ทวีศักดิ์ บุตรตัน : โลกร้อนเพราะมือเรา (105) จุดประกายความคิด

คอลัมน์สิ่งแวดล้อม

“ยูดิธ ฟอนแบร์ก” แห่งสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นเขียนบทความว่าด้วยแนวความคิดต่างๆ ในการแก้ปัญหาโลกร้อนได้น่าสนใจ ขอนำมาเผยแพร่เพราะผนวกข้อมูลทั้งจากฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายเห็นแย้งกับแนวความคิดเหล่านั้น

แนวคิดอันแรกที่คุณยูดิธหยิบขึ้นมาเขียนได้แก่ การสร้างโรงงานดักจับอากาศโดยตรง หรือดีเอซี “Direct Air Capture” (DAC)

ดีเอซีใช้แนวคิดติดตั้งพัดลมขนาดใหญ่ดูดอากาศเข้าสู่เครื่องกรองที่สามารถดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

โรงงานดีเอซีเปิดเป็นแห่งแรกในโลกที่หมู่บ้านฮินวิล ใกล้ๆ กับเมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาและจะใช้เวลาทดสอบ 3 ปี

วิศวกรผู้ก่อสร้างโรงงานดีเอซีบอกว่า ตามเป้าหมายจะดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 900 ตันเอาไปเก็บไว้ในถังเก็บใต้ดินและใช้กระบวนการทางเคมีเปลี่ยนสถานะก๊าซเป็นด่าง บางส่วนของก๊าซคาร์บอนฯ ดึงไปใช้ในการเกษตร เช่น สวนแตงกวา มะเขือเทศ

“ยูดิธ” นำแนวคิด “ดีเอซี” ไปถามผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศ ได้คำตอบว่าต้นทุนสูงเกินไปไม่คุ้มทุน

ผู้เชี่ยวชาญยังตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องการจัดเก็บก๊าซคาร์บอนฯ ในชั้นใต้ดิน ว่ามีความเสี่ยงก๊าซรั่วออกมา ใครจะเป็นคนเฝ้าตรวจสอบความปลอดภัยตลอดเวลา อีกทั้งการวัดปริมาณก๊าซที่ดักจับว่าเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากน้อยเท่าไหร่เป็นเรื่องยากมาก

ถ้าหากโรงงานดีเอซีได้รับความนิยม การก่อสร้างโรงงานอย่างนี้เป็นร้อยเป็นพันแห่ง ต้องใช้พลังงานและวัสดุเป็นจำนวนมาก ระหว่างการผลิตชิ้นส่วนก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนฯ เพิ่มขึ้น

ฝ่ายแย้งสรุปแนวคิด “ดีเอซี” ไม่ใช่ทางออกในการแก้โลกร้อน

 

ด้านแนวคิด “ปลูกป่า” เป็นแนวคิดที่มีมานานแล้วและได้รับความนิยมทั่วโลก

“ยูดิธ” ยกตัวอย่าง โครงการปลูกต้นไม้ของจีนที่เรียกกันว่า THE GREAT GREEN WALL ริเริ่มมาตั้งแต่ทศวรรษ 1950

ในสมัยนั้น รัฐบาลจีนจัดตั้งโครงการเพื่อแก้ปัญหาความแห้งแล้ง ผืนดินกลายเป็นทะเลทรายขนาดใหญ่ และสกัดกั้นไม่ให้คนในพื้นที่ประสบภัยทะลักเข้ามาอยู่ในเมือง

รัฐบาลจีนระดมยุวชนทั่วประเทศร่วมกันปลูกต้นไม้ตามแนวชายแดนตอนเหนือใกล้กับทะเลทรายโกบี ระยะทางทั้งสิ้น 4,400 กิโลเมตร

โครงการนี้ปลูกต้นไม้ไปแล้ว 66,000 ล้านต้น และยังดำเนินต่อไปจนถึงปี 2593

ถ้าสำเร็จจะทำให้พื้นที่สีเขียวของโลกเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์

แต่มีข้อโต้แย้งจากฝ่ายติดตามตรวจสอบโครงการกำแพงเขียวว่า การเอาต้นไม้มาปลูกใกล้ๆ ทะเลทรายยิ่งทำให้เกิดความแห้งแล้งและเป็นทะเลทรายมากขึ้นเพราะต้นไม้ดูดน้ำและความชื้นที่มีอยู่ในทะเลทรายเพียงน้อยนิดอยู่แล้วให้น้อยลงไปอีก

