17 ส.ค. 58 : ย้อนเหตุวางระเบิดศาลท้าวมหาพรหม กับอดีตที่ราชประสงค์ หน่วยมั่นคงรีบสรุปอะไร ?

หมายเหตุบทความนี้  เผยแพร่ครั้งแรกคอลัมน์ ในประเทศ หน้า 10 นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 35 ฉบับที่ 1827 ยศ ตำแหน่ง และความรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้องคดีนี้ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นช่วงเหตุการณ์ในเวลานั้น

ทำไม ท้าวมหาพรหม

เป็นเหตุการณ์ช็อกความรู้สึกคนไทยทั้งประเทศ

สำหรับเหตุลอบวางระเบิดบริเวณศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ เมื่อช่วงหัวค่ำวันที่ 17 สิงหาคม 2558

ทำให้มีชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเสียชีวิต 20 ราย และได้รับบาดเจ็บอีกจำนวน 123 คน

นับเป็นการระเบิดครั้งที่ 3 หลังการเข้ายึดอำนาจของ คสช.

ทิ้งช่วงต่อจากเหตุวางระเบิดสถานีรถไฟฟ้าสยาม หน้าห้างสยามพารากอน และปาระเบิดใส่ศาลอาญา ถนนรัชดาฯมาติดๆ

ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์ได้ข้อสรุปว่าเป็นระเบิดการเมือง ฝีมือเครือข่ายฝ่ายต่อต้านและกลุ่มผู้สูญเสียประโยชน์ มุ่งสร้างสถานการณ์ทำลายความน่าเชื่อของรัฐบาลทหาร

แม้จะมีบางปมที่ยังค้างคาใจ

แต่เนื่องจากทั้ง 2 เหตุการณ์ไม่มีผู้บริสุทธิ์ได้รับอันตรายถึงชีวิต

ความตื่นตระหนกของประชาชนในสังคมจึงเกิดขึ้นแค่ในห้วงระยะเวลาสั้นๆ ก่อนทุกอย่างจะกลับคืนสู่สถานการณ์ปกติ

และนั่นคือข้อแตกต่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด หากเปรียบเทียบกับเหตุระเบิดรุนแรงใจกลางเมืองหลวงเมื่อค่ำวันที่ 17 สิงหาคม ที่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก

เบื้องต้นหลักฐานคลิปภาพกล้องวงจรปิด และภาพสเก๊ตช์จากคำให้การของพยาน ได้เปิดเผยให้เห็นโฉมหน้าบุคคลต้องสงสัยมือระเบิด อาจเป็นชาวต่างชาติ ที่เรียกกันว่า “แขกขาว”

นอกจากนี้ การที่คนร้ายเลือกใช้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นที่เคารพนับถือทั้งของชาวไทยและชาวต่างชาติ เป็นจุดลงมือก่อเหตุสังหาร

ยิ่งขับเน้นถึงความแตกต่างจากเหตุระเบิดการเมืองทุกครั้งที่ผ่านมา

เป็นความแตกต่างทั้งละเอียดอ่อนและน่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่า

ทำไมต้องเป็นศาลท้าวมหาพรหม?

กล่าวถึงแยกราชประสงค์ หัวมุมถนนหนึ่งคือศาลท้าวมหาพรหม หรือที่หลายคนเรียกว่าศาลพระพรหมเอราวัณ เนื่องจากประดิษฐานอยู่หน้าโรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ

ตามประวัติสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2499 หลังจากก่อสร้างโรงแรมแล้วเสร็จ

เป็นศาลรูปเคารพศักดิ์สิทธิ์ประจำศาสนาพราหมณ์ฮินดู ในฐานะพระเจ้าผู้สร้างโลก แต่ก็มีการเชื่อมโยงเข้ากับศาสนาพุทธด้วยหลักพรหมวิหาร 4 เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

พระพรหมเอราวัณจึงเป็นที่เคารพสักการะทั้งของชาวไทยที่ส่วนใหญ่นับถือพุทธ และชาวต่างชาติโดยเฉพาะประเทศแถบเอเชีย

