้คือแหล่งผลประโยชน์ใหญ่ของกลุ่มอาชญากรจีนและผู้นำทหารเมียนมาร์ ทั้งในเรื่องของยาเสพติด การค้ามนุษย์ และแก๊งคอลเซนเตอร์ ดังที่กล่าวแล้ว หรืออาจเรียกดินแดนแถบนี้ว่าเป็นพื้นที่อาชญากรรมขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่างที่เราคาดไม่ถึง

การสนับสนุนของจีนในการจัดการกับกลุ่มผิดกฎหมาย ทำให้เราเห็นปฏิบัติการทางทหารของชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ภาคเหนือของพม่าอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งหลังจากเทศกาลปีใหม่แล้ว เมืองหลายเมืองที่เคยอยู่ในความควบคุมของฝ่ายรัฐบาลทหารแตก และตกอยู่ภายใต้การควบคุมโดยฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ความพ่ายแพ้ของกองทัพเมียนมาร์เกิดขึ้นเช่นนี้ เป็นสัญญาณว่า แม้กองทัพรัฐบาลจะยังไม่ถึงขั้น “พ่ายแพ้ใหญ่” ทันที หรือยังไม่เกิดปรากฏการณ์ “กรุงแตก”

แต่ความเพลี่ยงพล้ำที่เกิดไม่หยุด ย่อมทำให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมีความได้เปรียบทั้งในทางการเมืองและการทหาร และมีขวัญกำลังใจในการสู้รบมากขึ้น อันนำไปสู่ “เปลี่ยนถ่าย” อำนาจการปกครองในหลายพื้นที่ และกำลังรบของกองทัพรัฐบาลในหลายพื้นที่มีอาการเสียขวัญ และไม่อยากรบ ต้องยอมรับว่า กองกำลังติดอาวุธของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในยามนี้มี “จิตใจรุกรบ” เป็นอย่างยิ่ง

ภาพที่เกิดเช่นนี้ บ่งชี้ให้เห็นถึง “พลวัต” ของสถานการณ์สงครามที่มีความพลิกผันอย่างมากแล้ว เพราะแต่เดิมเราแทบไม่เคยเห็นถึงการเพลี่ยงพล้ำในทางทหารของกองทัพฝ่ายรัฐบาลในรูปแบบเช่นนี้มาก่อน แต่กระนั้น ความหวังที่จะเห็นชัยชนะอย่างรวดเร็วของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล อาจจะไม่เป็นไปอย่างที่คิด แต่ขณะเดียวกัน ผลของสงครามก็ทำลายสังคมเมียนมาร์อย่างขนานใหญ่ อันอาจนำไปสู่ “วิกฤตมนุษยธรรม” ที่เป็นผลจากปัญหาการหลั่งไหลของผู้อพยพจากภัยสงคราม เพราะ 2 ใน 3 ของประเทศกลายเป็นพื้นที่ความขัดแย้ง หรือโดยนัยคือ เป็นพื้นที่สนามรบ และพื้นที่ความขัดแย้งนี้มีแนวโน้มที่จะขยายตัวมากขึ้นด้วย

ดังนั้น จึงอาจกล่าวในภาพรวมได้ว่า พลวัตสงครามคือ ชัยชนะของกองทัพฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารที่เกิดอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน หรือในอีกด้าน การฉลองวาระครบรอบ 3 ปีของการรัฐประหารนั้น กลับกลายเป็นภาพการถดถอยของอำนาจของฝ่ายรัฐบาล และในอีกด้านก็คือ ภาพแห่งชัยชนะของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล … งานฉลองของนายพลมินอ่องลายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นี้ ดูจะเป็น “ลางร้าย” สำหรับอนาคตของรัฐบาลทหารมากกว่า จะเป็นวาระแห่งความสุขของการอยู่ในอำนาจอย่างแน่นอน

 

บทบาทไทย

ในภาวะที่สงครามกลางเมืองยังไม่เดินไปถึงจุดของ “การรบแตกหัก” นั้น สงครามเช่นนี้จะสร้างความเสียหายต่อชีวิตผู้คน และนำไปสู่ “วิกฤตมนุษยธรรม” อย่างแน่นอน ขณะเดียวกัน การแสวงหาทางออกด้วยการสร้าง “ข้อตกลงสันติภาพเมียนมาร์” ก็ดูจะยังอยู่ห่างไกล เพราะปัญหาสงครามและสันติภาพในเมียนมาร์นั้น มีความซับซ้อน และความยุ่งยากในตัวเอง ทั้งจากปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ บทบาทของรัฐมหาอำนาจ และตัวแสดงภายนอก และที่สำคัญคือ ความเห็นร่วมกันของทุกฝ่ายในสังคมเมียนมาร์ต่อการสร้าง “สมาพันธ์รัฐประชาธิปไตย” (the federal democratic union) ที่เป็นความฝันของทุกฝ่าย (ผู้สนใจอาจดูรายละเอียดล่าสุดได้ในแถลงการณ์ร่วมของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร, 31 มกราคม 2024)

