จรัญ มะลูลีม : กาตาร์ประเทศเล็กใจใหญ่ (จบ)

จรัญ มะลูลีม

สถิติในปี 2007 จากสภาการวางแผนของกาตาร์แสดงให้เห็นว่าสตรีเข้าสู่การศึกษาคิดเป็นร้อยละ 14.1 เมื่อเปรียบเทียบกับบุรุษซึ่งมีอยู่แค่ร้อยละ 10.7 เท่านั้น

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังแสดงให้เห็นอีกว่ากาตาร์ยังไม่ได้เตรียมการในเรื่องการบริหารความใฝ่ฝันสู่การพัฒนาใหม่ๆ มากไปกว่าที่มีอยู่แต่เดิม

สำหรับโครงการทำให้เป็นกาตาร์ (Qatarization) ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนนั้นรัฐได้ขับเคลื่อนผ่านระบบการศึกษาโดยการลงทุนด้านการศึกษาของกาตาร์อยู่ที่ร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 9 ของงบประมาณประเทศ

สิ่งที่น่าติดตามดูก็คือกาตาร์จะรักษารูปแบบแห่งอำนาจของตนเอาไว้ได้อย่างไร นานแค่ไหนและในหนทางใด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาความมั่งคั่งที่มีอยู่เอาไว้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและความร้าวฉานที่เกิดกับเพื่อนบ้าน

 

การท้าทายที่แท้จริงของกาตาร์ที่จะดำรงความเป็นกาตาร์เอาไว้เช่นเดิมคงไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังยุคน้ำมัน อันเนื่องมาจากการใช้ทรัพยากรอื่นๆ ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญขึ้นเรื่อยๆ

ถึงเวลานั้นสถานภาพของกาตาร์จะดำรงอยู่อย่างไร

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศเล็กๆ ที่พยายามจะเข้าไปมีบทบาทสำคัญในเวทีโลกอย่างกาตาร์

กาตาร์ได้ชื่อว่าเป็นแผ่นดินแห่งการเช่าแรงงาน อุดมการณ์ของการเช่าแรงงานนี้จะดำรงต่อไปอีกยาวนาน ท่ามกลางการขับเคลื่อนเพื่อความเป็นกาตาร์ที่รัฐบาลต้องการให้ก้าวไปสู่จุดหมาย ซึ่งคนกาตาร์เองจะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญเมื่อความสำคัญของน้ำมันและก๊าซจะลดน้อยถอยลงในที่สุด แม้ว่าจะต้องใช้เวลาอยู่อีกพอสมควรก็ตาม

ภาคเอกชนของกาตาร์ล้วนต้องขึ้นอยู่กับแรงงานต่างชาติอย่างหนัก และดูเหมือนว่าการพึ่งพิงนี้ยังคงไม่ได้ลดน้อยถอยลงแต่อย่างใดในอนาคตอันใกล้นี้

หากความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ลงกับเพื่อนบ้านจะดำรงอยู่ต่อไป โครงการพัฒนาต่างๆ อาจจะลดน้อยลงหรือแรงงานอาจลดลงไปบ้าง

กระนั้นความสะดวกสบายใจในการใช้ชีวิตก็ดูเหมือนจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อกาตาร์ให้เห็นอย่างชัดเจนมากนัก

แม้ว่าถึงที่สุดแล้วรัฐอาจตัดค่าใช้จ่ายลงไปบ้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจการต่างประเทศ แต่มีความเชื่อกันโดยทั่วไปว่าจะไม่เกิดการท้าทายใดๆ หรือวิกฤตการณ์ขึ้นในประเทศกาตาร์

 

กาตาร์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีผู้นำเป็นตัวแสดงสำคัญในการอุปถัมภ์รัฐในทางหนึ่ง และในอีกทางหนึ่งพระองค์ก็ได้รับความนิยมจากประชาชน แม้ว่าประชาชนจะเข้าถึงอินเตอร์เน็ต

แต่ยังไม่เคยปรากฏว่า ชัยค์ ฮามัด เจ้าผู้ครองนครแห่งกาตาร์หรือครอบครัวของพระองค์เคยได้รับการวิพากษ์จากประชาชนออกมาให้เห็นโดยตรง

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวที่กาตาร์ถูกวิพากษ์ทางสื่อสังคมส่วนใหญ่จะเป็นการทูตแบบไฮเปอร์ของกาตาร์ (hyperactive diplomacy) เสียมากกว่า อย่างเช่น การเข้าไปยุ่งเกี่ยวในสงครามกลางเมืองของลิเบีย ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ชาวกาตาร์เองต้องการให้กาตาร์เป็นเหมือน UAE ซึ่งรัฐบาลไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายนอกประเทศมากนัก แต่ให้ความใกล้ชิดกับประชาชนภายในประเทศ

