จับตาสถานการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2018 มีอะไรที่ต้องรู้

เช่นเดียวกับสถานการณ์ทางการเมืองระดับโลก การเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล้วนเชื่อมโยงอย่างเลี่ยงไม่พ้น ด้วยในฐานะที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญและมีกลุ่มคนที่เชื่อมโยง ยกระดับจนกลายเป็นสถานการณ์ใหญ่ขึ้นข่าวทั่วโลก ซึ่งในปี 2017 ที่ผ่านมา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกิดวิกฤตและความตึงเครียดสำคัญที่แม้ดูเหมือนจะเบาบางลง แต่เชื้อไฟแห่งวิกฤตยังไม่มอดดับไปจนโลกเข้าสู่ปี 2018

เว็บไซต์ คอนซิล ออน ฟอเรนท์ รีเลชั่น หรือซีเอฟอาร์ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นคลังความคิดในด้านการเมืองระหว่างประเทศชื่อดัง ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ของนายโจชัว คูลานซิค นักวิชาการอาวุโสด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของซีเอฟอาร์ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ที่ผ่านมา ฉายภาพสถานการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าต้องเฝ้ามองอะไรบ้าง

เหตุการณ์แรกนั้นคือ การเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในปีนี้และปีหน้า ของชาติในภูมิภาคอย่างมาเลเซีย กัมพูชา อินโดนีเซีย (เลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2019) และไทย โดยของมาเลเซีย จะต้องประกาศเป็นกฎหมายก่อนกำหนดในวันที่ 24 สิงหาคมปีนี้ แม้จะสามารถประกาศให้เลือกตั้งเร็วขึ้นได้ก็ตาม และคาดการณ์ว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน จะต้องมุ่งมั่นเอาชนะให้เด็ดขาดเพื่อให้พรรคอัมโนของตนเป็นรัฐบาลอีกสมัยและนั่งต่อในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เรื่องอื้อฉาวในกองทุน “วันเอ็มดีบี” และการเข้าปราบปรามกลุ่มต่อต้านและนักเคลื่อนไหว กลายเป็นภาพลบในสายตาชาวมาเลเซียส่วนหนึ่งและนานาประเทศ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านมาเลเซียยังคงไม่ไปไหน ด้วยนายอันวา อิมบราฮิม นักการเมืองคนสำคัญยังคงอยู่ในเรือนจำ และนายมหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรียังไม่สามารถขึ้นมามีบทบาทนำกลุ่มฝ่ายค้านได้

มาที่ของไทย ซึ่งนายคูลานซิคมองว่า “อาจจะ” มีการเลือกตั้งทั่วไป หลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผุ้นำรัฐบาลทหาร คสช. ประกาศว่าไทยจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ โดยรายงานของรอยเตอร์สระบุเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว รัฐบาล คสช. ประกาศจะอนุญาตให้พรรคการเมืองเตรียมตัวเข้าสู่การเลือกตั้งที่จะมาถึง ส่วนทำไมไทยในที่สุดถึงประกาศจัดเลือกตั้ง นายคูลานซิคเชื่อว่า กองทัพมีความเชื่อมั่นมากขึ้น หลังลบอิทธิพลตระกูลชินวัตรออกจากการเมืองไทยไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หนีไปอังกฤษหลังไม่ขึ้นศาลคดีจำนำข้าว หรือนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ถูกดำเนินคดีในข้อหาฟอกเงิน ส่งผลทำให้พรรคเพื่อไทย เสียเปรียบอย่างมาก

และนี่เป็นสิ่งที่กองทัพมั่นใจว่า การเมืองไทยจะไม่มีรัฐบาลพรรคเดียวอีกแล้ว ทำให้สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากหลายพรรคต้องอยู่ภายใต้อำนาจของข้าราชการ วุฒิสภาแต่งตั้งและบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งกองทัพมั่นใจว่า ส.ส.จะแบ่งเป็นพรรคพวกและไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้การตัดสินใจสำคัญตกอยู่กับคนนอกในที่สุด แต่ใช่ว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะในสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ เพราะยังมีนักการเมืองที่ไม่ได้มาจากตระกูลชินวัตรแต่สามารถชนะในพื้นที่ (แต่นักการเมืองคนสำคัญเหล่านี้ก็ถูกดำเนินคดีโดยรัฐบาล คสช.) คำถามสำคัญคือ ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะถล่มทลาย คสช.จะยอมให้พวกเขากุมอำนาจในสภาหรือไม่

