แพทย์ พิจิตร : การเปลี่ยนแปลงแบบแผนการยุบสภาของอังกฤษ (12)

การที่อังกฤษเปลี่ยนแปลงกติกา (หรือประเพณีการปกครอง) การยุบสภาโดยออก พ.ร.บ. “วาระที่ตายตัวของรัฐสภา” (Fixed-term Parliament Act) ในปี ค.ศ.2011 แสดงให้เห็นถึงอีกขั้นหนึ่งของวิวัฒนาการของประเพณีการปกครองของอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับการยุบสภา

ที่เริ่มต้นจากการที่อำนาจดังกล่าวอยู่ในมือของพระมหากษัตริย์เท่านั้น

ต่อมาเป็นคณะรัฐมนตรี

และในที่สุดเป็นของนายกรัฐมนตรี

และต่อมาในศตวรรษที่ยี่สิบ ก็เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับอำนาจในการยุบสภาตามความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรีว่าจะนำไปสู่ภาวะที่เรียกว่า “เผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง” (elective dictatorship) รวมทั้งความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในการเลือกตั้งที่รัฐบาลมักจะเป็นฝ่ายได้เปรียบฝ่ายค้าน

อีกทั้งการที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการยุบสภาตามที่ตนเห็นชอบมักส่งผลให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจอิทธิพลเหนือรัฐมนตรีร่วมพรรคและร่วมรัฐบาล รวมทั้ง ส.ส. ในพรรคของตนในสภาด้วย

จะเห็นได้ว่า หลักการและเหตุผลในการออก พ.ร.บ. ดังกล่าวนี้เพื่อมุ่งการแก้ไขปัญหาที่เพิ่งกล่าวไป

และรวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับความคลุมเครือของพระราชอำนาจในการปฏิเสธคำแนะนำในการยุบสภา

ด้วยการสร้างความชัดเจนเพื่อป้องกันการใช้กลไกของการยุบสภาเพียงเพื่อผลประโยชน์ในทางการเมืองเฉพาะของตัวนายกรัฐมนตรีหรือพรรคการเมือง

เพราะการถวายคำแนะนำในการยุบสภาที่ไม่สมเหตุสมผลโดยนายกรัฐมนตรีจะส่งผลกระทบต่อองค์พระมหากษัตริย์

ซึ่งเท่ากับนำสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาเกี่ยวข้องพัวพันกับความขัดแย้งทางการเมือง

พ.ร.บ. ดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายที่จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย

การลดทอนความเป็นไปได้ในการยุบสภาและกำหนดกระบวนการยุบสภาที่ต้องริเริ่มและมาจากตัวสภาเองอย่างชัดเจน

ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงประเพณีการปกครองที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการยุบสภาผู้แทนราษฎรในอังกฤษให้มาอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจนแทน

และให้ความสำคัญต่อเสียงข้างมากพิเศษที่ต้องมีเสียงรับรองอย่างน้อยสองในสามของสภาผู้แทนราษฎรในการยุบสภาผู้แทนราษฎรก่อนสภาครบวาระ

และหากพิจารณาภายใต้กรอบของทฤษฎีรูปแบบการปกครองแบบผสม ที่มีสมมุติฐานว่า ทุกรูปแบการปกครองจะมีองค์ประกอบของอำนาจ 3 ส่วน อันได้แก่

หนึ่ง อำนาจที่อยู่ในมือของคนคนเดียวหรือที่เรียกว่า the One

สอง อำนาจที่อยู่ในมือของกลุ่มคนหรือที่เรียกว่า the Few

และ สาม อำนาจที่อยู่ในมหาชนหรือที่เรียกว่า the Many

โดยที่กฎกติกาหรือประเพณีการปกครองในแต่ละที่จะกำหนดช่องทางการแสดงออกของอำนาจทั้งสามนี้อย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ จะให้อำนาจส่วนใดมากหรือน้อย และจะให้อำนาจส่วนใดเป็นอำนาจนำหรือเป็นจุดที่เป็นแกนกลางของทั้งหมด ก็แล้วแต่บริบทและช่วงเวลาของประวัติศาสตร์

และในกรณีของอังกฤษ แผนภาพจะช่วยให้เห็นวิวัฒนาการกติกาการยุบสภาของอังกฤษที่เปลี่ยนแปลงมาในประวัติศาสตร์ภายใต้กรอบ the One และ the Few

 

จากที่กล่าวไปคือ “ใคร” ในอังกฤษมีอำนาจในการยุบสภา ส่วนสาเหตุของการยุบสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษนั้น จากการศึกษาสาเหตุของการยุบสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษในช่วง ค.ศ.1868-1970 ของ Markesinis ผู้เขียนสามารถประมวลและจัดประเภทของสาเหตุการยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ดังนี้คือ

ความขัดแย้งระหว่างสองสภา 2 ครั้ง

สภาใกล้หมดวาระ 7 ครั้ง

ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสภา 5 ครั้ง

สภาไม่สามารถเป็นทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้เลือกตั้งได้ 4 ครั้ง

เป็นเรื่องปัญหาการเมืองภายในพรรค 13 ครั้ง

และเพื่อขอให้ประชาชนตัดสินบางประเด็นของนโยบายสาธารณะ 7 ครั้ง

และจากการศึกษาการยุบสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษในช่วงระหว่าง ค.ศ.1868-1970 ของ Markesinis ทำให้เขาประเมินว่า โดยภาพรวมแล้ว กล่าวได้ว่า มีการใช้การยุบสภาผู้แทนราษฎรไปอย่างถูกต้องเหมาะสม

