ปริศนาโบราณคดี : ลายเซ็น “พระยาพหลพลพยุหเสนา” ที่ระลึกวันมอบรัฐธรรมนูญให้เมืองเชียงใหม่ (1)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ทางเข้าน้ำตกห้วยแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ เลี้ยวซ้ายก่อนถึงอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ยังไม่ทันขึ้นดอยสุเทพ ผ่านไปบริเวณที่มีลานจอดรถ เดินเข้าไปแค่เพียง 200 เมตรจากปากทาง ณ จุดทางแยกสะพาน ขวามือขึ้นน้ำตกสูงชัน ซ้ายมือมองไปที่เพิงก้อนหินใกล้ราวสะพาน

หากไม่สังเกตให้ดี ก็จะไม่มีใครเห็น

เราจะพบ “ลายเซ็น” ของอดีตนายกรัฐมนตรีคนสำคัญยิ่งยวดของประเทศไทย ผู้เป็นหนึ่งในแกนนำคณะราษฎรฝ่ายทหาร ในการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ.2475

ท่านคือ “พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา” (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรี (ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน 2476 – 21 ธันวาคม 2480)

เป็นลายเซ็นของอดีตผู้นำคณะราษฎรที่ฝากไว้ในแผ่นดินเชียงใหม่ เป็นที่ระลึกเนื่องในวันที่ท่านนำรัฐธรรมนูญจากส่วนกลางขึ้นมามอบให้กับพี่น้องชาวเหนือ

 

ที่มาของลายเซ็น
ใครลงจอบแรก?

การไปค้นพบลายเซ็นของพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา บนแผ่นปูนที่ฝังอยู่ในเพิงผาแห่งหนึ่งท่ามกลางอุทยานน้ำตกห้วยแก้วอันกว้างใหญ่ไพศาลครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

แต่มันมีที่มาที่ไป เริ่มจากการมีผู้เปิดประเด็นตั้งคำถามว่า เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 ซึ่งเรารู้จักกันดีว่าเป็นวันที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยกำหนดให้ลงจอบแรก เป็นหมุดหมายในการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพนั้น

ผู้เป็นประธานในการลงจอบแรกคือใคร ระหว่าง พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย กับ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น

ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก ทำให้ดิฉันต้องลงไปเก็บข้อมูลสืบค้นความจริง

ตามความเข้าใจเดิม จากเอกสารทุกเล่ม และภาพถ่ายทุกภาพชี้ชัดว่า ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 (ตรงกับวันศุกร์ขึ้น 3 ค่ำ ปีจอ) หลังจากที่ “ครูบาเถิ้มโสภา” (วัดแสนฝาง) เป็นผู้ประกอบพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ คือการบูชาเทพยดาอารักษ์ทั้ง 4 องค์ ได้แก่ คนธรรพ์ พญานาค กุมภัณฑ์ และกุเวร แล้ว

คณะสงฆ์ของครูบาเจ้าศรีวิชัยได้สวดชยันโต พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ คือผู้ที่ลงจอบแรก ถัดมามีคณะเจ้านายฝ่ายเหนือ ตามด้วยหลวงศรีประกาศ คุณนายเรือนแก้ว ภริยา และเหล่าคหบดี ข้าราชการในเชียงใหม่ ลำพูน

แต่แล้วกลับมีเอกสารอีกฝ่ายหนึ่งที่ค้านว่า พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาต่างหากเล่าที่เป็นประธานในการลงจอบแรก โดยอ้างหนังสือของครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (ครูบาวงค์) ที่มีการบันทึกถึงบุคคลร่วมเหตุการณ์ตอนนั้นว่า

“…แล้วอยู่ถึงเดือนยี่ ออก 3 ค่ำ วันพฤหัสบดี (ในความเป็นจริงตรงกับวันศุกร์ ไม่ใช่พฤหัส) มีครูบาเจ้าศรีวิชัย พระชัยยะวงศาพัฒนา พระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงศรีประกาศ ภายนอกมีพ่อเจ้าแก้วนวรัฐเป็นประธาน พากันไปที่ตีนดอยสุเทพทางลุ่ม…

“…ครูบาเจ้าศรีวิชัยลงมือเริ่มแรกขุดทางขึ้นดอยสุเทพ พ่อเจ้าแก้วนวรัฐลงขุดตาม (พ่อเจ้า หรือเจ้าพ่อ เป็นคำนำหน้าใช้เรียกเจ้าเมือง) พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาขุดตาม หลวงศรีประกาศก็ขุดตาม พระชัยยะวงศาก็ขุดตาม ทีละรูป ทีละคน ท่านละ 3 ครั้ง ก็กลับมาที่วัดสวนดอก ส่วนพระชัยยะวงศากับศรัทธาที่ไปด้วยกันพากันกลับเมืองตื๋น แล้วไปวัดจอมหมอกที่เดิม…”

