หรือ ‘ระบบไม่เห็นหัวประชาชน’

ความพิลึกพิลั่นของการเมืองไทยคือความเชื่อที่ว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะยัง “สืบทอดอำนาจ” ต่อไปได้ ภายใต้ความต้องการเปลี่ยนแปลงของประชาชน หรือพูดง่ายๆ คือ “ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เอาแล้ว”

ผลสำรวจของ “นิด้าโพล” เรื่อง “คะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 4/2565” ไม่ใช่แค่ “น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร” จะนำห่าง “พล.อ.ประยุทธ์” ด้วยร้อยละ 34.00 กับร้อยละ 14.05 ซึ่งแค่ใกล้เคียงกับ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ที่ได้ร้อยละ 13.25

และ “พรรคเพื่อไทย” นำห่าง “พรรครวมไทยสร้างชาติ” แบบไม่เห็นฝุ่นคือร้อยละ 42.95 กับร้อยละ 6.95 ซึ่งแพ้หมดรูปแม้กระทั่ง “พรรคก้าวไกล” ที่ได้ถึงร้อยละ 16.60

เท่านั้น ที่สะท้อนความประหลาดที่ความเชื่อว่า “ผู้ที่มีแนวโน้มว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ให้ความนิยม” จะยัง “สืบทอดอำนาจ” ได้ต่อไป เหมือนกับประเทศนี้ไม่มีทางเลือก

แต่ที่น่าคิดกว่าตรงที่เมื่อไปดูรายละเอียดของการสำรวจนี้

 

ก่อนหน้านั้นมีความเชื่อกันว่า คงมีแค่ประชาชนกลุ่มที่มีความรู้ มีรายได้สูง และเป็นคนเมืองที่อยู่ใกล้ข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะที่เป็นคนรุ่นใหม่ คนหนุ่มคนสาวเท่านั้น ที่สัมผัสถึงความล้มเหลว เละแหลกของ “รัฐบาลอำนาจนิยม”

แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งการศึกษาไม่สูงนัก มีรายได้ไม่มาก และอยู่ชนบทซึ่งน่าจะห่างไกลข้อมูลข่าวสาร หรือเป็นผู้สูงวัยน่าเชื่อว่าจะยังไม่รับรู้ถึงความเหลวเละนั้น และไม่ได้ใส่ใจให้ความสำคัญมากนักว่าใครจะมาเป็นผู้นำประเทศ ขอเพียงใครก็ได้ที่แจกเงินให้ได้ใช้จ่ายพอประทั่งชีวิต

ทว่า เมื่อลงลึกในรายละเอียดของผู้ตอบแบบสำรวจ พบว่า

จำแนกเป็นอายุมากสุดคือ 46-59 ปี ร้อยละ 26.65, รองลงมาเป็น 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 23.70, อายุ 35-45 ปี ร้อยละ 18.95, อายุ 26-45 ปี ร้อยละ 17.80 และอายุ 18-25 ปี ร้อยละ 12.90

หมายว่าผลการสำรวจข้างต้นเป็นของผู้มีสิทธิรับเลือกตั้งในทุกกลุ่มอายุ แม้ผู้ตอบจะอยู่ในกลุ่มวัยคำตอบก็ไม่เปลี่ยนแปลง

ในเรื่องของการศึกษา มากที่สุดคือมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่าร้อยละ 37.90, รองลงมาเป็นประถมศึกษาหรือต่ำกว่าร้อยละ 26.70, ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 23.35, อนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.85, ที่สูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.20

ชัดเจนว่าผลโพลดังกล่าวไม่เกี่ยวกับระดับการศึกษา

เมื่อดูรายได้เฉลี่ยต่อเดือน มากสุดคือ 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 27.90, รองลงมาร้อยละ 22.05 ไม่มีรายได้, ร้อยละ 21.10 ไม่เกิน 10,000 บาท, ร้อยละ 11.00 ไม่ระบุ, ร้อยละ 9.45 รายได้ 20,001-30,000 บาท, ร้อยละ 4.75 รายได้ 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 3.75 รายได้ 30,001-40,000 บาท

ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย

นั่นหมายความว่าภาพรวมของ “ความเอือมระอาต่อรัฐบาลสืบทอดอำนาจ” นั้นไม่ใช่เรื่องของผู้ที่มีการศึกษา หรือมีรายได้สูงเท่านั้น แต่เป็นความรู้สึกที่กระจายไปในความนึกคิดของประชาชนทุกกลุ่ม