กาละแมร์ พัชรศรี : ปลูกด้วยใจ เก็บด้วยมือ ชงด้วยจิตวิญญาณ

การเดินทางไปญี่ปุ่นแต่ละครั้งฉันได้ประสบการณ์อันทรงคุณค่าแตกต่างกันไปตลอด การไปครั้งนี้ฉันไปถึงแหล่งต้นตอของ “ชาเขียว” ทีเดียว

สืบเนื่องจาก โปรตีนยี่ห้อ “MyWhey” ที่ฉันเป็นพรีเซ็นเตอร์อยู่นั้น อยากให้ฉันไปเห็นที่มาของ “ชาเขียวมัจฉะ” ที่เป็นส่วนผสมในนั้น ทำไมต้องใช้ชาเขียวจากเมือง Uji (อูจิ) เมืองที่อยู่ใกล้กับเกียวโต และหาคำตอบว่า “ทำไม MyWhey ชาเขียวถึงมีรสชาติอร่อย”

ในฐานะคนรักชาเขียวเป็นทุนเดิม เพราะชอบในรสชาติ ความรู้สึกระหว่างดื่ม และรู้ถึงคุณประโยชน์นานัปการ อย่างช่วยเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งจะทำให้เราแก่ช้า ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง ลดไขมัน ทำให้อารมณ์ผ่อนคลาย สดชื่นกระปรี้กระเปร่า ขับสารพิษออกจากร่างกาย และอื่นๆ อีกมากมาย

เมื่อได้เดินทางมาถึงแหล่งผลิตในสิ่งที่เรากินเข้าไป ยิ่งทำให้เรารู้คุณค่ามันมากกว่าเดิม

 

เรื่องราวของชาเขียวในญี่ปุ่นนั้นเกิดขึ้นเมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมา มีพระจากญี่ปุ่นเดินทางไปศึกษาธรรมะที่ประเทศจีน นอกจากได้เรื่องธรรมะแล้วยังมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น ดูเป็นหนุ่มมากขึ้น เพราะการได้ดื่มชาเขียวเป็นประจำนั่นเอง เลยนำมาปลูกที่ญี่ปุ่น

และที่เลือกปลูกที่เมืองอูจิก็เพราะอยู่ใกล้กับเกียวโต เมืองหลวงสมัยก่อนและเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนา ที่สำคัญมีภูมิประเทศที่เหมาะ ทั้งอากาศและน้ำจากแม่น้ำอูจิ ช่วงอากาศเย็นจะมีหมอกปกคลุม ซึ่งความชื้นจะช่วนรักษาคุณภาพของใบชาได้ดี

ในตอนแรกนั้นพระดื่มชาเขียวแบบมัจฉะ (Matcha) คือทำใบชาให้แห้งแล้วบดเป็นผง ผสมน้ำแล้วดื่ม ซึ่งสมัยก่อนกินเป็นยาและมีราคาแพง

ท่านเลยลองเอาใบชามาต้มแล้วดื่มน้ำจากใบชา ซึ่งพอลองดื่มแล้วมีรสชาติดี ลองใส่กาแล้วเอาไปให้ชาวบ้านดื่มทุกคนก็ชอบ เลยกลายเป็นชาเขียวเซนฉะ (Sencha) แบบทุกวันนี้

ฉันได้มีโอกาสไปดื่มชาในวัดซึ่งมีพระสงฆ์ญี่ปุ่นเป็นผู้ชงให้ ซึ่งถือว่าเป็นธรรมเนียมโบราณอย่างหนึ่ง และทำให้รู้เรื่องชาที่มากกว่าการดื่ม

เมื่อถามว่า นอกจากชาเขียวจะให้ประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ทางจิตใจการดื่มชาเขียวให้อะไรกับเราบ้าง

ท่านตอบว่า “เมื่อเราได้รับชาเขียวจากผู้ชงมาแล้ว ให้เรารู้สึกขอบคุณในสิ่งที่เราได้รับมา และเมื่อได้ดื่มแล้ว อย่ายึดติดกับรสชาติและยึดติดกับคนที่ชงให้เรา”

ฉันฟังคำตอบแล้วอึ้งและนำกลับมาคิดทบทวนซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะมันเป็นเรื่องที่เราไม่เคยคิดมาก่อน การดื่มชาให้ความหมายกับเรามากมายขนาดนี้เลยหรือ

จงพึงพอใจกับสิ่งที่ได้มา อย่ายึดติดว่าจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป ธรรมะแท้ๆ เชียว ซึ่งจะทำให้การดื่มชาเขียวของฉันต่อไปได้นึกถึงความจริงของชีวิตในเรื่องนี้ทุกๆ ครั้ง

 

ฉันยังได้มีโอกาสไปถึงไร่ชาเขียวที่ปลูกโดยคุณลุงซึ่งเป็นเกษตรกรมือวางอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น ชื่อคุณลุงฮาโตริ เทพไม่เทพก็ลองคิดดูว่า ชาเขียวจากไร่คุณลุง ท่านมกุฎราชกุมารของญี่ปุ่นทรงเลือกดื่ม คิดดูเอาก็แล้วกัน

คุณลุงเล่าให้ฟังว่า ไร่ชาของคุณลุงนั้นปลูกชาเพื่อเอาไปชง 2 แบบเท่านั้น คือชาเกียวกุโระ (Gyokuro) คือชาที่ถูกดูแลอย่างดีในร่ม ไม่ให้โดนแดดก่อนเก็บ และจะเอาเฉพาะยอดอ่อนใบชาแรกเท่านั้น เพราะบางไร่เก็บชาปีละ 3 ครั้ง แต่สำหรับไร่คุณลุงนั้นเก็บครั้งเดียวคือเดือนพฤษภาคม คือจะเอาแบบสุดยอดเท่านั้น และเมื่อเก็บแล้วจะเอาไปอบแบบไม่ให้เสียรสชาติและใช้มือนวดม้วนใบชา ชาที่ได้รสชาติจะหอมหวาน กลมกล่อม สีเขียวเข้มและแน่นอนว่ามีราคาแพง

