เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี : บันเทิงไทยใต้ร่มพระบารมี(3) – “ภาพจำ ในหลวง ร.9 ในเพลงคาราบาว”

“แอ๊ด คาราบาว” ถือเป็นศิลปินที่ประพันธ์ และขับร้องเพลงเฉลิมพระเกียรติมากที่สุดในวงการเพลงไทย นับจากปี 2541 ซึ่งเป็นปีที่เพลงเฉลิมพระเกียรติเพลงแรกผลิตออกมา จนถึง พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เขามีผลงานที่ถ่ายทอดภาพจำของในหลวง ร.9 ไม่น้อยกว่า 18 เพลง

งานของ “ผาสุกและคริส” ชี้ว่าความรุ่งเรืองของคาราบาวสอดคล้องกับการเติบโตของการผลิตเทปเพื่อขายในประเทศ และการแผ่ขยายของสถานีวิทยุเอฟเอ็ม

ขณะที่เพลง “เมดอินไทยแลนด์” ซึ่งเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมโดยมียอดจำหน่ายสูงถึง 5 ล้านตลับ/ก๊อปปี้ ซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดในประเทศไทย สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของไทยไปสู่การส่งออก และการรับเอาอิทธิพลต่างๆ จากภายนอกเข้ามาในประเทศ

บทความชิ้นนี้ อ่านเพลงเฉลิมพระเกียรติของคาราบาวด้วยคำถามคล้ายกัน คือ ภาพจำของ ในหลวง ร.9 ในเพลง เปลี่ยนไปอย่างไร ภายใต้บริบทชุดใด ตลอดเวลาร่วม 20 ปี (2541-2560) 

 

บทเพลงเฉลิมพระเกียรติในแบบฉบับคาราบาว เริ่มต้นเพลงแรกด้วยการพูดถึง “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งในหลวง ร.9 ได้พระราชทานให้คนไทยในปี 2540 หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ถัดจากนั้นก็เกิดเพลง “พออยู่พอกิน” (2541) และ “พอๆมาเพียงๆ”(2549) ทั้งสองเพลงมีคำสำคัญ เช่น ทฤษฎีใหม่,สหกรณ์,พึ่งพาตนเอง,เป็นพลเมืองพออยู่พอกิน,โครงการพระราชดำริ,รู้จักเก็บ รู้จักออม “เท่านี้แหละหนอ เพื่อพ่ออยู่หัว เศรษฐกิจพอเพียง”

สำนึกของการ “อยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร” ถูกขับเน้นผ่านเพลง “ขวานไทยใจหนึ่งเดียว”(2547) ประพันธ์ขึ้นหลังเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี” ร่วมขับร้อง

เพลงนี้สื่อสารกับผู้ก่อเหตุการณ์ความไม่สงบว่า “ใต้ร่มบรมโพธิสมภาร พระเจ้าอยู่หัว พระราชินี ทรงห่วงใย …มาสร้างฝันวันใหม่ ให้ขวานไทยใจหนึ่งเดียว”

อีกเพลงที่แอ๊ดประพันธ์จากความสำนึกคุณในแผ่นดินไทยคือเพลง “วิหคพลัดถิ่น”(2548) ด้วยความที่ “ก๋งผมก็เป็นคนจีน พ่อก็เป็นคนจีน แม่ก็เป็นคนจีน” แอ๊ดมีชื่อจีนว่า “หูฉุนช๋าง – คนแซ่หูผู้มีฐานะมั่นคงชีวิตยืนยง” และเพราะ “ผืนแผ่นดินนี้ ด้วยพระบารมีของในหลวง ..ทำให้พวกเราได้มีแผ่นดินใหม่ ได้อยู่ ได้ออกลูก ออกหลาน ได้เป็นคนไทยร้อยเปอเซนต์”

เพลงนี้จึงย้ำว่า “อยากฝากกายวิหคพลัดถิ่น ใต้แผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวฯ จดจำสำนึกคุณ” เพลงนี้ใช้ประกอบละคร “อยู่กับก๋ง” ถ่ายทอดคำสอนของ “ก๋ง” ชาวจีนผู้อพยพจากประเทศจีน มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์ไทย เมื่อราวปี 2500 

 

หลังการรัฐประหาร 2549 แอ๊ดประพันธ์เพลง “ทหารพระราชา”(2549) จุดเน้นของเพลงอยู่ที่การชื่นชมหน้าที่ของทหาร ว่าไม่เพียง “ปกป้องแดน ปกป้องฟ้า” แต่ยัง “จะไม่ยอมให้ชาติ ถูกขายทอดตลาด ด้วยอำนาจอิทธิพลเงินตรา …จะปกป้องด้วยชีวา เพราะเราคือทหารพระราชา” 

