เบื้องลึกศึกบิ๊ก สปสช. กำหนดทิศ’บัตรทอง’

จนแล้วจนรอด ปมปัญหาจากการเลือกเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ถูกยกระดับกลายเป็นเรื่องการเมือง ลุกลามจนถึงความน่าเชื่อถือของรัฐบาล โดยมีกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง (โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค) เป็นเดิมพัน สู่อนาคตของระบบสุขภาพไทย

สืบเนื่องจากเดิมความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงกรณี นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรองเลขาฯ สปสช. ชวดตำแหน่งจากมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่ลงคะแนนเสียงไม่รับรองให้นั่งเก้าอี้เลขาธิการ สปสช. 14 เสียง ต่อคะแนนรับรอง 13 เสียง หากแต่ไม่จบแค่นั้น

เพราะกลุ่มฝ่ายสนับสนุน นพ.ประทีป มองว่าคะแนนเสียงที่ 14 ซึ่งกาช่องไม่รับรอง เป็นคะแนนเสียงมีปัญหา เพราะกาเครื่องหมาย “ถูก” แทนที่จะกาเครื่องหมาย “กากบาท” ซึ่งควรเป็นบัตรเสีย แต่มติบอร์ด สปสช. นำโดย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. กลับให้มีการลงคะแนนเสียงว่าเป็นบัตรดี

งานนี้จึงเกิดเสียงต่อต้านจากฝ่ายคัดค้าน ทั้งกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายสุขภาพ และชมรมแพทย์ชนบทออกมาตีอย่างหนัก มองว่านี่คือหนึ่งในกระบวนการล้มบัตรทอง แน่นอนว่าไม่ใช่ยกเลิกบัตรทอง แต่เป็นการทำให้กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ถอยหลัง กลายเป็นระบบอนาถา ขณะที่ นพ.ประทีปก็เดินหน้าฟ้องศาลปกครองเพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรม และต้องการให้เห็นว่ากระบวนการสรรหามีความผิดปกติ โดยขอให้เพิกถอนมติบอร์ด สปสช. และขอให้มีการคุ้มครองชั่วคราว

แน่นอนว่ากระทบต่อกระทรวงสาธารณสุขและต่อรัฐบาล เพราะหากพิจารณาดีๆ ทางฝั่งคัดค้านเดินหน้าชนเต็มที่ ทั้ง นพ.ประทีปประกาศเตรียมฟ้องร้องต่อศาลปกครอง คาดยื่นฟ้องได้ไม่เกินปลายเดือนกรกฎาคมนี้ ทั้งเครือข่ายสุขภาพและชมรมแพทย์ชนบทก็ออกมาประกาศแน่ชัดว่า กระบวนการล้มบัตรทองเพื่อให้กลับสู่ระบบอนาถากำลังเริ่มต้น โดยจะเข้ายึด สปสช.ให้อ่อนแอลง และจุดสำคัญต้องให้เลขาธิการ สปสช.เป็นบุคคลที่ควบคุมได้ แน่นอนว่าไม่ใช่ นพ.ประทีป เพราะเป็นผู้บุกเบิกโครงการบัตรทอง

กลายเป็นประเด็นร้อนที่ทางฝั่งรัฐบาลทราบดีว่ากระบวนการสร้างความเข้าใจเช่นนี้แก่ประชาชน ย่อมมีผลต่อความเชื่อถือของรัฐบาล ยิ่งเกี่ยวข้องกับโครงการบัตรทองแล้วยิ่งมีผล เห็นได้จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นพ.ปิยะสกล หรือแม้แต่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ล้วนออกมาพูดว่าจากกระแสข่าวล้มบัตรทองไม่มีจริง โดย นพ.ปิยะสกลพูดเสมอว่า จะมีเพียงปรับปรุงกองทุนให้ดียิ่งขึ้นเท่านั้น

นพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากกระบวนการจะล้มระบบบัตรทอง โดยเริ่มจากการยึดตำแหน่งเลขาธิการ สปสช. ให้ได้คนที่สั่งได้ ซึ่งถือเป็นบันไดก้าวแรกที่สำคัญที่สุด จากนั้นคือการแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พ.ศ.2545 ซึ่งประธานกรรมาธิการสาธารณสุขของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ เป็นหัวขบวน และได้เปิดเผยสาระการแก้ไขมาชัดเจน ซึ่งจะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพนั้นกลายเป็นระบบอนาถา โดยเริ่มจาก

