“10 ไฮไลท์แห่งปี 2564” โควิด-19 : สารพัดเชื้อกลายพันธุ์,คนป่วยล้นเตียง-ตายกลางถนน และวัคซีน(ไม่)เต็มแขน

โคโรน่าไวรัส ปี 2019 หรือโควิด-19 ที่เกิดการระบาดแรกที่จีน จนระบาดลุกลามไปทั่วโลก จนมีผู้คนทั้งล้มป่วยและเสียชีวิตกว่าล้านคนในปี 2563 ปีนี้ก็เหมือนฝันร้ายที่ยังคงหลอกหลอน เชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มีการกลายพันธุ์ตัวเองจนมีความสามารถมากขึ้น ทั้งการแพร่เชื้อ ความรุนแรงของอาการและการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่จะมากำจัด ทั้งสายพันธุ์อัลฟ่าที่เริ่มจากอังกฤษ สายพันธุ์เดลต้าจากอินเดียและเบต้าจากแอฟริกาใต้ แต่แล้วเดลต้ากลายเป็นผู้ผงาด เข้าระบาดไปทั่วโลก และมาถึงไทยในราวเดือนพฤษภาคม ซึ่งสันนิษฐานว่ามาจากแคมป์แรงงานย่านหลักสี่

แต่ก่อนหน้านี้เมื่อราวเดือนเมษายน พบการเกิดคลัสเตอร์ในสถานบันเทิงย่านทองหล่อ จนเกิดข่าวลือถึงนักการเมืองในฝั่งรัฐบาลเข้าไปใช้บริการสถานบันเทิงจนติดเชื้อ แต่เมื่อมีคำสั่งของรัฐบาลในการสั่งปิดแคมป์คนงาน คนงานจำนวนมากได้เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่การระบาดไปสู่ที่ต่างๆก่อนแล้ว ทำให้มีรายงานพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าหลายจังหวัด และจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด

เดือนกรกฎาคม ได้ปรากฎภาพที่เกิดขึ้นคล้ายกับสถานการณ์ระบาดในอินเดียคือ ภาวะคนไข้ล้นโรงพยาบาล อย่างโรงพยาบาลในสระบุรี กรุงเทพฯ นนทบุรี ผู้ป่วยโควิดต้องนอนรอการเข้ารักษาตัวอยู่นอกอาคารโรงพยาบาล ในขณะที่บุคลาการทางการแพทย์ที่มีจำนวนจำกัดต้องรับมือกับคนไข้จำนวนมากหลายเท่าที่นอนรอจนบางรายเสียชีวิตก่อนที่จะได้ช่วย ทำให้ด่านหน้ามีสภาพจิตใจย่ำแย่ถึงขั้นเสียขวัญ บางส่วนจากผู้รักษาต้องกลายเป็นผู้ติดเชื้อไปด้วย

หากคนไข้ล้นทะลักออกนอกโรงพยาบาลนับว่าแย่แล้ว ในเดือนเดียวกันนี้ มีรายงานชวนน่าหดหู่ ของผู้ติดเชื้อโควิดซึ่งเป็นคนโบกรถในซอยวัดบวรนิเวศ เสียชีวิตในสภาพร่างนอนอยู่กลางถนนตั้งแต่บ่าย กว่าจะได้รถกู้ภัยมาเก็บร่างก็ล่วงเวลาจนดึก และยังพบการเสียชีวิตกลางถนน ริมฟุตบาท ไม่ว่าถนนเจริญกรุง ราชดำเนินกลาง จนถึงย่านสายไหม

การระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลลุกลามอย่างรวดเร็วไปถึงชุมชน บ้านเรือน โดยเฉพาะครอบครัวที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ปิด เช่น ชุมชนแออัดหรือตามอพาร์ทเมนต์-คอนโด เกิดการติดเชื้อยกครอบครัว จนทำให้งานรับส่งผู้ป่วยไม่เพียงพอกับจำนวนโทรสายเข้าเพื่อขอให้รถฉุกเฉินเข้ามารับตัว หลายรายไม่มีโอกาสได้พาไปโรงพยาบาลและต้องเสียชีวิตในบ้านเรือน

ในจำนวนนี้คือ กุลทรัพย์ วัฒนผล หรือ “อัพ VGB” อดีตนักกีฬาอีสปอร์ตชื่อดัง ที่เสียชีวิตระหว่างรอรถพยาบาลอยู่ที่บ้านหลายวัน

