ลึกแต่ไม่ลับ : เกิดอะไรขึ้นกับ “ประชาธิปัตย์”

จรัญ พงษ์จีน

มีข่าวไม่เล็ก-ไม่ใหญ่ แต่แฝงไปด้วยนัยยะทรงความหมายยิ่ง กับกรณี “สถาบันพระปกเกล้า” หรือ “พระปกเกล้าโพล” ที่นานๆ ครั้งจะออกโรงสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ปริมาณผู้ตอบคำถามเกณฑ์มาตรฐานเยี่ยม ใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก ความน่าเชื่อถือ จึงค่อนข้างสูง ย่อมนำพามาเป็นมาตรวัดอะไรได้หลายๆ อย่าง

“สถาบันพระปกเกล้า” ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับความพึงพอใจต่อการบริการสาธารณะและการทำงาน สำหรับคณะบุคคล/สถาบัน/หน่วยงานต่างๆ ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม-3 สิงหาคม พ.ศ.2559 กลุ่มอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป พื้นที่สุ่มตัวอย่างใช้ศาสตร์ตามหลักสถิติกระจายทุกจังหวัดทั่วประเทศ

จำนวนทั้งสิ้น 33,420 คน แบ่งเป็นประชาชนในเขตเทศบาล 17,460 คน นอกเขตเทศบาล 15,960 คน ผลการสำรวจสรุปประเด็นสำคัญที่น่าสนใจยิ่ง คือ “ความเชื่อมั่น” ต่อการทำงานของคณะบุคคล/สถาบัน/หน่วยงานต่างๆ

ปรากฏว่า “ทหาร” พลิกสถานการณ์มาครองใจประชาชนมากที่สุด นำโด่งร้อยละ 85.8 “นายกรัฐมนตรี” ร้อยละ 84.6 แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ ร้อยละ 84.7 “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) ร้อยละ 82.6 ข้าราชการพลเรือน ร้อยละ 81.3 “คณะรัฐมนตรี”/รัฐบาล ร้อยละ 76.2

ภาพรวมเท่ากับว่า หน่วยงาน-องค์กร-คณะที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นผู้นำ ไม่ว่าหมวด “ทหาร-นายกฯ-คสช.-คณะรัฐมนตรี” คะแนนนิยมนำแบบม้วนเดียวจบ

คณะบุคคล/สถาบันที่ประชาชนค่อนข้างเชื่อมั่นน้อยกว่าร้อยละ 50 ประเภทลัลล้าอยู่โซนตกชั้น ท้ายตาราง ประกอบด้วย “สถาบันพรรคการเมืองทุกพรรคการเมือง” (ไม่เจาะจงพรรคหนึ่งพรรคใด) ร้อยละ 39.7 “องค์กรพัฒนาเอกชน” (เอ็นจีโอ) ร้อยละ 37.2

รั้งท้ายด้วย “พรรคเพื่อไทย” ร้อยละ 35.5 และที่น่าประหลาดใจเป็นที่ยิ่ง รั้งตำแหน่งบ๊วยสุด ตกเป็นของ “พรรคประชาธิปัตย์” ร้อยละ 34

จึงต้องตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับ “ประชาธิปัตย์” สถาบันพรรคการเมืองที่เก่าแก่ มีสมาชิกพรรค ทั้งจากระบบจัดตั้งและซึมซับศรัทธาเชิงตัวบุคคลมากที่สุดในประเทศไทย

“พรรคประชาธิปัตย์” ก่อตั้งเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2489 โดย “นายควง อภัยวงศ์” เป็นพรรคการเมืองที่จดทะเบียนยาวนานที่สุดที่ยังดำเนินการอยู่ มีสมาชิกที่แจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองไว้จำนวน 2,895,272 คน มากที่สุด ปัจจุบันมีสาขากระจัดกระจายทั่วประเทศ จำนวน 175 สาขา

“ประชาธิปัตย์” ได้รับเลือกตั้งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล 6 ครั้ง คือ พ.ศ.2518 พ.ศ.2535 พ.ศ.2540 และ พ.ศ.2551 เป็นพรรคร่วมรัฐบาล 4 ครั้ง เป็นพรรคฝ่ายค้าน 16 ครั้ง และเป็นพรรคขวัญใจชาวกรุงเทพมหานคร กับคนปักษ์ใต้

หัวหน้าพรรคได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 4 คน ประกอบด้วย 1. “นายควง อภัยวงศ์” 2. “ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช” 3. “นายชวน หลีกภัย” และ 4. “นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ”

 

“นายชวน หลีกภัย” ถือว่าเป็นผู้นำสุดยอดคนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากเป็น ส.ส. ตลอดกาลของจังหวัดตรังแล้ว ยังเป็นขวัญใจคนเดิมของคนปักษ์ใต้ ที่เคยกวาดที่นั่งเกือบยกภาค เหลือแค่ 2 ที่นั่งให้ฝ่ายตรงข้ามมาเลย และเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 สมัย

ในการเป็นเชนคัมแบ็ก สู่ตึกไทยคู่ฟ้าในคำรบที่ 2 ได้สร้างตำนาน “งูเห่า” หลังจาก “พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ” หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปลายปี พ.ศ.2540 พรรคร่วมรัฐบาล “บิ๊กจิ๋ว” มีมติที่จะสนับสนุนให้ “พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ” ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา กลับมาเป็นนายกฯ รอบที่ 2

