คำ ผกา : ความรู้คืออำนาจ?

คำ ผกา

ความรู้ทำให้เราเป็นไท
ความรู้นำเสรีภาพมาให้เรา
ความไม่รู้นำมาซึ่งความเขลา
ความไม่รู้ทำให้เราถูกครอบงำ ชักจูง
ใครๆ ก็เชื่ออย่างนี้ใช่ไหม?

ฉันเฝ้าคิดเรื่องนี้ เพราะเคยเชื่อโดยไร้เดียงสามาตลอดว่า ข้อมูลใหม่ๆ จะเปลี่ยนความเชื่อของคนได้ พูดอีกอย่างคือ คิดว่าที่คนเชื่ออะไรผิดๆ เพราะเขาขาดความรู้ เพราะเขาขาดข้อมูล ดังนั้น ถ้าเราป้อนข้อมูล ป้อนข้อเท็จจริงลงสู่สังคมมากเท่าไหร่ เราจะช่วยให้คนหลุดพ้นจากความหลงผิดได้มากเท่านั้น

เช่น ฉันเชื่อว่า สมัยก่อนที่คนถูกหลอก ก็เพราะเราขาดความรู้ ขาดข้อมูล

เช่น ในสมัยหลังสงครามเย็น คนถูกล้างสมองให้เกลียดคอมมิวนิสต์ ก็เพราะว่า ทีวี วิทยุ หนังสือ ตำราเรียน ถูกผูกขาดไปหมด คนไม่มีทางเลือกในการเสพข้อมูลข่าวสารที่แตกต่างหลากหลาย ดังนั้น การล้างสมองจึงทำได้ง่าย

แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่คนได้อ่านได้ฟังได้รู้ข้อเท็จจริงชุดใหม่ ขบวนการล้างสมองก็จะทำงานไม่สำร็จอีกต่อไปเพราะคนจะไม่เชื่อ

ฉันยังคิดต่อไปอย่างไร้เดียงสาว่า ถ้าคนมีความรู้ มีข้อมูลที่ถูกต้อง อาจไม่มีเหตุการณ์แบบที่คนไทยด้วยกันออกมาฆ่ากันเอง หรือเชียร์ให้คนไทยด้วยกันถูกฆ่าเพียงเพราะเชื่อว่าคนเหล่านั้นเป็นคอมมิวนิสต์

แต่ปรากฏว่าฉันคิดผิด

เพราะในยุคที่อินเตอร์เน็ตสามารถพาเราท่องไปได้ทั่วโลก

พลังทางการเซ็นเซอร์ใดๆ ก็หยุดการไหลบ่าของข้อมูลเอาไว้ไม่ได้

ต่อให้โรงเรียนสอนประวัติศาสตร์แบบล้างสมองสักเพียงใด ประวัติศาสตร์และข้อมูล “ทางเลือก” มีให้หาอ่านได้เยอะแยะไปหมด

เพียงคลิกๆ จิ้มๆ ไปในโลกของอินเตอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียก็จะพบกับข้อมูลทางเลือกมหาศาล

ในหลายกรณีมีข้อมูลเชิงประจักษ์มาสาดใส่ให้เห็นต่อหน้าต่อตาเสียด้วยซ้ำ

แต่ปรากฏว่าโดยที่รัฐไทยไม่จำเป็นต้องปิดกั้นข้อมูลข่าวสารใดๆ ไม่จำเป็นต้องปิดเฟซบุ๊ก หรือจำกัดความเร็วของอินเตอร์เน็ต

แต่คนไทยกลับยังยึดมั่นอยู่ในความรู้ ความเชื่อสมัยโลกยุคสงครามเย็นอย่างแน่นแฟ้น ไม่เปลี่ยนแปลง

มีคนหยิบมือหนึ่งที่ “เปลี่ยนไป” เมื่อพบข้อมูลใหม่

แต่คนหยิบมือหนึ่งที่เปลี่ยนไปเพราะได้ความรู้ใหม่กลับเป็นคนที่ “อยู่ยาก” ในสังคม เผลอๆ ถูกเรียกว่าเป็นพวกทรยศ พวกขายชาติ พวกไม่รักชาติ หนักแผ่นดิน อะไรไปโน่น

เหล่าคนที่ยึดมั่นถือมั่นอยู่ในความรู้ยุคสงครามเย็น และพูดจาด้วยชุดศัพท์ภาษาเหมือนหลุดมาจากหนังจากละครโฆษณาชวนเชื่อบางระจัน เหล่านั้นก็เหมือนอาศัยอยู่ในโลกคู่ขนาน