ได้รับการขนานนามเป็น “พระพรหมแห่งภาคพื้นเอเชีย” เป็นสถานที่เป้าหมายของบรรดาทัวร์จีน ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ รวมถึงบางส่วนที่เป็นมาเลเซีย และอินโดนีเซีย

เห็นได้จากในจำนวนผู้เสียชีวิต 20 คน จากเหตุการณ์ระเบิดเมื่อค่ำวันที่ 17 สิงหาคม ซึ่งมีการตรวจพิสูจน์พบเป็นต่างชาติชาวเอเชียดังกล่าวอย่างน้อย 12 คน

ถึงจะเป็นรูปเคารพทางศาสนา แต่หากเป็นมนุษย์ธรรมดาสามัญ พระพรหมเอราวัณต้องถือว่าได้ผ่านความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองในไทยมาหลายเหตุการณ์

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2549 หนุ่มสติไม่สมประกอบบุกทุบทำลายพระพรหมเอราวัณ จนได้รับความเสียหายทั้งองค์

มีการปล่อยข่าวจากกลุ่มคนตรงข้ามทางการเมืองว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี อยู่เบื้องหลังสั่งการ

ต่อมาได้มีการสร้างองค์ท้าวมหาพรหมขึ้นใหม่จนแล้วเสร็จ ก่อนอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ สถานเทวาลัยแห่งเดิม เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ในปีเดียวกัน

จากนั้น 4 ปีต่อมา พ.ศ.2553 ท้าวมหาพรหมได้เข้าไปอยู่ท่ามกลางเหตุการณ์สำคัญ รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ

สั่งสลายม็อบเสื้อแดงซึ่งมีจุดศูนย์กลางการชุมนุมอยู่ที่แยกราชประสงค์

จนเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุม ประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ เสียชีวิต 99 คน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน มีการเผาทำลายทรัพย์สิน โรงหนัง ห้างสรรพสินค้า เสียหายหลายแห่ง

เป็นจุดกำเนิดวาทกรรม “ที่นี่มีคนตาย” และ “เผาบ้านเผาเมือง” ตั้งแต่นั้นมาจนปัจจุบัน

หลายคนบ่นเสียดายว่าถ้าหากองค์ท้าวมหาพรหมสามารถเปล่งเสียงเป็นคำพูดได้ ในฐานะประจักษ์พยานอยู่ใกล้ชิดเหตุการณ์ครั้งนั้นตั้งแต่ต้นจนจบ

สังคมก็คงไม่ต้องมาตั้งข้อถกเถียงกันว่าแท้ที่จริงแล้ว

ใครคนฆ่า ใครคนเผา?

เช่นเดียวกับเหตุวางระเบิดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม

ถึงจะมีการหลักฐานภาพจากกล้องวงจรปิด และภาพสเก๊ตช์คนร้ายแล้วก็ตาม แต่ก่อนจะระบุให้ชัดเจนลงไปว่าคนร้ายเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติที่เรียกว่าแขกขาว

ก็จำเป็นต้องให้โอกาสเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนสอบสวน ติดตามจับกุมตัวคนร้ายให้ได้เสียก่อน เมื่อนั้นทุกอย่างจึงจะชัดเจน รวมถึงประเด็นแรงจูงใจในการก่อเหตุ

อย่างไรตาม ในเบื้องต้นมีสิ่งที่พอจะบ่งชี้ได้ว่า คนร้ายมือวางระเบิดอาจเป็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจากคำให้การของพยานที่เป็นคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง

จากรายงานข่าวที่ว่า คนร้ายสนทนาสั้นๆ กับคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างด้วยภาษาอังกฤษ และพูดคุยกับคนรู้จักทางโทรศัพท์มือถือด้วยภาษาต่างชาติอีกภาษาหนึ่ง ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ

ตามความเชื่อทางศาสนา สถานที่ก่อเหตุยังนำไปสู่ข้อสันนิษฐานได้อย่างหนึ่งว่า คนก่อการวางระเบิด โดยมุ่งหมายให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

