ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : นายฮ้อยทมิฬ เมื่ออีสานประกาศอิสรภาพทางวัฒนธรรม

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ทุกคนรู้ว่ากรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย แต่ก็อย่างที่ทุกคนรู้ กรุงเทพฯ พยายามกำกับวาระของประเทศทุกเรื่องมาโดยตลอด

ปัญหาแทบทุกมิติของประเทศนี้วนเวียนกับการจรรโลงอำนาจกรุงเทพฯ ท่ามกลางการท้าทายของประเทศส่วนนอกกรุงเทพฯ

การไม่เข้าใจว่าประเทศนี้เปลี่ยนไปคือหนึ่งในต้นตอของความขัดแย้งในประเทศนี้เสมอมา

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีละครสองเรื่องที่ชะตากรรมย้อนแย้งจนชวนให้ใช้สมองคิดอย่างจริงจังมาก

ละครเรื่องหนึ่งถูกพูดถึงเยอะในโซเชียลและคนกรุงเทพฯ แต่เรตติ้งระดับประเทศไม่ได้โดดเด่นเท่าเสียงฮือฮานัก

ขณะที่ละครอีกเรื่องแทบไม่มีโซเชียลกรุงเทพฯ พูดถึงเลย ขณะที่เรตติ้งพุ่งแรงแซงเรื่องแรกไปแบบเกินเท่าตัว

พูดชัดๆ ละครเรื่องแรกคือ “รากนครา” ซึ่งมีเรตติ้งราว 3-4

ส่วนละครเรื่องหลังคือ “นายฮ้อยทมิฬ” ซึ่งเรตติ้งขยับจาก 7 ไป 9 และอาจพุ่งถึง 10 ทั้งที่ในโลกโซเชียลของคนเมือง คนพูดถึงนายฮ้อยน้อยกว่าดราม่าเชียงพระคำแบบไม่ต้องเทียบกัน

พูดสั้นๆ คนกรุงไม่สนนายฮ้อย เลยไม่รู้ต่อไปว่าความสำเร็จของนายฮ้อยสะท้อนการเปลี่ยนไปของประเทศไทย

และเรตติ้งที่สูงขนาดนี้แสดงความแข็งแกร่งของอีสานทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม

นายฮ้อยทมิฬเป็นงานเขียนปี 2520 ของนักเขียนที่แม่นยำที่สุดของยุคในเรื่องอีสาน “คำพูน บุญทวี” เคยถีบสามล้อ ขายยาเร่ เป็นกรรมกร คุมคุก ฯลฯ และโด่งดังจาก “ลูกอีสาน” ที่ต่อมาเป็นหนังโกยตุ๊กตาทองของยุคนั้น

ในแง่นี้ ละครเรื่องนี้สร้างจากหนังสือของนักเขียนที่แข็งแกร่งเรื่องอีสานที่สุดคนหนึ่งของประเทศ ชีวิตคนเขียนอยู่ในงานเขียน และเมื่องานเขียนพัฒนาเป็นละครทีวี นี่จึงเป็นหนึ่งในงานที่ประสบความสำเร็จตลอดมา

ในกรณีของนักแสดง นายฮ้อยทมิฬมีจุดเด่นที่นักร้องซึ่งเป็นตัวแทนอีสานรากหญ้า นักแสดงอย่าง ไผ่ พงศธร ทำเพลงบนภาพแทนหนุ่มโรงงานอีสานในเมืองใหญ่มานานแล้ว

ไมค์ ภิรมย์พร รับบทแบบนี้ในละครปี 2544 ช่วงที่เขามีภาพแทนกรรมกรก่อสร้าง เช่นเดียวกับ จินตหรา พูนลาภ ซึ่งมีภาพแทนกรรมกรหญิงในอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยมาหลายสิบปี

นายฮ้อยทมิฬเป็นละครที่พระเอกเป็นตัวประกอบในฉากใหญ่ของคนอีสานครับ พระเอกนางเอกปี 2544 คือศรัณยูกับใครอีกคนซึ่งเราจำกันแทบไม่ได้แล้ว แต่ไมค์กับจินตหรา เรายังเห็นหน้าค่าตาเขาเรื่อยจนปัจจุบัน

คนไม่ได้ดูนายฮ้อยทมิฬเพราะพระเอกนางเอก เขาดูเพราะความเป็นอีสานซึ่งบังเอิญมีพระเอกนางเอกคู่นั้นอยู่ตรงกลาง ในอีกสิบปีจะไม่มีใครจำนายฮ้อยเคนหรือฝนปุ๊กลุกได้ แต่ไผ่หรือปอยฝ้ายจะอยู่ในอุตสาหกรรมนี้แน่นอน

