’10 ไฮไลท์แห่งปี 2564′ วิกฤตเสรีภาพ-ความยุติธรรมของไทย : กลไกรัฐ-กฎหมายถูกใช้เพื่ออำนาจ ไม่ใช่ประชาชน

ในปี 2564 สถาบันโครงสร้างของไทยเผชิญวิกฤตศรัทธาต่อเนื่องจากปี 2563 อันเนื่องมาจากความล้มเหลวในการบริหารประเทศของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ความนิยมที่ลดลงและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ นำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ของคนรุ่นใหม่ ตลอดปี 2563 จนทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลประยุทธ์สั่นคลอน

ทำให้ในปลายปีเดียวกันจนมาถึงขณะนี้ รัฐที่ไม่ยอมให้การเปลี่ยนแปลงส่งผลต่ออำนาจที่ถือครอง จึงหันมาใช้กลไกรัฐและกฎหมายในฐานะกำปั้นเหล็กไปจัดการผู้ต่อต้าน และการปราบปรามผู้เห็นต่างก็กลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอดปี 2564

และดูเป็นเรื่องชวนบังเอิญที่ตลอดปี 2564 หลายประเทศก็ได้ขยายอำนาจรัฐพร้อมกับลดทอนสิทธิเสรีภาพประชาชน ข้ออ้างสถานการณ์ของโควิด-19 ถูกใช้เป็นข้ออ้างหนึ่ง ทำให้รัฐมีอำนาจมากขึ้นและเกิดกฎหมายต่างๆมากมาย ไม่ว่าในฮังการี เบลารุส ตุรกี จีน อินเดีย สหรัฐฯ และไทย

นักวิชาการและนักวิเคราะห์ ต่างเสนอความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า 2564 เป็นปีที่ประชาธิปไตยถดถอยอย่างหนักและการสู่ความเป็นอำนาจนิยมกำลังกลับมา และประชาชนทั่วโลกคือผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะนี้ไปพร้อมกับเผชิญมหันตภัยโรคระบาดโควิด-19

การประท้วงอย่างสันติถดถอย-การปราบปรามหนักหน่วงไร้ปราณี

ในปี 2564 ยังคงมีการชุมนุมทางการเมืองบนท้องถนนอยู่ แต่การชุมนุมในลักษณะคนจำนวนมากกลับน้อยลงเมื่อเทียบกับปี 2563 อันเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นโดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า และข้อเรียกร้องที่ถูกส่งไปให้รัฐนั้น รัฐไม่ตอบสนองตามข้อเรียกร้องและเลือกใช้การกดปราบแทน

ที่สำคัญ พลังการชุมนุมที่ถดถอยลงในปีนี้ ยังเกี่ยวข้องกับการจับกุมแกนนำที่มีส่วนสำคัญต่อการเคลื่อนไหว เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ และการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็น อานนท์ นำภา,พริษฐ์ ชิวารักษ์,ภาณุพงศ์ จาดนอก,ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล,ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล เบนจา อะปัญ และอีกจำนวนไม่น้อย เผชิญการปราบปรามไม่ให้เคลื่อนไหวเรียกร้องด้วยกฎหมายข้อหา ม.112 ,ม.116 พรก.ฉุกเฉิน,พรบ.ชุมนุม,พรบ.คอมพิวเตอร์ และกลไกรัฐในการติดตามสอดแนมผู้ต่อต้านรัฐบาล

สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยและรัฐบาลประยุทธ์ แม้จะได้เป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตยในปี 2562 กำลังเป็นเผด็จการมากขึ้นเรื่อยๆจนคล้ายกับสมัยยุคประยุทธ์ในฐานะผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช.

