ครึ่งเดือนผ่านไป หลังเลือกตั้งใหญ่ ยังไร้เสียง “ยินดีผู้ชนะ-ยอมรับความพ่ายแพ้”

การเลือกตั้ง 14  พ.ค. 2566 ผ่านมาแล้วนับถึงวันนี้ (29 พ.ค.) นับเป็นเวลา 15 วันพอดี

พรรคก้าวไกลได้ส.ส. 151 คน เพื่อไทยได้ส.ส. 141 คน พรรคภูมิใจไทย ได้ส.ส. 71 คน พลังประชารัฐ ได้ส.ส. 40 คน รวมไทยสร้างชาติ ได้ส.ส. 36 คน และประชาธิปัตย์ ได้ส.ส. 25 คน

ถือเป็นคะแนนแลนด์สไลด์ให้พรรคการเมือง “ฝ่ายค้าน” เฉพาะแค่พรรคก้าวไกลรวมกับเพื่อไทย ก็คว้าส.ส.ไป 292 คน เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนไปมากโข ถือเป็นมติมหาชนที่มอบอำนาจให้ฝ่ายค้านเดิมจัดตั้งรัฐบาลด้วยชัยชนะเด็ดขาด

พรรคก้าวไกลคว้าคะแนนบัตรเลือกพรรคได้ถึง 14.43 ล้านคะแนน ตามมาด้วยเพื่อไทย 10.9 ล้านคะแนน ทิ้งห่างรวมไทยสร้างชาติอันดับ 3 ที่ได้ 4.76 ล้านคะแนน และภูมิใจไทย อันดับ 4 1.1 ล้านคะแนน ประชาธิปัตย์ได้คะแนนทั้งประเทศต่ำกว่าล้าน คือ 9 แสนคะแนน

เป็นผลคะแนนที่มอบความพ่ายแพ้ให้กับพรรคฝ่ายร่วมรัฐบาลเดิมชนิดขาดลอย ในศึกการเลือกตั้งครั้งที่มีประชาชนมาใช้สิทธิมากที่สุดในประวัติศาสตร์การจัดการเลือกตั้ง

หลังชัยชนะอย่างท่วมท้นของกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม นำโดยพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย รวมกับพันธมิตร ยึดที่นั่ง 313 ส.ส. เพียงพอมากแล้วสำหรับการตั้งรัฐบาล และความเข้มแข็งในการดำรงอยู่กว่าจะหมดสมัย

ถ้าเป็นการเมืองปกติ แบบโลกสากลเขาเป็นกัน ก็ไม่ต้องมาลุ้นอะไรให้วุ่นวาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์แห่งพรรคก้าวไกล ที่ได้คะแนนอันดับ 1 และเป็นพรรคผู้รวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ มีความชอบธรรมอย่างถึงที่สุด ในการเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

แต่ในความจริงกลับเป็นเช่นนั้นไม่  เพราะชัยชนะดังกล่าว เป็นชัยชนะในเกมประชาธิปไตยสูตรพิศดาร ที่ออกแบบมาโดยกลุ่มขั้วอำนาจเก่า เพื่อขั้วอำนาจเก่า

เป็นเกมที่พุ่งเป้าสกัดขั้วอำนาจฝ่ายค้านโดยมีอาวุธสำคัญคือ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้งขั้วอำนาจเก่า เคยแสดงอภินิหาร เท 250 เสียง โหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯโดยพร้อมเพรียงกันมาแล้ว พร้อมๆไปกับก็พูดว่า ทุกคนมีวิจารณญาณเป็นอิสระ

ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลเดิมแม้พ่ายแพ้ รวมเสียงได้ 187 เสียง ไม่ถึงครึ่งของสภาล่าง ทั้งที่เคยประกาศจะร่วมปิดสวิซต์ ส.ว. ตลอด 4 ปีที่มีอำนาจ แต่พอแพ้เลือกตั้ง ต่างก็ออกตัว จะไม่โหวตให้พรรคก้าวไกลตั้งรัฐบาลเพื่อให้ชนะเสียง ส.ว. โดยอ้างไม่ชอบนโยบายหนึ่งของพรรคก้าวไกล

