เปิดสูตรตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง | วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

สัญญาณการเลือกตั้งเพิ่งจะเริ่มขึ้น ยังไม่ทันยื่นใบสมัคร ยังไม่ทันได้เบอร์ บางพรรคก็ยังไม่ได้เปิดตัวแคนดิเดตนายกฯ อย่างเป็นทางการ แต่ความที่แนวโน้มผลการเลือกตั้งพอจะคาดการณ์กันได้ล่วงหน้าแล้วว่าพรรคไหนน่าจะมาแรง พรรคไหนจะเป็นลำดับถัดๆ มา พรรคไหนน่าจะไม่ประสบความสำเร็จ

ตอนนี้ก็เริ่มมีการพูดถึงสูตรจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งแล้ว

เพราะพอจะเห็นแล้วว่าพรรคไหนที่คงจะเป็นแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาล และจะจับขั้วกันอย่างไร จับมือกับพรรคไหน สูตรไหน

พูดง่ายๆ ว่า พรรคเพื่อไทยได้รับการคาดหมายว่าจะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ มี ส.ส.เข้าสภาแบบนำโด่งแน่นอน เกิน 200 ส.ส.แน่ๆ เพียงแต่จะเกินไปถึง 250 หรือไม่

ถ้าได้ทะลุ 250 ส.ส. ก็เข้าข่ายแลนด์สไลด์

เหตุที่คาดว่าเพื่อไทยจะได้เกิน 200 นั้น เป็นเพราะการเลือกตั้งหนที่แล้วปี 2562 นั้น พรรคเพื่อไทยได้ 136 ที่นั่ง โดยเป็น ส.ส.เขตล้วนๆ ไม่มีปาร์ตี้ลิสต์แม้แต่รายเดียว

เนื่องจากการเลือกตั้งปี 2562 เป็นแบบบัตรใบเดียว แล้วมีสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์อันพิสดาร

แถมพรรคไทยรักษาชาติ พรรคพี่น้องของเพื่อไทยตามทฤษฎีแตกแบงก์พัน เพื่อจะเก็บคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดนยุบพรรคเสียก่อนการเลือกตั้ง

แม้จะมีแค่ ส.ส.เขตเท่านั้น แต่เพื่อไทยก็ยังมีจำนวน ส.ส.ในสภาเป็นอันดับ 1

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ เป็นพรรคอันดับ 2 ได้ ส.ส.เขตบวกกับปาร์ตี้ลิสต์ มีจำนวน ส.ส.เข้าสภา 115 เสียง แต่เมื่อพลังประชารัฐจับมือกับพรรค 250 ส.ว. ก็ได้จัดตั้งรัฐบาล ท่ามกลางเสียงโห่อื้ออึงในหมู่ประชาชนคนดู

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งปี 2566 นี้ สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เลือก ส.ส.เขตกับเลือกพรรค และการคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ใช้สูตรหาร 100 ซึ่งเป็นกติกาที่เข้าทางพรรคเพื่อไทย

ประกอบกับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนคนไทย ในยุครัฐบาลทหาร และรัฐบาลที่มีทหารเป็นแกนนำ

ทำให้ประชาชนเรียกร้องต้องการพรรคที่มีนโยบายด้านเศรษฐกิจแหลมคม และเชื่อถือได้ว่าเคยทำมาแล้วทำได้จริง จึงเป็นโอกาสที่ประชาชนจะเทคะแนนเลือกเพื่อไทย

เรียกได้ว่าทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ที่ประชาชนต้องการรัฐบาลใหม่ที่เก่งกาจด้านนี้ และทั้งกติกาบัตร 2 ใบ หาร 100

จึงไม่น่าแปลกใจที่คาดหมายกันว่าเพื่อไทยน่าจะได้ ส.ส.เข้าสภาอย่างมากมายกว่าหนที่แล้ว

 

