แกนนำพรรค…อาจสอบตกปาร์ตี้ลิสต์ สนามแข่งของเสนาธิการ และผู้อาวุโส

มุกดา สุวรรณชาติ

การเลือกตั้งครั้งนี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ คือสนามแข่งของแกนนำพรรคต่างๆ

แกนนำสำคัญหรือผู้อาวุโสส่วนใหญ่จะไม่ลงไปสมัคร ส.ส.เขต แต่จะให้มือรองหรือลูกหลานลงไปสู้แทน

ปัญหาก็มีอยู่ว่าจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคละกี่คน เพราะคราวนี้ใช้ 100 ที่นั่ง หารคะแนนรวม

ดังนั้น ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คนต้องมีคะแนนประมาณ 350,000 เพราะว่าบัตรดีของผู้มาใช้สิทธิ์อาจจะประมาณ 35 ล้านใบ เมื่อหารด้วยจำนวน 100 ที่นั่ง จึงได้ผลเป็น 350,000 คะแนน

ลำดับในการวางตัว ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แต่ละพรรคมีทางเลือกต่างกัน

พรรคใหญ่ที่คิดว่าได้เป็นรัฐบาลก็อาจเอาคนที่เป็นตัวเต็งที่จะขึ้นรัฐมนตรีไว้ตรงกลาง หรือท้ายตาราง เพราะไม่จำเป็นจะต้องได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ก็ได้

ส่วนคนที่คิดว่าจะต้องเข้าไปทำงานในสภา ก็ต้องนำรายชื่อใส่ไว้ในลำดับต้นเพื่อความปลอดภัยว่าได้เป็น ส.ส.แน่

แต่ในทางการเมืองแล้วลำดับต้นของ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์โดยเฉพาะ 1-5 ควรจะเป็นบุคคลที่ดีเด่นของพรรคที่มีคนชื่นชมและนิยมสามารถ จึงจะดึงคะแนนได้มากที่สุด เพราะคนส่วนใหญ่ก็สำรวจอยู่เพียง 5-10 ชื่อแรกเท่านั้น

นอกจากนี้ มีคนจำนวนมากที่ไม่รู้จักผู้สมัครแบบเขตของแต่ละพรรค จึงยึดถือเอาคนมีชื่อเสียงแต่ละพรรคมาเป็นแบบเปรียบเทียบในการลงคะแนน ส.ส.เขต

 

ไทยรักไทยแชมป์ปาร์ตี้ลิสต์ 4 สมัย

ในการเลือกตั้งครั้งแรกที่ใช้รัฐธรรมนูญ 2540 และมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ พรรคไทยรักไทยได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ถึง 48 คน ประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้ 31 คน

ครั้งต่อมาปี 2548 ไทยรักไทยได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ถึง 61 คน ปชป.ได้ 23 คน

หลังการรัฐประหาร 2549 คณะรัฐประหารจึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เพื่อเลือกตั้งปลายปี 2550 และได้แก้ไขให้การเลือกตั้ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่เคยใช้แบบเขตรวมทั้งประเทศเปลี่ยนเป็นแบ่งเป็น 8 เขต ให้แต่ละเขตมี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เขตละ 10 คน รวม 8 เขตก็เป็น 80 คน แต่ ส.ส.เขตยังเป็น 400 คนเหมือนเดิม

โดยหวังว่าจะสกัดจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของไทยไทยรักไทยซึ่งถูกยุบพรรค แล้วเปลี่ยนชื่อไปเป็นพลังประชาชน

ผลของการเลือกตั้งครั้งนั้นปรากฏว่า ส.ส.เขตพลังประชาชนได้ 199 คน ปชป.ได้ 132 คน

แต่เป็นที่น่าแปลกว่าจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ใกล้เคียงกันมากคือพลังประชาชนได้ 34 คน ปชป.ได้ 33 คนจากทั้งหมด 80 คน

เคยมีผู้พยายามจะวิเคราะห์ว่าทำไมคะแนน ส.ส.เขตต่างกันมาก แต่ปาร์ตี้ลิสต์ถึงเกือบเท่ากัน

