แพทย์ พิจิตร : พระราชอำนาจในการยุบสภาตามประเพณีการปกครองของสหราชอาณาจักร (7) – พระมหากษัตริย์ปฏิเสธการยุบสภาได้หรือไม่?

ในความเห็นของ Vernon Bogdanor (เวอร์นอน บอกดาร์โน) หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญชั้นแนวหน้าด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญของอังกฤษยืนยันว่า การที่พระมหากษัตริย์อังกฤษไม่ได้ทรงใช้พระราชอำนาจในการปฏิเสธคำแนะนำในการยุบสภามาเป็นระยะเวลานาน ก็มิได้หมายความว่าพระมหากษัตริย์จะไม่ได้มีอำนาจในการปฏิเสธ

เพียงแต่ที่ผ่านมาคำแนะนำในการยุบสภาที่นายกรัฐมนตรีของอังกฤษถวายขึ้นมานั้นเป็นคำแนะนำที่ถูกต้องจึงไม่ได้เปิดช่องให้พระมหากษัตริย์ใช้พระราชอำนาจดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม การจะปฏิเสธคำแนะนำในการยุบสภาของพระมหากษัตริย์เองก็จะต้องคำนึงถึงปัจจัยประการอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะปัจจัยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่

ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกับการที่การปฏิเสธของพระมหากษัตริย์จะนำไปสู่การเกิดสภาวะชะงักงันทางการเมือง หากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้

หรืออาจกลายเป็นการเข้าข้างนายกรัฐมนตรี หากเสียงส่วนใหญ่ของคณะรัฐมนตรี หรือเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกรัฐสภาไม่ได้เห็นด้วยกับการยุบสภาครั้งนั้น

การใช้พระราชอำนาจในส่วนนี้จึงเป็นสิ่งที่วางอยู่บนเดิมพันบางอย่างที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษในระยะยาวได้อีกเช่นกัน

 

ขณะเดียวกัน ในช่วงระหว่าง ค.ศ.1976-ต้นทศวรรษ 1980 ได้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับแบบแผนประเพณีการยุบสภาของอังกฤษที่ให้สิทธิอำนาจแก่นายกรัฐมนตรีในการถวายคำแนะนำในการยุบสภาต่อองค์พระมหากษัตริย์ อันเป็นการปฏิบัติที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกและได้กลายเป็นแบบแผนประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่หลังสงครามโลกจนถึงทศวรรษ 1980

ซึ่งก่อนหน้านั้น สิทธิอำนาจในการถวายคำแนะนำการยุบสภาอยู่ภายใต้การตัดสินใจและรับผิดชอบร่วมกันของคณะรัฐมนตรีดังที่ผู้เขียนได้กล่าวไปในตอนก่อนๆ

ข้อวิพากษ์วิจารณ์นี้มาจากทั้งทางฝั่งอนุรักษนิยมและปีกซ้ายจัดของฝั่งพรรคแรงงาน

เริ่มต้นจาก Lord Hailsham (ค.ศ.1907-2001) นักการเมืองอาวุโสของพรรคอนุรักษนิยม เขาได้วิจารณ์แบบแผนการยุบสภาที่เป็นอยู่ในขณะนั้นว่าเป็นการเอื้อให้เกิด “เผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง (an elective dictatorship…ที่มีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะทำให้ตนอยู่ในอำนาจตลอดไป” {Lord Hailsham (Quintin Hogg), “Elective Dictatorship”, The Listener, 21 October 1976, pp. 496-500 cited in Robert Blackburn, “The Dissolution of Parliament : The Crown Prerogatives (House of Commons Control) Bill 1988, ibid., p. 838. “Elective Dictatorship” เป็นบทสัมภาษณ์ที่ Lord Hailsham ได้ให้ไว้ใน Richard Dimbleby Lecture ที่ BBC ในปี ค.ศ.1976 เดิมที วลี “เผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง” นี้เกิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.1870 ใช้อธิบายหลักการของ Giuseppe Garibaldi ที่เขาเขียนไว้ในหนังสือ The Rule of the Monk, Or, Rome in the Nineteenth Century แต่ Lord Hailsham เป็นผู้ที่ทำให้วลีนี้เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไปหลังจากคำบรรยายดังกล่าวของเขาในปี ค.ศ.1976}

โดยสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิด “เผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง” ก็คือ การให้พรรคที่เป็นรัฐบาลมีความได้เปรียบในทางชั้นเชิงอย่างมากในการเลือกตั้งทั่วไปเหนือพรรคฝ่ายค้าน

เพราะนายกรัฐมนตรีจะกำหนดช่วงเวลาการเลือกตั้งที่พรรคของเขามีแนวโน้มที่จะชนะ โดยอาศัยข้อมูลจากผลการเลือกตั้งซ่อมหรือการสำรวจทัศนคติของประชาชน