สิ่งที่กาตาร์จะต้องคำนึงถึงอย่างมากในปัจจุบันก็คือการที่อัตลักษณ์ของชาติที่เริ่มผุกร่อนลง ตัวอย่างเช่น ภาษาซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชาติอย่างภาษาอาหรับ (Arabic) ได้กลายมาเป็นภาษาที่มีความสำคัญเป็นอันดับสองรองมาจากภาษาอังกฤษ

 

ในทางศาสนาพบว่าการเมืองของกาตาร์ยังมีบทบาทของศาสนาอิสลามให้เห็น แต่กาตาร์ก็ไม่สนับสนุนให้นำอิสลามมาใช้ในทางการเมือง (politicization of Islam) กาตาร์ไม่เหมือนกับซาอุดีอาระเบียนั่นคือในการก่อตั้งรัฐกาตาร์ศาสนาไม่ได้เข้ามามีบทบาทแต่อย่างใด

การขาดตัวเมืองที่เป็นศูนย์กลางใหญ่ๆ ทำให้กาตาร์ไม่ค่อยมีศูนย์กลางทางศาสนาและปรัชญาที่มีความโดดเด่นเหมือนประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง

ทุกวันนี้นักการศาสนาคนสำคัญๆ ส่วนใหญ่จะมาจากเอเชียใต้ ได้แก่ อินเดีย (ซึ่งในอนาคตจำนวนประชากรมุสลิมของอินเดียจะกลายเป็นประชากรมุสลิมที่แซงหน้าอินโดนีเซีย อันเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก) ปากีสถานและบังกลาเทศหรือมาจากประเทศอาหรับอื่นๆ

รัฐบาลกาตาร์ให้การอุปถัมภ์ ยูสุฟ ก็อรฏอวี (Yusuf Qaradawi) นักการศาสนาผู้มีชื่อเสียงมากที่สุดและถูกกล่าวถึงมากที่สุดในโลกปัจจุบัน

 

มีคำถามสำคัญสำหรับกาตาร์ที่มีการพูดถึงกันโดยทั่วไปว่าอำนาจและอิทธิพลของกาตาร์ในตะวันออกกลางหรือเอเชียตะวันตกเป็นเรื่องชั่วคราวหรือว่าจะเป็นเรื่องที่ยังคงอยู่ตลอดไปในอนาคต

ในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียโดยเปรียบเทียบกาตาร์มีความก้าวหน้าจนขึ้นไปเป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาค ความสำเร็จนี้มาจากการใช้ยุทธศาสตร์การลงทุนระหว่างประเทศที่เต็มไปด้วยความระมัดระวังบวกกับอิทธิพลทางการเงินและการทูต

กาตาร์ได้ใช้อำนาจนี้ผลักดันไปสู่วาระที่ตนต้องการด้วยการซื้อมิตรจากนานาชาติและจากพันธมิตรที่มีอยู่ รวมทั้งเบียดแทรกบทบาทการเป็นผู้นำของตนเข้าไปในโลกอาหรับ วางวาระต่างๆ เอาไว้ในประเทศและในเวทีระหว่างประเทศ เช่น ซีเรีย ลิเบีย เลบานอนหรือประเทศอื่นๆ ที่อยู่นอกภูมิภาคของตน

การกระทำดังกล่าวส่งพลังให้กับการปกครองของตระกูลอัษ-ษานี (Al Thani) ที่สามารถสร้างความเป็นระเบียบและความมีวินัยในหมู่คนของตระกูลที่ก่อให้เกิดความเป็นสถาบันที่เรียกกันว่าวิสัยทัศน์ของ ฮามัด บิน เคาะลีฟะฮ์ (Hamad bin Khalifa”s vision) และเป็นอนาคตของกาตาร์

ลักษณะของกาตาร์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งได้แก่ ความทันสมัยสุดๆ (ultra-modernism) ที่ทำให้กาตาร์เติบโตแบบไฮเปอร์ (hyper growth) รวมทั้งการขยายตัวทางกายภาพและโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบกับการขยายศักยภาพของรัฐ (expansive state capacity) รวมทั้งการปกครองของอัษษานีเองที่ทำให้กาตาร์ยังคงโดดเด่นอยู่ในปัจจุบัน

กาตาร์จะรักษาสถานภาพข้างต้นเอาไว้ได้หรือไม่ในปัจจุบัน ท่ามกลางสถานการณ์ความร้าวฉานกับเพื่อนบ้านอย่างซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน และ UAE

เวลาจะเป็นผู้ให้คำตอบ