แม้แกนนำสำคัญอยู่ในสภาพถูกเฝ้าจับตาไม่ว่าในเรือนจำหรือในบ้านพัก จนส่งผลต่อการเคลื่อนไหวที่ทำให้ขาดแกนนำ แต่ก็ยังคงมีแกนนำรุ่นถัดมารับไม้ต่อทำหน้าที่เรียกร้อง

สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในรูปแบบที่ชดเชยภาวะไร้แกนนำ ไม่ว่าการเกิดขึ้นของกลุ่ม REDEM (รีเด็ม) ซึ่งเป็นกลุ่มที่พัฒนาจากเยาวชนปลดแอก หรือ ‘ทะลุแก๊ซ’ กลุ่มมวลชนไร้แกนนำที่เคลื่อนไหวในแบบการเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐเพื่อตอบโต้การใช้กำลังสลายผู้ชุมนุม ด้วยแสงจ้าและเสียงดังอึกทึกของดอกไม้ไฟรุ่นต่างๆ ปะทะกับแก๊สน้ำตาและกระสุนยางที่ตำรวจควบคุมฝูงชนใช้เป็นเครื่องมือหลักในการปราบปราม

นอกจากการชุมนุมทางการเมืองแล้ว ยังมีการชุมนุมที่เกิดขึ้นจากความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์เศรษฐกิจจากภาวะโควิด-19 อย่างม็อบนักดนตรี-ธุรกิจกลางคืน,ม็อบส้นสูงที่เป็นกลุ่มผู้บริการความบันเทิง ไปจนถึงการชุมนุมจากนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ฟังเสียงประชาชน เช่น กลุ่มSaveบางกลอย, จะนะรักษ์ถิ่น,กลุ่มSaveนาบอน ไปจนถึงกลุ่มผู้ขับรถสิบล้อที่ประท้วงราคาน้ำมันดีเซลที่สูงเกินไป

Mob Data in Thailand กลุ่มอาสาสมัครสังเกตการณ์การชุมนุมทางการเมืองได้รวบรวมสถิติการชุมนุมตลอดปี 2564 นั้นพบว่ามีการชุมนุมน้อยใหญ่ในหลายจังหวัดรวมถึง 1,516 ครั้ง ใน 70 จังหวัด โดยพื้นที่สำคัญอย่างกรุงเทพฯ มีการชุมนุม 767 ครั้ง เชียงใหม่ 212 ครั้ง ขอนแก่น 64 ครั้ง

มีการสลายชุมนุมทั้งเบาและหนักรวมกัน 60 ครั้ง บาดเจ็บ 526 คน และเสียชีวิต 2 คน โดยเป็นเจ้าหน้าที่คฝ.ที่เกิดหัวใจวายระหว่างปฏิบัติหน้าที่ 1 ราย และเป็นเยาวชนอายุ 15 ปี ถูกยิงเข้าที่ก้านคอระหว่างการชุมนุมของทะลุแก๊ซในย่านดินแดง

อีกทั้งยังมีการชุมนุมในลักษณะการรณรงค์ในชื่อ “ยืน หยุด ขัง” เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวในการสู้คดีให้กับแกนนำเคลื่อนไหวทางการเมือง จำนวน 599 ครั้ง

มีการชุมนุมรูปแบบใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาคนที่ไม่กล้าร่วมชุมนุมเพราะเสี่ยงโควิด-19 อย่างคาร์ม็อบ ซึ่งเกิดขึ้นทั่วประเทศ จำนวน 169 ครั้ง และได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี

การสลายการชุมนุมโดยตำรวจควบคุมฝูงชน ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักโดยเฉพาะการปฏิบัติที่ขัดต่อหลักการสากล ไม่ว่า ความไม่สมเหตุสมผลในการใช้เครื่องมือปราบปรามผู้ชุมนุมทั้งที่สถานการณ์ยังไม่ไปถึงขั้นก่อจลาจล, การใช้อุปกรณ์เครื่องมือที่มีความรุนแรงเกินเหตุและผิดวิธี อย่างวิธีการยิงกระสุนยางหรือแก๊สน้ำตากลับยิงแบบแนวระนาบเสมอตัว หรือยิงระยะประชิด