ฝ่ายสนับสนุนเห็นว่าแนวคิดการปลูกต้นไม้เป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุดและใช้ต้นทุนต่ำสุดในการดึงก๊าซคาร์บอนฯ จากชั้นบรรยากาศ

การปลูกต้นไม้ยังช่วยสร้างงาน สร้างรายได้และทำให้ดินกลับมาชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์

 

ส่วนแนวคิดที่เรียกว่า “ocean alkalinity” เป็นวิธีเติมสารอัลคาไล เช่น ปูนขาวหรือซิลิเกตลงในมหาสมุทรเพื่อดูดก๊าซคาร์บอนฯ จากอากาศ เป็นแนวคิดที่ถูกโต้แย้งว่าเป็นการลงทุนสิ้นเปลืองทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนฯ มากขึ้นอีกเพราะต้องขุดหินปูน ขนส่งมายังท่าเรือ เอาเรือแล่นไปกลางมหาสมุทรทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ทะเลเป็นกรดมากขึ้น

ฝ่ายสนับสนุนแนวคิด ocean alkalinity กลับเห็นว่า ก๊าซคาร์บอนฯ จะทำปฏิกิริยากับหินปูนใต้น้ำสามารถดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากเป็นสองเท่าตัว

อีกแนวคิดเรื่องกางร่มในอวกาศ หรือ Parasols in space เป็นหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนของ “เจมส์ เอิร์ลลีย์” ชาวอเมริกัน เสนอให้สร้างแผงพลังงานแสงอาทิตย์เหมือนเป็นร่มขนาดใหญ่อยู่กลางอากาศ

“เจมส์” เสนอแนวคิดนี้มาตั้งแต่ปี 2532 ด้วยความเชื่อว่าถ้าเอาร่มไปบังแสงอาทิตย์จะส่องมาถึงโลกน้อยลงและยังมีแนวคิดติดตั้งกระจกขนาดใหญ่บนดวงจันทร์เพื่อสะท้อนแสงอาทิตย์ด้วย

ถ้าแสงอาทิตย์ส่องมายังโลกลดลง 2 เปอร์เซ็นต์จะทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศลดลงเป็นสองเท่า

ฝ่ายสนับสนุนเห็นว่าวิธีนี้จะช่วยให้อุณหภูมิผิวโลกลดลงอย่างรวดเร็ว

แต่ฝ่ายแย้งกลับมองว่า ต้นทุนสูงมากโดยเฉพาะค่าขนส่งเพื่อนำแผงยักษ์ไปติดตั้งบนอวกาศ เป็นแนวคิดฝันเฟื่องเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์

 

ส่วนแนวคิดฉีดผงกำมะถันในชั้นบรรยากาศ “สตราโตสเฟียร์” เป็นแนวคิดเลียนแบบธรรมชาติ กรณีภูเขาไฟระเบิดพ่นลาวาและผงละอองออกมา

ผงซัลเฟตขนาดเล็กมากจะปิดกั้นแสงอาทิตย์ไม่ให้ส่องลงมายังโลก ทำให้อุณหภูมิโลกเย็นลงอย่างรวดเร็ว

แนวคิดดังกล่าวเสนอให้ใช้เครื่องบินไอพ่นหรือบอลลูนขนาดยักษ์ติดตั้งเครื่องพ่นผงละอองบินขึ้นไปปฏิบัติการในชั้นบรรยากาศโลก

ฝ่ายผู้เห็นแย้งชี้ว่า การพ่นผงซัลเฟตในชั้นสตราโตสเฟียร์ทำให้เกิดกรดซัลฟูริก ทำลายชั้นโอโซน แสงอัลตราไวโอเลตแผ่มายังโลกมากขึ้น คนจะเป็นโรคมะเร็งผิวหนังและนัยน์ตาพัง อีกทั้งต้นทุนการพ่นผงซัลเฟตแพงมาก

 

ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนที่มีการนำเสนอออกมาเป็นระยะๆ

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังมองไม่เห็นว่าแนวทางไหนดีที่สุดและนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศและควบคุมอุณหภูมิไม่ให้พุ่งทะลุเกิน 2 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงลดโลกร้อนกรุงปารีส

กระนั้นการนำเสนอความคิดใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องดีเพราะจะช่วยจุดประกายความคิดต่อยอด สักวันหนึ่งฝันอาจเป็นจริงก็ได้ ใครจะรู้