การเสียชีวิตของอัพ ได้ทำให้ คริส โปตระนันทน์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม เขต 6 ของอดีตพรรคอนาคตใหม่ และ กุลเชษฐ พี่ชายของอัพ เกิดแรงบันดาลใจ ก่อตั้งกลุ่มอาสาสมัครภาคประชาชนในชื่อ “เส้น-ด้าย” เพราะการรับส่งผู้ป่วยเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลยังมีความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยเฉพาะเมื่อคนดังหรือมีชื่อเสียง มีรถฉุกเฉินมารับในเวลารวดเร็ว แต่คนธรรมดาจำนวนมากได้แต่นอนรอความตาย

คริส โปตระนันทน์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง “กลุ่มเส้นด้าย (Zendai)”

ไม่เพียงกลุ่ม “เส้น-ด้าย” ที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในชุมชน ยังมี “เราต้องรอด” ที่คนดังขอร่วมอาสานำโดย ได๋-ไดอาน่า จงจินตนาการ และทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน หรือหมอแล็บแพนด้า นักเทคนิคการแพทย์ชื่อดัง เป็นผู้ขับเคลื่อน และกลุ่มอิสรชน นำโดย อัจฉรา สรวารี ลงพื้นที่เข้าถึงคนไร้บ้านที่แทบไม่มีโอกาสเข้ารับการรักษาอย่างมีคุณภาพ

องค์การอนามัยโลกรายงานเมื่อเดือนกรกฎาคมว่า สายพันธุ์เดลต้ากลายเป็นตัวเร่งเพิ่มผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วโลกถึงราว 12% ในช่วงวันที่ 12-18 กรกฎาคม หรือจำนวนกว่า 3.4 ล้านคน และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 3% หรือจำนวน 57,000 ทั้งในสหรัฐฯ อังกฤษ อินเดีย และไทย ทำให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อทั่วโลกสูงถึง 190 ล้านคนและเสียชีวิต 4 ล้านคน

ซึ่งการเสียชีวิตนี้ เกิดขึ้นกับประชาชนที่ยังเข้าถึงโอกาสรับวัคซีนได้ในระดับต่ำโดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา กลุ่มคนต่อต้านวัคซีน หรือได้รับวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้

นอกจากสายพันธุ์เดลต้าแล้ว ยังมีสายพันธุ์แลมบ์ด้าที่พบครั้งแรกในเปรู ก็เกิดการระบาดทั่วแถบละตินอเมริกาในเวลาเพียงไม่กี่เดือน

ในปลายเดือนตุลาคม แม้จะพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าพลัสซึ่งเป็นเชื้อกลายพันธุ์อีกระดับจากเดลต้า แต่แนวโน้มผู้ติดเชื้อในไทยก็เริ่มลดลง หลังจากการมาถึงของวัคซีนแบบ mRNA อย่างไฟเซอร์ให้กับบุคลาการทางแพทย์ กลุ่มเยาวชนและผู้สูงอายุ ตามด้วยวัคซีนแบบ mRNA อีกยี่ห้ออย่างโมเดอร์น่า ที่คนไทยต้องเสียเงินจ่ายเองมาถึงราวต้นเดือนพฤศจิกายน พร้อมกับการความพยายามในการเปิดประเทศของรัฐบาลเพื่อพลิกโอกาสหลังสูญเสียความนิยมอย่างหนักจากการรับมือโควิดและแก้ไขเศรษฐกิจอย่างล่าช้าและไม่ถูกจุด

แต่แล้วในเดือนธันวาคม ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน เชื้อกลายพันธุ์น้องใหม่ที่เกิดขึ้นที่แรกในแอฟริกาใต้ ก่อนลุกลามไปทั่วโลก ซึ่งมีความสามารถในการแพร่เชื้อเหนือกว่าเดลต้า แต่ความรุนแรงต่ำกว่า ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อค่อยๆกลับมาเพิ่มขึ้น และวัคซีนที่ไทยได้มาส่วนใหญ่เป็นวัคซีนเชื้อตายและไวรัลเวคเตอร์ ซึ่งไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์โอมิครอนได้ ยกเว้น mRNA ของไฟเซอร์และโมเดอร์น่า แต่กว่าวัคซีนล็อตใหญ่จะมาถึงก็คือปีหน้า

