จรัญ มะลูลีม : ทรัมป์กับมุสลิม (23)

จรัญ มะลูลีม

ที่ผ่านมาซาอุดีอาระเบียไม่สบายใจที่รัฐบาลกาตาร์สนับสนุน มุฮัมมัด มุรซี ซึ่งเป็นรัฐบาลของขบวนการภราดรภาพมุสลิมในอียิปต์อยู่เป็นระยะเวลาสั้นๆ ราวหนึ่งปี นอกจากนี้ ยังมีพรรคการเมืองที่ยึดโยงกับกลุ่มภราดรภาพมุสลิมหลังจากประสบความสำเร็จในการปฏิวัติที่เรียกว่าอาหรับสปริงอยู่อีกหลายประเทศ

มุฮัมมัด มุรซี วิศวกรชาวอียิปต์จากกลุ่มภราดรภาพมุสลิมได้รับการโหวตให้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีอียิปต์ ในปี 2012 แต่ถูกรัฐประหารหล่นจากอำนาจหลังจากอยู่ในอำนาจราวหนึ่งปี

นักสังเกตการณ์ทางการเมืองให้ข้อสังเกตว่าหากการเลือกตั้งกระทำด้วยความเป็นอิสระและยุติธรรมมีขึ้นอีกครั้งผลก็จะออกมาเหมือนเดิม

นั่นคือขบวนการภราดรภาพมุสลิมจะขึ้นสู่อำนาจอีกครั้ง แม้ว่าจะเป็นไปได้ยากภายใต้เผด็จการทหารที่ฝังลึกอยู่ในการเมืองของอียิปต์ตั้งแต่สมัยของอับดุลนาซิร หรือนัซเซอร์ มาจนถึงผู้ปกครองทหารคนปัจจุบันอย่าง อัซ-ซิซี

ปัจจุบันขบวนการภราดรภาพมุสลิมได้กลายมาเป็นผู้ก่อการร้ายจากการนิยามของซาอุดีอาระเบียและฝ่ายบริหารของทรัมป์

 

ข้อเรียกร้องอื่นๆ ที่ซาอุดีอาระเบียเรียกร้องจากกาตาร์ก็ได้แก่ การตัดขาดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่าน โดยขบวนการฮามาสและขบวนการภราดรภาพมุสลิมที่ปฏิบัติงานอยู่ในกาตาร์ต้องออกไปจากประเทศนี้และหยุดการทำงานของเครือข่ายอัล-ญะซีเราะฮ์ ซึ่งเป็นสำนักข่าวที่ใหญ่ที่สุดของตะวันออกกลาง

อิหร่านกับกาตาร์นั้นเป็น 3 ยักษ์ใหญ่ของผู้ครอบครองก๊าซในโลก (รัสเซีย อิหร่านและกาตาร์) กาตาร์และอิหร่านจึงเป็นเจ้าของก๊าซที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลางและเป็นอันดับ 2 และ 3 ของโลก

ความร่วมมือของกาตาร์และอิหร่านในภาคไฮโดรคาร์บอน จึงมีความสำคัญสูงสุดของสองประเทศนอกเหนือไปจากประเทศอื่นๆ ในรัฐกษัตริย์แถบอ่าว (Gulf Emirates) อย่างเช่น โอมาน คูเวต ด้วยเหตุนี้รัฐดูไบ เมืองท่าของ UAE จึงต้องการคงความสัมพันธ์ที่ดีกับอิหร่านเอาไว้

อย่างไรก็ตาม รัฐที่เป็นเมืองหลวงของ UAE อย่างอะบูดาบี ซึ่งควบคุม UAE อยู่และมีน้ำมันอยู่อย่างมหาศาลนั้นเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศของสภาความร่วมมือแห่งอ่าว (GCC)