แต่เขาเตือนว่า มุมมองดังกล่าวที่ว่า ไม่ได้มีการใช้การยุบสภาผู้แทนราษฎรไปอย่างฉ้อฉลนี้ ไม่ควรจะทำให้เราตายใจและประเมินการยุบสภาผู้แทนราษฎรต่ำเกินไป โดยไม่ตระหนักถึงภยันตรายและความไม่มั่นคงปลอดภัยที่ซ่อนอยู่ในความถูกต้องในสิทธิ์การถวายคำแนะนำในการยุบสภาผู้แทนราษฎรที่อยู่ในมือของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

ซึ่งอย่างที่กล่าวไปข้างต้น ต่อมาในปี ค.ศ.2011 จากการออก พ.ร.บ. “วาระที่ตายตัวของรัฐสภา” (Fixed-term Parliament Act) ถือเป็นวิวัฒนาการของประเพณีการปกครองของอังกฤษที่ต้องการจะลดทอนปัญหาและภยันตรายที่อาจเกิดจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรที่ Markesinis ได้ให้ไว้เมื่อปี ค.ศ.1972

 

ส่วนการยุบสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษหลัง ค.ศ.1970 จนถึง 2001 คุณหนึ่งฤทัย อายุปานเทวัญ ใน ปัญหาการยุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาโทสาขานิติศาสตร์ของเธอที่ทำที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หนึ่งฤทัยได้ทำการศึกษาค้นคว้าไว้ว่ามีทั้งสิ้น 8 ครั้ง และผู้เขียนสามารถประมวลและจัดประเภทของสาเหตุการยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ดังนี้คือ

เกิดสภาวะที่เรียกว่า hung parliament นั่นคือ พรรคที่ชนะการเลือกตั้งไม่ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แม้ว่าหัวหน้าพรรคที่ชนะการเลือกตั้งจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีแต่อ่อนแอ จึงตัดสินใจให้มีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่

และผลการเลือกตั้งทำให้มีพรรคที่ได้คะแนนเสียงข้างมากในที่สุด

รัฐบาลสูญเสียความไว้วางใจในสภา

สภาใกล้หมดวาระ

เพื่อขอให้ประชาชนตัดสินบางประเด็นของนโยบายสาธารณะ

ซึ่งหากพิจารณาภายใต้กรอบของ Markesinis แล้ว สำหรับการยุบสภาผู้แทนราษฎรในอังกฤษหลัง ค.ศ.1970 จนถึง ค.ศ.2001 ก็คงกล่าวได้เช่นกันว่าเป็นการใช้การยุบสภาผู้แทนราษฎรที่ถูกต้องเหมาะสม

และผู้เขียนเชื่อว่า Markesinis ก็จะยังคงมีความเห็นและคำเตือนต่อภยันตรายและความไม่มั่นคงที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากสิทธิ์ในการถวายคำแนะนำในการยุบสภาของนายกรัฐมนตรีไม่ต่างจากที่เขาได้ให้ไว้ในปี ค.ศ.1970

นอกจากนี้ ถ้าพิจารณาในภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นการยุบสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษและรวมทั้งในประเทศอื่นๆ แล้ว Markesinis ได้สรุปถึงสาเหตุกว้างๆ ของการยุบสภาผู้แทนราษฎรก่อนครบวาระไว้ดังนี้คือ

1. พรรคฝ่ายรัฐบาลสูญเสียคะแนนเสียงข้างมากในสภาจากการลงมติต่อร่างกฎหมายที่สำคัญ

2. มีการลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจการบริหารงานของรัฐบาล

3. ในกรณีที่มีความขัดแย้งระหว่างสองสภา-เช่น ระหว่างสภาผู้แทนกับวุฒิสภา—ในระบบสองพรรค

4. ในกรณีที่รัฐบาลหวังจะทำให้สถานะของตนเข้มแข็งขึ้นโดยจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจว่าพอใจกับผลงานที่ผ่านมาหรือนโยบายที่จะนำเสนอขึ้นใหม่

5. ในบางประเทศ หากเกิดปัญหาเกี่ยวกับไม่มีผู้ครองราชบัลลังก์ (ในกรณีระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ) ต้องมีการยุบสภา เพื่อให้ประชาชนเลือกตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ เข้ามาใหม่ โดยเป็นที่รู้กันว่าตัวแทนที่ประชาชนเลือกไปครั้งนี้ จะทำหน้าที่ลงมติรับรองผู้สืบราชสันตติวงศ์

6. มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งสองประการหลังนี้ การยุบสภาจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ (เฉพาะในประเทศเบลเยียม เกิดขึ้นถึง 5 ครั้งจากสาเหตุแก้ไขรัฐธรรมนูญใน ปี ค.ศ.1892, 1919, 1954, 1958, 1965)

ที่กล่าวมานี้คือ กรอบทางทฤษฎีหรือหลักการกว้างๆ ที่กำหนดเงื่อนไขของการยุบสภาไว้ ซึ่งในกรณีที่สี่มักจะมีผู้ตีความว่า การยุบสภาเป็นอาวุธของฝ่ายรัฐบาลในการต่อสู้กับการลงมติไม่ไว้วางใจ หรือในกรณีที่ชิงความได้เปรียบ

ผู้เขียนเห็นว่า น่าสนใจที่จะลองเปรียบเทียบกับการยุบสภาของไทยที่ผ่านมาตั้งแต่ พ.ศ.2475!