บันเทิงไทยใต้ร่มพระบารมี (1) : “เบิร์ด…เป็นนักร้องก็ดีที่หนึ่ง เป็นเกษตรกรก็ดีที่หนึ่ง”

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรก 27/10/2017

 

11 ตุลาคม 2559 หรือก่อนการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพียงสองวัน จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้เผยแพร่เพลง “เหตุผลของพ่อ” (2559) เดิมทีเพลงนี้ประพันธ์ในโอกาสทรงครองราชย์ครบ 70 ปี แต่แล้วก็ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ในฐานะ “เพลงเฉลิมพระเกียรติเพลงสุดท้ายก่อนการสวรรคต”

เพลงนี้ขับร้องโดยศิลปินที่มีผลงานการขับร้องเพลงเฉลิมพระเกียรติมากที่สุดคนหนึ่งของไทย “เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์”

เหตุผลของพ่อ ได้รับแรงบัลดาลใจจากเหตุการณ์จริง เมื่อ 19 สิงหาคม 2489 ในวันนั้นท่ามกลางพสกนิกรที่มาส่งเสด็จในหลวง ร.9 กลับไปทรงศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์ มีประชาชนคนหนึ่งตะโกนขึ้นมาว่า “ในหลวง อย่าละทิ้งประชาชน”

เหตุผลของพ่อ เริ่มต้นท่อนแรกด้วยประโยคเดียวกันนี้ “ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน มีบางคนตะโกนบอกพ่อวันนั้น” เพลงนี้ยกย่องการครองราชย์ตลอด 70 ปี เป็น “70 ปี พ่อไม่เคยทิ้งประชาชน”

และเป็นพระราชาที่ได้ยินเสียงของประชาชนเสมอ “เสียงเล็กเล็กของประชาชน สำหรับใครหลายคนคงไม่มีความหมาย แต่ใครกันที่ได้ยิน แต่ใครกันที่เข้าใจ”

ทุกเพลงของธงไชยเป็นเช่นนี้ คือบอกเล่าถึงชุดความสัมพันธ์ และระยะห่างของความสัมพันธ์ระหว่างในหลวง ร.9 กับคนไทยได้เป็นอย่างดี 

 

เป็นเวลาร่วม 20 ปีมาแล้ว ที่เสียงร้องของ “ธงไชย” ได้ขับขานรับใช้ราชสำนักในโอกาสสำคัญต่างๆ จนถึงวันนี้เขาขับร้องเพลงเฉลิมพระเกียรติมาแล้วร่วม 12 เพลง

ในโอกาส 50 ปีครองราชย์ เพลง “ต้นไม้ของพ่อ” (2539) ยกย่องในหลวง ร.9 ในฐานะ “พ่อ” ของครอบครัวที่ใหญ่โต พ่อที่อุทิศพระองค์ทรงปลูกต้นไม้ใหญ่ช่วยแผ่ร่มเงาให้ความร่มเย็นแก่ลูกๆ “พ่อได้ปลูกต้นไม้ไว้ให้เรา…พ่อใช้เหงื่อแทนน้ำรดลงไป เพื่อจะผลิดอกใบ ออกผล” เพลงนี้ประพันธ์โดย “นิติพงษ์ ห่อนาค” ได้กลายเป็นแม่แบบของการใช้คำว่า “พ่อ” ในเพลงเฉลิมพระเกียรติ เรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบัน

ต่อมาในโอกาส 60 พรรษา เพลง “ของขวัญจากก้อนดิน” (2542) ได้ขับเน้นความหมายของพระนามภูมิพลในฐานะพลังแห่งแผ่นดิน ผู้ผนึกให้ก้อนดินที่ “เปราะบาง ไร้ค่า ไร้ความหมาย” ได้รวมเป็นผืนดินเดียวกัน

ในท่ามกลางบริบททางเศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะเมื่อสังคมไทยเผชิญกับวิกฤต IMF และได้ทรงพระราชทานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต่อสังคมไทยเพื่อเป็นธงชัยในเวลาอันมืดมิด ยิ่งทำให้เพลงดังกล่าวมีความหมายต่อคนไทยอย่างมาก

หนึ่งในเพลงที่ถ่ายทอดจิตวิญญาณของสังคมไทยได้เป็นอย่างดีคือ เพลง “รูปที่มีทุกบ้าน” (2550) ประพันธ์ในโอกาส 80 พรรษา ในเพลงนี้ลูกสงสัยว่าแม่ของเธอกราบภาพใครก่อนจะนอน “แม่ตอบว่าให้กราบรูปนั้นทุกวัน ท่านเป็นเทวดาที่มีลมหายใจ… เป็นรูปที่มีทุกบ้าน จะรวยหรือจน หรือว่าจะใกล้ไกล” เป็นอย่างที่เพลงได้ว่าไว้ ภาพของพ่อปรากฏอยู่ทุกตารางนิ้วในประเทศนี้

