แพทย์ พิจิตร : พระราชอำนาจในการยุบสภาตามประเพณีการปกครองของสหราชอาณาจักร (3)

ผลพวงที่เกิดขึ้นจากการปฏิรูปทางการเมืองอังกฤษภายใต้ พ.ร.บ.ปฏิรูปใหญ่ ค.ศ.1832 เห็นได้ชัดจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนั้นในปี ค.ศ.1841 หนังสือพิมพ์ The Times ได้อธิบายการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ว่าเป็น “ชัยชนะเหนืออิทธิพลของราชสำนัก”

เพราะการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่ไม่สามารถทำให้รัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์พระมหากษัตริย์สามารถกลับมาเป็นรัฐบาลได้อีก

ทั้งนี้ ชัยชนะของ Peel ในการเลือกตั้งทั่วไปคราวนั้นได้ส่งผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในขณะนั้นโดยตรง

และในปี ค.ศ.1846 สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียได้ทรงมองย้อนหลังไปยังเหตุการณ์การยุบสภาและการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ.1841 พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพระองค์โดยเฉพาะ

พระนางได้ทรงตรัสกับ Lord Russell ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1841 ว่า

“พระองค์รู้สึกอย่างแรงกล้าว่า พระองค์ได้ทรงทำผิดพลาดในการยอมให้มีการยุบสภาในปี ค.ศ.1841 ด้วยผลคือ เสียงส่วนใหญ่ตีกลับมาต่อต้านนายกรัฐมนตรีที่พระองค์สนับสนุนเกือบหนึ่งร้อยคะแนนเสียง”

และในปีเดียวกันนั้นเอง ซึ่งนับเป็นเวลา 14 ปีหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.ปฏิรูปใหญ่ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียได้ทรงมีพระราชดำรัสกับ Lord Russell อีกครั้งหนึ่งว่า อำนาจในการยุบสภาของกษัตริย์ที่ได้เคยเป็นอาวุธ “จะต้องไม่ถูกใช้ ยกเว้นในกรณีที่สุดโต่งจริงๆ และจะต้องใช้ด้วยความแน่ใจในความสำเร็จ การใช้เครื่องมือนี้และพ่ายแพ้เป็นสิ่งที่จะทำให้สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ตกต่ำและทำให้ประเทศเสียหาย”

นั่นคือ อิทธิพลการสนับสนุนจากองค์พระมหากษัตริย์ต่อรัฐบาลไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญอีกต่อไปที่จะส่งผลให้พรรคของรัฐบาลที่องค์พระมหากษัตริย์สนับสนุนชนะการเลือกตั้งหลังทั่วไปได้อีกต่อไปหลังจากที่มีการยุบสภาแล้ว

 

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ภายใต้ พ.ร.บ.ปฏิรูปใหญ่นี้ พระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ในการกำหนดตัวนายกรัฐมนตรีได้ลดหายไปอย่างรวดเร็ว

โดย Bogdanor ให้เหตุผลว่า “เพราะสถานะขององค์พระมหากษัตริย์จะถูกสั่นคลอนหรืออาจจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ หากพระองค์ยังคงทรงใช้อิทธิพลในการกำหนดตัวนายกรัฐมนตรีที่พระองค์ทรงพอพระทัย ยกเว้นแต่นายกรัฐมนตรีผู้นั้นจะได้รับเสียงสนับสนุนจากคะแนนเสียงของผู้คนในประเทศ”

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ในปี ค.ศ.1841 เริ่มมีความชัดเจนว่า ความไว้วางใจขององค์พระมหากษัตริย์จะไม่มีอิทธิพลสำคัญ หากตัวนายกรัฐมนตรีเองไม่ได้ความไว้วางใจจากผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วย

แต่ที่น่าสนใจคือ ตัว Peel เองกลับยังไม่เข้าใจพัฒนาการดังกล่าวนี้

Bogdanor ชี้ว่า Peel ยังเป็นนักการเมืองที่คงไว้ซึ่งสัญชาตญาณหลายอย่างของนักการเมืองในศตวรรษที่สิบแปด

นั่นคือ Peel ยังมองตัวเองในฐานะที่เป็นข้าราชการในองค์พระมหากษัตริย์มากกว่าจะเป็นของพรรคหรือของประชาชน

