ศัลยา ประชาชาติ : “บิ๊กตู่” เทเงิน 2.7 ล้านล้าน ยกเครื่องระบบรัฐสวัสดิการ ปูทางยุทธศาสตร์ คสช. 20 ปี

AFP PHOTO / SAUL LOEB

ปี2560 เป็นปีที่จะสิ้นสุดโรดแม็ปอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นปีที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะลงจากอำนาจ และเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง

งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 วงเงิน 2,733,000,000 ล้านบาท จึงถูกกดปุ่มโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อรองรับ-ปูทาง แผนขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปที่ก่อร่างสร้างกันมาถึง 3 ปี และรองรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่รัฐบาลกำลังซุ่มร่างทำแผน

ทำให้การจัดทำงบประมาณปี 2560 ทำบน 7 ยุทธศาสตร์ ที่ตั้งขึ้นใหม่มาเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการจัดทำงบประมาณในประวัติศาสตร์งบประมาณไทย ปูทางไปสู่แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

 

1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ จำนวน 157,155.5 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศ เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ เทิดทูน และพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ รักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ เสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศ ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้านความมั่นคง สร้างความปรองดองสมานฉันท์ ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ รวมถึงแก้ปัญหายาเสพติด

2. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จำนวน 323,656.4 ล้านบาท เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ พัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการ พัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาประสิทธิภาพ และมูลค่าเพิ่มของภาคการผลิต บริการ การค้า และการลงทุน

3. ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน จำนวน 231,894.4 ล้านบาท เพื่อพัฒนาศักยภาพคนตามช่วงวัย ยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาด้านสาธารณสุขและสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก ส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ

4. ยุทธศาสตร์ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างการเติบโตจากภายใน จำนวน 241,149.1 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนเข้มแข็ง จัดการปัญหาที่ดินทำกิน พัฒนาระบบประกันสุขภาพ สร้างความเสมอภาคเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ

5. ยุทธศาสตร์ด้านการจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จำนวน 110,156.6 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ รองรับและปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ตลอดจนพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

6. ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ จำนวน 330,410.6 ล้านบาท เพื่อลดปัญหาการทุจริตในสังคมไทย เพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย ยกระดับการบริการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ปรับปรุงโครงสร้างภาษี และระบบการจัดเก็บภาษีอย่างเป็นธรรม รวมทั้งพัฒนาระบบการจัดการ งบประมาณและการปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพ

และ 7. รายการค่าดำเนินการภาครัฐ จำนวน 1,338,577.4 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการบุคลากรภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ รองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น และการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ

ดังนั้น นับจากนี้ไป ทั้ง 7 ยุทธศาสตร์ ทุกตัวอกษร ทุกตัวเลข ทุกเม็ดเงิน กว่า 2.7 ล้านล้านบาท จะถูกนำไปขับเคลื่อนรัฐนาวาประยุทธ์ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้

ยกเครื่องโครงสร้างเศรษฐกิจระดับแม็กโคร-ไมโคร ยกระดับความเข้มแข็งด้านภาคการเกษตร พัฒนาศักยภาพวิทยาศาสตร์ ลงมือสร้างนวัตกรรมของชาติขึ้นมา

ต่อยอดไปถึงการยกระดับผู้ประกอบการ SMEs และ Start up ให้แข็งแกร่งบนเวทีการค้า พร้อมกับสร้างรัฐสวัสดิการทั้งภาคการศึกษา-สาธารณสุข-คุณภาพชีวิต

ผนวกกับหลายมาตรการที่รัฐบาลออกมาช่วยอุดหนุน ช่วยเหลือเกษตรกรที่ทำมาตั้งแต่ คสช. เข้าควบคุมอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 รวม 2 ปี เป็นเงินนับแสนล้านบาท เช่น โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวรายย่อย 1,000 บาท/ไร่ ไม่เกินรายละ 10 ไร่