 

ส่วนทางกัมพูชา ที่มีการเลือกตั้งแน่ซึ่งตามกำหนดคือเดือนกรกฎาคม แต่อย่าคาดหวังว่าจะเสรี เพราะสมเด็จฮุน เซนและพรรคประชาชนกัมพูชาหรือซีพีพีได้แสดงให้เห็นว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นไม่เสรีและเป็นธรรม หลังปราบปรามกลุ่มผู้เห็นต่าง สั่งปิดสื่อหลายค่ายโดยเฉพาะสื่อภาคภาษาอังกฤษ เช่น คัมโบเดีย เดลี่ และที่สำคัญคือ การจับกุมนายเขม โสกา หัวหน้าพรรคกุ้ชาติกัมพูชาหรือซีเอ็นอาร์พี พรรคฝ่ายค้านระดับชาติ โดยอ้างว่านายเขมมั่วสุมกับต่างชาติ เพื่อวางแผนโค่นรัฐบาล สั่งยุบพรรคซีเอ็นอาร์พี ทำให้นักการเมืองฝ่ายค้านหลายคนลี้ภัยออกนอกประเทศ ทำให้ยากจะที่รวมตัวกันใหม่และเอาชนะการเลือกตั้งได้

คำถามที่ตามมาคือ หากสมเด็จฮุน เซน ชนะเลือกตั้ง เขาจะทำอะไรต่อ? ผลจึงตกกับคนส่วนใหญ่ในประเทศทั้งคนหนุ่มสาวและคนเมืองที่ไม่เอาการเมือง และอาจเกิดการลุกฮือหากฮุน เซนส่งต่ออำนาจให้กับลูกชาย นั้นจะทำให้เกิดความไม่พอใจไปทั่วกัมพูชาแน่

ขณะที่อินโดนีเซีย กระแสการเมืองแบบมุสลิมอนุรักษ์นิยมได้แสดงพลังให้เห็นหลังขับไล่ผู้ว่าการกรุงจาร์กาตาออกจากตำแหน่ง และอาจส่งผลต่อทิศทางการเลือกตั้งในปีหน้า โดยกลุ่มพันธมิตรสายอนุรักษ์นิยมจะหนุนอดีตพลโท ปราโบโว ซาเบียนโตหากตัดสินใจลงเล่นการเมืองหรือให้นายอาร์นี่ บาสเวดัน ผู้ว่าการกรุงจาร์กาตาคนปัจจุบันขึ้นมา แม้ผลสำรวจหลายสำนักระบุว่า นายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีคนปัจจุบันจะครองอีกสมัย นายวิโดโดจะต้องเอาชนะกลุ่มอิสลามอนุรักษ์นิยมขนาดใหญ่นี้ให้ได้

แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่านั้น จากกรณีการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นบทบาทของเหล่าชนชั้นนำว่าจะยอมรับผลการเลือกตั้งหรือไม่ หากนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามชนะ พวกเขาอาจสร้างสถานการณ์ประท้วงด้วยคำวิจารณ์ที่เกินจริง ดังนั้น ถ้าฝ่ายชนชั้นนำพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง พวกเขาจะยอมคืนอำนาจอย่างสันติหรือไม่