ด้านหนึ่งก็เป็นพลเมืองทันสมัยของโลกใบนี้ดูคอนเสิร์ตต่างประเทศ เสพงานศิลป์ ชื่นชมแนวคิดเสรีนิยม หรือแม้กระทั่งสังคมนิยมรัฐสวัสดิการแบบสแกนดิเนเวีย อ่านหนังสือดีไซน์ของนิวยอร์ก ชื่นชมวิถีเซนแบบญี่ปุ่น ดูหนังอินดี้จากยุโรป

แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เมื่อต้องมาอภิปรายเรื่องใดๆ ก็ตามในประเทศไทย สมองของพวกเขาก็สามารถสวิงกลับมาเป็นโลกสมัยขุนช้างขุนแผน แม่มณีแม่พลอยผสมชาวบ้านบางระจันได้ฉับพลันทันใด

เรื่องนี้หากมันได้ไปเข้าถึงหูผู้นำเกาหลีเหนือเมื่อไหร่ ฉันคิดว่าผู้นำเกาหลีเหนืออาจยอมเปลี่ยนนโยบาย หันมาเปิดประเทศ ทำมาค้าขาย ปล่อยให้ประชาชนได้เสพสื่อเสพสุขอย่างเต็มที่เพราะบทเรียนจากเมืองไทยได้

บอกแล้วว่าหากการ “ปลูกฝัง” อุดมการณ์มันลงหลักปักฐานเสียแล้ว ต่อให้มีร้อยข้อเท็จจริง หมื่นข้อเท็จจริง ล้านข้อเท็จจริงมากองอยู่ตรงหน้า ก็ไม่สามารถสั่นคลอน “ความเชื่อ” ของคนเหล่านี้ได้

ไม่เพียงแต่ในระดับอุดมการณ์ที่ฉันเคยเชื่อว่าที่คนไทยจำนวนมากไม่อยากอยู่กับระบอบประชาธิปไตยก็เพราะเขาขาดข้อมูล ขาดความรู้ ถูกหลอกให้เชื่อในหลักการประชาธิปไตยแบบผิดๆ หรือมีความเข้าใจผิดทางทฤษฎีรัฐศาสตร์ แต่ปรากฏว่า ต่อให้มีคนพยายามจะอธิบายหลักการประชาธิปไตยออกไปสักเพียงไหน พวกเขาก็ยังยืนยันว่า ความรู้เดิมของพวกเขาคือสิ่งที่ถูกต้องที่สุด (พวกที่มาเผยแพร่ข้อมูลใหม่ต่างหากที่ผิด บ้าตะวันตก เห่อทฤษฎี ขาดประสบการณ์)

ในระดับปรากฏการณ์ก็น่าสนใจและสร้างความอัศจรรย์ใจให้แก่คนซื่อๆ อย่างฉันอย่างยิ่ง

เช่น ตอนที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะทำรถไฟความเร็วสูง มีคนจำนวนมากออกมา ด่า ด่า ด่า ด่า ทั้งในเรื่องการผลาญงบฯ ความไม่จำเป็น ความโง่

คำด่าในยุคนั้นนี่เก็บและจดจำกันไม่หวาดไม่ไหว หลักๆ คือ ประเทศไทยยังไม่จำเป็นต้องมีรถไฟความเร็วสูง

แต่ปุ๊บ พอมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน ก็พูดเรื่องรถไฟความเร็วสูงเช่นกัน แถมยังมีเงื่อนไขแปลกๆ ราคาก็สูงขึ้น แต่คนที่เคยออกมาประท้วง ออกมาด่า กลับเงียบกริบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เหมือนไม่เคยต่อต้านเรื่องรถไฟความเร็วสูงมาก่อน

ส่วนฉันก็งงสิ ว่าคนพวกนี้เขามีชีวิตอยู่อย่างไร?

จะว่าพวกเขาขาดความรู้ ขาดข้อมูล ถูกปิดกั้นจากข่าวสาร ถูกบังคับให้รับรู้ข่าวสารด้านเดียวก็ไม่ใช่

จากนั้นฉันก็เห็นความพยายามของคนที่จะป้อนข้อมูล ข้อเท็จจริง พยายามจะเปิดโปงให้เห็นถึงความผิดปกติต่างๆ ออกมา-อาจด้วยความไร้เดียงสาว่า ปล่อยข้อมูลออกไปเยอะ เผื่อคนเหล่านั้นจะไม่รู้ เผื่อคนเหล่านั้นเขาหลงผิดเพราะไปรับข้อมูลผิดๆ มา ต่อไปจะตาสว่าง

แต่ปรากฏว่าปล่อยไปเท่าไหร่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

มิหนำซ้ำพวกที่พยายามป้อนข้อมูล ข้อเท็จจริงใหม่ๆ ออกไปยังถูกหาว่าเป็นพวกป่วนบ้านป่วนเมือง อยากเห็นประเทศชาติวุ่นวาย รับเงินต่างชาติมาบ่อนทำลายประเทศ ฯลฯ

มีคนเคยตั้งข้อสังเกตว่าเราสามารถใช้โซเชียลมีเดีย อย่างเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ เป็นแพลตฟอร์มในการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้หรือไม่?

