เผยแพร่ |
---|
หากถือเอาการเมืองไทยยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นจุดเริ่มต้นของการพิจารณาในฐานะของความเป็น “การเมืองไทยสมัยใหม่” แล้ว
อาจกล่าวได้ว่า กำเนิดของพรรคทหารที่อาจจะถือว่าเป็นตัวแทนของการที่ผู้นำทหารไทยอยากมีบทบาทผ่านระบบพรรคการเมืองนั้น คงต้องถือว่า พรรคเสรีมนังคศิลา ที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งในวันที่ 29 กันยายน 2498 คือ “ต้นแบบ” ของพรรคทหารในการเมืองไทยสมัยใหม่
ความชัดเจนว่าพรรคนี้คือพรรคทหารก็เพราะมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้าพรรค และ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นเลขาธิการพรรค
ความน่าสนใจของการแข่งขันของพรรคการเมืองในขณะนั้นก็คือ เมื่อผู้นำทหาร-ตำรวจของ “สายราชครู” จัดตั้งพรรคเสรีมนังคศิลาขึ้นนั้น
ผู้นำทหารสาย “สี่เสาเทเวศร์” อย่าง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็สนับสนุนแนวทางเดียวกันด้วยการจัดตั้ง พรรคสหภูมิ ขึ้นในวันที่ 25 มกราคม 2500
พรรคนี้มี นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ เป็นหัวหน้าพรรค และ นายสงวน จันทรสาขา น้องชายต่างมารดาของจอมพลสฤษดิ์ เป็นเลขาธิการพรรค
ถ้าพรรคเสรีมนังคศิลามีนโยบายสนับสนุนจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี
พรรคสหภูมิก็มีนโยบายสนับสนุนจอมพลสฤษดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี
ผู้นำทหารในยุคนั้นยอมรับกฎกติกาของระบอบการเลือกตั้งว่าการมีอำนาจของพวกเขาจะต้องดำเนินการผ่านระบบพรรคการเมือง
ดังนั้น จึงมีการวางแผนเตรียมการล่วงหน้าที่ผู้นำทหารจะ “เล่นการเมือง” ภายใต้กรอบกติกาของการเลือกตั้ง ไม่ใช่การใช้วิธีรัฐประหารแบบเก่า
และคู่แข่งที่สำคัญขณะนั้นก็คือพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในวันที่ 30 กันยายน 2498 โดยมี นายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค และ นายใหญ่ ศวิตชาติ เป็นเลขาธิการพรรค
อ่านเพิ่มในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 9-15 ก.ย. 59
คอลัมน์ ยุทธบทความ โดย สุรชาติ บำรุงสุข
“เจาะเวลาหาอดีต (1) พรรคทหารจอมพล ป. สู่ จอมพล ส.”