แม้จะไม่ชอบที่ ส.ว.จะมีอำนาจเลือกนายกฯ แต่ก็ไม่ชอบท่าทีพรรคก้าวไกลมากกว่า … นี่คือสัญญาณจากพรรคร่วมรัฐบาลเดิม

นิ่ง-เงียบ คล้ายรออะไรบางอย่าง?

 

ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง กระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ความไม่รู้ว่าทิศทางนโยบายของประเทศจะเป็นอย่างไร ความน่าสนใจอีกประการณ์จึงอยู่ที่ความเคลื่อนไหวของผู้ที่แพ้เลือกตั้ง นั่นคือขั้ว 2 ลุง

เพราะนับถึงวันนี้ก็เป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์หรือมากกว่าครึ่งเดือนแล้ว แต่ขั้วของ 2 ลุงที่พ่ายแพ้ในสนามการแข่งขัน ยังไม่มีใครออกมาส่งเสียงยอมรับความพ่ายแพ้ หรือยินดีกับผู้ชนะในเกมการแข่งขัน

ท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคดิเดตนายกฯพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ได้ ส.ส.เพียง 36 เก้าอี้  และเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ที่ครองอำนาจมานานกว่า 9 ปี ก็นิ่งเงียบไม่แสดงความเห็นดังกล่าว  สำรวจในเฟสบุ๊กอย่างเป็นทางการ ก็ไม่พูดเรื่องผลการเลือกตั้งใดๆ

 

หรือรอส้มหล่น?

ท่าทีล่าสุด เวลา 11.20 น.วันที่ 29 พ.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การเมืองว่า หลายๆอย่างก็ขอร้องให้ช่วยกัน อย่ามัวแต่ฟังเรื่องวุ่นๆภายในประเทศเราในขณะนี้ ฟังต่างประเทศเขาบ้างจะได้รู้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน และต้องแก้กันอย่างไร

เมื่อถามว่า แต่สถานการณ์การเมืองที่วุ่นๆ ในขณะนี้ พัวพันมาถึงพล.อ. ประยุทธ์ โดยมีความพยายามที่จะโยงว่ารอส้มหล่นอยู่

พล.อ.ประยุทธ์ ย้อนถามว่า “ส้มหล่น ส้มที่ไหนหล่น หล่นเรื่องอะไรล่ะ” เมื่อถามย้ำว่า เป็นส้มหล่นทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ ถึงกับร้องเสียงดังว่า “ฮู้ ! อย่ามาพูดการเมืองกับผม ผมไม่รู้ว่าจะตอบว่าอย่างไร ผมก็อยู่ของผมอย่างนี้ ผมก็ทำหน้าที่ของผมให้เรียบร้อยแค่นั้น ก็เมื่อเขาส่งมอบให้ใครเป็น ก็เป็นไปสิ ไอ้ที่ว่าผมจะเป็น ผมจะเลิกอะไรต่างๆ ผมไม่ตอบอะไรซักนิด ทุกอย่างมันก็เป็นไปตามกฎกติกา ตามกฎเกณฑ์ของเขาอยู่ไม่ใช่เหรอ ก็ว่ากันไป”

เมื่อถามย้ำว่าหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองจริงๆ และตั้งรัฐบาลไม่ได้จริงๆท่านพร้อมหรือไม่พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “ ไม่ต้องมาถ้า อย่ามาถ้าผม ถ้าไม่ได้หรอก ไม่มีถ้าก็เป็นเรื่องของอนาคตใช่หรือไม่ เพราะถ้าทางโน้น ก็ต้องมีถ้าตรงนี้ ถ้า 1 ถ้า 2 ถ้า 3 ถ้า 4 ฉันจะไปตอบเธอได้อย่างไรเหล่า ใช่ไหม พอแล้ว โอเค

เมื่อถามว่า มีโอกาสที่จะไปต่อหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ เดินออกจากโพเดี้ยม พร้อมกล่าวว่า “ถ้า”

นี่คือท่าทีทางการเมืองล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ หลังพ่ายการเลือกตั้งครั้งใหญ่

 

สัญญาณครองอำนาจต่อคละคลุ้ง..