ย่อมไม่ใช่คนที่มีความเคารพศรัทธาในท้าวมหาพรหม

ยิ่งในแง่ที่ว่าศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ คือสถานที่ท่องเที่ยวศักดิ์สิทธิ์ชื่อดังระดับโลก เป็น 1 ในแลนด์มาร์กของกรุงเทพฯ

เป็นแหล่งทัวร์ต่างชาติชาวเอเชีย โดยเฉพาะชาวจีนจำนวนมากที่มารวมตัวกันเพื่อเคารพสักการะ

จากแง่มุมดังกล่าวทำให้ต้องมองต่อไปอีกว่า

ถ้าหากเป้าหมายการลงมืออยู่ที่นักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นหลัก โดยมีเหยื่อคนไทยและชาติอื่นๆ เป็นเป้าหมายที่อยู่นอกเหนือการควบคุม

แล้วอะไรคือแรงจูงใจการก่อเหตุที่เป็นไปได้มากที่สุด?

ภายหลังเกิดเหตุชนิดที่ควันระเบิดยังไม่ทันจาง

ก็มีความเห็นสายฟ้าแลบแผดดังจากทีมงานโฆษกรัฐ นำโดย พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด กับ พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ (ในเวลานั้น) ว่า เป็นฝีมือของกลุ่มการเมืองภายในที่ไม่ต้องการเห็นความสงบเกิดขึ้น

จังหวะเดียวกับในสังคมออนไลน์มีความพยายามชี้เป้าไปยังคนแดนไกล ที่เพิ่งถูกลงมติถอดยศ เป็นคนเดียวกับที่เคยถูกกล่าวหาส่งคนไปทุบทำลายท้าวมหาพรหมเมื่อปี 2549

เป็นการชี้สวนกันไปคนละทิศกับสื่อสเตรตไทมส์ของสิงคโปร์

ที่ได้ออกบทวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในใจกลางเมืองหลวงของไทย ว่าไม่น่าเป็นฝีมือกลุ่มการเมืองในประเทศ ที่การเคลื่อนไหวมักหลีกเลี่ยงการสูญเสีย

แต่ครั้งนี้เป็นการมุ่งเอาชีวิตผู้คน เป็นลักษณะการลงมือของกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ

ขณะที่เว็บไซต์เซี่ยงไฮ้อีสต์ของจีน ระบุถึงข้อกังขาว่า ทั้งหมดน่าจะเป็นการสมคบคิดของกลุ่มก่อการร้าย โดยมีเป้าหมายโจมตีนักท่องเที่ยวชาวจีน

ทำไมชาวจีนจึงคือเป้าหมาย

หนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้าวิเคราะห์ เหตุการณ์ทั้งหมดอาจเป็นการส่งสัญญาณเตือนของกลุ่มก่อการร้ายสายสุดโต่ง ว่าด้วยประเด็นที่ก่อนหน้านี้ในเดือนกรกฎาคม

ไทยได้ส่งกลับชาวมุสลิม “อุยกูร์” จำนวน 109 คนไปยังจีน

นอกจากนี้ ลักษณะระเบิดที่ใช้ก่อเหตุยังเป็นชนิดที่บ่งบอกถึงความเป็นก่อการร้ายระดับสากล

เมื่อเชื่อมโยงประเด็นต่างๆ เหล่านี้เข้าด้วยกัน ไม่ว่ากรณีที่เป้าหมายเป็นคนจีน ประเด็นก่อการร้ายข้ามชาติ อันมีแรงจูงใจมาจากเรื่องที่ไทยส่งกลับชาวมุสลิมอุยกูร์ไปให้จีน แทนที่จะส่งไปตุรกีตามคำร้องขอของผู้อพยพ

จึงพอจะมองเห็นคำตอบได้ว่าเหตุระเบิดที่เกิดขึ้น

ทำไมถึงต้องเป็นศาลท้าวมหาพรหม

เป็นคำตอบเดียวกับที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่อยากได้ยินเท่าใดนัก