เพลง “ตามรอยพระราชา” (2554) ประพันธ์ในโอกาส 84 พรรษา ถ่ายทอดความสงสัยของเด็ก โดยมีเบิร์ดซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนของพสกนิกรคนไทยเป็นผู้ตอบคำถาม “ทำไมพระราชาถือแผนที่เอาไว้ ท่านอยากจะทรงเห็นเมืองไทยได้ทุกที่ ทำไมพระราชาถึงไม่หยุดพัก ท่านไม่เคยหยุดพักเพราะรักเราหนักหนา”

ขณะที่ในโอกาส 85 พรรษา เบิร์ดได้ขับร้องเพลง “ในหลวงในดวงใจ” (2555) ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์สารคดี ชุด “My King ในหลวงของเรา” หนึ่งในสารคดีเล่าเรื่องพ่อที่สมบูรณ์ที่สุดชิ้นหนึ่งเท่าที่มีการผลิตมา

 

ย้อนกลับไปในวันสวรรคตเมื่อปีที่แล้ว หลังจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ ได้ตัดเข้าสู่แถลงการณ์ของสำนักพระราชวัง เรื่องเสด็จสวรรคต เมื่ออ่านแถลงการณ์จบก็ตัดเข้าสู่เพลง “พระราชาผู้ทรงธรรม” (2556) เป็นเพลงแรก

เพลงนี้ประพันธ์ในโอกาส 86 พรรษา เป็นเพลงที่ยกเอาพระปฐมบรมราชโองการบรรจุลงในเพลง “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม คือถ้อยคำที่พระองค์ทรงให้ไว้” ทรงเป็น “นิยามแห่งความดี” และทรงเป็น “ราชาผู้ทรงธรรม”

ธงไชย ยังได้มีโอกาสขับร้องเพลงเฉลิมพระเกียรติถวายแก่เจ้านายพระองค์อื่นๆ อีก เช่น เพลง “คือสายใย” (2549) ในโอกาสที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ทรงเจริญพระชันษา 1 พรรษา เบิร์ดยังได้เข้าทูลเกล้าฯ ถวาย ของทูลพระขวัญ และดีวีดีเพลง “คือสายใย” แด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระยศขณะนั้น) และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ อีกด้วย

เพลง “ส่งนางฟ้ากลับสวรรค์” (2551) ในโอกาสงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

เบิร์ดเล่าถึงเจ้านายพระองค์นี้ด้วยว่า “ทรงพระเมตตาให้เข้าเฝ้าฯ ทั้ง 2 พระองค์ ทั้งพระองค์ท่าน และสมเด็จย่า ที่สวิตเซอร์แลนด์ แม่พี่เบิร์ดก็ตำน้ำพริกถวาย ได้ร้องเพลงถวายพระองค์ท่านด้วย”

เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา เบิร์ดได้ขับร้องเพลง “สายใยแผ่นดิน” (2555) ยกย่องแม่ในฐานะ “สายใยแผ่นดิน “ศูนย์รวมใจ” แม่ทำให้เส้นไหมเป็นของมีราคา “จากเส้นไหมที่แสนบอบบาง จากเศษฟางเศษใบไม้ธรรมดา ได้มีเกียรติมีศักดิ์ศรี”

และเมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงจัดกิจกรรม “BIKE FOR MOM” เบิร์ดได้ขับร้องเพลง “รักที่ยิ่งกว่ารัก” (2558) ในโอกาสนี้ด้วย

เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ฉลองพระชนมายุ 5 รอบ เบิร์ดได้ขับร้องเพลง “รัตนราชกุมารี” (2558) ถวายเฉพาะพระพักตร์ ในปีนั้นยังมีการเผยแพร่คลิปเก่าในงานคอนเสิร์ตสายใจไทย ครั้งที่ 5 ในปี 2533

ในคลิปนั้น สมเด็จพระเทพฯ ทรงเป่าทรัมเป็ต เพลงคู่กัด โดยมีเบิร์ดเป็นผู้ขับร้องเพลง

เบิร์ดยังมีผลงานในการรับใช้สถาบันพระมหากษัตริย์อีกหลายชิ้น เช่น พากย์เสียงในการ์ตูนแอนิเมชั่น ทีวีซีรี่ส์ 3 มิติ “เบิร์ดแลนด์ แดนมหัศจรรย์” ตอน “ตามรอยพระราชา” ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากจากเยาวชนทั่วประเทศ

และแม้ว่าเบิร์ดจะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นนักร้องที่มีค่าตัวสูง และไม่ปรากฏตัวตามงานต่างๆ บ่อย เหมือนศิลปินคนอื่นๆ แต่ในงานใดที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันกษัตริย์ เขาจะตอบรับอยู่เสมอ

