E-DUANG : ท่าที นักเคลื่อนไหว นักการเมือง ท่าที นักจัดเจน ผู้อาวุโส อยู่เป็น

ไม่ว่าในชุมชน”นักการเมือง” ไม่ว่าในชุมชน”นักเคลื่อนไหว”มักติดอยู่ใน “วาสนา”ว่าด้วย “ความจัดเจน”

อาศัย”ความจัดเจน”มาสร้าง”ค่า”และ”ความหมาย”

หารู้ไม่ว่าบนพื้นฐานที่อาศัย”ความจัดเจน”มาสร้างเป็นบรรทัด ฐานนั่นเอง ก่อให้เกิดการแบ่งแยก และการแบ่งแยกจากพื้นฐานเช่นนี้เองกลับกลายมาเป็นเครื่องมือในการแยกจำแนกคน

เหมือนกับเมื่อ”เยาวชนปลดแอก”ปรากฏขึ้นในเดือนกรกฎาคม และตามมาด้วยการปรากฏขึ้นของ”แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุม นุม”ในเดือนสิงหาคม 2563

กระทั่งเมื่อมีการผนึกตัวรวมพลัง”เยาวชนปลดแอก”และ”แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม”เป็น”คณะราษฎร 2563”ขึ้นในเดือนตุลาคม ก็เริ่มมี”นักจัดเจน”เข้ามาแสดงบทบาทของตน

เริ่มจากข้อสังเกตต่อ”การ์ด” ตามมาด้วยการชุมนุมยืดเยื้อ

เป็นข้อสังเกตจากบรรดา”ผู้อาวุโส”ซึ่งมากด้วยความประสบการณ์และความจัดเจนทางการเมืองจาก”อดีต”

น่ายินดีที่บรรดา”เยาวชน”ต่างปัดปฏิเสธด้วยความนุ่มนวล

 

พลันที่อาศัย”ความจัดเจน”เข้ามาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดให้ค่าและความหมายในทางการเมือง

ระบบ”อาวุโส”ก็จะเข้ามาสำแดง”บทบาท”โดยอัตโนมัติ

ท่าทีอย่างที่”เยาวชนปลดแอก”หรือ”แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม”ประสบ ก็ไม่แตกต่างไปจากที่ “อนาคตใหม่” และ”ก้าวไกล”ต้องรับมือ

เป็นการรับมือจากบรรดา”นักการเมือง”ผู้อาวุโส ผ่านร้อนหนาว การเมืองมาอย่างยาวนาน เสี้ยมสอนให้รู้ว่าจะต้องวางตนอย่างไรแต่ละสถานการณ์ที่ประสบตลอด 2 รายทาง

หากวางตัวในแบบ”นักจัดเจน”ก็จะถือว่ารอบรู้และ”อยู่เป็น”

หากไม่เชื่อฟังอย่างนอบน้อมก็จะถูกประเมินว่า”อยู่ไม่เป็น”

 

ไม่ว่าสิ่งที่”อนาคตใหม่”ประสบ ไม่วิ่งที่”ก้าวไกล”พบเห็น ไม่มีอะไรต่างไปจากที่”เยาวชนปลดแอก”หรือ”แนวร่วมธรรมศาสตร์และการ ชุมนุม” ประสบและพบเห็นมาแล้ว

เป็นความปรารถนาดีจาก”ผู้อาวุโส”อย่างแน่นอน เด่นชัด

เพียงแต่ความปรารถนาดีเช่นนี้อาจทำให้ต้องอยู่เป็นและเข้าไปอยู่ในไฟลั่มประเภท”หางด้วน”เหมือนกันเท่านั้น

ต่อ”นักจัดเจน”แม้จะเคารพ แต่ก็ต้องระมัดระวัง สังวรณ์