E-DUANG : “คสช.” ในฐานะจำเลย”ร่วม”ของ”ยิ่งลักษณ์”

สถานการณ์จาก “กรณี 25 สิงหาคม” จะยิ่งทำให้ “เส้นแบ่ง” ในทาง การเมืองมีความแจ่มชัด

ทุกอย่างเป็นไปอย่างที่ นายพิชัย รัตตกุล ประเมิน

“แสดงให้เห็นว่า เรายิ่งห่างจากการปรองดองออกไป”

เพราะการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชิน วัตร เท่ากับเป็นการปฏิเสธ

และยิ่งหากดู “ท่าที” จากทางด้าน “คสช.”

ยิ่งผ่านจากสถานการณ์เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมยาวนานเพียงใด “สถานะ” ก็ยิ่งแปรเปลี่ยน

ที่คิดว่า “รุก” กลับกลายเป็น “ตั้งรับ”

ต้องไปยืนอยู่ในจุดเดียวกันกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นั่นก็คือ ตกเป็น “จำเลย” ในทางสังคม

 

กล่าวสำหรับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อมาถึง ณ วันนี้ ก็อาจจะเคยชินจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาแล้ว

เพราะตกเป็น “จำเลย” ตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554

ไม่ว่าการโจมตีทาง “ธรรมชาติ” ไม่ว่าการกระหน่ำซ้ำในทาง “การเมือง”

เธอไม่น่าจะ “รอด” ไปถึงเดือนมกราคม 2555 ด้วยซ้ำ

มาถึงเดือนพฤศจิกายน 2555 ก็ประสบเข้ากับสถานการณ์ “แช่แข็ง”

มาถึงเดือนสิงหาคม 2556 ก็บังเกิดปรากฏการณ์ “กปปส.”

พอเข้าเดือนมกราคม 2557 ก็มีการเคลื่อนไหว “ชัตดาวน์” ล้มการเลือกตั้ง ล้มรัฐบาล

ที่สุดก็เกิด “รัฐประหาร” เรียบร้อย “คสช.”

 

บทเพลง “คืนความสุข” อันมาพร้อมกับคำสัญญา “ขอเวลาอีกไม่นาน” ทำให้คสช.เล่นบทเป็น “พระเอก”

เป็น “โจทก์” ในการรุกไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ “ถอดถอน” ย้อนหลัง ไม่ว่าจะเป็นการนำตัวขึ้นฟ้องร้องต่อศาลกลายเป็น “จำเลย”

เป้าหมายเพื่อจำกัด “พื้นที่” ในทาง “การเมือง”

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตกเป็น “จำเลย” มาโดยตลอด แต่พลันที่ตัดสินใจ “หายตัว” ในวันที่ 25 สิงหาคม สถานการณ์ก็เริ่มเปลี่ยน

ส่งผลให้คสช.ตกอยู่ในจุดต้อง “ตั้งรับ” ทางการเมือง

สังคมเริ่มเห็น “คสช.” เป็นจำเลย “ร่วม” ตามมา