สภาวะความเปลี่ยนแปลงของ “พลวัตสงคราม” เช่นนี้ย่อมเป็นความท้าทายโดยตรงต่อการกำหนดนโยบายของอาเซียน และของไทย ซึ่งรัฐบาลไทยที่ผ่านมามักจะแสดงบทบาทเป็น “เด็กแว้น” ในอาเซียน เช่น การจัดประชุมที่พัทยาที่มีทิศทางสนับสนุนรัฐบาลทหาร หรือดำเนินนโยบายด้วย “สายสัมพันธ์รัฐประหาร” ที่จะไม่ทิ้ง “เพื่อนนักรัฐประหารไว้ข้างหลัง” นโยบายเช่นนี้ทำให้รัฐบาลไทยกลายเป็น “ผู้สนับสนุนรัฐประหาร” ในเมียนมาร์ไปโดยปริยาย และถูกมองด้วยสายตาเชิงลบจากประชาคมระหว่างประเทศ

ดังนั้น เพื่อสร้าง “ภาพลักษณ์ใหม่” ของรัฐบาลเลือกตั้งของไทย รัฐบาลอาจต้องคิดมากกว่าเรื่องของการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะควรให้ความสนใจในการติดต่อกับ “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” หรือ “รัฐบาล NUG” ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้าน ไม่ใช่เชื่ออย่างเดียวว่า รัฐบาลทหารจะอยู่ในอำนาจได้ตลอดไปจน “ชั่วฟ้าดินสลาย” เพราะจนบัดนี้ รัฐบาลกรุงเทพฯ ยังไม่กล้าแสดงท่าทีในเชิงบวกกับรัฐบาลของฝ่ายต่อต้าน

ในอีกทางหนึ่ง รัฐบาลควรแสดงบทบาทของตัวเองในฐานะ “รัฐเพื่อนบ้าน” ที่ต้องการเห็นการสิ้นสุดของสงคราม ด้วยการเสนอตัวเพื่อทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้เกิดการประชุม เช่นที่ไทยได้เคยทำและประสบความสำเร็จมาแล้วในการจัดประชุม “เขมร 3 ฝ่าย” ที่กรุงเทพฯ แต่การจะทำเช่นนี้ได้ อาจต้องเริ่มต้นด้วยการตั้ง “ผู้แทนพิเศษ” หรือ “special envoy” อันมีนัยถึงการสร้าง “เวที 1.5” (Track 1.5) ที่ไม่ใช้ข้าราชการประจำ ไม่ใช้คนมีตำแหน่งทางการในรัฐบาล แต่เป็น “คนนอก” ที่จะช่วย “เดินเกมส์” ให้กับรัฐบาลไทย หรือแม้กระทั่ง รัฐบาลอาจสนับสนุนให้ใช้ “องค์กรรัฐสภา” เช่น คณะกรรมาธิการต่างประเทศ เป็นเครื่องมือ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะต้องเลิกคิดที่จะใช้นโยบาย “การทหารนำการทูต” แม้ผู้นำทหารไทยจะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้นำทหารเมียนมาร์ แต่การแสดงออกถึงความใกล้ชิดในเวทีสาธารณะของผู้นำทหาร 2 ฝ่าย ไม่น่าจะเป็นประโยชน์กับไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน การเดินทางเยือนเนปิดอร์ของผู้นำทหารไทยเช่นที่ปรากฏเป็นข่าวแล้วนั้น ต้องถือเป็นเรื่อง “ไม่บังควรทางการทูต” อย่างยิ่ง เพราะเท่ากับเป็นการแสดงออกถึงการสนับสนุนรัฐบาลทหารอย่างไม่เปลี่ยนใจ หรือในอีกทางคือ ผู้นำกองทัพจะต้องไม่ดำเนิน “นโยบายอย่างเป็นอิสระ” (รวมทั้งนโยบายแบบคิดเอาเอง) ในความสัมพันธ์ไทย-เมียนมาร์ และที่สำคัญ ผู้นำกองทัพ “ควรต้องตระหนัก” ให้มากถึงความละเอียดอ่อนของปัญหาทางการทูตและการต่างประเทศ ที่ไม่ใช่เป็นเรื่องในแบบ “หัวข้อสั่งการ” ของผู้นำทหารในทางยุทธการ หรือ “งานธุรการทหาร”

 

ได้เวลาทิ้งของเก่าที่ล้าหลัง!

ในวาระฉลองครบรอบ 3 ปีรัฐประหาร ซึ่งกำลังเป็นช่วง “ขาลง” ของรัฐบาลทหาร ประกอบกับการกำเนิดของรัฐบาลเลือกตั้งกรุงเทพฯ ไทยจึงน่าจะใช้โอกาสนี้ในการปรับนโยบายต่างประเทศ โดยจะ ไม่ยึดติดอยู่รัฐบาลทหารเนปิดอร์ในแบบ “คู่แฝดรัฐประหาร” … หมดเวลาของนโยบายต่างประเทศไทยที่ล้าหลังของผู้นำรัฐประหารแล้ว และถึงเวลาของการปรับทิศทางการต่างประเทศไทยใหม่เพื่อรองรับต่อพลวัตการเมือง-ความมั่นคงในยุคปัจจุบัน !