ขณะที่หลังการรัฐประหาร 2557 แอ๊ดยังมอบเพลง “นาวารัฐบุรุษ”(2557) ให้กับ “พี่ตู่ที่เคารพ” ด้วยการย้ำว่า “จุดเปลี่ยนประเทศไทย อยู่ที่ท่านกำลังกระทำให้โลกได้จดจำ รัฐบุรุษ”

ในปีเดียวกันเพลง “พ่อทูนหัว”(2549) ถ่ายทอดภาพจำของในหลวง ร.9 ในท่วงทำนองที่ห่างไกลจากความเป็นพระราชา แต่คือพ่อคนธรรมดาของคนไทย ในเพลงนี้ ในหลวง ร.9 คือ พ่อที่มีความอดทน พ่อที่ไม่เคยบ่น พ่อที่สอนให้ลูกเดินไปบนเส้นทางสายกลาย ไม่ต้องไปแข่งกับใครจนเกินตัว แต่ขอให้ลูก

“จงอยู่อย่างอุทิศตน เป็นคนดีของสังคม”

 

ปี2550 ถือเป็นปีที่คาราบาวผลิตเพลงเฉลิมพระเกียรติมากที่สุดถึงสามเพลงในปีเดียว เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาส 80 พรรษา ได้แก่ เพลง “80 ปี พ่ออยู่หัว”(2550) ถ่ายทอดภาพพ่อ ในฐานะผู้ที่ “แผ้วถางทางสู่วันคืนใหม่ เหน็ดเหนื่อยล้าเจียนแทบขาดใจไกลแสนไกลพ่อไปทั่วถึง” และยังเป็นครั้งแรกที่บรรจุเรื่องประชาธิปไตยลงไปในเพลง “แปดสิบปีที่พ่อผ่าน เป็นตำนานแห่งลมหายใจ ที่ห่วงหาประชาธิปไตย ให้ลูกไทยใช้เป็นแนวทาง” ขณะที่”ตามรอยพ่อ”(2550) ก็ผลิตซ้ำภาพพ่อในฐานะ “ผู้คิด และผู้สร้างสรรค์..พ่อกรุยทาง ไว้ให้กับเรา”

เพลง “ทรงพระเจริญ”(2550) ที่แอ๊ดประพันธ์ร่วมกับ “อัสนี-วสันต์” กลายเป็นเพลงที่ติดหูคนไทยไปอีกนาน จุดเด่นของเพลงคือมีคำว่า “ทรงพระเจริญ” ซ้ำๆ อยู่ในหลายท่อนให้ผู้คนได้ร้องตาม ทั้งยังยกย่องในหลวงในฐานะ King of Kings ซึ่งเป็นการยกย่องที่เพิ่งปรากฎหลังการเฉลิมฉลองครองราชย์ครบ 60 ปี

เช่น “เหนือฟ้ายังมีฟ้า เหนือราชามีองค์ราชันย์,เวลาพาโลกเปลี่ยนไป พ่อเรายิ่งใหญ่เหนือกาลเวลา”

 

หลังวิกฤติการเมืองที่ราชประสงค์ในปี 2553 แอ๊ดแต่งเพลงเฉลิมพระเกียรติเฉลิมฉลองในโอกาส 84 พรรษาถึงสองเพลง คือ เพลง “กษัตริย์แห่งประชาธิปไตย“(2554) ได้รับการสนับสนุนจาก “รัฐสภา” เพลงนี้เชื่อมโยงกำเนิดของประชาธิปไตยไทยกลับไปหาในหลวง ร.7 และขยายจนถึงรัชกาลที่ 9 “ทรงสละอำนาจนั้นเพื่อใคร ประชาชนไทยน้อมจงรักภักดี หนทางแห่งรัฐสภา ย่อมนำมาสู่ชาติชนอันยิ่งใหญ่”

หนึ่งในเพลงที่เป็นหมุดหมายที่สำคัญในแวดวงการผลิตเพลงเฉลิมพระเกียรติคือ เพลง “ผู้ปิดทองหลังพระ”(2554) แอ็ดเล่าที่มาของเพลงนี้ “ผู้ใหญ่จากสำนักพระราชวังได้มีความคิดและเห็นว่า คนไทยยังไม่คุ้นเคยกับพระนามเต็มพระองค์ท่าน เลยอยากให้เพลงเป็นสื่อออกไป”

แอ๊ดได้รับพระมหากรุณาธิคุณสูงสุด เมื่อในหลวง ร.9 ทรงลงมือแก้ไขบทเพลงนี้ด้วยพระองค์เอง

