ต่างประเทศอินโดจีน : และแล้ว “ฤดูล่า” ก็มาถึง!

ช่วงเวลาสั้นๆ ชั่วสองสามสัปดาห์ นักสังเกตการณ์ด้านการเมืองและสิทธิมนุษยชนบอกว่า สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในกัมพูชา เปลี่ยนแปลงไปในทางเลวร้ายลงจนกลายเป็นย่ำแย่อย่างยิ่งในเวลานี้

ทั้งหมดเริ่มต้นตั้งแต่ตอนปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เมื่อทางการใช้ “ลูกเล่น” สารพัดชนิด หาทางปิดปากสื่อมวลชนและองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ที่ดำเนินงานส่งเสริมประชาธิปไตยอยู่ภายในประเทศ

4 สิงหาคม สำนักงานภาษีอากร ยื่นโนติ๊สถึง “แคมโบเดีย เดลี” หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ที่ เบอร์นาร์ด คริชเชอร์ ผู้สื่อข่าวอเมริกันก่อตั้งขึ้นในปี 1993 เรียกเก็บภาษีสูงถึง 6.3 ล้านดอลลาร์

เป็นการประเมินภาษีแบบฝ่ายเดียวของทางการ โดยไม่มีการตรวจสอบบัญชี ไม่ยอมรับในข้อเท็จจริงที่ว่า กิจการหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ 1 ใน 2 ฉบับของกัมพูชาแห่งนี้แทบจะเรียกได้ว่า “ขาดทุนทุกปี”

คำขาดของทางการก็คือ ต้องชำระ 6.3 ล้านดอลลาร์ภายใน 30 วัน ไม่มีการเจรจา ไม่มีการต่อรอง

แคมโบเดีย เดลี ปิดกิจการไปเมื่อ 4 กันยายนที่ผ่านมา ผู้บริหารทั้งชุดซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ถูกสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

 

28 สิงหาคม รัฐบาลปิดสถานีวิทยุรวดเดียว 19 สถานี ที่บริหารงานโดยบริษัทสัมปทานกระจายเสียง 8 บริษัท โดยอ้างว่า บริษัทเหล่านี้ “ขายเวลา” ให้กับสื่อต่างชาติ “มากเกินไป” เกินกว่าที่ทำความตกลงไว้กับทางการ

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ สถานีวิทยุทั้ง 19 สถานีที่ถูกปิด เป็นสถานีข่าว “ภาษาเขมร” ที่ส่วนหนึ่งผลิตโดยผู้ผลิตรายการจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสหรัฐอเมริกา

อย่างเช่น เรดิโอ ฟรี เอเชีย (อาร์เอฟเอ) หรือวิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาเขมร, วอยซ์ ออฟ อเมริกา (วีโอเอ) ภาคภาษาเขมร และ วอยซ์ ออฟ เดโมเครซี ซึ่งรับฟังกันทั่วไปในพื้นที่ชนบทของกัมพูชา

ไล่เลี่ยกันนั้น สถาบันประชาธิปไตยแห่งชาติ (เอ็นดีไอ) เอ็นจีโอที่สหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนทางการเงิน จู่ๆ ก็ได้รับคำสั่งให้ปิดกิจการ

บรรดาคณะทำงานที่เป็นชาวต่างชาติ มีเวลา 7 วันในการเดินทางออกนอกประเทศ

เหตุผลที่ใช้เป็นข้ออ้างในการปิดกิจการก็คือ เอ็นดีไอไม่เคยยื่นจดทะเบียนก่อตั้งกับหน่วยงานใดๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือสำนักงานภาษีอากร

ในขณะที่คณะทำงานขององค์กรเอกชนอื่นๆ ระบุว่าถูกแทรกแซงและถูกก่อกวนจากทางการ “ในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อน”

 

นาธาน เอ. ธอมป์สัน ประธานสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งกัมพูชา บอกผ่านข้อเขียนในเว็บไซต์ซีเอ็นเอ็นด้วยว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกัมพูชา เริ่มมีคำสั่งให้ตัวแทนดำเนินการต่ออายุวีซ่าของชาวต่างชาติทั้งหลายให้แน่ใจว่า มีข้อพิสูจน์การจ้างงานสำหรับแต่ละรายจริงๆ ก่อนที่จะดำเนินการ

ทั้งๆ ที่สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่เอ็นจีโอทั้งหลาย ไม่เคยจำเป็นต้องใช้ “ใบอนุญาตทำงาน” ในการต่ออายุวีซ่ามาก่อนเลยในอดีต

ฮอลลี โรเบิร์ตสัน ผู้สื่อข่าวอิสระ ซึ่งในอดีตเคยทำหน้าที่รองบรรณาธิการบริหารของแคมโบเดีย เดลี บอกว่า สื่อมวลชนในกัมพูชากำลัง “ถูกกวาดล้าง” ครั้งใหญ่

เหตุผลก็คือ ในห้วงเวลา 32 ปี ที่นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ดำรงตำแหน่งมา ไม่เคยมีครั้งไหนที่อนาคตทางการเมืองจะ “ไม่แน่นอน” มากเท่าครั้งนี้มาก่อน

ความไม่แน่นอนยิ่งมาก ความ “หวาดระแวง” ยิ่งสูงมากตามไปด้วย

 

ในปี 2013 พรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) ของ ฮุน เซน เผชิญหน้ากับพรรคฝ่ายค้านในรูปของพรรคกู้ชาติกัมพูชา (ซีเอ็นอาร์พี) ในการเลือกตั้งทั่วไปที่ว่ากันว่ามีจุดบ่งชี้ทุจริตให้เห็นมากมาย กระนั้น ซีพีพีก็ครองตำแหน่ง ส.ส. เพียง 68 ที่นั่ง ซีเอ็นอาร์พีกวาดที่นั่งได้ถึง 55 ที่นั่ง

ในการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับคอมมูนเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พรรคฝ่ายค้านยังคงกวาดชัยชนะได้ในระดับที่ “มีนัยสำคัญ” ได้รับคะแนนเสียงสูงถึงกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ในการเลือกตั้งที่ “ครอบงำ” โดยซีพีพีมาตลอด

โรเบิร์ตสันตั้งข้อสังเกตดังกล่าวไว้เมื่อ 31 สิงหาคม คืนวันที่ 3 กันยายน กำลังตำรวจหลายร้อยนาย ก็บุกบ้านพักของ เข็ม โสกา หัวหน้าพรรคซีเอ็นอาร์พีตอนเที่ยงคืน รวบตัวพร้อมองครักษ์ส่งเข้าเรือนจำ ซีซี3 ในคอมมูน ตระเปง พะลอง จังหวัดทะบอง คะมุม ในข้อหา “ทรยศ” ต่อประเทศชาติ สมคบคิดกับต่างชาติวางแผน “ลับ” พื่อโค่นล้มรัฐบาล ฮุน เซน

หลักฐานมีเพียงคลิปที่ เก็ม โสคา กล่าวเอาไว้ว่า ยินดีรับความช่วยเหลือและแนะนำจากสหรัฐอเมริกา เพื่อ “เปลี่ยน” ภาวะผู้นำในกัมพูชา เมื่อ 4 ปีก่อน

ไม่มีอะไรที่แสดงถึงความพยายามก่อรัฐประหาร หรือใช้วิธีสกปรกล้มล้างรัฐบาลแต่อย่างใด

โรเบิร์ตสันสรุปเหตุการณ์ทั้งหมดเอาไว้สั้น-กระชับว่า

ในที่สุด “ฤดูแห่งการไล่ล่า” ก็เริ่มต้นขึ้นแล้ว!