ที่น่าสนใจก็คือซาอุดีอาระเบียและพันธมิตรใน GCC ต่างก็เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วในการเข้ามาต่อต้านกาตาร์หลังการมาเยือนของทรัมป์ หรืออย่างน้อยการต่อต้านกาตาร์ก็ปรากฏให้เห็นในตอนนี้

และเป็นที่ประหลาดใจเนื่องจากการ์ตาร์เป็นประเทศที่มีฐานทัพของทหารสหรัฐที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอยู่ที่นี่และมีเจ้าหน้าที่ทางทหารอยู่ 10,000 นาย

 

ฐานทัพ อัล-อุดีด (Udeid) เป็นฐานทัพอากาศของสหรัฐที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค สำนักงานของศูนย์บัญชาการกลางทางทหาร (Centcom) ก็อยู่ที่กาตาร์เช่นกัน

ฝ่ายกลาโหมหรือเพนตากอนของสหรัฐยืนยันว่าฐานทัพของตนที่อยู่ในกาตาร์มีความสำคัญในการปฏิบัติการทางทหาร ทั้งในซีเรียและอิรัก

ซึ่งแม้แต่ Rex Tillerson รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐมีความพยายามจะให้เกิดการสมานรอยร้าวขึ้นในหมู่รัฐกษัตริย์เหล่านี้ ด้วยการออกแถลงการณ์ถึงความจำเป็นที่จะให้มีการหาทางเจรจาไกล่เกลี่ยขึ้นหลังจากเกิดความห่างเหินต่อกันอันเนื่องมาจากการตัดสัมพันธไมตรีระหว่างซาอุดีอาระเบียและพันธมิตรกับกาตาร์

ดูเหมือนว่าทรัมป์เป็นผู้สร้างทัศนคติแห่งการปลุกเร้าด้วยคาถาที่ย้ำแล้วย้ำเล่าให้เห็นว่าอิหร่านเป็นผู้สนับสนุนหลักของการก่อการร้ายในภูมิภาค

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงอิหร่านเป็นปรปักษ์กับกลุ่มก่อการร้ายแทบทุกกลุ่มนับจากไอเอส อัล-กออิดะฮ์ ฏอลิบาน ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม อิหร่านก็เป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นกับกองกำลังที่ต้องการปลดปล่อยปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครองไม่ว่าจะเป็นขบวนการฮามาสหรือกองกำลังฮิสบุลลอฮ์

 

ฮิสบุลลอฮ์เป็นกองกำลังเดียวที่เอาชนะอิสราเอลได้ทั้งในปี 2000 และ 2003 โดย The Economist ถึงกับพาดหัวว่านัศรุลลอฮ์ ซึ่งเป็นผู้นำกองกำลังของฮิสบุลลอฮ์เป็นผู้ชนะสงคราม (Nasrallah Wins the War) อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ต้องการจะบอกว่ากาตาร์ก็ไม่ต่างไปจากอิหร่านมากนัก

นอกจากนี้ สหรัฐเองก็ออกมายอมรับว่าอิทธิพลของอิหร่านได้เข้ามาสู่เมืองหลวงของประเทศอาหรับแล้ว ทั้งในกรุงดามัสกัสของซีเรีย บัฆดาด หรือแบกแดดของอิรักและเบรุตของเลบานอน แม้ Tellerson จะพยายามไกล่เกลี่ยแต่เขาถูกบีบด้วยทวีตเตอร์ของทรัมป์ที่ออกมาย้ำเป็นครั้งที่ 2 ว่ากาตาร์มีความผิดที่ไปช่วยผู้ก่อการร้าย

ในความเป็นจริงทรัมป์เคยรับรองความประพฤติของกาตาร์มาแล้ว หลังจากตัวเขาได้พบกับตัวของอมีรเองเมื่อเขาได้ไปเยือนกรุงริยาฏในเดือนพฤษภาคม (2017) ที่ผ่านมา เมื่อเขากล่าวว่า “ความสัมพันธ์ของเรากับประเทศ (กาตาร์) นั้นดีเยี่ยม”