“เมื่อเสร็จแล้วต้องส่งเนื้อให้พระองค์ท่านพิจารณาซึ่งมีต้องแก้ไขบ้าง ท่านแก้บอกมาว่า 65 พรรษาไม่ได้ ต้องแก้เป็น 65 ปีที่ครองราชย์ ถ้าเป็น 19 พรรษาที่ขึ้นครองราชย์ได้ ท่านชี้แนะมาตรงนี้” ทั้งยังได้รับคำชมพระราชทานผ่าน “ดิศธร วัชโรทัย” (รองเลขาธิการสำนักพระราชวัง) ที่ได้เปิดเผยว่า ในหลวง ร.9 ตรัสชมว่า “แอ๊ด คาราบาว เก่งมากที่นำชื่อเรามาใส่ในเนื้อเพลงได้”

ในปี 2555 เขายังได้มีโอกาสขับร้องเพลงนี้เฉพาะพระพักตร์ ในโอกาสที่ ในหลวงร.9 เสด็จพระราชดำเนินยังทุ่งมะขามหย่อง จ.พระนครศรีอยุธยา นี่เป็นการขับร้องเฉพาะพระพักตร์ครั้งที่สอง และครั้งสุดท้ายของแอ๊ด

ในปีต่อมา เขาได้รับการยกย่องสูงสุดในฐานะ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี 2556

 

หลังการรัฐประหาร ปี 2557 หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ได้ร่วมสร้างละครเพลงพระมหาชนก เดอะฟีโนมีนอน ไลฟ์ โชว์ แอ๊ดได้ประพันธ์เพลง “พระมหาชนก“(2557) ในโอกาสสำคัญนี้ จุดเด่นของเพลงอยู่ที่การคัดส่วนสำคัญของพระราชนิพนธ์พระมหาชนก เกี่ยวกับต้นมะม่วงที่ให้ผลรสหวานอร่อยจึงมีคนมาแก่งแย่งกันเก็บผลลงมาบรรจุในเพลง

พระมหาชนกไม่ได้เพียงเป็นพระราชนิพนธ์ชิ้นสำคัญของในหลวง ร.9 แต่ยังเป็น allegory หรือนิทานเปรียบเทียบ ถึงในหลวง ร.9 ได้เป็นอย่างดี

ก่อนเริ่มการแสดงละครเวที ยังมีการขับร้องเพลง “นิทานแห่งแผ่นดิน”(2554) เพลงนี้ประพันธ์โดย “พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา” แอ๊ดได้ขับร้องในฐานะตัวแทนศิลปินจากภาคกลาง จุดเด่นอยู่ที่การถ่ายทอดความผูกพันธ์ระหว่างพระเจ้าแผ่นดิน และคนไทยที่มีมานับแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบัน

เพลง “คิดถึงพ่ออยู่หัว”(2557) ถ่ายทอดภาพ “พ่อทุ่มเทสุดตัว ทั้งคืนทั้งวันตั้งแต่วันจันร์ ไปยันวันเสาร์-อาทิตย์ พ่อไม่มีสิทธิ์จะหยุดงานเหมือนคนอื่นเขา เพราะว่าเรายังจน ยังจน จำไว้นะลูก” 

นี่คือเพลงสุดท้ายที่แอ๊ดประพันธ์ถวายก่อนความทุกข์ทวีจะมาสู่แผ่นดินในปีอีกสามปีต่อมา

 

หลังการสวรรคตเพียงสี่วัน แอ๊ดประพันธ์เพลง “พ่อภูมิพล”(2559) เน้นเล่าพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนา และใช้คำเรียกในหลวง ร.9 ด้วยคำที่หลากหลายเช่น “พ่อเจ้าอยู่หัว” “พ่อภูมิพล” “จอมกษัตริย์นักปราชญ์ ผู้หยาดเหงื่อหลั่งรดโลมดิน”

เมื่อใกล้พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ แอ๊ด ได้ร่วมกับ ว.วชิรเมธี ประพันธ์บทเพลงขึ้นอีกสองเพลง โดยแอ๊ดรับหน้าที่ประพันธ์ทำนอง และ ว.วชิรเมธี รับหน้าที่เขียนกวีนิพนธ์(คำร้อง) ได้แก่ “คืนสู่สวรรค์”(2560) และ “พ่อผู้เป็นนิรันดร์”(2560)

เขายังได้ประพันธ์คำร้องและทำนองเพิ่มอีกหนึ่งเพลง คือ เพลง “พระราชาโพธิสัตว์”(2560) โดยเปรียบในหลวง ร.9 เปรียบเสมือนพระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร ซึ่งบำเพ็ญเพียร “มาเพื่อดับทุกข์โศก บนแผนที่ประเทศไทย”

ในเวลาร่วม 20 ปี เพลงของ “ยืนยง โอภากุล” ร่วม 18 เพลง เล่าการเปลี่ยนแปลงของภาพจำ สถานะในหลวง ร.9 ผ่านเพลงแรก จนถึงเพลงสุดท้าย โดยสัมพันธ์กับนัยยะทางสังคม การเมือง ได้แหลมคมอย่างยิ่ง