การมาถึงของสายพันธุ์โอมิครอน ทำให้มีกรณีพบผู้ติดเชื้อโควิดพร้อมกัน 2 สายพันธุ์ทั้งเดลต้าและโอมิครอน และมีความกังวลถึงการพบภาวะการระบาดคู่หรือ Twin-Pandemic

แต่ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) มองว่า ยอดผู้ติดเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนในไทยจะพุ่งแซงเชื้อเดลต้าที่ยังระบาดอยู่ในหมู่ประชากรที่ยังไม่ได้รับวัคซีน นั่นไม่ได้หมายความว่าเชื้อเดลตาจะหมดไป แต่จะมีวงจรกลับมาระบาดได้อีก

ทำให้การฉลองปีใหม่ต้องสะดุด และโอกาสที่จะรื่นเริงกลับกลายเป็นความวิตกกังวลข้ามปี กับโอกาสที่จะฟื้นตัวจากโรคระบาดก็ต้องเสียไป

ทั้งนี้ สถิติตลอดปี 2564 จาก Our World in Data ณ วันที่ 27 ธันวาคม ไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 2.21 ล้านคน และเสียชีวิตแล้ว 21,598 ราย เป็นส่วนหนึ่งของจำนวนทั่วโลก ที่มีผู้ติดเชื้อ 281 ล้านคน และเสียชีวิต 5.41 ล้านคน

ไม่เพียงตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เท่านั้น ยังมีผู้เสียชีวิตจากผลพวงของโควิด-19 ที่ทำให้ต้องตกงาน ขาดรายได้ ซึ่งหลายคนไม่เห็นหนทาง และขอเลือกทางสุดท้ายคือ จบชีวิตตัวเอง เช่น พ่อค้าปลาหมึกในอยุธยา นักร้องยูทูปเบอร์สาวชื่อดัง นักธุรกิจ เด็กวัยรุ่นย่านดินแดง ไปจนถึงคนขับแท็กซี่

เหล่าญาติผู้เสียชีวิตจากโควิดได้โพสต์ข้อความอันเป็นการสื่อถึงความสูญเสียมากมายเพื่อระลึกไว้และถือเสมือนย้ำเตือนถึงรัฐบาลและสังคมไทยว่า “จำนวนคนตายไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่คือชีวิตและเป็นคนในครอบครัวของใครสักคน”

รัฐบาลกับการรับมือโควิด – เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้น สวนทางกับวิธีคิด-ความเชื่อมั่น(ผิดๆ)

ไทยเดิมพันวัคซีนตัวเดียว?

แม้ในช่วงปีแรกของการระบาด รัฐบาลไทยได้รับคำชื่นชมในการควบคุมการระบาดอย่างเข้มข้มผ่าน พรก.ฉุกเฉินที่และถูกใช้ในการสกัดการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลของประชาชนคนรุ่นใหม่ที่ไม่ยอมทนการบริหารประเทศภายใต้ผู้นำชื่อ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้อีก

แต่การคุมการระบาดแบบเข้มข้น กลับไม่ได้เตรียมแผนเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งที่ต้องปิดธุรกิจร้านค้าจนขาดรายได้

วัคซีนถือเป็นกุญแจสำคัญในการพาไทยรอดจากการระบาด รัฐบาลไทยวางแผนจัดการวัคซีนโดยเน้นการใช้วัคซีนแบบอะดีโนไวรัสของแอสตร้าเซเนก้า และใช้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ที่เป็นโรงงานผลิตวัคซีนในการผลิตวัคซีนแอสตร้าฯ เป็นตัวหลัก จนต่อมาเกิดวลี “แทงม้าตัวเดียว”

แต่แล้วไม่นานรัฐบาลไทยได้นำเข้าวัคซีนเชื้อตายอย่างซิโนแวคของจีน พร้อมแผนการจัดการวัคซีนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่จะใช้วัคซีนเชื้อตายอย่างซิโนแวคและวัคซีนแอสตร้าฯที่ผลิตในไทยและนำเข้าจากต่างประเทศ โดยที่ไม่มีการเอ่ยถึงวัคซีนแบบ mRNA ที่เป็นเทคโนโลยีวัคซีนใหม่ล่าสุด อย่างวัคซีนของไฟเซอร์-ไบโอเอนเทคและโมเดอร์น่า

