วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ : เส้นทางสู่ปลายอุโมง

โควิดทำให้เราได้พัฒนาวิธีการสื่อสารโดยไม่ต้องเดินทางพบปะกัน การประชุมเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับโควิดเกิดขึ้นได้มาก และมีประสิทธิภาพ

ในชั้นเรียนที่ผมสอบเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว 20 กรกฎา นักศึกษาอยุ่ต่างประเทศเกือบทั้งหมด การเดินทางเข้าประเทศไทยเป็นไปด้วยความยากลำบากโดยเฉพาะจากประเทศจีนที่การควบคุมโควิดทำได้อย่างดี เขาไม่ค่อยอยากให้คนของเขาต้องเข้ามาเสี่ยงกับโควิดในประเทศไทย ผมจัดการเรียนแบบออนไลน์ให้นักศึกษาทำงานเป็นทีมเตรียมนำเสนอผลงานวิจัยในวารสารนิวอิงแลนด์เทียบกับในวารสารแลนเซทในเรื่องประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวคในการป้องกันโควิดในประเทศตรุกีและชิลี โดยนักศึกษาสมาชิกทีมนำเสนออยู่กันคนละประเทศ และยังเชิญศิษย์เก่าที่กำลังทำงานอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั้งจีน อินโดนีเซีย และ พม่า รวมทั้งในทวีปอาฟริกาเข้าร่วมอภิปราย นอกจากได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวิชาการแล้ว ยังเป็นการ “คืนสู่เหย้า” แบบออนไลน์ ทำให้ศิษย์เก่าคิดถึง มอ. และประเทศไทยอันเป็นที่ซึ่งเขาได้มาเรียนรู้ บรรยากาศชื่นมื่นมาก

คืนวันรุ่งขึ้น 21 กรกฎา เวลา 20:30 น ผมได้รับเชิญจาก ผศ. ดร. อลิสา หัสสาเมาะ ประชุมซูมกับชาวบ้านในชนบทปัตตานี ซึ่งผมสรุปว่าเป็น Early funeral phase มีบางหมู่บ้านที่เข้าร่วมประชุมมีครัวเรือนติดโควิดแล้วสามสิบกว่าครัวเรือน และ มีคนตายทุกวัน วิดีโอการประชุมบันทึกเผยแพร่ใน

https://www.facebook.com/ahasamoh/videos/3087846034780286

บรรยากาศของชาวบ้านเต็มไปด้วยเรื่องที่น่าหนักใจ แต่ก็ยังคงมีผู้นำที่มีกำลังใจในการแก้ปัญหาของเขาเอง คุยกันอย่างเป็นกันเองใช้เวลากว่าสองชั่วโมง

โดย สรุป ชาวบ้านกำลังป่วยและเสียชีวิตจำนวนมากในพื้นที่ซึ่งกว้างขวาง เกินกว่ากำลังของสาธารณสุขและหน่วยราชการที่จะไปจัดการได้ ผมได้แนะนำให้ชาวบ้านช่วยตัวเองและช่วยกันเองเป็นหลัก จัดเตรียมหาอาหาร ยาบรรเทาอาการต่าง ๆ ให้อาสาสมัครหน่วยกู้ภัยในพื้นที่(องค์กรมุสลิม) เข้ารับการอบรมด้านการจัดการศพ และการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากทางสาธารณสุข ระดมทุนจัดหายานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง ให้ชุมชนหาทางช่วยคนที่เหลือของครอบครัวผู้ติดเชื้อให้เด็กและคนอ่อนแอ แจ้งทางราชการการให้ปิดล็อคหมู่บ้านที่มีการระบาดรุนแรงเพื่อให้โรคแพร่ไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ

วันรุ่งขึ้น 9:36 น ผมได้รับแจ้งทางไลน์จาก ศอบต. ซึ่งท่านคงได้อ่านข้อสรุปการประชุมของอาจารย์อะลิสาในตอนเช้า ทางศอบต ได้เรียกประชุมด่วน แก้ไขปัญหาของพื้นที่ มีคำสั่งจัดตั้งโรงครัวกลางเพื่อจัดส่งอาหารให้หมู่บ้านที่ต้องการโดยเฉพาะหมู่บ้านที่ถูกล็อคหรือล็อคตัวเอง จัดหาอาสาสมัครเพิ่มเติมในการดูแลเด็กเล็ก จัดระบบส่งต่อผู้ป่วยให้เข้มแข็งขึ้น และ ให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยมีสาธารณสุขเป็นแกนกลาง

พลังทางการสื่อสารและการตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพทันเวลานี่แหละครับ จะช่วยบรรเทาปัญหาของโควิด ให้เราก้าวพ้นวิกฤตนี้ไปได้

วิกฤตนี้เสมือนอยู่ในอุโมงมืด มีแสงสว่างอยู่ไกลลิบ เรายังจะต้องฝ่าฟันกันไปอีกนานเท่าไร

 

ณ ปลายอุโมง เราจะอยู่ในสภาพอย่างไร

ดูจากสภาพที่วัคซีนยังมาไม่ได้มากอย่างที่เราต้องการ (need) เราคงต้องทนไปอีกเป็นเดือน