เสียงวิจารณ์ดังกล่าว ทำให้ตำรวจนครบาลต้องจัดการสาธิตยิงแก๊สน้ำตากับกระสุนยางให้สื่อชม เพื่อแก้ภาพลบในสถานการณ์จริงที่ว่า หลายครั้ง กระสุนยางถูกยิงเข้าที่อกผู้ชุมนุมแบบระยะประชิดจนถึงขั้นกระสุนฝังร่าง หรือแก๊สน้ำตาถูกยิงจากที่สูงลงใส่ผู้ชุมนุม โดยไม่มีการประกาศล่วงหน้า

ศักราชแห่ง “นิติสงคราม” 

อีกหนึ่งความเข้มข้นที่สะท้อนการปราบปรามและสกัดการเคลื่อนไหวของประชาชนในการต่อต้านรัฐบาลและอำนาจรัฐ คือ จำนวนการยื่นฟ้องดำเนินคดี โดยเฉพาะคดีที่เข้าข่าย “ฟ้องปิดปาก” หรือ SLAPP (Strategic lawsuit against public participation) กับประชาชน ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐบาล ประเด็นทุจริตหรือการปฏิบัติงานที่ไม่เป็นธรรมทั้งภาครัฐ-เอกชน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกรายงานสรุปตลอดปี 2564 โดยพบว่า มีจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองรายใหม่เพิ่มขึ้นจากช่วงสิ้นปี 2563 จำนวนอย่างน้อย 1,513 ราย เป็นจำนวนคดี 835 คดี หรือคิดเป็นจำนวนคดีที่เพิ่มขึ้นเกือบ 7 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งหลังของปี 2563 และมีการแบ่งสถิติการดำเนินคดีเป็นรายเดือน ได้แก่

เดือนมกราคม มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 54 ราย คิดเป็นจำนวน 38 คดี

เดือนกุมภาพันธ์ มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 91 ราย คิดเป็นจำนวน 24 คดี

เดือนมีนาคม มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 199 ราย คิดเป็นจำนวน 61 คดี

เดือนเมษายน มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 54 ราย คิดเป็นจำนวน 33 คดี

เดือนพฤษภาคม มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 44 ราย คิดเป็นจำนวน 43 คดี

เดือนมิถุนายน มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 17 ราย คิดเป็นจำนวน 31 คดี

เดือนกรกฎาคม มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 62 ราย คิดเป็นจำนวน 39 คดี

เดือนสิงหาคม มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 404 ราย คิดเป็นจำนวน 208 คดี

เดือนกันยายน มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 297 ราย คิดเป็นจำนวน 173 คดี

เดือนตุลาคม มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 178 ราย คิดเป็นจำนวน 102 คดี

เดือนพฤศจิกายน มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 48 ราย คิดเป็นจำนวน 61 คดี

เดือนธันวาคม มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 63 ราย คิดเป็นจำนวน 22 คดี

การชุมนุมทางการเมืองโดยเฉพาะแกนนำราษฎรที่เคลื่อนไหวเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์แต่ละคนโดนยื่นฟ้องดำเนินคดีเพียงไม่กี่ข้อหาแต่จำนวนการฟ้องถือว่ามากที่สุด “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ถูกกล่าวหา 43 คดี , “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก ถูกกล่าวหาไปแล้ว 30 คดี
, อานนท์ นำภา ถูกกล่าวหาไปแล้ว 24 คดี, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ถูกกล่าวหาไปแล้ว 24 คดี
, “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ถูกกล่าวหาไปแล้ว 19 คดี และ เบนจา อะปัญ ถูกกล่าวหาคดีทางการเมืองไปแล้ว 19 คดี

ศูนย์ทนายความฯให้ความเห็นถึงแนวโน้มของคดีทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในปี 2565 ว่า แนวโน้มหลักท่ามกลางการดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง คือพนักงานอัยการยังทยอยสั่งฟ้องคดีแทบทั้งหมด โดยไม่ได้มีการกลั่นกรองเพียงพอจากคดีความที่ถูกตั้งต้นในชั้นตำรวจ ซึ่งดำเนินการภายใต้อำนาจของรัฐบาลโดยตรง