COVAX-เชื้อกลายพันธุ์ : ราคาที่ต้องจ่ายให้การคิดสั้น คือ ชีวิตของประชาชน

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนเมษายนปี 2563 สหประชาชาติได้จัดตั้งโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ในการให้ชาติสมาชิกและบริษัทผู้พัฒนาวัคซีนระดมรวบรวมวัคซีนเพื่อส่งมอบให้กับประเทศที่มีความต้องการ เพื่อช่วยสกัดการระบาดของโควิด-19 แต่ในบรรดารายชื่อชาติสมาชิกกลับไม่มีชื่อของไทย

อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีสาธารณสุขของไทย ได้กล่าวถึงกรณีเข้าร่วมโคแวกซ์ว่า ไทยได้เจรจากับโคแวกซ์มาตลอด แต่ไม่อยู่เกณฑ์ที่ได้รับวัคซีนฟรี เนื่องจากโคแวกซ์ให้สิทธิแก่ประเทศยากจนที่องค์การอนามัยโลกและพันธมิตรวัคซีน Gavi รับรอง

เช่นเดียวกับนพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวตอนหนึ่งว่า โคแวกซ์ ทำเพื่อเป้าหมายแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ให้กับประเทศยากจน โดยในอาเซียนมีประเทศที่ได้รับวัคซีนฟรี ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ส่วนประเทศไทย บรูไน สิงคโปร์ และมาเลเซีย ไม่อยู่ในเกณฑ์ หากจะเข้าร่วมโครงการต้องนำเงินไปร่วมลงขัน

“ดังนั้น การทำความตกลงซื้อวัคซีนโควิด-19 จากผู้ผลิตโดยตรง จะมีความยืดหยุ่นมากกว่า สามารถกำหนดจำนวนวัคซีนที่จะซื้อได้ ต่อรองราคาได้ หากซื้อจำนวนมาก ราคาก็จะถูกลง และยังสามารถต่อรองเงื่อนไข ขอบเขตความรับผิดชอบได้ตามสมควร” นพ.นคร กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในเว็บไซต์ของ GAVI องค์กรเป็นผู้ดูแลโครงการโคแวกซ์นั้น ได้ระบุวัตถุประสงค์โครงการว่าวัคซีนจะถูกส่งมอบกับประเทศใดที่มีความต้องการ โดยไม่คำนึงถึงระดับรายได้ อีกทั้งในเวลาต่อมา สิงคโปร์ก็ได้วัคซีนที่จัดสรรผ่านโคแวกซ์อีกด้วย

แต่แล้ว การระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่ลุกลามอย่างรวดเร็วตั้งแต่เดือนเมษายน และยังสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันวัคซีนของซิโนแวคได้ ในขณะที่การผลิตวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าล่าช้าไม่ทันรับมือการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า จนนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน บุคลากรด่านหน้าและนักการเมืองอย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้าได้ไลฟ์เฟซวิพากษ์วิจารณ์แผนการจัดการวัคซีนของรัฐบาลที่ผูกขาดแต่วัคซีนแอสตร้าฯ ไม่เปิดรับหาวัคซีนทางเลือกอย่างไฟเซอร์หรือโมเดอร์น่า ซึ่งสามารถป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้ดี แต่ธนาธร กลับถูกรัฐบาลฟ้องในข้อหามาตรา 112 จากการวิพากษ์วิจารณ์แผนจัดการวัคซีน

ในเดือนพฤษภาคม องค์การอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตายอีกชนิดของจีน ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าซิโนแวค เข้ามาฉีดให้กับประชาชนโดยการเปิดลงทะเบียนและเสียค่าใช้จ่ายการฉีดวัคซีน ซึ่งถูกนำเข้าโดยสถาบันฯที่บริหารด้วยงบประมาณแผ่นดินหรือก็คือ เงินภาษีของประชาชน

ต่อมาต้นเดือนกรกฎาคม ได้มีเอกสารหลุดจากการประชุมร่วม 3 ฝ่ายในการจัดหาวัคซีน ซึ่งมีการพิจารณาจัดหาวัคซีนแบบ mRNA อย่างไฟเซอร์ให้กับบุคลาการด่านหน้าทุกคน หลังพบว่าวัคซีนซิโนแวคที่ฉีดไปก่อนหน้านั้น บุคลากรด่านหน้าติดเชื้อโควิด