และนี่เป็นปัจจัยที่นำเขาไปสู่ความพ่ายแพ้ในปี ค.ศ.1846 เมื่อเขายืนยันที่จะยกเลิก Corn Laws ซึ่งเป็นจุดยืนที่ตรงข้ามกับของสมาชิกส่วนใหญ่ในพรรคของเขา

และเขาก็ยังเข้าใจว่าการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี ค.ศ.1841 นั้นเป็นผลมาจากการที่เขาได้รับความไว้วางใจจากองค์พระมหากษัตริย์

ซึ่งในความเป็นจริงของการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปในปี ค.ศ.1841 ลำพังความไว้วางใจขององค์พระมหากษัตริย์จะไม่ได้ส่งให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีเลย

แต่ปัจจัยสำคัญคือคะแนนเสียงของประชาชน

 

อย่างไรก็ตาม จากการเปลี่ยนแปลงในปี ค.ศ.1841 ที่ส่งผลให้ผลการเลือกตั้งทั่วไปที่เคยมีแนวโน้มที่จะเป็นไปตามการเปลี่ยนตัวรัฐบาลมาสู่การที่ตัวรัฐบาลจะต้องเปลี่ยนไปตามผลการเลือกตั้ง ทำให้การยุบสภาในศตวรรษที่สิบเก้า เริ่มมีการนำเอาผลประโยชน์ของพรรคมาคิดคำนวณเพื่อเป็นเหตุผลในการยุบสภาด้วย

แต่ตามกติกาของการยุบสภา ผลประโยชน์ของพรรคไม่ใช่ปัจจัยหรือเหตุผลหลักในการยุบสภา เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ

ที่สำคัญกว่า และด้วยเหตุนี้ รัฐบุรุษที่โดดเด่นของอังกฤษอย่าง Peel และ Gladstone จึงได้กล่าวประณามการยุบสภาที่อิงอยู่กับเหตุผลของพรรคเพียงอย่างเดียวเท่านั้น (ในแง่นี้ การยุบสภาด้วยเหตุผลของตัวนายกรัฐมนตรีคนเดียวเท่านั้น—ผู้เขียน) ผลที่ตามมาคือ หากเกิดการพ่ายแพ้ในสภา การลาออกจึงน่าจะเป็นสิ่งที่ควรทำมากกว่าการยุบสภา

 

สําหรับเหตุการณ์ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของประเพณีการปกครองที่การถวายคำแนะนำในการยุบสภานั้นตกเป็นของผู้ที่มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1916 เมื่อ Asquith ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากปัญหาภายในรัฐบาลของเขาเองทำให้พระเจ้าจอร์จที่ห้าตัดสินพระทัยว่าจะเชิญ Bonar Law หัวหน้าฝ่ายค้านให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยทรงหวังว่าจะขอให้ Law ยอมยุบสภาได้

โดยในครั้งนั้นพระองค์ได้ปรึกษากับ Lord Haldane ถึงการดำเนินการดังกล่าว

แต่ Lord Haldane ตอบกลับมายังพระองค์ว่า บุคคลเพียงคนเดียวที่จะสามารถถวายคำแนะนำในการยุบสภาได้นั้นก็คือตัวนายกรัฐมนตรีที่เข้ามารับตำแหน่งแล้วเท่านั้น

ดังนั้น พระองค์จึงไม่สามารถใช้การยุบสภามาต่อรองกับคนที่เป็นเพียง “ว่าที่” นายกรัฐมนตรีได้

และตามความเห็นของ Jennings ปรมาจารย์ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญของอังกฤษ อธิบายว่า จากความเห็นของ Lord Haldane ที่กราบบังคมทูลพระเจ้าจอร์จที่ห้า ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อแบบแผนการยุบสภา

โดยตั้งแต่สมัยของที่ Lloyd George เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นต้นมา โดยได้ตีความคำแนะนำของ Lord Haldane ว่า อำนาจในการถวายคำแนะนำให้มีการยุบสภานั้นเป็นของนายกรัฐมนตรี มิใช่ของคณะรัฐมนตรี (ทั้งที่ก่อนหน้านี้ต้องเป็นของคณะรัฐมนตรี)

และ Jennings ได้กล่าวสรุปว่า “Nevertheless, the error has become the rule” หรือความผิดพลาดหรือความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้กลายเป็นกฎกติกาขึ้นมาใหม่