ในปีถัดๆ ไป การพิจารณาในชั้นศาลจึงน่าจะกลายเป็น “พื้นที่” สำคัญในการต่อสู้ เมื่อนักกิจกรรมและประชาชนจำนวนมากต้องทยอยเดินหน้าต่อสู้คดีความ ไปพร้อมกับต่อสู้ผลักดันข้อเรียกร้องทางการเมือง

และเมื่อกล่าวถึงคดีมาตรา 112 ปี 2564 มีผู้ถูกตัดสินจำคุกซึ่งถือว่ามากที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมา โดยเป็นคดีของ อัญชัญ ปรีเลิศ อดีตข้าราชการสรรพากร ที่ต้องโทษจำคุกมากถึง 43 ปี 6 เดือน จากการแชร์คลิปยูทูบเนื้อหาที่รัฐมองว่าเป็นการดูหมิ่นสถาบันฯ

สำหรับข้อหา ม.112 หรือมาตราว่าด้วยการดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย กษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นข้อกฎหมายที่มีการถกเถียงกันทั้งอัตราที่สูงเกินไป แค่แสดงความคิดเห็นอาจสามารถต้องโทษจำคุกได้สูงสุดถึง 15 ปี ใครก็สามารถฟ้องได้ไม่ว่าอยู่ที่ไหน และยังเป็นมาตราที่ถกเถียงถึงหลักการที่ยังคงเผชิญหน้ากันระหว่าง เสรีภาพภายใต้ระบอบประชาธิปไตย vs สถานะอำนาจและเกียรติยศของประมุขโดยเฉพาะประเทศไทยที่ถูกปลูกฝังในการยกให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกเทิดทูนสูงสุดเหนือกว่าทุกองคพยพและแนวคิด

นอกจากการดำเนินคดีทางการเมืองที่บ่งบอกถึงสภาวะวิกฤตสิทธิเสรีภาพที่ถดถอยลงในไทยแล้ว อีกสิ่งที่ย้ำถึงภาวะวิกฤตดังกล่าวคือ คำวินิจิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ชี้ว่า คำปราศรัยปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ในการชุมนุม 10 สิงหาคม 2563 นั้น เป็นการล้มล้างการปกครอง และกรณีคำวินิจฉัยว่าด้วยความขัดกันของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 เกี่ยวกับการสมรสที่ต้องเป็นแค่ชายกับหญิงเท่านั้น ซึ่งศาลวินิจฉัยว่าไม่ขัด ท่ามกลางกระแสรณรงค์ #สมรสเท่าเทียมของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ

คำวินิจฉัยดังกล่าว เหมือนเป็นการเปิดประตูโอกาสที่จะให้ข้อเสนอทางเลือกของสังคมก้าวต่อไปยังสภาในฐานะพื้นที่ที่เจรจาต่อรองเพื่อให้ตอบสนองกับความต้องการของคนทุกกลุ่มในสังคม และยังทำให้ศาลรัฐธรรมนูญถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หนำซ้ำมีการสืบค้นหาวิธีคิดของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนมีทัศนะเหยียดเพศหรือเอาเรื่องละเมิดทางเพศเป็นมุขตลก

ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราภิชานแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิล เมดิสันของสหรัฐฯ ได้ให้ความเห็นว่า การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีล้มล้างการปกครอง #ม็อบ10สิงหา ทำให้เกิดความสับสนต่อหลักปฏิบัติอย่างมาก ทางแก้คือศาลรัฐธรรมนูญต้องปฏิบัติ ตัดสินให้อยู่ในกรอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องประกาศตัวเสียเลยว่าประเทศไทยเป็นกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ฉะนั้นคำถามที่ว่าในทางหลักการแล้วรัฐไทยเป็นรัฐอะไรกันแน่ ตนคิดว่ารัฐไทยเป็นรัฐโกหก พูดอย่างทำอย่าง เป็นรัฐที่ประกาศว่าเป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งหลายคนก็เห็นว่าแค่นี้ก็เป็นปัญหามากพอแล้วว่าเส้นแบ่งอยู่ตรงไหน

