ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 สิงหาคม - 1 กันยายน 2559 |
---|---|
ผู้เขียน | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ |
เผยแพร่ |
ในการประเมินความล้มเหลวของฝ่าย “ไม่รับ” ในการออกเสียงเรื่องร่างรัฐธรรมนูญวันที่ 7 สิงหาคม ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ต้องตระหนักตั้งแต่ต้นคือฝ่าย “ไม่รับ” มีองค์ประกอบที่หลากหลาย และแต่ละกลุ่มก็มีเหตุผลในการ “ไม่รับ” ต่างกัน
กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ “ไม่รับ” ด้วยเหตุเรื่องประชาธิปไตย, นปช. ไม่รับเพราะต่อต้านการสืบทอดอำนาจ, ประชาสังคมสามจังหวัดชายแดนใต้ไม่รับด้วยเรื่องศาสนา, กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพไม่รับเพราะกลัวบัตรทองถูกล้ม, NGO ไม่รับเพราะประเมินร่างมีชัยเปิดทางให้รัฐละเมิดประชาชนง่ายขึ้น
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ไม่รับเพราะมองว่าร่างนี้สิทธิเสรีภาพเลวลงกว่ารัฐธรรมนูญ 2550, ใช้แล้วประเทศเดินหน้าไม่ได้ และร่างนี้ปราบโกงไม่จริง เพราะเอื้อให้นายกฯ ฮั้วกับ ป.ป.ช. ฯลฯ
พูดง่ายๆ ฝ่าย “ไม่รับ” ประกอบด้วยเหตุผลสามกลุ่ม กลุ่มแรก ไม่รับเพราะเรื่องประชาธิปไตย กลุ่มที่สอง ไม่รับเพราะผลที่ร่างรัฐธรรมนูญมีต่อนโยบายสาธารณะ ส่วนกลุ่มที่สาม ไม่รับเพราะเรื่องปราบโกงไม่จริงและใช้ไปก็บริหารประเทศไม่ได้ ซึ่งกล่าวอีกนัยคือเป็นเหตุผลเชิงปฏิบัติโดยสมบูรณ์
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความเห็นฝ่าย “ไม่รับ” ก่อรูปขึ้นจากที่มาซึ่งหลากหลาย การรณรงค์ของฝ่าย “ไม่รับ” กลับดำเนินไปโดยมีเนื้อหาซึ่งไม่ได้ครอบคลุมที่มาอันหลากหลายทั้งหมด
การขับเคลื่อนประเด็น “ไม่รับ” ผ่านสื่อถูกให้น้ำหนักไปที่ประเด็นความไม่เป็นประชาธิปไตยในร่างรัฐธรรมนูญของนายมีชัยอย่างเต็มที่
ส่วนประเด็นผลต่อนโยบายสาธารณะหรือปราบโกงไม่ได้นั้นแทบไม่ปรากฏในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน
สรุปให้สั้นลงไปอีกก็คือขณะที่โจทย์ที่เป็นจริงคือการต่อสู้เพื่อช่วงชิงคะแนนเสียงของสังคมว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมีชัย ยุทธวิธีที่กลุ่มรณรงค์ไม่รับเลือกใช้คือการโจมตีความไม่เป็นประชาธิปไตยเหนือกว่าประเด็นอื่นแทบจะสมบูรณ์
มองในภาพรวมแล้ว กลุ่มรณรงค์ “ไม่รับ” แทบไม่พูดประเด็นปราบโกงหรือผลต่อนโยบายสาธารณะเลยแม้แต่นิดเดียว
การขับเคลื่อนสองประเด็นนี้เกิดขึ้นโดยพรรคประชาธิปัตย์และภาคประชาสังคมซึ่งก็ทำไปในรูปแบบและขอบเขตที่จำกัดมาก นั่นก็คือการแถลงข่าวและแสดงความคิดเห็นตามโอกาสที่สื่อมวลชนอำนวย
ตรงข้ามกับกลุ่มไม่รับซึ่งมีที่มาหลากหลายแต่เลือกพูดกับสังคมโดยให้น้ำหนักที่ประเด็นประชาธิปไตย กลุ่มโหวตรับให้น้ำหนักกับประเด็น “ปราบโกง” จนกล่าวได้ว่าคำว่า “รัฐธรรมนูญปราบโกง” เป็นสิ่งที่ประชาชนได้ยินจากผู้ร่างรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น การตอบโต้ประเด็นผลของรัฐธรรมนูญต่อนโยบายสาธารณะนั้นมีให้เห็นบ้างเล็กน้อย ส่วนปัญหาประชาธิปไตยเป็นเรื่องฝ่ายที่โหวตรับไม่พูดถึงเลย