ทรัมป์บอกว่าเขาได้พูดคุยอย่างดีกับตัวของอมีร และให้ความสำคัญกับวาระที่ได้พูดคุยกัน

ตามคำพูดของเขา เขาคือผู้ขาย “อาวุธอันสวยงามของอเมริกัน” ให้กาตาร์ ซึ่งหลากหลายไปด้วยอาวุธชนิดต่างๆ ที่ยังไม่มีการลงนามในข้อตกลงที่มีราคาหลายพันล้านเหรียญสหรัฐแต่อย่างใด ไม่เหมือนกับซาอุดีอาระเบียที่ตกลงซื้ออาวุธกับสหรัฐไปเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากทรัมป์มารับทราบว่า ความจริงแล้วกาตาร์เป็นผู้ให้การช่วยเหลือลัทธิก่อการร้ายอยู่ตลอดเวลา

ในปี 2011 ทรัมป์กล่าวว่าซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ให้ทุนที่ใหญ่ที่สุดของโลกแก่ลัทธิก่อการร้าย พร้อมกับกล่าวเพิ่มเติมว่า (ซาอุดีอาระเบีย) ได้ใช้รายได้จากน้ำมันเพื่อเป็นกองทุนให้ผู้ก่อการร้ายที่พยายามจะทำลายประชาชนของเรา ในขณะที่ชาวซาอุดีอาระเบียขึ้นอยู่กับเราในการปกป้องพวกเขา

หลังจากซาอุดีอาระเบียลงนามข้อตกลงซื้ออาวุธ 110 พันล้าน เมื่อทรัมป์ไปเยือนกรุงริยาฏ ซาอุดีอาระเบียก็กลายเป็นประเทศที่ดีในสายตาของประธานาธิบดีทรัมป์

 

อดีตรองประธานาธิบดี Joe Biden ได้ออกมาพูดที่ฮาร์วาดว่า ซาอุดี เอมิเรตส์ ฯลฯ มีความมุ่งมั่นที่จะเอา (บะชัร อัล-อะสัด) ลงจากตำแหน่งให้ได้

และด้วยการมีสงครามตัวแทน ซุนนี-ชีอะฮ์ทำให้พวกเขาทุ่มเงินนับพันล้านเหรียญสหรัฐ และอาวุธทางทหารเป็นแสนตันให้กับใครก็ได้ที่ออกมาสู้กับอะสัด

แต่ผู้ที่ได้รับการส่งอาวุธให้ได้แก่ อัล-กออิดะฮ์ อัล-นุสเราะฮ์ และพวกนักรบสุดโต่งที่มาจากทั่วโลก

กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐให้ความสำคัญกับพันธมิตรในรัฐแถบอ่าว ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะต่อสู้กับอิหร่านและเอาชนะกองกำลังดาอิชห์หรือไอเอสในอิรัก แต่ดูเหมือนทรัมป์จะมีความคิดว่ากาตาร์ซึ่งเป็นผู้ส่งออกก๊าซที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีเส้นทางยุทธศาสตร์ใกล้กับช่องแคบฮอร์มุช (Straits of Hormuz) ของอิหร่านจะไม่มีความสำคัญมากนัก

ความจริงทรัมป์ได้ออกแถลงการณ์ถึงสองครั้งว่ากาตาร์ให้การสนับสนุนการก่อการร้าย แถลงการณ์ล่าสุดของเขามีขึ้นหลังจาก Tillerson พยายามจะไกล่เกลี่ยระหว่างซาอุดีอาระเบียและพันธมิตรกับกาตาร์

แต่ดูเหมือนกาตาร์จะยังคงยืนหยัดในอุดมการณ์ของตนเองอย่างเหนียวแน่นที่จะคบกับอิหร่านและปฏิเสธว่าประเทศของตนพัวพันกับการก่อการร้าย