วันนี้และวานนี้ มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ราวหมื่นสี่พัน วงการสาธารณสุขคาดอย่างไม่เป็นทางการว่าคงมีคนติดเชื้อประมาณสามเท่าของจำนวนที่รายงาน คือ คงจะวันละกว่าสี่หมื่นคน ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขหมื่นสี่ หรือ สี่หมื่น ระบบบริการโรงพยาบาลของเราก็คงรับไม่ไหวทั้งนั้น ปัจจุบันเรามีผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรังราว 60% หรือสองในสามของผู้ป่วยหนัก หนึ่งในสามเป็นผู้ป่วยหนักที่ไม่ได้สูงอายุและไม่มีโรคเรื้อรัง ด้วยอัตราการฉีดวัคซีนที่เป็นอยู่ในขณะนี้โรงพยาบาลของเราจะล้นหลามไปด้วยผู้ป่วยทั้งอายุมากและอายุน้อย ที่เหลือในชุมชนจะเป็นประการใด ผมคงขอยกเว้นที่จะบรรยายไปดูเอาใน FB ข้างบนก็แล้วกัน

เราคงอยู่ในอุโมงดำนี้ไปจนถึงไตรมาสสี่ เมื่อวัคซีนที่รัฐบาลซื้อไว้ (และหวังว่าบริษัทไม่เบี้ยว) จะมาถึงและเริ่มมีให้ฉีดกันอย่างจริงจัง

ผมเดาว่า ตอนนั้น เราคงจะมีสภาพเหมือนอินเดียในเวลานี้ คือ โรคสงบไปแล้วระดับหนึ่งด้วยตัวของมันเอง

 

ณ ไตรมาสสี่ เราจะมีประชากร 3 ประเภทใหญ่ ๆ

ประเภทแรก คือ คนที่ได้รับวัคซีนเพียงพอ พวกนี้ได้แก่ กลุ่มที่ทำงานสาธารณสุข และชนชั้นสูงและชั้นกลางในเมืองที่เข้าถึงวัคซีน พวกเขาจะฝ่าอุโมงออกไปได้โดยบาดเจ็บล้มตายไม่มากนัก

ประเภทที่สอง มีสภาพเหมือนคนอินเดียในปัจจุบัน คือ ได้รับเชื้อโควิดเข้าไปแล้วแต่รอดตาย มีรายงานจากอินเดียบอกว่าคนอินเดียในเมืองใหญ่มีแอนตี้บอดี้สูงถึง 60% ของประชากร พวกนี้จะสูญเสียญาติสนิทมิตรสหาย แต่จะมีชีวิตที่จะต้องสู้ต่อไป แอนตี้บอดี้ที่ว่านี้ผมคิดว่าเป็นลายเซ็นต์ของเชื้อโควิดว่าได้มาเยือนแล้ว อาจจะมีอาการและไม่มีอาการ และอาจจะปลอดภัยแล้วและไม่ปลอดภัยติดเชื้ออีกได้ในอนาคต

ย้อนคิดถึงเมื่อไข้ปวดข้อชิคุนกุนยาระบาดในภาคใต้ในปี 2552 การรระบาดลามไล่ตั้งแต่ชายแดนนราธิวาส ระดับแอนติบอดี้ในประชากรสูงกว่า 50% (เหมือนโควิดในอินเดีย) หนึ่งในสี่ของประชากรชนบทใต้มีอาการ บางรายติดต่อไปเป็นปี

ที่จะแย่กว่าชิคุนกุนยา คือ มีรายงานว่าผู้ป่วยโควิดที่รอดชีวิต จะมีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาทและจิตใจ มากถึงหนึ่งในสาม แต่ไม่ทราบว่าจะนานไปเท่าไร

 

ประชากรประเภทที่สาม คือ ประชากรที่ไม่ได้รับเชื้อโควิด และไม่ได้รับวัคซีน พวกนี้น่าจะอยู่ในชนบทไกลผู้ไกลคน หรือมี social distancing ที่ดีมาก แต่ไม่ได้รับวัคซีน เขาจะเป็นเชื้อเพลิงที่คอยเติมไม่ให้ไฟโควิดดับมอดลงง่าย ๆ กล่าวก็คือ พวกนี้ก็จะป่วยเป็นโควิด เป็นหย่อม ๆ หลังจากระลอกนี้สงบลง

ท่านประชากรประเภทแรกครับ นอกจากดูแลตัวเองแล้ว ท่านมีภาระครอบครัวและภาระสังคมที่จะต้องดูแลอีกมาก เตรียมตัวเตรียมใจไว้เลย

ประชากรที่เหลือที่กำลังรอวัคซีน ต้องรอต่อไปด้วยจิตใจที่อดทน เหมือนทีมฟุตบอลหมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงเทือกเขานางนอน เมื่อกลางปี 2561 ทำจิตให้สงบ รักษาชีวิตไว้ให้รอด เมื่อถึงเวลานั้นเราจะรอดออกจากถ้ำนี้ได้ คนที่ได้รับวัคซีนไปครบแล้วเขาคงไม่ทิ้งเรานะครับ