เห็นได้ชัดว่าฝ่ายรับกับฝ่ายไม่รับมียุทธวิธีการสื่อสารกับสังคมที่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง ความเป็นประชาธิปไตยเป็นประเด็นที่กลุ่มรณรงค์ฝ่าย “ไม่รับ” ให้ความสำคัญสวนทางกับฝ่ายรับ ส่วนประเด็น “ปราบโกง” เป็นเรื่องที่ฝ่ายรับให้ความสำคัญสวนทางกับฝ่ายรณรงค์ “ไม่รับ” ร่างมีชัย
แน่นอนว่าผลการออกเสียง 7 สิงหาคม คือหลักฐานว่าฝ่ายรับประสบความสำเร็จในการสื่อสารกับสังคม ถึงแม้กฎหมายประชามติจะทำให้การออกเสียงเรื่องร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ห่างไกลจากบรรทัดฐานของประชามติที่เข้าใจกันทั้งโลก เช่นเดียวกับบรรยากาศการเมืองที่คุกคามคนเห็นต่างและฝ่ายไม่รับอย่างไม่ขาดสาย
แต่ความล้มเหลวในการเชิญชวนให้ประชาชนลงคะแนน “ไม่รับ” ก็แสดงให้เห็นความพ่ายแพ้ของการรณรงค์ฝ่ายไม่รับอยู่ดี
คำถามคือ ทำไมประเด็นประชาธิปไตยไม่สามารถชักชวนให้ประชาชนไปลงคะแนน “ไม่รับ” ได้อย่างที่กลุ่มรณรงค์ฝ่ายไม่รับต้องการ?
ในการขับเคลื่อนประเด็นประชาธิปไตยเพื่อให้ได้คะแนนเสียงจากสาธารณะ กลุ่มรณรงค์ “ไม่รับ” ให้น้ำหนักในการสื่อสารว่าประชาธิปไตยคือระบบหนึ่งคนหนึ่งเสียง ประชาธิปไตยยึดหลักคนเท่ากัน ประชาธิปไตยคือการปกครองที่เคารพสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตยทำให้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน ฯลฯ หรือสรุปสั้นๆ คือประชาธิปไตยคือการปกครองโดยเสียงส่วนใหญ่ภายใต้หลักการว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน
พูดอย่างรวบรัดที่สุด ฝ่าย “ไม่รับ” เชิญชวนให้คนไปลงคะแนนเสียงโดยรวมศูนย์การนิยามประชาธิปไตยในเชิงอุดมการณ์
ถ้าถือว่าการลงคะแนนเสียงร่างรัฐธรรมนูญพอจะเทียบเคียงได้กับการลงคะแนนเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แนวทางในการเชิญชวนให้คนไปลงคะแนน “ไม่รับ” โดยอิงเหตุผลเชิงอุดมการณ์ก็เป็นการตัดสินใจที่น่าประหลาดใจมาก
เพราะการเลือกตั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไม่เคยปรากฏว่ามีพรรคการเมืองใหญ่พรรคไหนใช้อุดมการณ์ดิบๆ ประเภท “เสียงส่วนใหญ่” หรือ “คนเท่ากัน” ระดมให้ประชาชนลงคะแนน เช่นเดียวกับการเลือกตั้งผู้บริหารระดับท้องถิ่นทั้งของกรุงเทพฯ และนอกกรุงเทพฯ ออกไป
ในการเลือกตั้งระดับประเทศ ชัยชนะของพรรคไทยรักไทยและเพื่อไทยมาจากการเสนอนโยบายสาธารณะที่ตรงความต้องการประชาชนแต่ละกลุ่ม
กล่าวคือ นโยบายรถและบ้านคันแรกตอบสนองคนชั้นกลาง นโยบายค่าแรง 300 บาท ตอบสนองผู้ใช้แรงงาน นโยบายจำนำข้าวตอบสนองชาวนา นโยบายสามสิบบาทตอบสนองประชาชนทั้งหมด นโยบายรถเมล์ฟรี รถไฟฟรีตอบสนองผู้มีรายได้น้อย หรือไม่อย่างนั้นก็คือการอิงความนิยมที่ประชาชนมีต่ออดีตนายกฯ ทักษิณในกรณีพรรคพลังประชาชน
สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ชัยชนะของพรรคประชาธิปัตย์ในกรณี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ มาจากการระดมคะแนนเสียงคนที่ไม่ชอบ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร โดยวิธีปลุกกระแส “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” หรือในกรณีผู้ว่าฯ อภิรักษ์ มาจากคุณสมบัติที่โดดเด่นกว่าอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับผู้สมัครผู้ว่าฯ ของพรรคพลังประชาชน
แม้จะพูดได้ว่าชัยชนะของพรรคไทยรักไทยและเพื่อไทยเป็นชัยชนะตามระบอบประชาธิปไตย แต่การสรุปว่าทั้งสองพรรคระดมคะแนนเสียงประชาชนด้วยอุดมการณ์ประชาธิปไตยก็ออกจะเป็นข้อสรุปที่ไปไกลอยู่มาก
เช่นเดียวกับแม้จะพูดได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เพราะกระแสอนุรักษนิยม
แต่การสรุปว่าประชาธิปัตย์ระดมคะแนนเสียงประชาชนจากอุดมการณ์อนุรักษนิยมก็เป็นเรื่องที่ไกลเกินไปเหมือนกัน
ในกรณีของประชาธิปัตย์ และไทยรักไทย/พลังประชาชน/เพื่อไทย อย่างมากที่สุดที่เราพูดได้ก็คือพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งในระดับชาติและระดับประเทศล้วน “แปล” อุดมการณ์ไปเป็นเรื่องรูปธรรมอย่างนโยบายและตัวบุคคล
อย่าลืมว่าเป็นรัฐบาลนายกฯ ทักษิณและพรรคไทยรักไทยนี่เองที่นักวิชาการบอกว่าเป็นยุคที่คำว่า “ประชาธิปไตยกินได้” มีความหมายอย่างที่ควรเป็น นั่นก็คือการเลือกตั้งในกติกาประชาธิปไตยให้กำเนิดนโยบายสาธารณะที่ทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดี
แม้ในอเมริกาซึ่งเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาพฤติกรรมลงคะแนนของประชาชนมากที่สุด ปัจจัยที่มีผลต่อการลงคะแนนของประชาชนมีหลากหลายตั้งแต่ความรู้สึกร่วมในสังคม, ผลที่คาดหมายว่าจะเกิดหลังลงคะแนน, ความพอใจตัวบุคคล, การเมืองเรื่องเครือข่าย, การให้คุณค่าต่อเรื่องต่างๆ ฯลฯ โดยที่อุดมการณ์เป็นเพียงปัจจัยเล็กๆ ปัจจัยเดียวเท่านั้น
ในแง่นี้ การรณรงค์ที่ให้น้ำหนักแต่เหตุผลเชิงอุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นการตัดโอกาสในการระดมคะแนนเสียงฝ่าย “ไม่รับ” ให้จำกัดอยู่แค่ผู้สนใจการเมืองในมิติของอุดมการณ์ ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้นคนเราอาจ “ไม่รับ” ได้ด้วยเหตุผลที่หลากหลาย แต่ประตูที่เปิดไปสู่ประชากรซึ่งมีศักยภาพจะลงคะแนนให้ฝ่ายไม่รับกลับมีอยู่เพียงประตูเดียว
มองย้อนหลังกลับไป ฝ่ายไม่รับที่มีประสบการณ์และศักยภาพในการระดมคะแนนเสียงมากกลุ่มหนึ่งได้แก่พรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็น่าสังเกตว่าประชาธิปัตย์เลือกจะชูประเด็น “ไม่รับ” ด้วยเหตุผลเรื่อง “ปราบโกง” โดยอธิบายว่าร่างมีชัยนั้นปราบโกงน้อยไป และเอื้ออำนวยให้เกิดการสมประโยชน์ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องกับการตรวจโกง
เป็นไปได้หรือไม่ว่าหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ฝ่าย “ไม่รับ” พ่ายแพ้คือความไม่สามารถตอบประเด็นที่ฝ่ายรับชูธงมาตลอดอย่าง “ปราบโกง” มากกว่าการตอบแบบสูตรสำเร็จว่าการแก้ปัญหาปราบโกงที่ดีที่สุดคือการแก้ด้วยระบบประชาธิปไตย?