สุดท้ายพบว่าอำนาจคณะรัฐประหารขณะนั้นทำให้คะแนน Party List เพิ่มได้อย่างประหลาด

 

เลือกตั้ง 2554 เพิ่มปาร์ตี้ลิสต์ถึง 125 คน
เสร็จเพื่อไทย

การเลือกตั้งปี 2554 หลังจากเหตุการณ์ปราบประชาชนในปี 2553 เมื่อมีการยุบสภา และเลือกตั้งใหม่ กรกฎาคมปี 2554 วิธีการเลือกตั้งยังเป็นบัตร 2 ใบ แต่ลดเขตเลือกตั้งลงเหลือ 375 เขต และเพิ่มจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เป็น 125 คน

ฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐคงเข้าใจว่า คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ของตัวเองจะต้องดีแน่ และก่อนหน้ายุบสภาในการเลือกตั้งซ่อมก็ชนะหลายครั้ง

มีผลโพลก่อนการเลือกตั้งว่า พรรคเพื่อไทย (ซึ่งเปลี่ยนจากพรรคพลังประชาชนที่ถูกยุบไป) มีคะแนนนำประมาณ 51% ตามมาด้วยพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนประมาณ 34%

เมื่อผลคะแนนจริงออกมาพรรคเพื่อไทยได้ 48.4% มีคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 15.7 ล้าน ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 61 คน ส่วนประชาธิปัตย์ได้ 35% ประมาณ 11.4 ล้าน ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 44 คน

ภูมิใจไทยได้คะแนนประมาณ 1.28 ล้าน ได้ปาร์ตี้ลิสต์ 5 คน พรรคชาติไทยพัฒนาได้ 900,000 คะแนน ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 4 คน พรรคพลังชลก็ยังได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน

แต่พรรคที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดคือพรรครักประเทศไทยของชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้เกือบ 1 ล้านคะแนน ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 4 คน

การเลือกตั้ง 2554 เฉลี่ยคะแนน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คนจะต้องได้ถึง 2.6 แสนคะแนน

 

2562 เปลี่ยนระบบเลือกใหม่
ปาร์ตี้ลิสต์ 150 สกัดเพื่อไทยสำเร็จ
แต่พรรคอนาคตใหม่เป็นแชมป์ปาร์ตี้ลิสต์

หลังรัฐประหาร 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กุมอำนาจรัฐผ่าน คสช. เป็นรัฐบาลมาเกือบ 5 ปี และมีการเลือกตั้งใหม่ในปี 2562 แต่รัฐธรรมนูญที่นำมาใช้คือฉบับ 2560 ก็ได้กำหนดวิธีการเลือกตั้งเพื่อสกัดปาร์ตี้ลิสต์พรรคใหญ่แบบเด็ดขาด

คือใช้บัตรใบเดียวเลือกตั้งแต่นำมาคิดคะแนนทั้ง ส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์ โดยกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ ส.ส.พึงมี ทำให้พรรคใดก็ตามที่ชนะเลือกตั้งได้ ส.ส.เขตมาก ก็จะได้จำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น้อย

ยิ่งได้มาก สุดท้ายจะไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลย

ซึ่งก็นับว่าได้ผลเพราะพรรคเพื่อไทยที่ชนะ ส.ส.เขตมากที่สุด 136 เขต ถือว่าได้ ส.ส.มากเกินที่จะพึงมี ก็เลยไม่แบ่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ให้

แต่เหมือนเวรกรรมตามสนอง ปรากฏว่าในการเลือกตั้งครั้งนั้น มีพรรคอนาคตใหม่ซึ่งเป็นพรรคที่ก้าวหน้าที่สุด และเสนอแนวความคิดเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศไทยอย่างถึงรากถึงโคน ได้งอกขึ้นมาจากดินและก็ได้ประโยชน์จากการเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้

โดยได้ ส.ส.เขตเพียง 31 เขต จึงได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ถึง 50 คน