พักชำระหนี้เงินต้นและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดย ธ.ก.ส. จะพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรเป็นเวลา 2 ปี พร้อมกับลดดอกเบี้ย 3% แก่เกษตรกรที่กู้เงินจาก ธ.ก.ส. วงเงินไม่เกิน 500,000 บาท โดยรัฐบาลกับ ธ.ก.ส. จะรับภาระดอกเบี้ยฝ่ายละครึ่ง คาดว่าจะช่วยเหลือเกษตรกรได้ราว 2 ล้านราย

ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 วงเงิน 2,071 ล้านบาท โดยรัฐบาลและ ธ.ก.ส. จะรับภาระจ่ายเบี้ยประกันให้ทั้งหมด จากเดิมที่ให้เกษตรกรจ่ายเบี้ยประกันส่วนหนึ่ง เป็นต้น

ภาคการศึกษา แม้ว่าในรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติจะกำหนดให้รัฐอุดหนุนงบประมาณเพื่อการศึกษา หรือเรียนฟรีตั้งแต่อนุบาล ถึง ม.3 จนเกิดเสียงท้วงติงทั่วสารทิศ

หากแต่ “พล.อ.ประยุทธ์” แก้ปัญหาด้วยการออกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 28/2559 ใช้อำนาจมาตรา 44 ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึง ม.6 โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย จนกระทั่งเสียงทักท้วงหายไป

 

ขณะที่มาตรการแก้ปัญหาความยากจน-เหลื่อมล้ำ รัฐบาล คสช. เปิดโครงการ “ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อรับสวัสดิการของรัฐ” หรือ “ลงทะเบียนคนจน” ให้สำหรับผู้ว่างงาน หรือรายได้ไม่เกินปีละ 1 แสนบาท

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นเจ้าภาพแก้ปัญหาความยากจน เหลื่อมล้ำนั้นได้รับงบประมาณปี 2560 ทั้งสิ้น 11,660 ล้านบาท

แยกเป็นงบฯ รายกรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างระบบสวัสดิการ ซึ่งบรรจุอยู่ในแผนงานพื้นฐานด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างการเติบโตจากภายใน แบ่งเป็น งบฯ ของสำนักงานปลัดกระทรวง 940,280,200 บาท

กรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้รับงบฯ พัฒนาและคุ้มครองพิทักษ์สิทธิ์ 1,306,091,900 บาท

กรมกิจการผู้สูงอายุ ได้รับงบฯ ในแผนงานที่ทำให้ผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริมเข้าถึงหลักประกันทางสังคม 196,303,300 บาท

กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้รับงบฯ แก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ 327,976,800 บาท

กรมพัฒนาสังคมและการสวัสดิการ ได้รับงบฯ แก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ 885,772,700 บาท

ล่าสุดกระทรวง พม. เตรียมแผนงานร่วมกับกระทรวงการคลัง คลอดแพ็กเกจ “สวัสดิการแห่งรัฐ” เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ที่มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท

อาทิ จัดทำประกันชีวิตสำหรับผู้มีรายได้น้อยให้กับผู้มีสิทธิ์ทุกราย โดยอัตราดอกเบี้ย 99 บาทต่อราย มีความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพสิ้นเชิง เป็นเงิน 50,000-60,000 บาท และจ่ายชดเชยกรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจนไม่สามารถทำงานได้ วันละ 300 บาท เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ

ให้เงินอุดหนุนแก่พ่อแม่ที่ครอบครัวยากจน มีลูกเกิดระหว่าง 1 ตุลาคม 2558-กันยายน 2559 จะได้รับเงินอุดหนุนในปีงบประมาณ 2559 เดือนละ 400 บาทต่อคนจนอายุครบ 1 ขวบ และในปีงบประมาณ 2560 จะได้รับเดือนละ 600 บาท ตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ 3 ขวบ

นี่คือเม็ดเงิน 2.7 ล้านล้านบาท ที่จะออกดอกผล เป็นท่อน้ำเลี้ยงขับเคลื่อนรัฐบาลให้ทะลุเป้าหมายรัฐสวัสดิการ ปูทางมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนในอีก 20 ปีข้างหน้า และคาดหวังว่าจะสืบทอดอำนาจ หลังปี 2560 ไปโดยราบรื่น!