กลายเป็นว่าปัจจุบันรัฐไทยกึ่งประกาศตัวว่าเป็นกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และละเมิดหลักประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยตัวเองไปเรียบร้อยแล้ว แต่กลับไม่กล้าประกาศจึงต้องอยู่อย่างโกหกต่อไป นี่จึงเป็นปัญหารากฐานที่นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ

รัฐจอมสอดแนม

ในยุคของรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. สิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะคือ การใช้ทักษะทางการทหารในการแทรกซึมสอดแนมติดตามความเคลื่อนไหวผู้ต่อต้านรัฐบาล หรือก็คือประชาชนในประเทศตัวเอง แม้แต่หลังการเลือกตั้ง ปี 2562 การเมืองไทยเข้าสู่ภาวะความเป็นประชาธิปไตยมาบ้าง แต่จำนวนการสอดแนมติดตามทั้งบนโลกจริงและโลกเสมือน ยังเข้มข้นพร้อมกับการใช้กลไกรัฐในการทำสงครามไซเบอร์และสงครามข่าวสารหรือไอโอ

ยิ่งเสถียรภาพรัฐบาลประยุทธ์ตกต่ำลงอย่่างมาก ยิ่งทำให้เห็นจำนวนปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร จำนวนบัญชีแอบแฝงที่ทำขึ้นโดยหน่วยงานความมั่นคงและกองทัพ เพิ่มจำนวนขึ้นบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลายตัว และการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจนเกิดนักเคลื่อนไหวหน้าใหม่เข้ามาสู่การต่อสู้ทางการเมือง ก็ถูกเจ้าหน้าที่มาเป็นกลุ่มเข้าติดตามบุกรุกถึงที่พักอาศัยด้วยข้ออ้างสอบถามข้อมูล แต่นั้นถือเป็นการคุกคามอย่างหนึ่ง

นอกจากประชาชนคนธรรมดาแล้ว แม้แต่ส.ส.ที่มีเอกสิทธิ์คุ้มกันหรือบุคคลสำคัญทางการเมือง แต่หากยืนอยู่ตรงกันข้ามกับรัฐบาลประยุทธ์ ทุกคนโดนหมด ถูกเฝ้าจับตาแบบไม่สนเรื่องความถูกต้องใดๆทั้งสิ้น

วันที่ 9 สิงหาคม 2564 ไอลอว์ระบุว่า มีการเผยแพร่เอกสารที่ถูกระบุว่าเป็นข้อมูล “ลับที่สุด” ในโลกออนไลน์ โดยเอกสารดังกล่าวคาดว่าเป็นของกองบังคับการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ที่ประกอบไปด้วยข้อมูลพื้นฐานของ นักกิจกรรมหรือนักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักการเมือง สื่อมวลชน นักวิชาการ และภาคประชาชน รวมแล้ว 183 รายชื่อ และข้อมูลบัญชีโซเชียลมีเดียอีก 19 บัญชี ซึ่งรายชื่อเหล่านี้ถูกระบุสถานะในเอกสารว่าเป็นกลุ่ม Watchlist หรือกลุ่มที่รัฐกำลังจับตา โดยทั้งหมด 183 รายชื่อ มีสัดส่วนถึงร้อยละ 70 ซึ่งเป็น กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง

ไอลอว์ชี้ว่า การที่รัฐจัดทำบัญชีเฝ้าจับตาบุคคลดังกล่าว ถือเป็นการละเมิดต่อสิทธิความเป็นส่วนตัว และสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

เอกสารนี้ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และถูกนำไปตั้งกระทู้กลางสภา อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่ถูกพาดพิงรวมถึงรัฐบาลต่างออกมาปฏิเสธ แม้รูปแบบของเอกสารจะบ่งบอกได้ชัดว่าเป็นเอกสารทางราชการ พร้อมกับขึ้นลำดับชั้นความลับ