 

นอกจากคำวิจารณ์ของ Lord Hailsham ซึ่งเป็นนักการเมืองอาวุโสฝ่ายอนุรักษนิยมในขณะนั้นแล้ว ยังมีคำวิจารณ์และข้อเสนอแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบแผนประเพณีการยุบสภาจากฝั่งนักการเมืองพรรคแรงงานผู้ซึ่งอายุน้อยกว่า Lord Hailsham ยี่สิบห้าปี

นั่นคือ Tony Benn (ค.ศ.1925-2014) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคแรงงาน (ค.ศ.1950-2001) และถือว่าเป็น “ซ้ายจัด” (hard left) ของพรรคแม้ว่าเดิมทีจะเป็นพวก “กลางๆ ประนีประนอม” (moderate)

Tony Benn ได้ให้ข้อเสนอของเขาไว้ตั้งแต่ ค.ศ.1982 อันเป็นช่วงเวลาที่เขาเริ่มเปลี่ยนจากจุดยืนกลางๆ มาเป็น “ซ้ายจัด” ในพรรคแรงงาน

โดยปรากฏในข้อเขียนที่ชื่อว่า “Power, Parliament and the People” โดยเขาได้เสนอว่า สภาผู้แทนราษฎร (the House of Commons) ควรจะรักษาความมั่นคงของสภาไว้โดยมีอำนาจเหนือพระราชอำนาจทั้งมวลขององค์พระมหากษัตริย์ (all such Crown prerogatives)

ซึ่งต่อมา สมาชิกพรรคแรงงานจำนวนหนึ่งได้เห็นด้วยและยอมรับข้อเสนอดังกล่าวนี้ ซึ่งปรากฏเป็นกลุ่มรณรงค์ของกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคแรงงาน (the Campaign Group of Labour MPS)

และในปี ค.ศ.1984 ได้มีการเผยแพร่เอกสารภายใต้หัวข้อ Parliamentary Democracy and the Labour Movement ซึ่งถือเป็นเอกสารชิ้นแรกที่เสนอข้อแนะนำยี่สิบข้อสำหรับการปฏิรูปรัฐสภา

โดยเรียกร้องให้ “พระราชอำนาจทั้งหมด (all crown prerogatives) จะต้องอยู่ภายใต้การตัดสินใจของสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งอำนาจในการยุบสภาก่อนที่สภาจะครบวาระ”

ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าวนี้ได้ปรากฏในร่างกฎหมายที่เรียกว่า the Reform Bill 1985 และมีการเสนอร่างกฎหมายนี้อีกในปี ค.ศ.1988 ในนามของ the Crown Prerogatives (House of Commons Control) Bill 1988

ซึ่งร่างกฎหมายทั้งสองฉบับนี้เสนอโดยตัว Tony Benn เอง

และสามารถผ่านการพิจารณาเพียงวาระแรกเท่านั้น แต่ก็ถูกบันทึกไว้เป็นหลักฐานของสภาในฐานะที่เป็นร่างกฎหมายที่เสนอแนวคิดใหม่เกี่ยวกับพระราชอำนาจในการยุบสภา (the royal power of dissolution)

 

ข้อเสนอในการปฏิรูปการยุบสภาผู้แทนราษฎรของ Tony Benn เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ 3 ประการ

ประการแรก การทูลเกล้าฯ ถวายคำแนะนำการยุบสภาต่อองค์พระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้จนกว่าสภาผู้แทนราษฎรจะได้มีการลงคะแนนเสียงและเห็นชอบช่วงเวลาที่จะยุบสภา

ประการที่สอง ผู้ที่จะทูลเกล้าฯ การยุบสภาจะต้องเปลี่ยนจากนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานสภา โดยประธานสภาจะเป็นผู้รับผิดชอบในการทูลเกล้าฯ ถวายคำแนะนำการยุบสภาต่อองค์พระมหากษัตริย์ว่าสภาได้มีการลงคะแนนเสียงอย่างไรต่อญัตติดังกล่าว

ประการที่สาม วาระเวลาสูงสุดของสภาผู้แทนราษฎรจะต้องลดลงจากห้าปีมาเป็นสี่ปี

ซึ่งข้อเสนอของ Tony Benn นี้ต้องการให้อำนาจในการตัดสินใจยุบสภาเริ่มจากตัวสภาผู้แทนราษฎรเอง มิใช่การตัดสินใจของฝ่ายบริหาร และผู้ที่จะทูลเกล้าฯ เปลี่ยนจากตัวนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานสภาผู้แทนฯ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสังเกตคือ ทั้งนักการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายแรงงานปีกซ้ายจัดต่างเห็นพ้องต้องกันที่จะต้องมีการปฏิรูปกติกาเกี่ยวกับการยุบสภา