พรรคที่ตั้งขึ้นใหม่กลายเป็นพรรคขนาดกลางทันที

พวกอำมาตยาธิปไตยที่กุมอำนาจรัฐอยู่ตกใจมาก ผลสุดท้ายก็สกัดด้วยตุลาการภิวัฒน์เหมือนเดิม

โดยยุบพรรคอนาคตใหม่ และจากความกังวลอันนี้ก็เลยเปลี่ยนกฎเกณฑ์ยอมแก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ให้มีการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ ใช้จำนวนที่นั่ง 100 หาร

เพราะถึงอย่างไรพวกเขาก็มี ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนเตรียมไว้ในการเลือกนายกฯ

 

ประเมินจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แต่ละพรรค

พรรคเพื่อไทย ถ้าดูจากผลโพลจะพบว่า ความนิยมที่มีต่อพรรคน่าจะอยู่ที่ประมาณ 38-46% ส.ส.พรรคเพื่อไทยถ้ายังอยู่ที่ไม่เกิน 40 ก็ถือว่าปลอดภัย แต่ถ้ามีการเลื่อนลำดับมีคนออกไปเพื่อเป็นรัฐมนตรี หรือไปทำหน้าที่อื่น คนลำดับหลัง 40 ก็ยังได้เลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อยู่ดี

พรรคก้าวไกลตามโพลอยู่ที่ประมาณ 17% จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ประมาณ 17 คน ถ้าใครยังอยู่ในลำดับไม่เกิน 17 ก็คิดว่าจะได้เป็น ส.ส. แต่ถ้ามีการเข้าร่วมรัฐบาลและมีรัฐมนตรี ก็น่าจะมีการเลื่อนขึ้นมาได้อีกหลายคนเช่นกัน

พรรคภูมิใจไทย แม้ผลโพลไม่ดี แต่น่าจะเป็นพรรคที่มีวิธีการสร้างคะแนนปาร์ตี้ลิสต์จนได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 9 คนซึ่งจะทำให้แกนนำทั้งหมดปลอดภัย

พรรครวมไทยสร้างชาติแม้ผลประเมินส่วนใหญ่มองว่าน่าจะได้ ส.ส.เขตน้อย แต่จากการสำรวจพบว่ายังมีผู้ลงคะแนนให้ประยุทธ์พอควร จึงน่าจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ถึง 9 คน

พรรคประชาธิปัตย์มีขาประจำอยู่จำนวนหนึ่งถึงแม้ไม่ชนะเขตเลือกตั้งจำนวนมาก แต่คาดว่าคะแนนเสียงปาร์ตี้ลิสต์ที่ได้จากขาประจำยังถึง 8 คน

ส่วนพลังประชารัฐนั้นแม้มีชื่อว่าเคยได้คะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งปี 2562 แต่ครั้งนี้เนื่องจากแตกเป็น 2 พรรคลุง และความนิยมก็ลดลงอย่างมาก ดังนั้น น่าได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 6-8 คน

 

การประเมินของทีมวิเคราะห์นี้ดูจากฐานทางการเมือง คะแนนเดิม และโพลสำนักต่างๆ แนวโน้มการเมืองระยะสั้น

แต่ก็แปลกใจที่มีโพลลับซึ่งอ้างว่าเป็นของหน่วยงานความมั่นคงบอกว่าพรรคร่วมรัฐบาลเดิมจะได้ 290-292 ซึ่งดูแล้วขัดกับความจริงไปพอควร

เพราะที่ผ่านมาหลังรัฐประหาร 2549 และ 2557 ขนาดมีอำนาจรัฐ อำนาจคณะรัฐประหาร อาศัยกรรมการช่วย ยังแพ้มาตลอด ครั้งนี้ได้ 192 ก็เก่งแล้ว

พรรคร่วมรัฐบาลเดิมจะมีคะแนนกระโดดไปมา แต่รวมกันแล้วน่าจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 34-36 คน จึงมีความขัดแย้งกันในพรรค ในการกำหนดลำดับรายชื่อ เพราะหลายพรรคถ้าหลุดจากลำดับ 7 ไปแล้วมีโอกาสจะสอบตก