ในเนื้อหาเอกสารดังกล่าว โดยเฉพาะในส่วนความเห็นของผู้ร่วมประชุม ได้มีประโยคหนึ่งที่สร้างความโกรธเคืองให้ประชาชนรวมถึงบุคลากรแพทย์ด่านหน้า ที่ว่า “ถ้าเอามา(วัคซีนไฟเซอร์) ฉีดกลุ่ม 3(บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า) แสดงว่าเรายอมรับว่า Sinovac ไม่มีผลในการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น”

วลี “แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น” จึงเป็นคำพูดที่สาธารณชนนำไปล้อเลียนและวิจารณ์รัฐบาลไทยหนักขึ้น เพราะในช่วงการระดมฉีดวัคซีนนั้น รัฐบาลไทยและผู้บริหารหน่วยงานสาธารณสุข จนถึงแพทย์ที่ทำงานให้รัฐบาล สนับสนุนการฉีดซิโนแวคกันแบบออกนอกหน้า

โควิดสายพันธุ์เดลต้าได้ทำตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นในช่วงกลางปี จนในที่สุด 21 กรกฎาคม นพ.นคร ได้ออกมาขอโทษต่อสาธารณชนจากความผิดพลาดในการบริหารวัคซีน โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า

“การดำเนินงานของภาครัฐที่มีระบบระเบียบที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องใช้เวลาในการดำเนินการ เป็นที่มาของความรับรู้ว่าการจัดหาวัคซีนอาจจะไม่ทันตามจำนวนที่คิดว่าควรจะเป็นได้ ทั้งหมดก็เป็นเรื่องข้อจำกัดที่มี แต่ต้องกราบขออภัยพี่น้องประชาชนที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติแม้ว่าจะได้พยายามเต็มที่แล้ว แต่ก็ยังจัดหาวัคซีนได้ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เราไม่คาดคิด การระบาดของโรคโควิดเราไม่เคยประสบพบเจอกันมาก่อน” นพ.นคร กล่าวและว่า เรายังอยู่ในการเข้าร่วมกับโครงการ COVAX เพียงแต่ยังไม่มีการลงนามในการจัดหาวัคซีนร่วมกัน ส่วนนี้สถาบันวัคซีนแห่งชาติเริ่มเตรียมการเจรจาประสานงานในการจัดหาวัคซีนร่วมกับ COVAX โดยมีเป้าหมายได้รับวัคซีนในปี 2565 ควบคู่ไปกับการเจรจากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนด้วยตัวเอง ซึ่งหากมีข้อสรุปเบื้องต้นที่ชัดเจนจะได้มีการเสนอผ่านคณะทำงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ในเดือนสิงหาคม อนุทิน ได้กล่าวชี้แจงต่อสภาในเรื่องการบริหารวัคซีน พร้อมให้คำมั่นที่กลายเป็นประโยคชวนล้อเลียนว่า ในไตรมาส 3 “วัคซีนเต็มแขน” คนไทย

แต่ท่ามกลางการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าในช่วงกลางปี วัคซีนกลับไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน ทำให้เกิดภาพคนจำนวนมากทั้งมาจากกรุงเทพฯและต่างจังหวัดมาต่อคิวรับวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อกันหนาแน่นจนเสี่ยงจะได้รับเชื้อโควิด

จากนั้นในเวลาต่อมา วัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐฯบริจาคให้กับไทยจำนวน 1.5 ล้านโดส ก็ถูกส่งมอบให้กับบุคลากรด่านหน้า และ และวัคซีนโมเดอร์น่าที่ประชาชนจ่ายเงินให้โรงพยาบาลเอกชนนำเข้าผ่าน อย. ล็อตแรก 560,200 โดสมาถึงไทยเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน รวมถึงครม.รับทราบการจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์เพิ่ม 30 ล้านโดส ที่จะเข้ามาในปีหน้า (23 พฤศจิกายน 2564) และโมเดอร์น่าล็อต 2 อีกจำนวน 1,382,500 โดส มาถึงไทยในปลายเดือนเดียวกัน