เขาพบว่า มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ในพื้นที่ของโซเชียลมีเดียยิ่งที่ทำให้เรากันตัวเราออกจากคนที่คิดต่างจากเรามากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการทะเลาะ บาดหมาง

หรือท้ายที่สุดเราก็เหนื่อยล้ากับการทะเลาะถกเถียงที่ดูเหมือนจะมีวันสิ้นสุด

มิหนำซ้ำในสังคมที่มีความขัดแย้งแบ่งขั้วทางการเมืองสูง ต่างฝ่ายก็ต่างพยายามนำเสนอข้อมูลชุดของตนเองเพื่อโน้มน้าวให้คนที่คิดต่างจากเราตระหนักว่า เขาคิดผิด

แต่ปรากฏว่านอกจากจะโน้มน้าวไม่ได้แล้วยังพากันเสียเพื่อน เสียญาติ เสียความสัมพันธ์เดิมไปเสียหมดสิ้น

ส่วนคนที่พยายามไม่เข้าข้างใครก็ถูกเพื่อนคนอื่นมองว่า ไม่มีจุดยืนบ้าง ไม่กล้าหาญบ้าง ตีสองหน้าบ้าง

สุดท้ายพื้นที่ในโซเชียลมีเดียกลายเป็นพื้นที่ที่คนคิดเหมือนกันมาคุยกันเอง ดังนั้น ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เราหวังว่าจะเผยแพร่ไปยังฝ่ายตรงกันข้ามหรือฝ่ายที่คิดต่างจากเราเลยถูกผลิตและบริโภคในหมู่พวกเดียวกันเอง

ท้ายที่สุดแทนที่จะเกิดบทสนทนา การแบ่งขั้วแบ่งข้างกลับยิ่งแตกหักชัดเจนมากขึ้นไปอีก

ครั้งหนึ่งฉันเคยคิดว่า หน้าที่อย่างหนึ่งของนักเขียนคือ พยายามแก้ไขความเข้าใจผิดของคนในสังคมต่อประเด็นต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

หรืออย่างน้อยที่สุด เขียนเพื่อกระตุ้นให้เกิดคำถามใหม่ๆ และเริ่มสงสัยในความรู้ชุดเดิมๆ

แถมยังพยายามใช้พื้นที่ในโซเชียลมีเดีย ต่อสู้ ฟาดฟัน ส่งผ่านชุดข้อมูลที่ฉันคิดว่า ถ้าคนอื่นได้รู้ได้เห็น ก็น่าจะเปลี่ยนใจกันบ้าง

มาวันนี้ ฉันตระหนักแล้วว่า ความเข้าใจ “ผิด” เหล่านั้นไม่ได้เกิดจากการที่เขา “ไม่รู้” หรือขาดเครื่องมือในการเข้าถึงความรู้

แต่เขาเลือกที่จะ “ไม่รู้” ต่างหาก

และเขายังจะพาลโกรธเอามากๆ หากเราพยายามจะไปกระตุกเขาให้หันมาดูข้อเท็จจริงชุดอื่นๆ บ้าง

มันเหลือเชื่อมากกับกระบวนกล่อมเกลาพลเมืองของรัฐรัฐหนึ่งที่จะประสบความสำเร็จสูงถึงขนาดนี้ นั่นคือสำเร็จถึงขั้นที่รัฐไม่จำเป็นต้องกล่อมเกลาพวกเขาอีกต่อไป แต่พวกเขากลับกลายเป็นกลไกของรัฐในการจัดการกล่อมเกลาตนเอง มีระบบเซ็นเซอร์ตัวเองอัตโนมัติจากข้อมูลใหม่

นั่นคือเป็นระบบต่อต้านข้อมูลใหม่ที่ไม่สอดคล้องกับความเชื่อเดิมที่ปลูกฝังมา

และสามารถแสดงปฏิกิริยาเป็นปฏิปักษ์ได้อย่างฉับพลันทันด่วน และพร้อมสู้กับสิ่งที่ขัดขวาง สกัดการเผยแพร่ข้อมูลใหม่ๆ ในนามของการปกป้องความสงบเรียบร้อยของสังคม และในบางครั้งพวกเขาก็เรียกสิ่งนี้ว่า “ศีลธรรมอันดี”

ที่เขาว่า “ความรู้” คือ อำนาจ นั้น เห็นทีจะใช้ไม่ได้กับสังคมไทย

ความไม่รู้ต่างหากที่จะช่วยให้เราอยู่ในสังคมนี้ง่ายขึ้น และแถมยังอาจทำให้มีอำนาจได้ด้วย