ธงไชย ถือได้ว่าหนึ่งในศิลปินที่มีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับราชสำนักอย่างมาก ดังเห็นได้จากพระมหากรุณาธิคุณที่ได้รับพระราชทานในโอกาสต่างๆ เช่น เมื่อเบิร์ดจัดคอนเสิร์ต ก็จะมีเจ้านายเสด็จไปทอดพระเนตรอยู่เสมอ เช่น เมื่อ 26 กรกฎาคม 2546 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า “ในระหว่างการแสดง สมเด็จพระบรมฯ ทรงพระสำราญ ทรงพระสรวล ทรงโบกแท่งพลาสติกเรืองแสง … และเมื่อการแสดงจบลง ธงไชยได้ขอพระราชทานพระราชวโรกาสเป็นผู้นำในหอประชุมขับร้องเพลง Happy Birthday ถวายสมเด็จพระบรมฯ ด้วย”

เมื่อเบิร์ดเข้าพิธีอุปสมบทในปี 2540 ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากเจ้านายถึงสามพระองค์ ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงขริบผม, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงขริบผมและประทานผ้าไตร, ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประทานผ้าไตรและเครื่องอัฐบริขาร

เมื่อแม่ของเบิร์ดถึงแก่กรรม และมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2544 ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วย ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ มาในการพระราชทานเพลิงศพ

 

หลังแม่จากไป เบิร์ดมีอาการ “ไม่ได้ทำงานเป็นชิ้นเป็นอัน มีอาการเหม่อลอย” แต่แล้วพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวง ร.9 ก็ช่วยชุบชีวิตเขาอีกครั้ง

“วันครบรอบวันราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระองค์ท่านทรงมีรับสั่งอยากให้เบิร์ดร้องเพลงที่พระราชวังไกลกังวล…เบิร์ดซ้อมไป 9 เพลง เข้าไปถึงปุ๊บก็กราบ พระองค์ท่านก็มองเรา ถามว่าตื่นเต้นหรือเบิร์ด ตื่นเต้นมากพระพุทธเจ้าค่ะ พระองค์ท่านบอกว่าขึ้นไปก็หลับตาร้องสิ เราก็ทำตามพระองค์ท่าน จากนั้นเราก็ไม่ได้ยินอะไรอีกเลย พอร้องเสร็จก็กราบกลางเวที พระองค์ท่านยกพระหัตถ์ปรบแล้วยิ้มนานมาก ในวันที่ใจเราไม่เหลือแล้ว เราตบหน้าอก เบิร์ดเศร้าไม่ได้แล้วแม่ ลูกแม่โชคดีที่สุดในโลกแล้ว ต้องกลับไปแข็งแรงให้เร็วที่สุดนะแม่นะ”

ต่อมา เบิร์ดยังได้มีโอกาสถวายการขับร้องเฉพาะพระพักตร์อีกหลายครั้ง หนึ่งในนั้น คือในงานวันประสูติของหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี หลังงานจบลง เบิร์ดได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ถวาย ข้าวจากไร่อุดมสุข ซึ่งเป็นไร่ของครอบครัวแมคอินไตย์ วันนั้นในหลวง ร.9 มีรับสั่งกับเขาว่า “ท่านรับสั่งว่า อ่านและรู้เรื่องของเบิร์ดหมดแล้ว เบิร์ดเป็นนักร้องก็ดีที่หนึ่ง เป็นเกษตรกรก็ดีที่หนึ่ง”

เบิร์ด เคารพรัก “หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี” (ประธานมูลนิธิโครงการหลวง)  เหมือนพ่อคนหนึ่ง “ในงานประสูติของหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ซึ่งเบิร์ดเรียกว่าท่านพ่อ พระองค์ (ในหลวง ร.9) ทรงตรัสว่าถ้าเป็นลูกท่านภี ต้องเรียกชายเบิร์ด ไม่อยากให้เรียกว่าป๋าเบิร์ด

เมื่อ 26 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา ธงไชยยังเป็นหนึ่งในศิลปินไม่กี่คนที่ได้ร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง ในฐานะพลเรือนผู้มีตำแหน่งเฝ้าฯ อีกด้วย

เสียงร้องของธงไชยถ่ายทอดจิตวิญญาณของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี แทบทุกเพลงซึมลึกในสำนึกแห่งความภักดีของคนไทยโดยไม่รู้ตัว เหล่านี้ทำให้ธงไชยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากราชสำนัก เป็นรางวัลแห่งชีวิตชนิดที่ไม่บ่อยนักที่จะมีศิลปินคนใดในประเทศนี้เคยได้รับ