และอีกแบบหนึ่งคือเอาไปทำชาเขียวแบบมัจฉะ คือเอาไปบดเป็นผง ซึ่งยิ่งมีราคาสูงมาก

ถามว่าเคล็ดลับการปลูกชาของคุณลุงคืออะไร ทำไมถึงมีคุณภาพดีที่สุด คุณลุงบอกว่า “ใช้ใจปลูก”

ไม่ใช่แค่ตอบหล่อๆ แต่คุณลุงทำอย่างนั้นจริงๆ อย่างการปลูก คุณลุงก็ไม่ใช้สารเคมีใดๆ พิสูจน์ด้วยการเด็ดใบชาขึ้นมาเคี้ยวให้ดูสดๆ ซึ่งพอเราลองทำ ก็เลยรู้ชัดว่าเราควรกินชาเขียวแบบต้มมากกว่า!

เวลาเก็บชานั้น คุณลุงบอกว่าจะเก็บเฉพาะยอดอ่อนเท่านั้นและใช้มือเด็ดอย่างเดียว

ทำไมต้องลงแรงขนาดนั้นด้วย คุณลุงบอกว่าถ้าใช้เครื่องจักรตัด โลหะจากใบเลื่อยจะทำให้รสชาติใบชาเปลี่ยน และจะได้ใบแก่และก้านแข็งๆ ติดมาด้วย ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่ต้องการ

จึงต้องใช้แรงงานคนค่อยๆ เก็บเท่านั้น

 

ปลูกยังพิถีพิถันขนาดนี้ พอมาถึงขึ้นตอนเข้าโรงงานเพื่อทำการบด ทำชาเขียวผงมัจฉะ เขาก็ต้องแยกใบชาอีก แม้แต่ก้านในใบชายังคัดออก คือต้องการแต่ใบชาล้วนๆ เท่านั้น

ผ่านกระบวนการอบแบบไม่ให้สูญเสียรสชาติแล้วไปสู่การบดโดยครกหิน!

ทำไมไม่ใช้เครื่องจักรใหญ่บดๆ ให้จบสิ้นเรื่องสิ้นราว

คำตอบอย่างเดิมเลยคือจะทำให้รสชาติเสีย จากแรงคนบดก็เป็นแรงเครื่องจักรแต่ยังเป็นหินที่มีลายและหมุนทวนเข็มนาฬิกาในเวลาที่พอเหมาะ ไม่เร็วหรือช้าจนเกินไป

ในโรงงานที่ดูมีเครื่องหินบดอยู่ประมาณ 800 ตัว อลังการมาก

ที่สำคัญได้กลิ่นชาเขียวหอมอบอวลไปหมด

ซึ่งใน 1 ชั่วโมงต่อ 1 เครื่องจะได้ชาเขียวมัจฉะเพียง 40 กรัมเท่านั้น

และถ้าช่วงปีใหม่คนจับจ่ายซื้อของขวัญ ก็ต้องเดินหน้าการผลิตตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งในห้องการผลิตนั้นกั้นกระจกอย่างดีและมีความสะอาดเทียบเท่ากับห้องผลิตยาทีเดียว

ส่วนผงชาเขียวที่หลงเหลือเขาก็ไม่ทิ้ง เอาไปทำเครื่องสำอางต่างๆ เช่น ผสมในแป้ง สบู่ โลชั่น คือของมันแพงมากจึงต้องใช้ทุกส่วนให้คุ้มค่า

 

พอถึงขั้นตอนการชง ก็เป็นศิลปะอีกเช่นกัน ตักผงมัจฉะใส่ถ้วยชงชาซึ่งถ้าเคร่งจริงๆ จะต้องถอดแหวน ถอดนาฬิกาออกด้วย

เพราะถ้วยบางถ้วยราคาแพงมาก ใบละเป็นหมื่นก็มี

แล้วก็เทน้ำร้อนในอุณหภูมิพอเหมาะใส่ลงไป เอาไม้คนซึ่งทำจากไม้ไผ่เป็นแฉกๆ คนชาเขียวให้เร็วจนเกิดฟอง แต่ไม่ต้องแรงหรือหนักมือเกินไป ให้เบามือแต่แข็งแกร่ง

โหหหหหห จะใช้แรงมากไปก็ไม่ดี เบาไปก็ไม่ได้ ต้องหาจังหวะพอดีและให้เร็วจนมีฟองเป็นครีมๆ ขึ้นมา คราวนี้ให้เบามือให้ฟองใหญ่กระจายเป็นฟองเล็กๆ และเนียนเข้ากันจนมาจบที่กลางถ้วยแล้วยกไม้คนออก เป็นอันดื่มได้

คนญี่ปุ่นนิยมดื่มชาเขียววันละ 4-5 แก้วต่อวัน ซึ่งก็ทำให้พวกเขาแข็งแรงอ่อนเยาว์กันดี

การมาญี่ปุ่นครั้งนี้ถือว่าได้ความรู้และไปถึงแหล่งต้นตอชาเขียวทีเดียว

คราวนี้การดื่มชาเขียวของฉันต่อไปจะดื่มแบบรู้ค่าของมันมากขึ้น

เมื่อคนทำใช้ใจทำ คนดื่มก็ย่อมใช้ใจดื่มเช่นเดียวกัน…