ความเชื่อนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือของ พระอานันท์ พุทฺธธมฺโม ที่ขยายความต่อไปว่า พระยาพหลพลพหยุหเสนา ยังได้นำรถยนต์ไปรับครูบาเจ้าศรีวิชัยที่วัดพระสิงห์ มายังจุดบริเวณหน้าอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยในปัจจุบันด้วยตนเอง ท่านจึงเป็นประธานในการลงจอบแรก เพราะเป็นนายกรัฐมนตรี (หมายความว่าย่อมมีสถานะที่สูงกว่าเจ้าผู้ครองนครรัฐในท้องถิ่น)

โดยพระอานันท์ยืนยันว่าได้ข้อมูลมาจากการสัมภาษณ์ตนเฒ่าคนแก่ ตั้งแต่เมื่อปี 2530 มีทั้งอดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านปาง (ครูบาทองสุข) และเหล่าเครือญาติของครูบาเจ้าศรีวิชัยที่อาศัยอยู่แถววัดบ้านปาง วัย 80-90 ปี ก่อนที่คนเหล่านั้นจะเสียชีวิต

ประเด็นดังกล่าว ทำให้เกิดการตั้งคำถามตามมามากมายว่า หากเป็นเช่นนั้นจริงๆ ไฉนเอกสารฝ่ายหลวงศรีประกาศ และเจ้าแก้วนวรัฐ จึงไม่ได้มีการบันทึกเรื่องการเดินทางมาเป็นประธานของพระยาพหลพลพยุหเสนาไว้บ้างเลย ทั้งๆ ที่เป็นถึงนายกรัฐมนตรี

หรือมีวาระซ่อนเร้น จงใจปฏิเสธความจริง เหตุที่รู้สึก “เสียหน้า” หากเปิดเผยว่าพระยาพหลพลพยุหเสนามา เพราะเท่ากับเป็นการ “ขโมยซีน” ภาษาบ้านๆ เรียก “เหยียบตาปลา” หรือแหย่เจ้าถิ่น อะไรกันหรือเปล่า

รวมไปถึงคำถามที่ทุกคนคาใจว่า หากพระยาพหลพลพยุเสนามาร่วมงานวันลงจอบแรกจริง ทำไมในภาพถ่ายที่คณะของเจ้าแก้วนวรัฐถือจอบถือเสียมกันอย่างเอิกเกริก ไยจึงไร้แม้เงาของพระยาพหลพลพยุหเสนาด้วยเล่า

 

ปูนหลังของภาพปริศนา

เรื่องการที่พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา จะมาร่วมงานวันลงจอบแรกหรือไม่นั้น จำเป็นต้องตรวจสอบหาข้อเท็จจริงจากหลักฐานสองฝ่ายดังนี้

หนึ่ง หลักฐานที่ต้องวิเคราะห์ว่า ผู้ให้ข้อมูลว่าพระยาพหลพลพยุหเสนามาจริงนั้น มีอะไรมารองรับ

สอง หลักฐานเอกสารจดหมายเหตุจากส่วนกลางที่กล่าวถึงงานประจำวันของนายกรัฐมนตรี ว่าวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 นั้น ท่านกำลังทำอะไรอยู่ที่ไหนกับใคร หากได้หลักฐานตรงนี้มัดอย่างแน่นหนา ทุกอย่างก็จบ

แต่การสืบค้นนั้นไม่ได้ง่ายเลย

การสืบรอยตามหาหลักฐานข้อแรก ว่านอกเหนือจากมุขปาฐะหรือคำบอกเล่าว่า พระยาพหลพลพยุหเสนามาจริงแล้ว ยังมีหลักฐานอะไรที่น่าเชื่อถือยิ่งกว่านี้มารองรับอีกบ้างไหม อาทิ ภาพถ่าย ลายเซ็น เพราะลำพังหลักฐานจากคำบอกเล่านั้น อาจมีน้ำหนักอ่อนไป ด้วยถูกมองว่า ใครนึกอยากจะพูดอะไรก็ย่อมพูดได้

ปรากฏว่ามีการพบภาพถ่ายใบหนึ่ง กล่าวกันว่าภาพต้นฉบับอยู่บนโต๊ะทำงานในบ้านหลังเดิมของอาจารย์มหาสิงฆะ วรรณสัย ปราชญ์ใหญ่เมืองลำพูน เป็นภาพเล็กๆ เบลอมากแล้ว แต่ไม่มีการเขียนคำอธิบายที่มาที่ไป ว่าท่านมหาสิงฆะได้มาจากไหน ใครถ่าย และน่าเสียดายที่ท่านมหาสิงฆะเสียชีวิตนานหลายปีแล้ว

มีการตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อตอนอาจารย์สิงฆะพิมพ์หนังสือ “สารประวัติครูบาเจ้าศรีวิชัย” เมื่อปี 2520 ทำไมท่านจึงไม่ได้เอาภาพดังกล่าวสอดใส่ประกอบเนื้อหา และทำไมท่านไม่มีระบุเรื่องที่ว่าพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นผู้ลงจอบแรก

