E-DUANG : ประเมิน “รัฐธรรมนูญ” ผ่าน “แรงงานต่างด้าว”

 

มีความแจ่มชัดอย่างยิ่งของกรธ.ในการจัดทำและผลักดัน “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” ออกมา

แจ่มชัดเพื่อ “ปฏิรูป” ก่อน “การเลือกตั้ง”

ยิ่งเมื่อมีการยกร่าง”กฎหมายลูก”โดยประสานกับ “สนช.” ยิ่งเพิ่มความกระชับอำนาจ สร้างความแข็งแกร่ง

ไม่ว่าจะการ “เซ็ต ซีโร่” จัดระเบียบใหม่ “องค์กรอิสระ”

ไม่ว่าจะการผลักดัน “ไพรมารี โหวต”เพื่อดึงแข้ง ยุดขาแต่ละพรรคการเมือง

เมื่อพิจารณาร่วมกับ “โครงสร้าง” ของ “การเลือกตั้ง”

เมื่อพิจารณาร่วมกับ “โครงสร้าง” ของ “การสรรหา” 250 ส.ว.เข้ามาเป็นพื้นฐาน

นายกรัฐมนตรี” เป็นใครก็รู้กันสนั่นเมือง

 

แต่ภายใน “รายรับ” ที่คาดว่าจะเรียงหน้ากระดานเรียงหนึ่งเข้ามาสนองเป้าหมาย ไม่มี “รายจ่าย” เลยหรือ

ขอให้ดู “บทเรียน” จาก “มาตรา 44”

ถามว่าเมื่อออกมาใช้กับกรณี “วัดพระธรรมกาย” มีแต่รายรับ ไม่ปรากฏรายจ่ายอย่างนั้นหรือ

ถามว่าต่อกรณี “รถกระบะ” เป็นอย่างไร

ยิ่งการตรา “พระราชกำหนด” ว่าด้วย “แรงงานต่างด้าว” แล้วต้องออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ตามมาเล่าประเมินได้หรือไม่ว่าระหว่างรายรับกับรายจ่ายอะไรมากกว่ากัน

เรื่องนี้หอการค้าน่าจะตอบได้ สภาอุตสาหกรรมน่าจะตอบได้ สมาคมธนาคารไทยน่าจะตอบได้

แล้วกรณี “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” เล่าจะดำเนินไปอย่างไร

 

ทุกคนสรุปตรงกันว่า “คำตอบ” เรื่องนี้น่าจะมีความแจ่มชัดเมื่อผ่านกระบวนการ “เลือกตั้ง”

แจ่มชัดว่าได้ “นายกรัฐมนตรี” ตาม “เป้าหมาย”

แจ่มชัดว่าไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ล้วนหัวแหลก แตกกระจาย

กลายเป็น “ฐาน” ให้กับ “นายกรัฐมนตรี” คนต่อไป

หากมองอย่าง “สุนิยม” ก็เป็นเช่นนั้น ขณะเดียวกัน หากมองอย่าง “ทุนิยม” ก็อาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหมากแต่ละตัวอาจไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์ก็ได้

เข้าทำนองวาง “กับ” จน “ติดกับ”ของตนเอง

ทั้งยังเป็นการ “ติดกับ” โดยไม่มีอำนาจจาก “มาตรา 44” ในมือ