แต่ก็ยังไม่เพียงพอในการรับมือสายพันธุ์เดลต้า จนเกิดแนวคิดผสมสูตรไขว้วัคซีนเชื้อตาย+อะดีโนไวรัส ในขณะที่ งานวิจัยทั้งในสเปนและอังกฤษใช้วัคซีนสูตรไขว้ แอสตร้าฯ+ไฟเซอร์ จนล่าสุดองค์การอนามัยโลกได้อนุมัติชั่วคราวในการใช้สูตรไขว้เพื่อให้แต่ละประเทศบริหารวัคซีนให้เพียงพอกับประชาชนตามความเหมาะสม

ในช่วงที่เกิดการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนจนมีการประกาศแผนฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์เพื่อป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ ในปี 2565 กรมควบคุมโรค ได้กำหนดให้รับวัคซีนเข็ม 3 หลังได้รับเข็ม 2 เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้ประกาศความสำเร็จในการให้ประชาชนฉีดวัคซีนเกิน 100 ล้านโดสแล้ว แต่ทว่าสัดส่วนวัคซีนที่ฉีดส่วนใหญ่เป็นเชื้อตายและอะดีโนวัคซีน แม้จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่ช่วยลดอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและอาการรุนแรงจนเสียชีวิต และมีแผนในปี 2565 ในการจัดหาเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม การบริหารวัคซีนของไทยก็มีความคลุมเครือ โดยเฉพาะสัญญาระหว่างแอสตร้าฯกับสยามไบโอไซเอนซ์ที่มีแต่เอกสารที่ถูกถมดำทั้งหมดจนไม่เห็นสาระของข้อตกลง แต่พอลบส่วนถมดำออก กลับพบว่าสยามไบโอไซเอนซ์เป็นเพียงบริษัทที่รับผลิตและต้องส่งผลิตภัณฑ์กลับไปยังบริษัทแม่เพื่อส่งต่อให้กับลูกค้าที่รอวัคซีนก่อนไทย ทำให้ไทยกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบ นั้นจึงอธิบายได้ว่าเหตุใดรัฐบาลไทยถึงสั่งวัคซีนซิโนแวคเพิ่มในช่วงที่แอสตร้าฯมาไทยล่าช้า และของที่ได้มาก่อนหน้าก็เป็นโรงงานจากต่างประเทศ

ตลอดปี 2564 ประชาชนคนไทยได้รับวัคซีนครบแล้ว 45.4 ล้านคน หรือคิดเป็น 65.1% ของจำนวนประชากรทั้งหมด จากปริมาณวัคซีนที่ไทยฉีดไปจำนวน 103 ล้านโดส โดยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กล่าวในวันที่ 29 ธันวาคมว่า ยังมีอีก 38 จังหวัด ที่รับวัคซีนเข็มแรกไปไม่ถึง 60% น่าจะเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลไทยที่ต้องหาทางแก้

รัฐบาลไทยไม่เพียงถูกวิจารณ์ในความผิดพลาดของวัคซีน ที่ของมีคุณภาพกลับให้ประชาชนรับภาระไป เรื่องชุดตรวจ Antigen Test Kit ก็ถูกวิจารณ์ จากกรณีล็อคสเปกให้กับบริษัทที่มีความสัมพันธ์กับคนในรัฐบาล และพบว่าชุดตรวจของบริษัทดังกล่าวให้ผลเป็นลบลวง (Negative False) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการตรวจหาเชื้อในระดับชุมชนเพื่อควบคุมการระบาด และราคาชุดตรวจบางยี่ห้อสูงเกินกว่ายี่ห้อที่ขายในต่างประเทศ จนเป็นการเพิ่มภาระค่าครองชีพของประชาชนไปอีก

แม้แต่เรื่องเตียงและโรงพยาบาลสนาม ก็ทำการแก้ไขอย่างเร่งรีบ ท่ามกลางภาวะคนไข้ล้นโรงพยาบาลและเสียชีวิตคาบ้านเรือนหรือกลางถนน

ทั้งหมดทั้งมวล รัฐบาลต้องแก้ไขในลักษณะแก้ทีละปมโดยปราศจากความพร้อมจริงๆ ส่วนหนึ่งก็เพราะความเชื่อมั่นที่มีมากแต่ขาดการมองการณ์ไกล แม้แต่เงินเยียวยาช่วยเหลือก็จัดสรรไม่ทั่วถึง มีเงื่อนไขมากมายและล่าช้า จนทำให้มีคนจบชีวิตเพราะโควิดจริงๆ และผลพวงของโควิด อันมาจากความล้มเหลวในการแก้ไขสถานการณ์ของรัฐบาล