ดูวิธีวางตัวนักแสดงก็เห็นแล้วว่าทีมกำกับเห็นพลังมวลชนของแรงงานอีสาน ซึ่งพูดจริงๆ ก็คือคนกลุ่มใหญ่สุดของชนชั้นแรงงานไทยตลอดหลายสิบปี

เรื่องของภาษาที่ใช้ในละครก็น่าสนใจ แน่นอนว่านายฮ้อยทมิฬเป็นเรื่องอีสาน ตัวละครต้องพูดอีสานอยู่แล้ว ประเด็นคือละครฉบับปี 2544 พูดอีสาน แต่ไม่เข้มข้นขนาดต้องมีคำบรรยายประกอบครับ ขณะที่ละครปี 2560 พูดอีสานเข้มข้นมากจนต้องมีคำบรรยายภาษากลางให้คนดูทั่วไปเข้าใจ

ความภูมิใจในภาษาและวัฒนธรรมอีสานเป็นบุคลิกที่เด่นชัดมากของละครเรื่องนี้ในรอบนี้ และความมั่นใจในของพลังอีสานก็มากพอจะทำให้ผู้กำกับทำละครในช่องระดับชาติโดยพูดภาษาอีสานล้วนๆ แบบไม่กลัวมีปัญหาเรื่องคนดู

น่าสังเกตนะครับว่าหนึ่งใน “ดราม่า” ที่เกิดขึ้นตอนละครเรื่องนี้ออกอากาศก็เกี่ยวกับเรื่องภาษาอีสานเหมือนกัน คุณสุรสีห์ ผาธรรม หนึ่งในผู้กำกับฯ ที่ทำเรื่องอีสานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยุค “ครูบ้านนอก” จนถึง “ราชินีดอกหญ้า” ทักว่านายฮ้อยทมิฬมีตัวละครหลักที่พูดภาษาอีสานเพี้ยน จากนั้น “โซเชียล” ก็เถียงกันว่าเพี้ยนหรือคุณสุรสีห์คิดมากเกินไป

อย่างไรก็ดี ตำแหน่งแห่งที่ของคุณสุรสีห์ในอุตสาหกรรมหนังไทยคือคนที่ทำหนังเรื่องอีสานมาเกือบหนึ่งทศวรรษในช่วง 2520-2530 “ครูบ้านนอก” คืองานคลาสสิคที่ทำให้เรื่องอีสานมีที่ยืนในระบบหนังของประเทศ มันยิ่งใหญ่จน หม่ำ จ๊กมก หยิบงานนี้มาทำซ้ำในปี 2553 การทักเรื่องภาษาอีสานมาจากผู้กำกับฯ ที่บุกเบิกการทำหนังอีสานของประเทศไทย

ภายใต้ดราม่าเรื่องนายฮ้อยพูดอีสานชัดหรือไม่ สิ่งที่คุณสุรสีห์กำลังทำคือการพูดภาษาอีสานให้ชัดเจนและถูกต้องนั้นเป็นมาตรฐานที่ต้องเป็นเช่นเดียวกับการพูดภาษาภาคกลาง

ในแง่นี้ แค่ดราม่าที่เกี่ยวกับภาษาในละครเรื่องนี้ก็สะท้อนการต่อสู้ทางวัฒนธรรมที่มีนัยยะสำคัญ

ละครคือการสื่อสารทางสังคม และในฐานะที่เคยเรียนเรื่องวัฒนธรรมศึกษาแบบข้ามชาติมาบ้าง ความสำเร็จของละครเรื่องนี้ชวนสังคมไทยให้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงสามเรื่องครับ

เรื่องที่หนึ่ง ความเป็นอีสานคือทุนทางวัฒนธรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ความสำเร็จของละครนายฮ้อยทมิฬเกิดจากความเข้าใจเรื่องนี้และสร้างงานที่ตอบโจทย์นี้อย่างแม่นยำ

เรื่องที่สอง ความรู้สึกแบบท้องถิ่นนิยมเป็นฐานทางวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งมากของ “ความเป็นอีสาน” ต่อให้คนอีสานจะอพยพไปทำงานหรือตั้งรกรากในพื้นที่ไหนก็ตาม

เรื่องที่สาม การเคารพอัตลักษณ์และวัฒนธรรมอีสานสำคัญต่อการสร้างความเป็นชาติที่แข็งแกร่งในประเทศ และประเทศไทยเลี่ยงไม่ได้ที่จะสร้างชาติบนความเป็นพหุสังคมวัฒนธรรม

ตราบใดที่คนกรุงเทพฯ ยังไม่รู้ว่านายฮ้อยทมิฬดังขนาดไหน ตราบนั้นคนกรุงเทพฯ จะไม่มีวันเข้าใจว่าคนส่วนใหญ่อยู่นอกกรุงเทพฯ และกรุงเทพฯ คือส่วนเล็กของประเทศไทย