ส่วนพรรคที่คาดกันว่าน่าจะชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 2 คือพรรคภูมิใจไทย เพราะมีกระสุนเพียบพร้อมที่สุด ดูด ส.ส.ที่มีแต้มดีๆ ไปอยู่ด้วยจำนวนมาก ประมาณกันว่าภูมิใจไทยน่าจะได้ ส.ส.ประมาณ 100 ที่นั่ง หรือ 100 เศษๆ

ขณะที่พลังประชารัฐ ยุค พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้นำอย่างเต็มตัว ไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในพรรคอีกต่อไป มีผลดีในแง่เป็นพรรคที่เป็นกลางมากขึ้น ไม่ใช่พรรคทหารสุดขั้ว อีกทั้งยังมีความพร้อมรอบด้าน โดย ส.ส.หลักๆ ก็ยังอยู่จำนวนไม่น้อย ในด้านกระสุนก็ไม่ธรรมดา ในด้านกระแสก็ยังสามารถเอานโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาหาเสียงได้ ที่สำคัญถือว่าเป็นพรรครัฐบาล ยังรักษาการในช่วงเลือกตั้ง มีมือไม้กลไกอำนาจรัฐอยู่ในมือ

จึงคาดหมายว่าพลังประชารัฐก็น่าจะเข้าที่ 3 ใกล้เคียงสูสีกับภูมิใจไทย

อันดับถัดไป ก็คงต้องมองไปยังพรรคก้าวไกลที่กระแสคนรุ่นใหม่ยังคงแรงสุดๆ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ประโยชน์จากการเป็นรัฐบาล 4 ปีที่ผ่านมา น่าจะตั้งหลักสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ได้ดีกว่าเมื่อปี 2562

มีคำถามว่า แล้วพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เหมือนจะฟอร์มใหญ่ ได้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแกนนำ เป็นแคนดิเดตนายกฯ จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน

วิเคราะห์กันว่าที่เปิดตัวออกมามีชื่อเสียง เป็นนักการเมืองรุ่นเก๋า เอาเข้าจริงๆ ส่วนใหญ่ไม่ใช่ผู้ประสบความสำเร็จเป็น ส.ส.เขต เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์บ้าง หรือสอบตกมาแล้วบ้าง

ที่ดูจะเป็นหลักในการนำ ส.ส.เข้าสภาให้กับพรรครวมไทยสร้างชาติ มีเพียงนายสุชาติ ชมกลิ่น เท่านั้น ที่พอจะนำ ส.ส.ในกลุ่มตัวเอง 10-20 เสียงเข้าสภาได้ นอกนั้นคงจะมีชนะบ้าง แต่ไม่ใช่มาเป็นกลุ่มก้อน

ดูจากหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ก็ไม่ใช่ตัวจริงในสนามเลือกตั้ง ดังนั้น ดูแล้วยังไม่น่าจะประสบความสำเร็จมากนัก

ทั้งยังสังเกตได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์เองมีท่าทีจะเป็นเพียงแคนดิเดตนายกฯ เท่านั้น ไม่เข้าเป็นหัวหน้าพรรค ไม่เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อเบอร์ 1 บ่งบอกว่ายังคงมีระยะห่าง และไม่เอาตัวเข้าผูกพัน

เหมือนกับว่าถ้าหากผลเลือกตั้งออกมาไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ได้เป็นนายกฯ ก็พร้อมจะวางมือกลับบ้าน

แม้แต่มือหลักในสนามเลือกตั้งคือ นายสุชาติ ชมกลิ่น ก็ยังไม่ขอรับตำแหน่งบริหารใดๆ ในพรรคแต่อย่างใด เหมือนไม่ยอมผูกมัดตัวเองกับพรรคนี้เช่นเดียวกัน

บ่งบอกว่ารวมไทยสร้างชาติน่าจะไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนกันเองด้วยซ้ำ

 