แต่ทันใด ก็มีสัญญาณ คล้ายผู้มีอำนาจปัจจุบันอยากอยู่ต่อ

เมื่อวาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหาร เผยในรายการ Ringside X ลับลวงพราง ช่วงหนึ่งระบุว่า วันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางไปที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ช่วงหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ บอกกับลูกพรรคว่า ช่วงนี้ให้นิ่งเอาไว้ ไม่ต้องไปพูด ไม่ต้องไปให้สัมภาษณ์อะไร แล้วให้ยิ้ม ยิ้มสู้ ใครจะอะไรยังไงก็ยิ้มเอาไว้อย่างเดียว รอเวลาเท่านั้น และบอกว่า ผมเชื่อว่ายังไงเราก็เป็นรัฐบาล

วาสนา นาน่วม เปิดเผยอีกว่า ที่มันเป็นประเด็นคือว่า แกนนำพรรคหลายคนคิดหรือตีความตรงกัน จากคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ท่าทีต่าง ๆ หลังเลือกตั้งเป็นต้นมา ทุกคนเชื่อว่าไม่ใช่แค่เป็นรัฐบาล แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกฯอีกสมัย …แกนนำพรรคหลายท่านบอกว่า ไม่รู้หรอกว่าวิธีการยังไง แต่มั่นใจ

การไม่ประกาศยอมรับการพ่ายแพ้หรือแม่้แต่แสดงความยินดีต่อผู้ชนะ ในสนามการแข่งขันปกติก็ว่าแปลกแล้ว เมื่อมาวิเคราะห์กับบริบทสถานการณ์การเมืองไทย ยิ่งน่าจับตาไปใหญ่ คล้ายผู้มีอำนาจปัจจุบัน รออะไรบางอย่าง?

ย้อนดูอดีต-ยอมรับพ่ายแพ้ตั้งแต่ยังนับคะแนนไม่เสร็จ

ชวนให้นึกไปถึงการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2554 ที่แข่งขันกันระหว่าง 2 พรรคใหญ่คือ พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคเพื่อไทย นำโดยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังปิดหีบคือ เวลาประมาณ 19.40 น. ยังไม่ทันนับคะแนนเสร็จ แต่เริ่มรับรู้สัญญาณว่าพรรคประชาธิปัตย์ จะแพ้เลืิอกตั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวที่พรรคประชาธิปัตย์ทันที  โดยแสดงความยอมรับว่า พรรคเพื่อไทยน่าจะได้จัดตั้งรัฐบาล โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี โดยตนเองและพรรคประชาธิปัตย์พร้อมเป็นฝ่ายค้านเพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

คงเป็นที่ชัดเจนครับว่าพรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์นั้นยอมรับความพ่ายแพ้ และขอแสดงความยินดีกับพรรคเพื่อไทยในการที่จะได้จัดตั้งรัฐบาล ขอแสดงความยินดีกับคุณยิ่งลักษณ์ที่จะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแสดงความยินดีว่าในประเทศไทยก็จะได้มีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก (เสียงโห่) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยนั้นเปิดโอกาสให้สุภาพสตรีสามารถที่จะดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหารที่เป็นตำแหน่งสูงสุดได้” อภิสิทธ์ ระบุ

เห็นการเมืองช่วงนี้แล้ว อดคิดถึงการแข่งขันทางการเมืองในอดีตไม่ได้