พูดง่ายๆ ก็คือ แม้แต่เจ้าของภาพถ่ายนั้น ก็ยังไม่ได้ฟันธงว่าพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นผู้ลงจอบแรก

อย่างไรก็ดี ในเมื่อมีภาพถ่ายของพระยาพหลพลพยุเสนา ยืนด้านหลังครูบาเจ้าศรีวิชัย ซึ่งฉากหลังดูเหมือนเป็นบรรยากาศของสถานที่หน้าวัดศรีโสดา กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างทางขึ้นดอยสุเทพจริง ก็น่าพิจารณาต่อไปว่า

ถ้าเช่นนั้น พระยาพหลพลพยุหเสนา ก็น่าจะมาร่วมงานจริง

 

ปริศนา 2 ธ.ค.2477

ดิฉันจึงลงพื้นที่ไถ่ถามคนเฒ่าคนแก่ที่อยู่แถวบริเวณน้ำตกห้วยแก้ว ว่าพอจะมีใครทราบเรื่องการมาร่วมลงจอบแรกของพระยาพหลพลพยุหเสนาบ้างหรือไม่

ก็ให้บังเอิญจริงๆ ที่มีคุณลุงสูงวัยท่านหนึ่งเลี้ยงสุนัขนับ 10 ตัว บ้านอยู่ที่ปากทางเข้าน้ำตกห้วยแก้วนั่นเอง ได้พาดิฉันไปดูลายเซ็นของพระยาพหลพลพยุหเสนา ชิ้นที่ดิฉันกล่าวถึงตอนเปิดเรื่อง เป็นแผ่นซีเมนต์ฝังอยู่ที่หน้าผา

แรกๆ ดิฉันก็รู้สึกตื่นเต้นดีใจเป็นที่สุด คุณลุงท่านนั้นบอกวา แผ่นลายเซ็นพระยาพหลพลพยุหเสนานี้ คุณลุงเป็นคนค้นพบครั้งแรกไม่เกิน 30 ปีมานี้เอง (ก่อนหน้านั้นในวัยเด็กวิ่งเล่นซุกซนก็ไม่เคยสังเกต)

ทั้งๆ ที่ พระยาพหลพลพยุหเสนา ลงลายเซ็นไว้เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2477

อ้าว! ทำไมจึงไม่ลงลายเซ็นวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 ล่ะคะคุณลุง ดิฉันถาม ท่านตอบว่า ก็แสดงว่าวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 วันลงจอบแรก พระยาพหลพลพยุหเสนา คงยังไม่ได้มาร่วมงานกระมัง แต่มาหลังจากนั้นอีกสามสัปดาห์

เมื่อดิฉันถามถึงหลักฐานที่มีการอ้างว่า ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (ครูบาวงค์) กล่าวไว้ในหนังสือว่าได้เห็นกับตาว่าพระยาพหลพลพยุหเสนามาลงจอบแรก

คุณลุงก็ย้อนถามดิฉันว่า แล้วปีสร้างทางขึ้นดอยสุเทพนั้น ครูบาวงค์อายุเท่าไหร่ อายุเพียง 22 ปีใช่ไหม ยังไม่ได้ทันมาร่วมงานวันลงจอบแรกด้วยซ้ำ กว่าครูบาวงค์จะรู้ข่าวการสร้างทางขึ้นดอย กว่าจะขนชาวกะเหรี่ยงมาช่วย ก็ต้องผ่านไประยะหนึ่ง

จริงสินะ ดิฉันมานึกๆ ดูเอกสารเล่มดังกล่าวครูบาวงค์ก็ไม่ได้เขียนด้วยตัวท่านเอง แต่เป็นคำบอกเล่าย้อนหลังเมื่อมีผู้ไปขอสัมภาษณ์เมื่อตอนที่ท่านอายุมากแล้วราว 80 ปีเศษ

แน่นอนว่าครูบาวงค์อาจเห็นพระยาพหลพลพยุหเสนา มาพบครูบาเจ้าศรีวิชัยจริง แต่ก็ไม่จำเป็นว่าพระยาพหลฯ จะต้องมาในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 เสมอไป ในเมื่อลายเซ็นบนแผ่นซีเมนต์ที่ฝังในโขดหิน ก็ระบุชัดอยู่แล้วว่าท่านมาลงนามไว้เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2477

แล้วเป็นไปได้หรือไม่ ว่าบางทีพระยาพหลพลพยุหเสนา อาจมาถึงสองครั้งติดๆ กัน คือมาทั้งวันที่ 2 ธันวาคม 2477 ด้วย และอาจมาก่อนแล้วในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 ด้วยเช่นกัน เพื่อมาเป็นประธานในการลงจอบแรก

เดี๋ยวสัปดาห์หน้าจะมาเฉลยว่าเป็นไปได้หรือไม่ ด้วยเหตุผลใด