หรืออีกนัยหนึ่ง ประเพณีการยุบสภาของอังกฤษที่นายกรัฐมนตรีเท่านั้นจะเป็นผู้ถวายคำแนะนำการยุบสภาต่อพระมหากษัตริย์เกิดจากความเข้าใจผิดมากกว่าจะมีเหตุผลสำคัญเป็นอย่างอื่น

แต่ขณะเดียวกัน Markesinis กลับเห็นว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเพณีการยุบสภาที่ผู้ถวายคำแนะนำในการยุบสภาต่อองค์พระมหากษัตริย์คือตัวนายกรัฐมนตรีเท่านั้น เกิดจากการที่ Lord Haldane นำเอาบทบาทความสำคัญที่เพิ่มมากขึ้นของนายกรัฐมนตรีในช่วงสงครามมาพิจารณามากกว่าเหตุผลอื่น

และ Markesinis ชี้ให้เห็นถึงประจักษ์หลักฐานที่พอเพียงจะชี้ให้เห็นถึงเกียรติภูมิและศักดิ์ศรี (prestige) ของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เติบโตเพิ่มมากขึ้นเหนือรัฐมนตรีคนอื่นๆ ในช่วงเวลาดังกล่าว เช่น ความสามารถในการรับมือกับ Parliament Act และ Home Rule Bill ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1910-1914 อีกทั้งการที่ตัวนายกรัฐมนตรีได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงานที่เป็นนักการเมืองอาวุโสก็เป็นหลักฐานชัดเจน

ภาวะสงครามส่งผลให้ตระหนักถึงความพิเศษของสถานะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เหนือกว่ารัฐมนตรีกระทรวงอื่นๆ เพราะในภาวการณ์ดังกล่าว การกระทำที่รวดเร็วหนักแน่นเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเชื่อมโยงกับความสามารถในการใช้อำนาจบริหารจัดการนโยบายต่างๆ ในเวลาเดียวกัน

และในความเห็นของ Markesinis ความสามารถและบุคลิกภาพความเป็นผู้นำของ Lloyd George ในการรับมือกับสงครามยืนยันเหตุผลที่เขาได้กล่าวไป

 

ด้วยเหตุนี้ การยุบสภาในปี ค.ศ.1918 ภายใต้รัฐบาลที่มี Lloyd George เป็นนายกรัฐมนตรีจึงแตกต่างไปจากประเพณีการยุบสภาที่ดำเนินสืบเนื่องมาก่อนหน้านั้น และถือเป็นหมุดหมายของการเปลี่ยนแปลงหรือวิวัฒนาการของประเพณีการยุบสภาของอังกฤษอีกครั้งหนึ่ง โดยการถวายคำแนะนำการยุบสภาต่อองค์พระมหากษัตริย์จะมาจากลำพังตัวนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

และในการยุบสภาครั้งนั้น ปรมาจารย์ด้านกฎหมายอีกท่านหนึ่งคือ Macintosh ได้ยืนยันว่าเป็นการกระทำที่มิได้มีการปรึกษาคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด

และ Jennings กล่าวสำทับว่า “ไม่มีการยุบสภาใดนับตั้งแต่ 1918 ที่มีการหารือกับคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีทุกคนนับตั้งแต่ Lloyd George ได้ถือเอาว่า เป็นสิทธิของนายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่จะเป็นผู้ถวายคำแนะนำ”

แต่ Markesinis ในฐานะที่เป็นนักวิชาการที่ศึกษาวิจัยประเด็นเรื่องการยุบสภาโดยเฉพาะ ได้กล่าวว่า จริงอยู่ที่ว่า นับตั้งแต่ Lloyd George สิทธิในการถวายคำแนะนำในการยุบสภาจะเป็นของนายกรัฐมนตรี

แต่กระนั้นในทางปฏิบัติ นายกรัฐมนตรีที่มีวิสัยทัศน์เพียงพอก็ย่อมจะไม่ถวายคำแนะนำให้มีการยุบสภาโดยไม่ปรึกษาหารือหรือได้รับความเห็นชอบจากบรรดารัฐมนตรีร่วมคณะส่วนใหญ่

เพราะการตัดสินใจยุบสภาโดยลำพังจริงๆ ย่อมเสี่ยงที่จะเปิดโอกาสให้คำแนะนำของนายกรัฐมนตรีอาจถูกปฏิเสธโดยพระมหากษัตริย์ที่จะมีพระบรมราชโองการยุบสภาได้

ดังที่จะได้กล่าวถึงต่อไป