1.จะให้แยกเงินเดือนออกจากงบบัตรทอง การรวมเงินเดือนตลอด 15 ปีตาม พ.ร.บ.ทำให้เงินเดือนบุคลากรเป็นต้นทุนขององค์กร ได้เกิดการกระจายบุคลากรลงสู่ชนบทอย่างไม่เคยมีมาก่อน การจะแยกเงินเดือนกลับไปตั้งที่ สธ.จะทำให้คนย้ายกลับไปกระจุกที่โรงพยาบาลใหญ่ โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลก็จะขาดบุคลากรอีกครั้ง มีบัตรทองแต่ไม่มีบุคลากรจะดูแลก็เท่ากับการล้มบัตรทองนั่นเอง

2.การจะเปลี่ยนสัดส่วนคณะกรรมการบอร์ด โดยจะเขียนใหม่ให้มีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขถึง 7 คนในบอร์ดและให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธานคนที่ 1 ซึ่งเท่ากับการยึดบอร์ดนั่นเอง เมื่อยึดได้ทั้งเลขาธิการ ยึดได้ทั้งบอร์ด ระบบหลักประกันสุขภาพก็จะมาอยู่ในมือของสายอำนาจนิยมและการแพทย์พาณิชย์นิยมอย่างสมบูรณ์แบบ เมื่อยึดกุมแล้วก็เปลี่ยนสาระภายใน มีเพียงเปลือกนอกที่ยังเรียกบัตรทอง แต่เนื้อหาภายในนั้นเปลี่ยนไปจากการเป็นรัฐสวัสดิการเพื่อคนไทย นี่ก็คือการล้มบัตรทองนั่นเอง

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เสริมว่า การล้มบัตรทองอาจจะไม่ใช่การยุบ สปสช.ที่ผู้นำออกมาประสานเสียงว่าไม่ล้ม แต่การบั่นทอนหลักการสำคัญก็เท่ากับการยกเลิกนั่นเอง ดังนี้ 1.การไม่เพิ่มงบประมาณให้เพียงพอ บอกเป็นภาระของประเทศ 2.ผู้มีอำนาจเข้ามาแทรกแซงขบวนการสรรหาเลขาฯ สปสช. ต้องการคนที่สั่งได้ 3.จ้องแก้กฎหมายหลักการสำคัญ คือแยกเงินเดือนออกจากงบรายหัว เพิ่มสัดส่วนบอร์ดให้กระทรวงสาธารณสุขมีเสียงข้างมาก ให้ปลัด สธ.เป็นรองประธานโดยตำแหน่ง 4.ทำให้ระบบเป็นการสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่สังคมควรช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่ใช่สิทธิ ไม่ใช่เสมอภาคอีกต่อไป และ 5.ให้มีการร่วมจ่ายที่จุดบริการ

เรื่องนี้ นพ.ปิยะสกลให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ว่าทางตรง ทางอ้อม หรือทางไหนๆ ไม่มีการล้มบัตรทอง และไม่มีคำว่าผู้ป่วยอนาถา ทุกคนยังได้รับสิทธิสุขภาพเช่นเดิม จึงอยากขอร้องผู้ที่ออกมาสื่อสารจนสร้างความบิดเบือนขึ้นในสังคมว่า ขอให้หยุด และมองถึงระบบภาพรวมดีกว่า เพราะอย่างไรเสียระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็จะยังคงอยู่ ส่วนการจะปรับแก้กฎหมายนั้นก็เป็นการปรับเพื่อให้ดีขึ้น และทันต่อยุคสมัย เนื่องจาก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 ส่วนการจะปรับแก้อย่างไรนั้นไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะปรับได้ แต่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องหารือร่วมกัน ทั้งกระทรวงสาธารณสุข ทั้ง สปสช. และทุกภาคส่วน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการประชุมอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเรื่องก็ยังไม่จบง่ายๆ เพราะล่าสุด คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก ในลักษณะเป็นห่วงต่อสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะลงประชามติวันที่ 7 สิงหาคมนี้ เนื่องจากในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาตรา 52 ระบุว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน” และของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาตรา 51 ระบุว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน”

แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 ที่กำลังจะให้ลงประชามตินี้ระบุไว้ในมาตรา 47 แต่เพียงว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ” โดยไม่มีคำว่า “เสมอกัน” และ “ได้มาตรฐาน” โดยน่าเป็นห่วงว่าการตัดคำว่าเสมอกันและได้มาตรฐานออกไป จะทำให้อาจได้รับบริการที่มีมาตรฐานแตกต่างกันระหว่างคนมีเงินกับคนไม่มีเงิน และด้วยเหตุนี้จึงจะไม่ขอรับร่างรัฐธรรมนูญ

ปรากฏการณ์ดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากคุณหญิงสุดารัตน์เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองที่สนับสนุนนโยบายจาก นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการ สปสช.คนแรก และเป็นผู้บุกเบิกโครงการดังกล่าว จึงกล่าวได้ว่าประเด็นที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ถูกเชื่อมโยงกับประเด็นการเมืองโดยทันที ยิ่งใกล้ช่วงลงประชามติแล้ว

ประกอบกับทั้ง นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการ สธ. ก็ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กทำนองเป็นห่วง 30 บาทอีก กลายเป็นว่า จากปมเรื่องเลือกเลขาธิการ สปสช. ถูกตีแผ่กลายเป็นเรื่องการเมืองถึงขั้นการปรับเปลี่ยนโครงการหลักประกันสุขภาพฯ ไปอย่างรวดเร็ว

แน่นอนว่าฝั่งกระทรวงสาธารณสุขทราบเรื่องดี โดยพยายามสร้างความเข้าใจกับประชาชน และยังมีการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ระหว่าง นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) และระดับพื้นที่ต่างๆ ถึงการสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับประชาชนมากที่สุดว่าระบบบัตรทองจะยังอยู่ ไม่มีระบบอนาถาอย่างที่มีการสร้างความเข้าใจผิด

งานนี้คนในวงการทราบดีว่านี่คือศึกของฝั่งกระทรวงสาธารณสุขและฝั่ง สปสช. ที่หมักหมมกันมานาน 14-15 ปี จากฝั่งกระทรวงที่รู้สึกว่าเมื่อมีกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ แม้จะเป็นเรื่องดีต่อประชาชน และแม้ รพ.จะทำงานหนักขึ้น แต่ก็ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องพึงกระทำ แต่ติดปัญหาเรื่องระบบการบริหารของ สปสช. การจัดสรรงบประมาณ การดำเนินการต่างๆ ขณะที่ สปสช.มองว่าระบบทำเพื่อประชาชน เน้นประชาชน การจัดสรรงบประมาณในรูปแบบเหมาจ่ายรายหัวในอัตราเท่ากันทั่วประเทศ ถือเป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข และเป็นหนึ่งในกลวิธีกระจายบุคลากรทางการแพทย์ให้ทั่วถึง ไม่กระจุกตัว แต่ฝั่งกระทรวงไม่มองเช่นนั้น เพราะหลายพื้นที่ได้งบไม่เพียงพอกับความเป็นจริง และอีกหลายปัญหาที่สะสมมานานกว่าสิบปี

เมื่อถึงเวลาปรับปรุง ทางฝั่งกระทรวงย่อมต้องรู้สึกว่านี่คือโอกาสในการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ลดปัญหาต่างๆ ที่ผ่านมา เพื่อให้การบริการประชาชน และผู้ให้บริการพึงพอใจทั้งหมด เนื่องจากหากบุคลากรสาธารณสุขมีความรู้สึกดี มีความสุข การบริการแก่ประชาชนย่อมดีไปด้วย

แต่ฝั่ง สปสช.กังวลว่าหากกระทรวงเข้ามาปรับปรุงจะย้อนกลับไปสู่อดีต หรือที่มักเรียกว่าถอยหลังเข้าคลอง กลับสู่ระบบอนาถา เพื่อคนยากไร้ คนจน และยิ่งร่างรัฐธรรมนูญใหม่เขียนว่า ผู้ยากไร้ได้รับบริการสาธารณสุข ยิ่งเกิดข้อกังวลว่าจะเป็นการแบ่งคนรวยคนจนหรือไม่ คำว่าศักดิ์ศรีหายไป แม้ฝั่งรัฐบาลจะออกมาย้ำว่าไม่เป็นอย่างที่กังวลก็ตาม

จริงๆ หากหันหน้าหารือกัน โดยยึดประชาชนเป็นหลักก็น่าจะดี สุดท้ายอยู่ที่ประชาชนต้องใช้วิจารณญาณกันเองแล้ว เพราะอนาคตบัตรทองอยู่ที่ทุกคน…