โดยผนึกกำลังกันระหว่างฐานเสียงของ “ความหวังใหม่” 125 เสียง “ชาติพัฒนา” 52 เสียง “ประชากรไทย” 18 เสียง และ “พรรคมวลชน” 2 เสียง รวม 197 เสียง

“ประชาธิปัตย์” ซึ่งได้รับเลือกตั้งมา 123 ที่นั่ง แพ้ “ความหวังใหม่” แค่ 2 ที่นั่ง “นายชวน หลีกภัย” ได้แสดงสปิริตทางการเมือง ไม่ชิงลงมือจัดตั้งรัฐบาล เปิดโอกาสให้พรรคชนะจัดการ นับหนึ่งไปก่อน

แต่ “บิ๊กจิ๋ว” เผชิญกับมรสุมสารพัด จึงไขก๊อกจังหวะดังกล่าว “พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์” เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ณ ขณะนั้น เดินหมากขั้นเซียนเหยียบเมฆ จับมือกับพรรคชาติไทยของ “บรรหาร ศิลปอาชา”-พรรคเอกภาพ-พลังธรรม แต่เมื่อรวมตัวกันแล้ว มีเสียงสนับอยู่เพียง 196 ที่นั่ง น้อยกว่าฝ่ายตรงข้ามอยู่ 1 ที่นั่ง

 

“เสธ.หนั่น” แอบตีท้ายครัวพรรคประชากรไทย ผ่านทาง “นายวัฒนา อัศวเหม” ดึง ส.ส. ในสังกัดเจ้าพ่อปากน้ำ มาเป็นแนวร่วมได้จำนวน 13 คน พลิกเกมมาเป็นฝ่ายชนะด้วยเสียงข้างมาก 209 ที่นั่ง ผลักดัน “ชวน หลีกภัย” นายกรัฐมนตรีคนที่ 20 ของประเทศไทย ได้เป็นสมัยที่ 2 ได้สำเร็จ

จึงเกิดที่ไปที่มาของตำนาน “งูเห่า” ทางการเมือง

จุดเข้มแข็งของ “ประชาธิปัตย์” คือ “โครงสร้างพรรค” ที่กำหนดกฎกติกาไว้อย่างยืนยงคงกระพัน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาในรอบหลายสิบปี โครงสร้างที่ว่า คือ ขั้นตอนการโหวตเลือกหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้คือ

1.คณะกรรมการบริหารพรรค จำนวน 31 คน มีสัดส่วนเท่ากับ 9 เปอร์เซ็นต์ 2.สาขาพรรคทั่วประเทศ มีสัดส่วน 40 เปอร์เซ็นต์ 3.ส.ส.พรรคจาก 2 ระบบ 40 เปอร์เซ็นต์ 4.ตัวแทนสมาชิกจากทุกภาค 20 คน สัดส่วน 1 เปอร์เซ็นต์ และ 5.สมาชิกพรรค ที่เป็นผู้นำองค์กรท้องถิ่น ทั้งนายก อบจ.-นายกเทศมนตรี-ส.ก.-ส.ข. 10 เปอร์เซ็นต์

“จุดแข็ง” บางสถานการณ์ บางเงื่อนไข ก็แปรสภาพเป็น “จุดอ่อน” ดังเช่นโครงสร้างพรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยแกร่งดุจผนังทองแดงกำแพงเหล็ก กลับกลายจุดบอดรูเบ้อเริ่มเทิ่ม

กล่าวคือ ช่วงเปลี่ยนผ่านยุคเฟื่องฟูสุดขีดจาก “ชวน-สนั่น” มาสู่อีกเจเนอเรชั่น บังเอิญว่า “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” ที่ยืนดูอยู่นอกวงการ ได้ตัดสินใจกระโจนสู่เวทีการเมืองก่อตั้งพรรคไทยรักไทย

“เสธ.หนั่น” แม้เริ่มจะโรยรา อยู่ในช่วง “ขาลง” แต่มีแกนนำหลายมุ้งจากหลายพรรคสังกัด แจ้งความจำนงจะขอเข้ามาซบพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเป็นแนวร่วมต่อสู้กับไทยรักไทยของ “พ.ต.ท.ทักษิณ”

“พล.ต.สนั่น” ประสานสิบทิศไว้หลายกลุ่ม ใกล้จะถึงจุดลงตัว แต่ปรากฏว่า ถูก “คนรุ่นใหม่” คัดค้าน อ้างว่าบุคคลเหล่านั้น “ภาพลักษณ์” ไม่ดี

กอปรกับ “โครงสร้างพรรค” ไม่ว่าใครจะเข้ามาสังกัด ต้องยืนต่อแถว อยู่ภายในเงื่อนไขของโครงสร้างพรรค หัวหน้ามุ้งจะมาหยิบชิ้นปลามัน เป็นรัฐมนตรีแบบโดยพลันไม่ได้ ต้องใช้มติพรรค ยึดตามหลักเกณฑ์และกฎเหล็กของพรรค

ป่าช้าเลยแตก เกือบทุกกลุ่ม จึงแห่นาคไปสมทบกับพรรคไทยรักไทยเป็นแนวร่วมให้กับ “พ.ต.ท.ทักษิณ” ชนะเลือกตั้งแบบผูกปี มาตราบเท่าทุกวันนี้

ผลสำรวจแห่ง “พระปกเกล้าโพล” มิทราบว่า จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอะไรใน “พรรคประชาธิปัตย์” หรือไม่