เหตุการณ์ที่สอง รัฐยะไข่และวิกฤตผู้อพยพโรฮิงญายังไม่จบ แม้รัฐบาลบังคลาเทศกับพม่าจะม่ีการหารือเรื่องส่งตัวชาวโรฮิงญากว่าครึ่งล้านกลับพม่า แต่การส่งตัวกลับยังคงไม่เกิดขึ้น เพราะรัฐบาลบังคลาเทศขอเวลาทำรายชื่อชาวโรฮิงญาร้อยคนแรกที่จะส่งตัวกลับก่อน ซึ่งชัดเจนแล้วว่า บังคลาเทศไม่ต้องการให้ชาวโรฮิงญาออกจากค่าย และหวังลดจำนวนประชากรในค่ายให้เร็วที่สุด เพราะสภาพที่แออัดและเสี่ยงเกิดเชื้อโรคแพร่ระบาดมากขึ้น และทางพม่าดูเหมือนไม่สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงในรัฐยะไข่ รวมถึงการให้ความปลอดภัยกับชาวโรฮิงญาที่จะส่งตัวกลับพม่า ทางเดียวที่รัฐบาลบังคลาเทศจะส่งตัวกลับได้คือ ใช้กำลังบังคับให้ข้ามแดนกลับ แต่ชาวโรฮิงญาหลายคนกลัวว่าถ้ากลับไป พวกเขาจะถูกทหารหรือตำรวจพม่านำไปกักตัวไว้ในค่ายกักกัน เมื่อไม่มีความชัดเจนเรื่องส่งตัวกลับ ในปี 2018 จำนวนผู้อพยพในค่ายจะเพิ่มสูงขึ้นหากไม่มีทางแก้ในระยะยาว

ขณะเดียวกัน มีความเป็นได้อย่างมากว่า สื่อและองค์กรสิทธิมนุษยชนจะเปิดเผยการฆ่าล้างขนานใหญ่ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ อย่างการเปิดเผยล่าสุดของหลุมฝังศพขนาดใหญ่ ที่ทำให้ทางการจับกุมสองนักข่าวรอยเตอร์สในข้อหามีเอกสารลับทางราชการ จะกลายเป็นการสร้างแรงกดดันให้กับรัฐบาลพม่าและนำไปสู่การโดดเดี่ยวนางอองซาน ซูจี ที่เมินเฉยท่าทีต่างประเทศจากการพบหลักฐานสำคัญของการฆ่าล้างชาวโรฮิงญาในครั้งนี้

เหตุการณ์ที่สาม สิงคโปร์จะขึ้นนั่งประธานอาเซียนต่อ หลังจากที่ฟิลิปปินส์ที่นั่งเป็นประธานล้มเหลวในการแสดงบทบาทต่อประเด็นที่ต้องเผชิญหน้าร่วมกันไม่ว่า ปัญหาทะเลจีนใต้กับจีน สิงคโปร์จึงกลายเป็นความหวังที่จะพัฒนาแนวทางร่วมกันของชาติสมาชิกทั้งหมดต่อประเด็นดังกล่าว และมีโอกาสบรรลุความคืบหน้าต่อประเด็นทะเลจีนใต้ได้

เหตุการณ์ที่สี่ ชาติอาเซียนต่างสร้างข้อตกลงทางการค้าของตัวเอง หลังจากสหรัฐฯถอนตัวจากหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ทรานแปซิฟิก หรือทีพีพี และประกาศสงครามการค้ากับจีน ชาติในอาเซียนเองยังแบ่งเป็นสองทาง คือชาติบางส่วนอย่างสิงคโปร์ เวียตนาม บรูไนและมาเลเซีย เดินหน้าข้อตกลงทีพีพีต่อ ส่วนชาติที่เหลือ รวมถึงฟิลิปปินส์กลับไปร่วมกลุ่มหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจจีนหรืออาร์ซีอีพี ถ้าหากทีพีพียังไม่มีข้อยุติ อาจทำให้มีชาติอาเซียนเข้าร่วมกับอาร์ซีอีพีมากขึ้น แม้ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯประกาศจะทำข้อตกลงแบบทวิภาคี แต่ดูเหมือนไม่มีชาติใดในอาเซียนอยากร่วมเป็นคู่ค้ากับสหรัฐฯ

เหตุการณ์ที่ห้า กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้รัฐบาลฟิลิปปินส์จะยึดเมืองมาราวีคืนจากกลุ่มติดอาวุธเมาเต้ ที่ประกาศเป็นแนวร่วมไอเอสแล้วก็ตาม แต่ภัยคุกคามจากกลุ่มติดอาวุธแนวร่วมไอเอสยังไม่หายไปไหน หากยังคงมีการเกณฑ์อาสาสมัครจากหลายชาติในภูมิภาค และที่สำคัญ การขยายตัวของกระแสอิสลามอนุรักษ์นิยมในอินโดนีเซียอาจส่งผลช่วยในการสร้างแนวร่วมให้กับกลุ่มติดอาวุธมากขึ้นด้วย