เรียกว่า รัฐแก้ตัวยังไงก็ถูกจับได้ แต่ก็ไม่ได้ความหมายว่า รัฐจะหยุดพฤติกรรมที่สร้างความกลัวให้กับประชาชน

ซึ่งก็เกิดขึ้นอีก ในเดือนพฤศจิกายน เมื่อ แอปเปิล ได้ส่งเมล์เตือนถึงผู้ใช้ไอโฟนที่เป็นของนักเคลื่อนไหวและนักวิชาการด้านการเมืองในไทยอย่างน้อย 6 ราย ว่า

“คำเตือน: ไอโฟนของคุณอาจกำลังตกเป็นเป้าโจมตีของหน่วยโจมตีไซเบอร์ที่สนับสนุนโดยรัฐ”

แอปเปิลระบุว่าส่งอีเมลฉบับนี้ถึงผู้ใช้งานเพราะเชื่อว่าเจ้าของแอปเปิลไอดีดังกล่าว “กำลังตกเป็นเป้าหมายของนักโจมตีทางไซเบอร์ที่มีรัฐสนับสนุนซึ่งพยายามเข้าถึงไอโฟนของคุณ”

“นักโจมตีเหล่านี้อาจมุ่งเป้าที่คุณโดยตรงเพราะตัวตนของคุณหรือเพราะสิ่งที่คุณทำ หากนักโจมตีเข้าถึงไอโฟนของคุณได้ เขาก็อาจเข้าถึงข้อมูลที่อ่อนไหว การสื่อสาร รวมทั้งกล้องและไมโครโฟนได้” แอปเปิลระบุ พร้อมกับให้คำแนะนำในการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์

และในวันเดียวกันนั้น แอปเปิลได้ยื่นคำร้องต่อศาลแคลิฟอร์เนีย ในการฟ้องเอ็นเอสโอ (NSO) บริษัทผู้ผลิตสปายแวร์สัญชาติอิสราเอล และบริษัทแม่อย่าง OSY Technologies โดยคำฟ้องได้กล่าวหาเอ็นเอสโอว่าใช้เครื่องมือแฮ็กระบบของผู้ใช้ไอโฟน โดยเฉพาะสปายแวร์ที่คาดว่าถูกพัฒนาขึ้นเป็นที่กล่าวถึงมากในชื่อ “เพกาซัส” ซึ่งสปายแวร์ดังกล่าวถูกขายให้กับรัฐบาลหลายประเทศ โดยเฉพาะรัฐบาลประเทศเผด็จการ

กรณีตัวอย่างการใช้สปายแวร์สอดแนมจนนำไปสู่การคุกคามประชาชนถึงชีวิต คือกรณีของจามาล คาช็อกกี นักข่าวและคอลัมนิสต์ชาวซาอุดิอาระเบียที่ถูกรัฐบาลซาอุฯสอดแนมโดยสปายแวร์เจาะเข้าในมือถือของแฟนสาวของจามาล ก่อนส่งทีมเฉพาะกิจสังหารเขาภายในสถานกงสุลซาอุฯในนครอิสตันบูลของตุรกี เมื่อปี 2561

ทางการไทยมีท่าทีหลีกเลี่ยงเรื่องการสอดแนมฝ่ายต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์ โดยบีบีซีไทยได้สอบถามไปยัง ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็ได้รับคำตอบเพียงสั้น ๆ ว่ายังไม่ทราบเรื่องและขอตรวจสอบข้อมูลก่อน

ในภาวะการเมืองไทยในปี 2565 รัฐบาลประยุทธ์สั่นคลอนอย่างหนักทั้งปัญหาภายในและภายนอก สิ่งที่จะเกิดขึ้นหนักมากขึ้นคือ จำนวนการฟ้องดำเนินคดีกับผู้ต่อต้านที่จะตามมา และการยกระดับการสอดแนมผู้เห็นต่าง หรือแม้แต่ทุกคนที่มีแนวโน้มว่าจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์หรือต่อต้านรัฐบาลในอนาคตด้วย