เอาเข้าจริงๆ แล้ว ข่าวการเตรียมจับมือกันระหว่างพรรคนั้นพรรคนี้เพื่อจัดตั้งรัฐบาล น่าเชื่อว่าเป็นเพียงแนวโน้ม เป็นเพียงความเป็นไปได้ เพราะเมื่อยังไม่รู้ผลเลือกตั้ง คงไม่มีการเจรจากันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ด้วยยังไม่รู้ว่าพรรคไหนจะมีอำนาจต่อรองมากน้อยเพียงใด

มีการตั้งข้อสังเกตถึงพรรคการเมืองในฝ่ายประชาธิปไตย ที่ร่วมกอดคอกันเป็นพรรคฝ่ายค้านในสภาปี 2562 ที่ผ่านมา โดยเชื่อว่าเพื่อไทยหนนี้คงชนะแบบเกิน 200 ที่นั่ง พรรคก้าวไกลก็ยังมีกระแสแรงอยู่ แถมคนรุ่นใหม่ในการเลือกตั้ง 2566 มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ด้วยซ้ำ

ส่วนพรรคประชาชาติน่าจะแน่นอนใน ส.ส.เขตพื้นที่ 3 จังหวัดใต้ และปาร์ตี้ลิสต์อีกส่วนหนึ่ง รวมถึงพรรคเสรีรวมไทยก็น่าจะเข้ามาได้จำนวนหนึ่ง

ขั้วประชาธิปไตยเดิมจะสามารถร่วมกันเป็นรัฐบาลในสมัยหน้าได้หรือไม่ เนื่องจากเพื่อไทยมีโอกาสสูงมากที่จะได้ตั้งรัฐบาล

มีข้อวิเคราะห์ว่า ขั้วประชาธิปไตยเดิมน่าจะจับมือกันได้ เว้นพรรคก้าวไกล เนื่องจากเป็นพรรคที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง จุดยืนหนักแน่นและแนวนโยบายแหลมคมมากๆ สมัยหน้าอาจจะคุยกับเพื่อไทยได้ยาก

นี่เองจึงมีข้อวิเคราะห์ว่า มีโอกาสที่เพื่อไทยจะจับมือกับพลังประชารัฐค่อนข้างมาก เพราะพลังประชารัฐไม่มีประยุทธ์แล้ว มีภาพเป็นกลางมากขึ้น และที่สำคัญ พล.อ.ประวิตรมี ส.ว.อยู่ในมือประมาณครึ่งของ 250 ส.ว.

การจับมือกับพลังประชารัฐจึงหมายถึงได้ ส.ว.มาสนับสนุนจำนวนไม่น้อย และพลังประชารัฐยังเป็นที่วางใจของเครือข่ายขุนศึกขุนนาง ทำให้โอกาสจะคว่ำกระดานไม่ยอมให้เพื่อไทยเป็นรัฐบาลคงลดน้อยลงไป

สิ่งที่เพื่อไทยพยายามอย่างยิ่งที่จะขจัดออกไปให้ได้คือ ประเด็นความไม่วางใจจากฝ่ายอนุรักษนิยมทางการเมือง

นี่เองเชื่อว่าเพื่อไทยคงจะคุยกับก้าวไกลได้ยาก และก้าวไกลก็ประกาศชัดว่าจะไม่ร่วมมือกับ พล.อ.ประวิตร ซึ่งก็คือหนึ่งใน 3 ป.อย่างเด็ดขาด

สูตรรัฐบาลเพื่อไทยจับมือพลังประชารัฐร่วมตั้งรัฐบาล จึงกล่าวขวัญกันมาก

แต่ต้องดูผลการเลือกตั้ง หากเพื่อไทยไปถึง 250 ส.ส. อำนาจต่อรองย่อมสูง การพูดคุยเจรจากับพรรคไหนก็ง่ายดายมากขึ้น หมายความว่านายกฯ ต้องเป็นของเพื่อไทยแน่นอน

สูตรรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจึงเป็นเพียงแนวโน้มที่เป็นไปได้ ยังไม่ใช่การจับมือกันแล้วล่วงหน้าแต่อย่างใด!!